ความรู้คืออำนาจ แต่บางเรื่องก็ควรจะรู้ตั้งนานแล้ว ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหม่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้สดใหม่ขนาดนั้น เราเห็นตัวอย่างจากจีน จากเกาหลี จนกระทั่งเกิดปัญหาในบางเมือง เช่น เชียงใหม่ หรือกรุงเทพเองก็เจอปัญหาฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรมเป็นปีที่ 3 แล้ว เมื่อเป็นปัญหาใหม่และปัญหาใหญ่ ทั่วโลกก็พยายามหาความรู้เพื่อร่วมหาทางออก และหลายประเทศเช่นจีน เกาหลีก็ใช้ความรู้เหล่านั้นเอาชนะ และวางรากฐานเมืองขึ้นใหม่เป็นเมืองปลอดฝุ่น รักษาและรับผิดชอบคุณภาพชีวิตของผู้คนต่อไปได้
ปัญหาเรื่องฝุ่น เรื่องหมอกพิษเป็นปัญหาที่อยู่คู่เมืองใหญ่มาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ลอนดอน หรือเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกาต่างเคยเผชิญหน้ากับภาวะที่เมืองปกคลุมด้วยมลพิษ จนรบกวนชีวิตและส่งผลต่อสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างร้ายแรง ความเข้าใจเรื่อง PM 2.5 ก็ถือเป็นปัญหาที่ทั้งอยู่คู่เมือง และมาปะทุขึ้นด้วยความแออัดของเมืองและการจราจร พร้อมๆ กับนวัตกรรมที่สามารถมองเห็นหรือวัดค่าฝุ่นขนาดที่เล็กลง
ไม่กี่วันก่อนเราบอกว่าจะไปดวงจันทร์ หลังจากนั้นก็เปรยว่าคุณภาพสถานีรถไฟเราเท่ากับนานาอารยประเทศ แต่หันมามองขอบฟ้ากรุงเทพก็ยังกลับฉาบด้วยสีน้ำตาล ฝุ่นขนาดเล็กเริ่มกระทบกับผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม เราเริ่มแสบตา เกิดความรู้สึกระคายทางเดินหายใจ บ้างก็หลบเข้าห้องแอร์ งดออกกลางแจ้งได้ บ้างก็ทำไม่ได้ ในความภาคภูมิใจของแดนฟ้าอมรที่เริ่มขมุกขมัวก็เริ่มมีเสียงไต่ถามขอความช่วยเหลือ บ้างก็พร่ำบ่นให้เราช่วยตัวเอง
อย่ากระนั้นเลย PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ หลายประเทศให้ความสำคัญกันอย่างจริงจัง เพราะแน่ล่ะเมืองชะงักจริง ผู้คนจะตายเอาจริงๆ ในหลายประเทศก็เลยเริ่มกระโดดลงมาช่วยทำความเข้าใจไอ้เจ้า PM 2.5 ว่าเฮ้ย มันคืออะไร มันมีปัญหายังไง เราต้องระวังอะไร ไปจนถึงว่าเราจะรับมือแก้ไขอย่างไร
เพื่อร่วมกับตอบคำถามและคำตอบ The MATTER รวบรวมงานศึกษาทางวิชาการว่าด้วย PM 2.5 ตั้งแต่ผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อเมือง และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เจ้าฝุ่นพวกนี้กำลังทำร้ายเพื่อบอกว่าทำไมเราถึงควรลงทุน ทางออกที่จะช่วยลดฝุ่นโดยเฉพาะการใช้ต้นไม้เพื่อช่วยดักกรองฝุ่น งานศึกษาที่ดูทั้งพลังของการกรองฝุ่น คัดเลือกชนิดต้นไม้ และการปลูกต้นไม้ริมทางให้ดักฝุ่นได้ดีที่สุด ไปจนถึงผลกระทบของฝุ่นในมิติอื่นๆ ทั้งมิติทางสุขภาพจิต และผลกระทบของความยากจนและคนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มที่ต้องรับภาระจากฝุ่นเหล่านี้มากที่สุด
