การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบล่าสุดนี้ สร้างคำถามให้คนไทยหลายข้อ ทั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ คำถามที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน และกระทั่งคำถามเกี่ยวกับสังคม
มีเรื่องให้ ‘เข้าใจไม่ได้’ หลายระดับมาก ซึ่งจะลองเรียบเรียงเป็นข้อๆ ออกมา
1. ย้อนกลับไปไม่นาน ตอนที่มีผู้ออกมาเตือนว่า – ไม่ควรฝากอนาคตเอาไว้กับวัคซีนเพียงเจ้าเดียว เพราะมันเหมือนแทงม้าตัวเดียว ซึ่งก็เป็นคำเตือนธรรมดาๆ ตามตรรกะธรรมดาๆ เหตุใดปฏิกิริยาตอบโต้กลับจึงรุนแรงมาก ถึงขั้นถูกมองว่าเป็นการตั้งคำถามที่มีเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งที่พอถึงวันนี้ เราเห็นได้ชัดเลยว่า คำถามนั้นเป็นคำถามที่ valid หรือ ‘ควรถามอย่างยิ่ง’ เพราะเท่ากับเป็นการช่วยกันคิด ช่วยกันทำงาน ช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหา
การได้รับวัคซีนเพื่อนำมาฉีดช้าไปเพียงวันเดียว – อาจส่งผลเสียหายหลายมิติ ถ้าคิดเป็นเงินก็เรียกได้ว่ามหาศาล ดังนั้น คำถามง่ายๆ ที่จำเป็นต้องย้อนกลับไปถามซ้ำอีกหนก็คือ – ทำไมรัฐบาลถึงเลือกจัดหาวัคซีนเพียงเจ้าเดียวในตอนแรก แล้วค่อยจัดหาอีกเจ้าหนึ่งมาในตอนหลัง วิสัยทัศน์ในการจัดการปัญหาเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร
2. วัคซีนที่รัฐบาลทำสัญญาซื้อไว้ คือวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า โดยเรามีบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตให้ และถือได้ว่าเราเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ แต่เพราะอะไร เราจึงได้รับวัคซีนช้า เพราะกว่าจะได้ก็คือเดือนมิถุนายน ทั้งที่เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าเราจะได้รับวัคซีนเร็วกว่านี้ และหลายประเทศได้รับวัคซีนนี้ไปแล้ว รวมทั้งประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีวัคซีนนี้ ‘เหลือ’ ด้วยซ้ำ มีรายงานของ CNBC บอกว่า เหลือมากถึง 60 ล้านโดส และพร้อมจะแบ่งปันให้ประเทศอื่น คำถามที่เกิดขึ้นจึงคือ – ในขณะที่ประเทศอื่นมีวัคซีนนี้เหลือ ทำไมประเทศที่ทำสัญญาเอาไว้แข็งขันตั้งแต่ปีที่แล้ว – ถึงยังไม่ได้วัคซีน จนต้องไปขอซื้อวัคซีนจากจีนมาใช้ไปพลางก่อน
ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็ตระหนักดีว่า
การฉีดวัคซีนช้าเป็นเรื่องอันตราย
3. แรกทีเดียว หลายคนเข้าใจว่า โรงงานผลิตวัคซีนที่ผลิตได้เองในไทย จะทำให้เราสามารถผลิตวัคซีนได้ในปริมาณมากและเร็ว แต่ดูเหมือนว่าแม้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน กลับไม่มีวัคซีนนั้นให้เห็น และไม่มีใครรู้ด้วยว่า เป็นเพราะยังผลิตไม่ได้ หรือผลิตแล้วไม่สามารถนำมาใช้ได้ ต้องใช้ตามข้อกำหนดของบริษัทแม่เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามอีกว่า ก็ถ้าเป็นแบบนี้ – ทำไมถึงไปเลือกผูกตัวเองอยู่กับวัคซีนเพียงเจ้าเดียวมานมนาน ซึ่งหากไม่มีภาวะวิกฤตก็คงไม่กระไร แต่เมื่อเกิดวิกฤตระลอกสามขึ้น กลับไม่มีแผนรับมือที่ชัดเจนเด็ดขาดให้เห็น
4. คำถามพื้นฐานที่หลายคนสงสัยก็คือ – แล้วทำไมการเปิดโอกาสให้ ‘คนอื่นๆ’ นอกเหนือจากภาครัฐช่วยจัดหาวัคซีนให้ถึงแลดูเป็นเรื่องยากเย็นนัก แม้แต่จังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต ที่มีการวางแผนเรื่อง ‘ภูเก็ตโมเดล’ เพื่อจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับผู้คนในจังหวัดไปก่อน (ซึ่งอยู่ในหลักไม่กี่แสนโดส) ก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างสะดวก สมาคมทางธุรกิจหลายสมาคมก็ออกมาประกาศอยาก ‘ช่วยรัฐ’ จัดหาวัคซีนให้ แต่เพราะอะไรเรื่องนี้จึงดูยากเย็นแสนเข็ญ
