หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน และแล้วอีกไม่กี่เฮือก เราก็จะเข้าสู่ ค.ศ.2022 กันแล้ว ท่ามกลางความไม่แน่นอน ความฉับพลันต่างๆ ทว่า Creative Thailand ก็ยังออกรายงานเจาะเทรนด์โลกล่วงหน้ามาให้ได้เกาะติดเหมือนทุกปี
“นี่คือปีแห่งการกดปุ่ม Reset ที่อยู่ตรงหน้า จนถึงวันที่พร้อมเมื่อไหร่ก็ ‘Ready Set Go’ แล้วเริ่มใหม่ด้วยกันเมื่อนั้น”
ในรายงานบอกไว้อย่างนั้น นิยามสำหรับปี ค.ศ.2022 คือ READY SET GO พวกเขาบอกว่ามันยังเป็นปีที่ไม่ต้องเป็นหมอดูหรือนักอนาคตศาสตร์ ก็พอจะยังคาดเดาได้ว่า ‘ความไม่แน่นอน’ จะยังเป็นเพื่อนสนิทเราต่อไป
เป็นปีที่หลายคนได้ตระหนักถึงสิ่งสำคัญในชีวิตและทบทวนตัวเอง เป็นปีที่โอกาสและเคราะห์ร้ายยังจะเกิดคู่กันเสมอ ทว่าในความลำบาก ผู้คนได้ใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งกิจวัตรประจำวันและการทำงาน โลกออนไลน์ยังมีบทบาทสำคัญมาก และจะสำคัญยิ่งขึ้นไปในอนาคต ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ ผู้คนจะหันหน้าช่วยเหลือกันเองในระดับปัจเจกมากขึ้น ไม่ง้อสถาบัน รัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่อีกต่อไป
แน่นอนว่า COVID-19 พรากและสร้างอะไรหลายๆ อย่าง ในช่วงจังหวะ 2 ปีที่ผ่านมา โอกาสนี้ The MATTER ขอพาเจาะลึกเทรนด์ผู้คนที่น่าสนใจ แบ่งแยกตามเจเนอเรชั่นต่างๆ ที่ถูกผลกระทบจากการระบาดร่วมสมัยแตกต่างกันออกไปหลากหลายแง่มุม ว่าพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องการอะไรเพิ่มขึ้น หรือต้องการอะไรน้อยลง ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้
คนแต่ละเจเนอเรชั่นกำลังเปลี่ยน
BABY BOOMER (1946–1964)
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้แผนเกษียณถูกทำให้ยุ่งเหยิง หลายคนเลื่อนเวลาเกษียณงานออกไป และหันมาลงทุนกับบ้านในฐานะที่ทำงานมากขึ้น รายงานพบว่าคนเจนฯ นี้สามารถบรรลุเป้าหมายงานเมื่อทำที่บ้านได้ดีกว่าเจนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม บูมเมอร์หลายคนกังวลเรื่องโรคระบาดในระดับระแวดระวังเป็นพิเศษ ขณะที่บูมเมอร์หลายคนก็กระหายการท่องเที่ยว (แน่นอน ยังคงเที่ยวบนการนึกถึงเรื่องความปลอดภัยสุขภาพเป็นสำคัญ)
ความเปลี่ยนแปลงของคนเจนนี้ในโรคระบาดที่เห็นได้ชัดคือ พวกเขาถนัดใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น พบว่า 67% ของคนเจนนี้หันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะใจคนกลุ่มนี้ ควรมองหาเครื่องมือที่ช่วยให้เบบี้บูมมีความสุขกับขั้นตอนการชhอปออนไลน์ได้อย่างง่ายดายขึ้น
GEN X (1965–1980)
กลุ่มคนที่เติบโตมาด้วยการพึ่งพาตัวเอง พวกเขาเป็นคนกลางที่เชื่อมเจเนอเรชั่นมิลเลนเนียลส์และเบบี้บูมเมอร์เข้าด้วยกัน โดยมีหลานเป็น Gen Z และเป็นคนของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นอย่างยาวนาน พวกเขาเป็นเสาหลักของครอบครัวในยุคสมัยนี้ในการจัดการควบคุมค่าใช้จ่ายในบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเป็นเจนฯ ที่เครียดกับเรื่องโรคระบาดสูง
ในด้านเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มที่อายุ 45 ปีขึ้นไป มักมองหาผลิตภัณฑ์ที่เสริมภูมิต้านทานโรค เช่น วิตามินต่างๆ โดยพรีไบโอติกส์ วิตามินเอ และแคลเซียม ได้รับความนิยมสูงสุดในเจนนี้ นอกจากนี้พวกเขายังเป็นกลุ่มลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์สูง ชอบเก็บคูปอง และชอบเป็นสมาชิกแบรนด์ จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจของแบรนด์สกินแคร์และเครื่องสำอาง ซึ่งพวกเขามักดูรีวิวสินค้าผ่านยูทูบช่วยในการตัดสินใจ
MILLENIALS (1980–1994)