The impact of PM 2.5 on the human respiratory system
ประเทศจีนเริ่มเจอปัญหาหมอกควันตั้งแต่ราวปี ค.ศ.2013 และหมอกสีฝุ่นก็เริ่มคลุมมาจนถึงกรุงปักกิ่งอย่างจริงจังในราวปี ค.ศ.2015 หลังจากนั้นจีนก็เริ่มตื่นตัวกับปัญหามลภาวะทางอากาศ และเริ่มมองเห็นว่าเจ้าฝุ่นที่ขนาดเล็กลงเรื่อยๆ นี้เป็นภัยกับสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง
งานศึกษา The impact of PM 2.5 on the human respiratory system ในปี ค.ศ.2016 เป็นงานศึกษาที่หันมาให้ความสนใจว่าฝุ่นขนาดเล็กนั้นส่งผลกับสุขภาพอย่างไร ผลคือพบว่าฝุ่นจิ๋วนี้สามารถปนเปื้อนและทะลุเข้าไปในปอด ทำให้ผนังหลอกลมระคายเคืองและเสื่อมสลาย ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง งานศึกษานี้ส่วนหนึ่งคือทบทวนผลกระทบของอนุภาคขนาดเล็กเพื่อบอกกับประเทศจีนว่าไม่ใช่เรื่องล้อเล่นแล้วนะ
อ่านงานศึกษาได้ที่ ncbi.nlm.nih.gov
Modeled PM 2.5 removal by trees in ten U.S. cities and associated health effects
อเมริกาเป็นประเทศที่เจอปัญหามลพิษในเมือง และพยายามรักษาปรับปรุงเมืองให้ดีกับผู้คนมาอย่างยาวนาน งานศึกษาในปี ค.ศ.2013 ชิ้นนี้ชี้ให้เห็นผลกระทบของมลพิษทางอากาศว่าส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนและเพิ่มอัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญ
ประเด็นสำคัญของงานคือการสำรวจประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นของต้นไม้ในเมืองทั้ง 10 เมืองของอเมริกา และมีการประเมินว่าต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในที่สุดช่วยดักจับฝุ่นได้ดีอย่างไร แถมยังประเมินเป็นมูลค่าค่าใช้จ่ายทางสุขภาพและการสูญเสียที่รัฐลดลงได้จากการลดปริมาณฝุ่นเหล่านั้น ซึ่งตัวเลขค่อนข้างน่าประทับใจ บางเมืองลดได้หลักสิบล้านเหรียญสหรัฐ
อ่านงานศึกษาได้ที่ researchgate.net
Ranking the suitability of common urban tree species for controlling PM 2.5 pollution
งานศึกษาชิ้นนี้มาจากประเทศจีน คือแน่นอนว่าพอจีนแถมประเทศเอเชียเริ่มเจอกับปัญหา PM 2.5 และการปลูกต้นไม้ก็เป็นวิธีการรับมือแบบอ้อมๆ ตัวนักวิจัยก็เลยพยายามชี้ให้เห็นว่าต้นไม้เป็นตัวแปรสำคัญ ทำการรวบรวมพรรณไม้ที่พบในเมืองใหญ่ทั่วเอเชียและจัดอันดับ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกและเข้าใจบทบาทของพืชพรรณในการรับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่อไป
งานศึกษานี้ทำการให้คะแนนด้วยหลายมุมมอง ทั้งลักษณะประเภท ขนาด ความเร็วในการเจริญเติบโต ความทนทาน ลักษณะพุ่มใบ ลักษณะของใบ พื้นผิวและขนของใบ ตัวงานศึกษานี้เน้นไปทางการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ในการศึกษาพูดถึงไม้ใหญ่ที่นิยมปลูกในเมืองใหญ่เช่น London plane ต้นเมเปิลเงิน (silver maple) เป็นต้นไม้ที่ดัดฝุ่นได้ดี การมีลำดับการดักฝุ่นนี้นอกจากแสดงให้เห็นศักยภาพของพืชแล้วยังอาจนำไปสู่ข้อคำนึงใหม่ๆ ในการคัดเลือกพืชในเงื่อนไขพิเศษๆ ของแต่ละเมืองต่อไป
