“สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือคนให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยค่อนข้างน้อย…ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญมาก จริงๆ การตรวจสอบก็คงมี แต่การใส่ใจรายละเอียดต่างๆ มันอาจจะมีไม่มากเท่าที่ควร”
นี่คือสิ่งที่ สส.พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สะท้อนถึงกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากการก่อสร้างบนท้องถนน
ที่ผ่านมา ข่าวอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแท่นปูนตกลงมาจากสะพาน สะพานถล่ม หรือเหตุการณ์รางจ่ายไฟของรถไฟฟ้าร่วงหล่น ก็อดให้เรากังวลใจเล่นไม่ได้ว่า ถ้าเราขับรถอยู่ดีๆ จะมีอะไรร่วงมาทับรถไหม หรือเดินอยู่ดีๆ เหล็กที่เขาก่อสร้างกันอยู่จะตกใส่หัวเราหรือเปล่า อย่างนี้ ความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหน?
เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น The MATTER จึงได้พูดคุยกับ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ควบตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม ชวนเขามานั่งจับเข่า เล่าสาเหตุของความไม่ปลอดภัยในการก่อสร้างบนท้องถนนประเทศไทยกัน
รถไฟฟ้าสายสีชมพูเสียงสะท้อนปัญหาความไม่ปลอดภัย
สุรเชษฐ์เริ่มจากการยกตัวอย่างเรื่องรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่เกิดเหตุการณ์รางจ่ายไฟหลุดร่วงลงไปโดนรถยนต์ที่จอดอยู่ และไปเกี่ยวเสาไฟฟ้าจนเอน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ซึ่งในเบื้องต้น ทราบว่าเป็นผลมาจากจากการดึง ชีตไพล์ของโครงการก่อสร้างบริเวณใกล้เคียงออกเมื่องานแล้วเสร็จ ทำให้ระดับรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถ ไปกระแทกจนรางขยับ และมีชิ้นส่วนหลุดติดกับล้อขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้าจนร่วง
เหตุการณ์ที่ยกมานี้ อาจเรียกได้ว่าอุบัติเหตุ แต่สุรเชษฐ์ก็ชวนเรามองย้อนกลับไปให้เห็นว่า ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้เช่นกัน
สุรเชษฐ์เชื่อว่า ‘ถ้า’ ประเทศไทยมีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดี คนทำงานรวมถึงหน่วยงานจะระมัดระวังมากขึ้น สถานที่ตรงนั้นจะถูกกำหนดให้เป็นเขตควบคุม แต่เมื่อไม่ใส่ใจ ไม่ระมัดระวัง พอเกิดอุบัติเหตุ ก็ทำให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่
‘ถ้า’ ประเทศไทยมีวัฒนธรรมความปลอดภัย สุรเชษฐ์ระบุว่า ในเชิงวิศวกรรมจะมีการออกแบบโครงสร้างต่างๆ โดยใส่ใจเรื่องความปลอดภัย นึกถึงความผิดพลาดหลายๆ มิติ พร้อมวางแผนออกแบบให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด เช่นในกรณีนี้ก็อาจจะต้องตัดรางให้สั้นลงแล้วมาเชื่อมกัน คิดเผื่อว่าถ้าร่วงลงมา ก็จะหล่นลงมาเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความปลอดภัย เกิดมาอย่างยาวนาน สุรเชษฐ์จึงเรียกว่าเป็น ‘วัฒนธรรม’ ที่ความปลอดภัยของคนไทย ยังไม่ถูกใส่ใจมากพอ
ถนนพระราม 2 ไซต์ก่อสร้างที่ถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัย
เรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยจนหลายคนได้แต่ถอนหายใจด้วยความเบื่อหน่ายว่า ‘อีกแล้วเหรอ’ อย่างถนนพระราม 2 ก็เป็นอีกประเด็น ที่สุรเชษฐ์มองว่าสะท้อนปัญหาการขาดวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยออกมาได้อย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุแท่นปูนสร้างทางยกระดับ ร่วงจากคานสูง ตกลงมาทับคนงานเสียชีวิต 1 ราย, สะพานกลับรถถล่มลงมาจนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย แท่นปูนก่อสร้างหล่นลงมาทับคนงานเสียชีวิต 1 ราย หรือเหตุการณ์น้ำปูนหล่นใส่รถประชาชนจนมีคราบน้ำปูนเลอะทำให้มองไม่เห็นทาง ก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างบริเวณถนนพระราม 2 ทั้งสิ้น
“เราจะเจอปัญหาแบบนี้ เพราะเราไม่ใส่ใจเรื่องของความปลอดภัยเท่าที่ควร” เป็นอีกรอบที่สุรเชษฐ์ย้ำถึงการไม่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะไซต์ก่อสร้างถนนพระราม 2
การก่อสร้างมักมาพร้อมกับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แต่สุรเชษฐ์ยกตัวอย่างตอนที่เขาอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อมีไซต์ก่อสร้างบริเวณถนน จะมีการเตือนล่วงหน้า เช่น อาจจะเตือนก่อน 2 กม. แล้วค่อยๆ ให้รถเบี่ยงออก มีสัญญาณ มีกรวยวางไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะง่วงแค่ไหน ก็จะต้องเห็นสัญญาณเตือน ซึ่งการก่อสร้างบนท้องถนนของประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น บางแห่งก็เตือนแค่ 100-200 เมตร แล้วก็เลือกปิดถนนเป็นช่วงๆ แทน ซึ่งเขามองว่า อาจจะเกิดจากความเข้าใจผิด เพราะคิดว่าการกั้นไม่ให้รถสัญจร 200 เมตรจะทำให้ได้พื้นที่ผิวถนนคืนมา ทำให้รถไม่ติด แต่ความจริงแล้ว การปิด 1 เลน 200 เมตรเป็นช่วงๆ กับการปิด 1 เลนยาว 2 กม. ผลลัพธ์แทบไม่ต่างกัน