เจเนอเรชั่นที่เชื่อในพลังปัจเจกบุคคล และได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รุนแรงที่สุดจากทุกเจนฯ ทั้งจากเรื่องการปรับตัวการทำงาน ความไม่แน่นอนในตำแหน่งงาน และสำหรับคนที่มีลูก ลูกก็ต้องเรียนออนไลน์ พวกเขาจึงเต็มไปด้วยความเครียด ความวิตก และความโดดเดี่ยว
อย่างไรก็ตาม เป็นกลุ่มที่เชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียและอัพเดตเทรนด์จากออนไลน์เสมอ โดยรายงานพบว่า 73% ของมิลเลเลนเนียลติดสื่อออนไลน์ (แต่ยิ่งเชื่อมต่อมากเท่าไหร่ก็ยิ่งโดดเดี่ยว) จึงเกิดกระแสที่คนกลุ่มนี้ออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้นในวันหยุด คาเฟ่ ดำน้ำ หรือการโชว์ไลฟ์สไตล์หรูหราในโซเชียล พวกเขาจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการผลักดันมูลค่าธุรกิจร้านกาแฟ ชานมไข่มุก และร้านเครื่องดื่มอื่นๆ
ทว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขภาพจิตที่ดี เพราะพวกเขามีความเครียดสะสมตลอดเวลา พวกเขาสนใจคอร์สออกกำลังกายและอาหารคลีนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ซื้อเปรอะประ พวกเขาศึกษาธุรกิจในเชิงลึก เพราะเชื่อว่าธุรกิจต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ดังนั้นแบรนด์ที่อยากเจาะใจคนเจนนี้ จึงควรแสดงจุดยืนอย่างจริงใจ ซื่อสัตย์ ชัดเจน
GEN Z (1997–2012)
พวกเขาคือเจนแห่งความหวัง เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี และในภาวะสังคมที่ยุ่งเหยิงและกดดัน พวกเขามีโลกอีกใบคือโซเชียลมีเดีย
ซึ่งโซเชียลมีเดียไม่ได้ใช้เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์สังคม พวกเขาลงมือสร้างการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการติดเทรนด์ต่างๆ ที่พวกเขารวมพลังกันสร้างให้เป็นกระแสสังคม
นอกจากนี้ เมื่อโลกถูกล็อกดาวน์ ชีวิตการทำงานของพวกเขาไม่สามารถเดินหน้าในรูปแบบเจนฯ ก่อนหน้าได้ พวกเขาจึงหันมาหารายได้จากยูทูบหรือสื่อโซเชียลเฉพาะกลุ่ม Gen Z กำเนิดคำว่า Fin-Financial (financial influencer) ขึ้นมา พวกเขาทำเงินจากฐานแฟนคลับและสปอนเซอร์บนโลกออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องวุฒิการศึกษา
ด้านเทรนด์บริโภค พวกเขาจะเปิดใจให้สินค้าและเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่รีวิวโดย Gen Z ด้วยกันค่อนข้างมาก ขณะที่ภาพลักษณ์แพลตฟอร์ม และแบรนด์สินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องของอาร์ตเวิร์ก สำคัญในการเลือกซื้อของกลุ่มนี้มากเช่นกัน
นอกจากนั้น Gen Z ให้ความสำคัญกับเซฟโซน ดังนั้นจึงได้เห็นเทรนด์การแต่งห้องนอนแบบเฉพาะตัว มีธีมและเรื่องราวของตัวเอง โดยบรรยากาศห้องนอนต้องตอบโจทย์กับการโพสต์ภาพของพวกเขาด้วยการประดับประดาและอุปกรณ์อัจฉริยะ งานออกแบบร่วมสมัย งานฝีมือ ไฟเซลฟี่ การจัดแสดงธรรมชาติ ฯลฯ
ALPHA (2010–2024)
เด็กอัลฟ่าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างสมบูรณ์แบบ พวกเขาอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการเข้าสังคมมากที่สุด และ COVID-19 ทำให้พวกเขาต้องเติบโตมากับหน้าจอราววันละ 4.36 ชั่วโมง มากกว่าการจะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งความไม่แน่นอนของการระบาดทำให้เด็กเจนฯ นี้รู้สึกวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว
พวกเขาจึงต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีและแอพฯ ที่จัดการความกังวล ฝึกฝนสติ สมาธิ และพัฒนาการทางสมองได้ นอกจากนี้พวกเขาคุ้นชินกับบริการเดลิเวอรีอาหาร (ที่พ่อกดสั่งประจำ) ดังนั้นระบบสั่งอาหารที่สามารถเลือกอาหารและปริมาณสำหรับเด็กจึงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถดึงความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองได้อย่างน่าสนใจ