อ่านงานศึกษาได้ที่ sciencedirect.com
การประเมินความสามารถของต้นไม้ประดับในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กในอาคาร
ในการศึกษาเรื่องต้นไม้ และความสามารถของต้นไม้ในบ้านเราก็ค่อนข้างจริงจังไม่แพ้กัน ช่วงที่มีฝุ่นก็มีงานเผยแพร่จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่นำเอาต้นไม้ไทยจำนวนมากเข้าทดลองว่าประเภทไหนจะดักจับฝุ่นได้ดีกว่ากัน (ถ้าใบถี่ พุ่มหนา หรือขนใบเยอะก็จะดักได้ดี)
ในระดับงานศึกษาที่มีการเผยแพร่ก็มีงานศึกษาทดลองความสามารถในการดักฝุ่น โดยมีต้นไม้หลายประเภทเข้ารับการทดลอง ส่วนใหญ่ใช้ห้องทดลองปิดหรืออุโมงค์ลม มีการศึกษาทั้งการใช้ไม้พุ่มทั่วไปเช่นพลูด่าง เฟิร์น สาวน้องประแป้ง ในงานศึกษาพบว่าต้นไม้ส่วนใหญ่สามารถดักฝุ่นได้ในช่วงสามชั่วโมงแรกและความสามารถในการดักฝุ่นลดลงเมื่อใบเริ่มคายน้ำ
อ่านงานศึกษาได้ที่ researchs.eng.cmu.ac.th
Mitigation impact of roadside trees on fine particle pollution
พอศึกษาเรื่องชนิดต้นไม้ คำนึงเรื่องประเภทที่สามารถดักจับฝุ่นได้แล้ว ในระดับปฏิบัติว่า แล้วต้นไม้ที่จะมาปลูกริมถนนต่อไปจะเลือกต้นไหนที่ช่วยดักฝุ่นได้แล้ว พื้นที่สำคัญเช่นถนนใหญ่ อันเป็นต้นทางหลักของฝุ่นในเมืองจะใช้ต้นไม้ช่วยกรองฝุ่นของถนนได้อย่างไร
ในระดับปฏิบัติคือจะลงมือปลูกแล้วนะ การรู้สายพันธุ์ก็เลยยังไม่พอ แต่การรู้ว่าแล้วจะปลูกอย่างไร มีการวางระยะยังไงตัวต้นไม้ถึงจะกรองฝุ่นได้ดีที่สุดก็เลยเป็นอีกความรู้ที่สำคัญยิ่ง
ในงานศึกษาจากกรุงอิสตันบูลชิ้นนี้ศึกษาการปลูกแนวสนไซปรัสในเมืองว่าลักษณะการปลูกที่แตกต่างกันสามแบบคือไม่มีต้นไม้ ปลูกแนวต้นไม้โดยเว้นระยะ และปลูกเป็นแนวต้นไม้หนาทึบโดยไม่มีช่องว่าง ผลการศึกษาไม่เหนือความคาดหมายคือการปลูกแนวต้นไม้โดยไม่เว้นระยะช่วยกรองลดฝุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ งานศึกษารายงานว่าลดได้ถึง 17% โดยรวมงานศึกษานี้ยืนยันว่าต้นไม้ตามแนวถนนช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ได้จริง
อ่านงานศึกษาได้ที่ sciencedirect.com
Evaluation of impacts of trees on PM 2.5 dispersion in urban streets
อีกหนึ่งงานศึกษาของจีนที่พยายามทำความเข้าใจลักษณะทางกายภาพของเมือง และการใช้ต้นไม้และพื้นที่สีเขียวถนนหนทางในเมืองใหญ่ในการร่วมจับ กรองฝุ่นและลดมลภาวะทางอากาศลง งานศึกษานี้เน้นศึกษาทั้งในระดับกายภาพในพื้นที่เมือง ประกอบกับการเก็บข้อมูลในถนนที่มีพื้นที่สีเขียวในจุดต่างๆ ของเมืองเซี่ยงไฮ้
