มีความเชื่อมากมายที่ล่องลอยในสายลม เมื่อเพื่อนๆ ของคุณพยายามแนะนำในภาคีสายเม้าท์หลังเลิกงาน หลายความเชื่อก็ดูเข้าที แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาจสั่นคลอนความสัมพันธ์ระยะยาวกับคนที่คุณกำลังคบหา
ความสัมพันธ์ของมนุษย์แท้จริงล้วนเปราะบางหากคุณไม่มีกระบวนการในการรักษามัน แต่ขณะเดียวกัน ความพยายามบังคับพวงมาลัยแห่งความรู้สึกให้เที่ยงตรงอยู่ในเลนตลอดเวลาก็เป็นเรื่องยาก
ถนนที่คุณวิ่งอยู่ มันเรียบตรงซะที่ไหน เผลอๆ คุณเอารถญี่ปุ่นผุๆ ขึ้นไปวิ่งบนรางรถไฟเหาะด้วยซ้ำ!
เรามาพบกับ 8 ความเชื่อที่อาจบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของคุณ ในมุมมองจิตวิทยากันดีกว่า ใครเคยเชื่อข้อไหนขอให้ยกมือ!
Myth 1 : ไม่ต้องทำอะไร หากความสัมพันธ์สองเรา ‘ดูราบรื่นดี’
Fact : เหมือนนิทานลูกหมู 3 ตัว หากคุณไม่ลงแรงกับมันเลย ก็ยากที่จะหวังถึงโครงสร้างทางความรู้สึกที่เป็นปึกแผ่น
“จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยการลงแรงเยอะนะ” Lisa Blum นักจิตวิทยาครอบครัวใน Pasadena ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดชีวิตคู่ เธอเชื่อว่าสังคมเราที่ออกแบบระบบการศึกษาและระบบการเป็นพ่อเป็นแม่ ทำให้เราคิดว่า ‘ระบบ’ (System) จะนำพาทุกอย่างไปได้ หากเราอยู่กับมันไปเรื่อยๆ จะทำให้เราติดนิสัยไม่เตรียมพร้อม และคิดว่าไม่ต้องลงแรงอะไรกับมัน ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้งก็พอ
หลายคู่ที่ดูเหมือนรักใคร่กันดี แต่เมื่อเผชิญอุปสรรคเพียงนิดเดียว ก็เลิกกันฉับไวราวฟ้าผ่ากลางสี่แยกรัชโยธิน แต่ทำอย่างไรล่ะ ที่เราจะไม่ลงแรงจะฝืนทำอะไรโง่ๆ จนเจ็บตัว?
Lisa Blum ถามกลับมาง่ายๆ “คุณทำไปแล้วรู้สึกเป็นทุกข์ มากกว่าสุขหรือเปล่า” หรือคุณใช้เวลาในการประคับประคองมากเกินไปแทนที่จะ Enjoy กับมัน นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนว่าความสัมพันธ์นั้นจะมอบประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากกว่า
แต่หากคุณทั้งสอง ลงแรงและเห็นแนวโน้มความรู้สึกเชิงบวกที่กำลังก่อขึ้น เราว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีที่คุณควรทำต่อไป
Myth 2 : คนที่รักกันมาก จะต้องรู้ใจกันไปซะทุกอย่าง
Fact : ปัดโถ่เธอจ๋า! ความรักไม่ได้นำพาให้เธอมีพลังจักระ อ่านจิตอ่านใจใครได้หรอก
ยิ่งคุณคาดหวังมากเท่าไหร่ว่าเขาจะเดาใจคุณถูก ก็มีแต่จะผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น Lisa Blum เรียกว่า ‘ความคาดหวังแบบเด็กๆ’ (Expectation as kids) แต่เมื่อความสัมพันธ์ของคุณเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การรับผิดชอบกับความคาดหวังเป็นสิ่งจำเป็น
การสื่อสารความรู้สึกที่คุณต้องการออกไปนั้นสำคัญ ไม่มีใครสนุกกับเกมทายใจได้นาน เพราะเขาจะเผชิญตัวเลือกแค่ ‘ผิด’ หรือ ‘ถูก’ เท่านั้น หลายคนใช้เกมทายใจเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อพิสูจน์ว่าเขาแคร์คุณแค่ไหน แต่มันล้วนไร้สาระทั้งเพ
การสื่อสารเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ทั้งปวง คุณจะเรียบเรียงคำพูดออกไปอย่างไรโดยที่ไม่เป็นการออกคำสั่ง และความคาดหวังต้องมีความรับผิดชอบ
Myth 3 : หากอยู่ในห้วงของความรัก ความปรารถนาไม่มีวันหมด
Fact : ต้องโทษละครและนิยายหลายร้อยเรื่อง ที่ชวนให้คุณเคลิ้มไปว่า ‘รักแท้ไม่มีวันเสื่อมสลาย’ หากมันจบลงก็หมายความว่า ‘มันไม่ใช่ความรัก’ จิตวิทยาไม่ค่อยศรัทธารักแท้เพียงลมปากสักเท่าไหร่ หากไม่มีใครกระดิกทำอะไรเลย ความรักทุกประเภทเสื่อมสลายได้หมด อย่าได้วางใจไป!
เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินไป ความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ การงานก็จะขยายอาณาเขตของมันไปพร้อมๆ กัน คู่รักที่เคยใกล้ชิดเริ่มมีข้อจำกัดของเวลา และสูญเสียพลังงานไปกับการจัดการความยุ่งเหยิงที่รุมเร้า
แต่ใช่ว่าความปรารถนาจะสาบสูญไปเลยเสียทีเดียว การวางแผนเล็กๆ น้อยๆ หรือการเล่นสนุกแบบไร้แก่นสาร ทำให้คุณพัฒนาความปรารถนาได้ ‘การมีเซ็กซ์ด้วยความใคร่’ ก็เป็นผลงานของการพยายามดูแลผัสสะและการปลุกเร้าที่คงที่อยู่เสมอ
พยายามหาสิ่งใหม่ๆ ทำร่วมกันอยู่ตลอดเวลา เปิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ระหว่างคุณกับเขา หากทุกเย็นที่คุณเจอกันกลายเป็นความเบื่อหน่าย และระเบิดพลังลบใส่กัน
‘รักแท้’ ก็ไม่ต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอืดๆ ที่คุณลืมทิ้งไว้ เมื่อความชุ่มฉ่ำหายไปหมด ปัญหาจึงพูนออกมาถึงขอบถ้วย
Myth 4 : มีลูก จะทำให้ความรักแน่นแฟ้น
Fact : แม้จะมีงานวิจัยว่า “ยิ่งมีลูกมาก ความสุขของชีวิตคู่มีแต่จะลดลงตามจำนวน” ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกเป็นสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ครอบครัวนะ แต่ลูกคือความท้าทายสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์คุณซับซ้อนมาอีกสเต็ป
การคาดหวังโดยอยู่บนฐานแห่งความเป็นจริง ทำให้คู่ครองเตรียมพร้อมสำหรับบทบาทใหม่ เพราะหากเพียงคุณคิดจะมีลูกเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคุณและแฟน ก็มีแต่จะเจอเรื่องยุ่งเท่านั้น
ลูกไม่ใช่ ‘โซ่ทองคล้องใจ’ อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ หากคุณคาดหวังว่าเด็กสักคนจะมาเป็นกามเทพให้ความรักคุณแน่นแฟ้นขึ้น นั่นจะกลายเป็นม่านหมอกให้คุณละเลยความจริง การพยายามสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันทำให้คุณพบความงดงามในบทบาทใหม่ ลูกจะทำให้คุณอดทนเมื่อเผชิญหน้ากับภาวะไม่สู้ดี และเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพจะมอบความสัมพันธ์ที่ยาวนาน
Myth 5 : ความหึงหวง เป็นสัญญาณของความรัก
Fact : “เฮ้ย เขางอนกูตอนไปเที่ยวกับเพื่อนคนนั้นเว้ย หึงกูแน่ๆ”
ความหึงหวง เกิดจากคุณสูญเสียความปลอดภัย ความมั่นคงของตัวเอง และขาดความมั่นใจในสายสัมพันธ์ของคุณ
ยิ่งใครที่มีแฟนเป็นพวกหึงแรงจนเป็นมลภาวะมักลำบากไม่น้อย จะเดินเหินไปไหนต่อไหนก็ถูกตรวจสอบพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา หากเป็นเช่นนี้ดูเหมือนมันไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักสำหรับความสัมพันธ์ระยะยาว เพราะความเชื่อใจมักถูกขีดฆ่าเป็นสิ่งแรกๆ
ผู้ชายและผู้หญิงที่อยู่ในสภาวะหึงหวงจะตอบสนองต่างกัน บางคนเก็บไว้ในใจแต่แสดงออกด้วยพฤติกรรมเชิงลบเป็นการลงโทษคุณอย่างขวางหูขวางตา บางคนระเบิดออกมาด้วยความหึงหวงดุจสัตว์ร้าย และกลายเป็นการทำร้ายร่างกายอย่างสาหัส
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มักมีจุดเริ่มต้นที่ความหึงหวง มันไม่คุ้มที่จะก้าวเข้าไปในพื้นที่ความสัมพันธ์ที่มีความเกลียดชังเป็นแรงขับเคลื่อน ถอยออกมาดีกว่าเพื่อสวัสดิภาพของตัวคุณเอง
Myth 6 : ความขัดแย้ง ทำลายความสัมพันธ์
Fact : หลายคู่หวาดกลัวที่จะเผชิญหน้าความขัดแย้งทางความคิด พวกเขาคิดว่ามันจะทลายความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน
เมื่อเกิดปัญหาจึงเลือกเก็บไว้เงียบๆ เหมือนปิดปากภูเขาไฟด้วยฝุ่นเถ้า การทับถมความรู้สึกด้วยการบีบมันไว้กลายเป็นเชื้อปะทุที่ระเบิดออกมา คล้ายภูเขาไฟระเบิดกลืนกินทุกสรรพสิ่ง
ความขัดแย้งเป็นเรื่องดี และมันสามารถทำให้สุขภาพความสัมพันธ์เบ่งบาน การทะเลาะบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติ สร้างสภาวะอากาศใหม่ๆ ไม่ให้อับชื้นนัก แต่การเลือกวิธีทะเลาะนั้นน่าพูดคุยกว่า
เราเผชิญหน้าความรู้สึกด้วยท่าทีอย่างไร (การลงไม้ลงมือไม่ควรเกิดขึ้นเลย มันเป็นการข้ามเส้นที่ไม่มีทางย้อนกลับไปได้โดยสิ้นเชิง) การทะเลาะไม่ควรยืดยื้อหลายวัน มันกินเวลา และไม่เกิด Productive Conflicts การที่คุณสนทนาเพื่อหาทางออกกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้จะปะปนด้วยอารมณ์ไปบ้างแต่อย่าลืมผลลัพธ์ท้ายสุด หมั่นเช็กอุณหภูมิกันด้วยก็ดี
Myth 7 : เพื่อความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ต้องมีใครสักคนยอมเปลี่ยน
Fact : เอาจริงๆ ไม่มีใครยอมรับหรอกว่าทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ พวกเราจึงนิยมโยนความผิดไปให้คนอื่น และเรียกร้องให้ใครคนใดคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า กลายเป็นภาวะที่คุกคามพื้นที่ส่วนตัว และความคาดหวังที่ไม่สิ้นสุด
คนเราเปลี่ยนกันได้! การเปลี่ยนแปลงเพื่อกันและกันเป็นสิ่งดี เบนเข็มเล็กๆ ที่คุณจัดการได้เข้าหากัน แต่คุณเป็นเพียงคนเดียวที่กำลังโดน ‘ดัด’ ให้เป็นบอนไซเชื่องๆ ทุกครั้งหรือเปล่า สุดท้ายจะกลายเป็นตัวตนที่คุณเองก็ไม่คุ้นเคย
มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักหากถูกบงการพฤติกรรม ความคิด และการตัดสินใจตลอดเวลา
Myth 8 : การพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาชีวิตคู่ แสดงว่าคุณกำลังหมดรัก
Fact : หากคิดว่าการสารภาพกับคนอื่นว่าความสัมพันธ์ของคุณกำลังมีปัญหาเป็นเรื่องน่าอาย คงต้องคิดดูใหม่เสียหน่อย จิตแพทย์ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาให้คุณซะหน่อย เขาไม่ได้มานอนร่วมเตียงกับคุณอยู่ตลอดเวลา และเห็นปัญหาอย่างแจ่มชัด แต่ความเชี่ยวชาญของแพทย์ในการบำบัดเป็นไปเพื่อเปลี่ยน Mindset ที่กำลังสร้างปัญหาบางอย่างในชีวิตคู่
หลายครอบครัวกว่าจะตัดสินใจถึงมือหมอ พวกเขาก็เผชิญหน้ากับความรู้สึกแย่ๆ โดยลำพังมานานเกินไป จนสิ่งดีๆในชีวิตคู่ถูกทำลายไปมากแล้ว
การพบจิตแพทย์ ทำให้คุณเห็นความเป็นไปได้ในการหวนคืนความสัมพันธ์กลับมาต่างหาก แม้จะไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่มันยังพอมี element สำคัญที่ดึงดูดความเป็นครอบครัวไว้ หากติดอยู่ในหล่มปัญหา 2-3 เดือนโดยไร้ทางออก ก็เพียงพอที่จะไปพบแพทย์ ไม่ใช่ปล่อยไว้นาน 6-10 ปี โดยที่คุณไม่เคยสำรวจว่า ได้ทำลายสิ่งดีๆ ที่เคยสร้างร่วมกันมามากมายขนาดไหนแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
psychcentral.com
psychcentral.com/lib/attention-couples-becoming-a-skilled-listener-and-effective-speaker