เทรนด์ธุรกิจอื่นๆ สำหรับเด็กเจนนี้ (ที่เจาะใจผู้ปกครองได้ด้วย) ก็เช่น screen-free kids แนวทางการทำตลาดร้านสำหรับเจนอัลฟา การออกแบบพื้นที่พักผ่อน เล่น หรือรอผู้ปกครองที่อยู่ระหว่างการช้อปปิ้ง เป็นต้น
ส่องเทรนด์สี ปี ค.ศ.2022
แน่นอนว่าพลาดไม่ได้สำหรับเทรนด์สีประจำปี ค.ศ.2022 ซึ่งนอกจากจะวางมู้ดแอนด์โทนประจำปีไปในตัว ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกด้วย
สำหรับปีนี้ การคัดเลือกสีสรุปออกมาเป็น 7 โทนสี เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักคาดการณ์แนวโน้ม WGSN และ Coloro เป็นสีสันที่อยากจะจุดประกายความสุขผู้คน ที่ต้องแยกตัวและอยู่ลำพังมานาน นอกจากนี้ยังเป็นสีสันที่เหมาะสมกับโลกออนไลน์และเทคโนโลยี ที่เพิ่มบทบาทสำคัญต่อชีวิตผู้คนอย่างมากในปีโรคระบาดที่ผ่านมา
Anise Flower ครีม : สีสันที่สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดี สีสันของของแต่งบ้านที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผ่อนคลาย โดยเป็นสีของเทียนหอม สกินแคร์ และสินค้าหมวดหมู่สุขภาพต่างๆ
Stratosphere ฟ้า : แม้ว่าการล็อกดาวน์จะทำให้เที่ยวบินลดลง แต่ก๊าซ Co2 ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศระยะยาว สีฟ้าเฉดนี้คือสีเดียวกันชั้นบรรยากาศที่ได้รับผลกระทบ เป็นตัวแทนสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นสีรอยต่อระหว่างน้ำทะเลและท้องฟ้าด้วย
Purple Rose ม่วง : เฉดสีม่วงที่ช่วยลดความตึงเครียดทางด้านอารมณ์ และสามารถสร้างพลังที่แข็งแกร่งให้กับสื่อดิจิทัล เป็นสีของตัวแทนสำหรับความงามธรรมชาติที่เหนือจริง และเป็นสีที่สะท้อนความเป็น Gen Z ได้ดี
Radiant Yellow เหลืองส้ม : COVID-19 ทำให้ชาวมิลเลนเนียลหมดไฟอย่างเร่งด่วนขึ้น แม้ก่อนหน้านี้พวกเขาก็อยู่ในสภาวะเริ่มต้นหมดไฟจากสภาพการณ์โลกอยู่แล้ว เฉดสีมะม่วงสุกนี้จึงจะมาเติมเชื้อไฟให้มิลเลนเนียลเดินต่อไปข้างหน้า สร้างความมั่นใจ กักตุนพลังแง่บวกเอาไว้ เพื่อให้มีพลังต่อสู้และแก้ไขกับความล้มเหลวของสังคมต่อไป
Acid Lime เขียวสะท้อนแสง : เฉดสีนี้อาจไม่ใช่เฉดสีเกิดใหม่ แต่ในยุคนี้ เฉดเขียวสะท้อนแสงเป็นตัวแทนของความแปลกใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ที่หลอมรวมระหว่างความเก่าและใหม่ ความจริงแท้และสิ่งสังเคราะห์ แม้ว่าจะเป็นโทนสีที่ผู้ใช้งานอาจรู้สึกถึงความย้อนแย้งในใจ ในขณะที่เผชิญความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ทว่า ก็เป็นสีที่เราทั้งยี้และดึงดูดสายตาได้ดี ดังนั้นจึงเป็นสีที่บอกถึงความรู้สึก ‘คาดไม่ถึง’ ได้ในช่วงเวลานี้
Festival Fuchsia ชมพูอมม่วง : เข้มข้น สมจริง และเป็นพลังที่ขับเคลื่อนทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ ใช้งานออกแบบได้หลากหลายแทบไม่มีเงื่อนไขฤดูกาลในทุกประเทศ ภายใต้เฉดที่ถูกเลือกมานี้ จึงเป็นสีที่สร้างความรู้สึกเชิงบวก และการหลีกหนีเพื่อสร้างพลังให้ตัวเองอีกครั้ง
Java น้ำตาลเข้ม : สีที่เหมาะสมกับการออกแบบในระยะยาว สีของธรรมชาติ ความดั้งเดิม ที่ถูกเลือกใช้มาอย่างยาวนาน ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับจิตใจผู้คน ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงนี้
และทั้งหมดนี้คือสรุปเทรนด์ ค.ศ.2022 ที่เราคิดว่าน่าสนใจและควรรู้ แต่ถ้าอยากอ่านเพิ่มเติมอีก แวะไปอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่เลย :article.tcdc.or.th