ตัวงานศึกษาเน้นศึกษา street canyon คือลักษณะพิเศษของถนนที่ถูกขนาบด้วยตึกสูงจนเกิดเป็นอุโมงค์ลมขนาดยักษ์รูปแบบต่างๆ ขึ้น ตัวงานศึกษาก็เลยเน้นที่พื้นที่ ลักษณะต้นไม้ และบริบททางกายภาพของเมืองที่แตกต่างกันเพื่อหาวิธีการปลูกแนวต้นไม้ในเมืองที่ช่วยกรองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อ่านงานศึกษาได้ที่ sciencedirect.com
Association between particulate matter air pollution and risk of depression and suicide: systematic review and meta-analysis
ฟ้าสีหม่น สุขภาพที่แย่ลง การออกจากไปทำกิจกรรมเช่นเดิมไม่ได้ และงานศึกษาที่เริ่มชี้ให้เห็นว่าฝุ่นจิ๋วๆ พวกนี้อาจส่งผลกับร่างกายและจิตใจของเราอย่างคาดไม่ถึง งานศึกษาว่าด้วยความสัมพันธ์ของมลพิษทางอากาศและสุขภาพจิตนี้ตีพิมพ์ใน The British Journal of Psychiatry ในปี ค.ศ.2019 ทำการสำรวจและรายงานเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจิต คือภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
งานศึกษาพบความเชื่อมโยงของฝุ่น PM 2.5 ความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณฝุ่นในอากาศและบางส่วนสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย งานศึกษาพบว่าปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้น 10 µg/m3 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าขึ้น 19% และเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายขึ้น 5% ทั้งยังรายงานว่ามีแนวโน้มว่าการเผชิญฝุ่นเป็นระยะเวลานานๆ อาจส่งผลสะสมและนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตใจต่อเนื่องได้
อ่านงานศึกษาได้ที่ cambridge.org
Disparities in Distribution of Particulate Matter Emission Sources by Race and Poverty Status
เราพูดเรื่องฝุ่น บ่นถึงผลกระทบทางสุขภาพอันเกิดจากฝุ่นและควัน แต่ในที่สุดแล้วในเมืองใหญ่แห่งนี้ ใครที่เจอกับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังมากที่สุด และเป็นอีกครั้งที่ความเหลื่อมล้ำและความยากจนกลับมาสัมพันธ์กับเมืองที่ย่ำแย่
ในงานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าในสหรัฐกลุ่มคนที่เป็นชายขอบของสังคมเช่นคนผิวดำ และคนฮิสปานิก รวมถึงกลุ่มที่มีความยากจนมีแนวโน้มจะใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับแหล่งมลพิษทางอากาศเช่นบ่อขยะหรือพื้นที่ก่อสร้าง ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ ส่งผลกับสุขภาพโดยรวมเช่นคนผิวดำมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคทางหลอดเลือดและมีอัตราของการเป็นโรคทางเดินหายใจสูงกว่า
นึกภาพกลับมาที่บ้านเราคนที่มีรายได้น้อยก็ย่อมต้องสัมผัสกับมาพิษมากกว่าเพราะขาดทางเลือกหรือต้นทุนที่จะหลบเลี่ยงมลพิษได้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
อ่านงานศึกษาได้ที่ ncbi.nlm.nih.gov