นอกจากความเข้าใจผิดแล้ว สุรเชษฐ์ยังมองว่าอาจจะเกิดจากความ ‘งก’ เพราะแน่นอนว่าการกั้นถนนยาวๆ ต้องใช้อุปกรณ์ที่มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในวัฒนธรรมของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทเต็มใจจ่าย เนื่องจากตอนที่เขียนสัญญาก็จะประเมินเพียงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ไม่ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในส่วนการควบคุมดูแลความปลอดภัย ไม่ได้แจกแจงว่าต้องใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอะไรบ้าง รวมถึงในสัญญาเองก็เขียนไว้หลวมๆ แค่ว่าให้ดูแลการก่อสร้างให้ปลอดภัยเท่านั้น
ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาวัฒนธรรมของบางประเทศ สุรเชษฐ์พบว่า ประเทศที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย กระบวนการดำเนินงานต่างๆ ด้านความปลอดภัย ของเขา ก็จะทำออกมาเป็นประเพณีปฏิบัติ เช่น ถ้ารู้ว่าจะต้องสร้างถนน ก็จะต้องคิดเผื่อไปถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งแตกต่างจากของไทยที่พอไม่มีวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย จึงไม่มีใครอยากจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความเข้าใจผิด ภาระค่าใช้จ่าย หรือเหตุผลอื่นๆ แต่การปิดถนนเป็นช่วงๆ แจ้งเตือนในระยะสั้นๆ หรือการไม่คำนึงถึงการป้องกันความปลอดภัยนั้น ก็ล้วนต้องแลกมาด้วยความไม่ปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างทั้งสิ้น
คอร์รัปชั่น ปัญหาที่ฝังรากลึกในประเทศ
อีกหนึ่งปัญหาที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือเรื่องคอร์รัปชั่น ที่แม้ไม่ได้มีหลักฐานประจักษ์ แต่สุรเชษฐ์ระบุว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่และสังคมไทยสัมผัสกันได้
สุรเชษฐ์มองว่า ถ้าข้าราชการยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเต็มร้อย ต้องไปบี้ผู้รับเหมาให้ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด…ถ้านั่นคือข้าราชการที่ดี ในประเทศที่ดี
พอเป็นระบบข้าราชการแบบไทยๆ ที่สุรเชษฐ์กล่าวว่าผู้รับเหมาบางส่วนยอมจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจการง่ายๆ เช่น ถ้าจะทำอุปกรณ์ป้องกันต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ 1 ล้านบาท ผู้รับเหมาบางรายจึงเลือกที่จะจ่าย 1 แสนบาทให้ข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลไซต์ก่อสร้างนั้น ให้ปิดตาแล้วตรวจงานผ่านๆ
“ถ้าถามว่าดีไหม มันไม่ดีแน่ๆ มันผิดแน่ๆ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่มันเกี่ยวเนื่อง ก็คือคนตรวจงานของรัฐ ไม่ใส่ใจเรืองความปลอดภัยเท่าที่ควร” สุรเชษฐ์กล่าว
มุมมองของ สส.ก้าวไกล ถึงแนวทางแก้ไขปัญหา
ในปัจจุบัน สุรเชษฐ์ให้ข้อมูลว่ายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการก่อสร้างบนท้องถนนที่ชัดเจน แต่เขาก็คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยอยู่แล้ว
สุรเชษฐ์ยังมองว่ากรณีที่ผู้รับเหมารายไหนทำงานแล้วเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งเข้า ในระยะสั้นที่ทางบริษัทต้องเสียก็คือค่าปรับ ถ้ามองระยะยาว รัฐเองก็ควรจะขึ้นแบล็คลิสต์ แต่เขาก็ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นที่รัฐไทยกังวลมากนัก ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่รัฐควรจะต้องปรับปรุง
ส่วนของการแก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่น สุรเชษฐ์เห็นว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ควรจะมีอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทยทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน โดยวิธีการแก้ไขเรื่องนี้คือการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกคนที่เชื่อว่าจะไม่ทุจริตเข้าไป เมื่อคนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปอยู่ในอำนาจแล้ว ก็ต้องไม่รับเงิน ไม่หาผลประโยชน์ สุดท้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ก็จะไม่กล้ารับเงินและทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงาน
“การที่ประชาชนสนใจ สังคมพูดถึงปัญหา ก็เป็นส่วนช่วยในการขัดเกลาวัฒนธรรม [ด้านความปลอดภัย]”
สส.ก้าวไกลกล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างเพลงดังในอดีตที่ร้องว่า “กรุงเทพฯ เมืองที่คนตกท่อ” ซึ่งเห็นได้ว่า เมื่อสังคมส่งเสียงให้เจ้าหน้าที่รัฐใส่ใจเรื่องความปลอดภัย อย่างเช่นในตอนนี้ที่สื่อมวลชนกำลังชูประเด็นเรื่องพระราม 2 หรือรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเป็นส่วนช่วยให้ผู้รับเหมา หรือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโครงการนั้นๆ ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย นับเป็นวิธีการที่ทำให้คนเห็นความสำคัญ แล้วหันมากดดันภาครัฐ
“มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่จะทำอย่างไรให้สังคมคิดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น ทำอย่างไรให้วัฒนธรรมการเลิกรับผลประโยชน์แล้วเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง”
สุรเชษฐ์กล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยนี้ จะเป็นเรื่องที่สังคมชินชาและเฉยเมยไม่ได้ เพราะนี่เป็นเรื่องเสี่ยงตาย เป็นภัยคุกคาม เป็นภัยความมั่นคงตัวในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจริงๆ