วันนี้มีข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของไข้ ซิกาในไทยอย่างต่อเนื่อง The MATTER จึงรวมรวบ 6 คำถามชวนสงสัยเกี่ยวกับเจ้าไวรัสนี้ เผื่อจะทำให้เรารู้จักกั บไข้ซิกากันมากขึ้น และรับมือมันได้ทันท่วงที
1. ทำไมไข้ซิกาถึงยังไม่มีการรักษานะ?
ตอนนี้ยังไม่มียาและวัคซีนสำหรับรักษาไข้ซิกา เนื่องจากผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ และการวินิจฉัยโรคทำได้ยาก เนื่องจากไวรัสซิกาเป็นไวรัสที่มีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ อย่าง ไข้เลือดออก และ ชิคุนกุนยา (chikungunya) การศึกษาเบื้องต้นพบว่าไวรัสซิกาส่งผลต่อเซลล์สมอง ทำให้เกิดความบกพร่องต่อระบบสมองของทารกและมีผลทำให้ทารกศีรษะเล็ก แคระแกร็น มีพัฒนาการช้า การรักษาโดยมากเน้นไปที่การบรรเทาอาการ
ส่วนวัคซีนซิกาถูกพัฒนาภายใต้ National Institutes of Health นักวิทยาศาสตร์ดัดแปลง (tweaking) วัคซีนที่พัฒนามาเพื่อสำหรับไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus) และตอนนี้ ก็อยู่ในระหว่างการทดสอบจ้า
2. แล้วเราควรป้องกันตัวเองยังไง?
- เมื่อมีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง มีผื่นแดง ปวดข้อ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไข้ซิกาโดยเฉพาะคนท้อง
- ไม่ควรกินยาแอสไพรินหรือยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์(NSAID)
- ป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกยุงกัด ทายากันยุง ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถ้าต้องไปที่ที่คิดว่ายุงชุม
- ติดตามข้อมูลข่าวสารการระบาดอย่างต่อเนื่องเข้าไว้
3. รู้ได้ไงว่าติดเชื้อซิกาหรือเปล่า?
หลังจากเดินทางกลับมาจากประเทศที่ไวรัสแพร่ระบาดในละตินอเมริการวมถึงเมืองไทยเพราะพบผู้ป่วยไข้ซิกาแล้วจำนวน 97 ราย หากมีอาการปรากฏอย่างที่เราบอกไปข้างต้น ควรรีบไปหาหมอเพื่อเข้ารับการตรวจได้ตามคลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อซิกาจะไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าจะถูกตรวจพบ อาการไม่รุนแรงและจะหายภายใน 1 สัปดาห์
4. ใครเสี่ยงกับไวรัสนี้มากที่สุด?
ไวรัสซิกาจะมีผลมากต่อคนท้อง ไม่ว่าจะเป็นคนท้องที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่เสี่ยงต่อไวรัสซิกา หรือคนท้องที่เดินทางผ่านภูมิภาคดังกล่าว เพราะถ้าติดเชื้อ จะทำให้แม่อ่อนแอจากอาการแทรกซ้อนของไวรัส ทำให้เกิดความพิการตั้งแต่แรกเกิดของทารก นอกจากนี้ไวรัสซิกายังสามารถติดเชื้อผ่านเซ็กส์ได้อีกด้วย
5. ถ้าคนท้องติดเชื้อซิกาทำไงดี?
ผู้หญิงที่ติดเชื้อซิกาควรหมั่นตรวจอัลตร้าซาวน์ ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบข้อบกพร่องของทารก อย่างอาการศีรษะเล็กของทารกก่อนที่จะเกิด อาการศีรษะเล็กดังกล่าวจะไม่ปรากฏให้เห็นในตัวอ่อนจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงช่วงที่สองของการตั้งท้อง
6. ยังมีหวังอยู่ไหมนะ?
มีข่าวดีสำหรับวงการแพทย์และสุขภาพ เมื่อทีมนักวิจัยทำแผนคาดการณ์ว่า ‘โรคติดเชื้อไวรัสซิกา’ ที่ได้แพร่ระบาดรุนแรงในแถบลาตินอเมริกา จะจบลงอย่างน้อยในอีก 2 ปี และสามารถคาดการณ์การระบาดครั้งใหม่ได้อีก 30 ปีข้างหน้า แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา โดยการคาดคะเนถูกคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ จากสถิติการติดเชื้อจาก 35 ประเทศ นำมาผนวกกับรูปแบบการเดินทางของคนแต่ละเชื้อชาติ
รูปแบบ Timeline นี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาวัคซีนได้ทันเพื่อหยุดยั้งไวรัสซิกา และเห็นความเป็นไปได้ในการจัดการ ‘ยุง’ พาหะนำเชื้อไวรัสร้าย ก่อนที่ซิกาจะระบาดอีกระลอก ทำให้รัฐบาลของประเทศที่เสี่ยง มีโอกาสตั้งตัวและให้ความรู้ประชาชนได้ก่อนเนิ่นๆ โดยการเฝ้าระวังในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และทารกที่เกิดใหม่
ถ้าสามารถควบคุมและหยุดยั้งซิกาไว้ได้ ก็นับว่าสถานการณ์เป็นไปในทางที่ดี
เราหวังว่าไวรัสซิกาคงไม่กลายพันธุ์ก่อนเวลาอย่างเหนือความคาดเดา