5. ในส่วนของการบริหารจัดการผู้ป่วย เราจะเห็นได้เลยว่ามีปัญหาในการจัดการมาก โดยเฉพาะเรื่องสายด่วน เพราะสายด่วนที่ดีควรจะมีเบอร์เดียวสั้นๆ ที่ทุกคนจำได้เพียงเบอร์เดียว ไม่ใช่มีหลายเบอร์เพื่อตอบสนองแต่ละปัญหา ยิ่งในกรณีที่เป็น ‘เรื่องใหญ่’ ที่เราพูดได้เลยว่าเป็นสงครามกับเชื้อโรค ก็ยิ่งต้อง ‘คิด’ เรื่องนี้ให้ละเอียดถี่ถ้วนไม่ใช่หรือ การมีสายด่วนหลายๆ เบอร์ เหมือนการ ‘โยนภาระ’ ให้ประชาขนต้องไปสืบค้นกันมาก่อนชั้นหนึ่ง ว่าเกิดอะไรขึ้นต้องโทรเบอร์ไหน สร้างความสับสนอย่างมาก จนพูดได้ว่านี่คือภาระของประชาชนผู้เสียภาษี แทนที่รัฐจะรับภาระนี้เอามาเป็นของตัว ด้วยการบริหารจัดการ ‘หลังบ้าน’ จากเบอร์เดียวแล้วต่อสายไปหาบริการอื่นๆ คำถามก็คือ – ไม่มีการ ‘คิด’ เรื่องนี้เอาไว้ล่วงหน้าหรอกหรือ
ที่สำคัญก็คือ ระบบไม่ควรเป็นแค่การโทรศัพท์ที่เป็นระบบแอนาล็อกและบันทึกด้วยกระดาษจนทำให้เกิดคำว่า ‘คู่สายเต็ม’ หรือเปล่า ในฐานะรัฐบาลที่พยายามเป็นรัฐบาล 4.0 ตัวระบบควรเป็นแบบออนไลน์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีประสานงานหลังบ้านต่างๆ ไม่ได้หรือ การใช้เทคโนโลยียังทำให้ได้ Big Data เพื่อนำมาบริหารจัดการต่อได้อีกมาก ในขณะที่การรับสายโทรศัพท์จะได้ข้อมูลที่เข้าระบบดิจิทัลไม่ได้ในทันที จึงเกิดเสียงตำหนิว่า เวลาโทรไปแจ้งข้อมูลแล้วเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา หลายคนต้องเล่าเคสซ้ำๆ ให้ฟัง ทั้งที่ควรมีบันทึกไว้แล้วอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน นอกจากนี้ ถ้าเห็นว่าบุคลากรไม่พอจริงๆ (เพราะบุคลากรด้านนี้ต้องทำงานหนักมากอยู่แล้ว)
ทำไมไม่พึ่งพา ‘มืออาชีพ’ ในด้าน call center มารองรับ
ทั้งที่ไทยก็ได้ชื่อว่าเก่งในด้านนี้
6. ย้อนเวลากลับไปอีกนิด นั่นคือช่วงก่อนสงกรานต์ที่เราพอคาดเดาได้ว่าการระบาดระลอกใหม่จะเกิดขึ้น เพราะมีสัญญาณบ่งบอกอยู่แล้วว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อง่ายขึ้นได้แพร่เข้ามาในประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้ห้ามการเดินทาง นั่นแปลว่าเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายอยู่แล้ว คำถามก็คือ ทำไมถึงไม่ใช้ ‘ช่วงเวลาทอง’ ตอนปิดสงกรานต์ที่ตัวเลขยังไม่พุ่ง เพื่อจัดหา ‘ระบบ’ ขนาดใหญ่เอาไว้รองรับเสียก่อน
7. ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า การบริหารจัดการในคราวนี้มีข้อบกพร่องมากมาย แต่สิ่งที่หลายคนได้ยินได้ฟังจากหลายคนในรัฐบาล – ก็คือ message ที่บอกว่าให้ช่วยกัน ‘อดทน’
รัฐมนตรีคนหนึ่งบอกว่า วัคซีนจะได้มาในเดือนมิถุนายน ขอให้อดทนรออีกเพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่วัคซีนมาถึงปุ๊บ ทุกคนก็จะได้ฉีดปั๊บ แล้วเกิด herd immunity ขึ้นมาทันที เพราะกลไกสำคัญก็คือการกระจายวัคซีนที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การขอให้ ‘ทน’ อีกหนึ่งเดือน จึงไม่เป็นความจริงสำหรับทุกคน เพราะมีคนอีกมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในทันที
นอกจากนี้ เรายังได้ข่าวเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกบางคนที่บอกว่า ในการโทรศัพท์หาสายด่วนที่มี ‘คู่สาย’ จำกัดนั้น ถ้าโทรไม่ติด ก็ขอให้โทรต่อไปเรื่อยๆ คล้ายกับกำลังบอกว่าขอให้มีความเพียร อย่าได้ย่อท้อ ซึ่งก็คือการบอกให้ ‘ทน’ นั่นเอง ไม่นับรวมอีกคนหนึ่งที่แนะนำว่า ในระหว่างที่กำลัง ‘ทน’ กันอยู่นี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือช่วยกันใช้จ่าย รวมไปถึง message อื่นๆ อีกไม่น้อย ที่พยายามบอกให้ผู้คน ‘อดทน’ ทั้งที่เราก็รู้กันอยู่ว่า – คนที่พูดว่าทนได้ – ส่วนใหญ่ไม่ได้กำลังทนหรอก แต่เป็นคนที่ทนไม่ได้อีกแล้วต่างหาก ที่อาจไม่มีแม้แรงกำลังจะเค้นเสียงพูดออกมาว่าทนไม่ไหวแล้ว
การสื่อสารของรัฐถึงประชาชนเป็นแบบนี้ไปได้อย่างไรกัน
8. สมมุติว่าเราอดทนรอกันได้จนถึงเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังมีคำถามที่ต้องถามต่ออีก เรื่องวิธีบริหารจัดการในการกระจายวัคซีนว่าจะเป็นอย่างไร อะไรคือความชัดเจนของแผนนี้ (ที่ควรจะออกมาได้แล้ว) ไม่ใช่ทำเพียงให้คนไปลงทะเบียนใน application เพียงอย่างเดียว แต่ควรสื่อสารให้เข้าใจด้วยว่า จะเริ่มฉีดวัคซีน (ในล็อตเดือนมิถุนายน) ในคนกลุ่มไหนก่อน ตามด้วยกลุ่มไหนอย่างไร เพื่อให้คนอื่นๆ ช่วยกันดูว่า แผนเหล่านี้สามารถกระจายวัคซีนไปรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน มีการวางแผนที่ชัดเจนและรัดกุมไหม – และสุดท้ายจะได้ดูกันด้วยว่ามันเป็นไปอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่เป็น เกิดขึ้นเพราะอะไร
9. ทำไมการจัดการกับข่าวสารหรือการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในเรื่องที่ใหญ่และฉุกเฉินขนาดนี้ จึงได้แลดูไม่มีเอกภาพเอาเสียเลย ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือการล็อกดาวน์และการเคอร์ฟิว ซึ่งปล่อยให้อยู่ในมือของแต่ละจังหวัดในอันที่จะจัดการกันเอาเอง ทั้งที่ทุกคนก็ตระหนักดีว่านี่คือภาวะฉุกเฉิน สิ่งที่รัฐบาลต้องมีก็คือความกล้าหาญในอันที่จะ ‘ฟันธง’ ว่าประเทศควรเดินหน้าไปอย่างไร ทั้งที่ระลอกนี้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากกว่าระลอกแรก แต่ดูเหมือนการบริหารจัดการกลับมีมาตรการที่แข็งแรงน้อยกว่ารอบแรกมาก
ที่สำคัญก็คือ เมื่อจะ ‘ฟันธง’ ขึ้นมา ก็จัดการให้เกิด Single Command แบบ Supercentralized คือรวมศูนย์ไปไว้ที่ศูนย์กลางอำนาจเดียวซึ่งน่าสงสัยว่าจะเข้าใจและรับมือกับปัญหาได้ทุกมิติจริงหรือ
10. ความเสียหายที่เกิดจากการบริหารจัดการวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพนี้ สามารถตีออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไหม ว่าได้สร้างความเสียหายทั้งทางตรง ทางอ้อม รวมถึงค่าเสียโอกาสต่างๆ มากน้อยแค่ไหน และสุดท้าย – ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ
คำเตือนและคำท้วงติง ไม่ได้แปลว่ามีเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตหรือมุ่งร้ายทำลายรัฐบาลเสมอไป แต่ COVID-19 เป็นเรื่องฉุกเฉินใหญ่ที่ผู้รับผิดชอบต้องทำงานหนัก เปิดใจกว้าง และรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งด้านการแพทย์ มานุษยวิทยาการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม โลจิสติกส์ และอื่นๆ อีกมากมาย
ความใจแคบ รับฟังคนอื่นไม่เป็น และดื้อรั้นดันทุรังจะทำตามบัญชาอะไรก็ไม่รู้นั้น ไม่น่าจะส่งผลดีได้เลย
แน่นอน ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ เราควรช่วยกันไปก่อน แต่หลังเหตุการณ์แล้ว ได้โปรดอย่าลืมคำถามเหล่านี้ รวมไปถึงคำถามอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ถามด้วย