รู้สึกไหมว่าเราไม่ค่อยตื่นเต้นกับไอเดียอะไรอีกแล้ว? สุดท้ายแล้วความคิด ‘เปลี่ยนโลก’ ทุกวันนี้ก็เป็นเพียงการนำความคิดเดิมๆ มาปะ มาต่อติดกัน หรือพลิกมุมเล็กๆ น้อยๆ ถึงจะมีคำพูดว่า ‘ไม่มีอะไรเป็นออริจินัลหรอก’ แต่การเหือดหายทางความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในช่วงหลังก็ทำให้เราอดตั้งคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่า ‘หรือการคิดไอเดียใหม่ๆ ในสมัยก่อนมันจะง่ายกว่าในสมัยนี้?’
พูดในฐานะบุคคล – การที่เราได้เห็นอะไรมากขึ้น (จากผลของโซเชียลเนตเวิร์กและอินเทอร์เนต) ดูเหมือนจะดี แต่ยิ่งทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไร ‘ใหม่’ มากนัก – นั่นก็ซ้ำ, นี่ก็เคยเห็นแล้ว, แล้วพอถึงเวลาที่จะต้องคิดอะไรของตัวเอง เราก็แทบคิดไม่ออก
ถ้าพูดในมุมที่ใหญ่ขึ้น – ในบทความปี 2016 ของ Wall Street Journal ถึงกับประกาศไว้ว่า “ปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ คือเราไม่เหลือไอเดียพลิกโลก (Big Ideas) อีกแล้ว” โดยอ้างว่าในช่วงหลัง การเติบโตทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์และเทคโนโลยีก็ชะลอตัวลงไปตามๆ กัน
บางคนที่มองโลกในแง่ดี เช่น Erik Brynjolfsson ประธานโครงการเศรษฐกิจดิจิทัลของ MIT ตอบคำถามที่ว่า “ไม่เหลือนวัตกรรมอะไรให้เราค้นพบอีกแล้วใช่ไหม” อย่างแข็งขันว่า “ไม่” – เขาบอกว่า ยังเหลือนวัตกรรมอะไรให้เราค้นพบอีกมาก ทั้งเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องจักร ที่ก็ช่วยเปิดทางให้งานวิจัยได้ต่อยอดมากมาย เขาอ้างว่าในการค้นคว้าทางปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะนำมาซึ่งการค้นพบ (breakthrough) ใหม่ๆ อย่างแน่นอน
เรายังอาจมีนวัตกรรมที่รอการค้นพบ – แต่การค้นพบนวัตกรรมเหล่านั้นยากขึ้นไหม? – หากพูดให้เป็นทางการขึ้น อาจพูดได้ว่า ‘ตอนนี้เทคโนโลยีเราเดินมาถึงจุดอิ่มตัวชั่วคราว (plateau) หรือยัง’
งานวิจัยจาก Nicholas Bloom, Charles I. Jones, John Van Reenen และ Michael Webb ทีมนักวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัย Stanford และ MIT ชื่อ “Are Ideas Getting Harder to Find?” พยายามตอบคำถามนี้
นิโคลัส บลูม ให้สัมภาษณ์กับ phys.org ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมากมายเกิดขึ้น แต่ในตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าเราจะไม่ค่อยค้นพบนวัตกรรมอะไรใหม่อีกแล้วด้วยต้นทุนการค้นคว้าวิจัยที่สูงขึ้นทุกที เขาบอกว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนละก็ การที่นักประดิษฐ์สักคนจะประดิษฐ์เครื่องบินหรือพาหนะด้วยตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย “แต่ในทุกวันนี้ การที่จู่ๆ ใครสักคนจะประดิษฐ์พาหนะขึ้นมาใช้เอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องแทบคิดไม่ถึง” “หากคุณมองย้อนกลับไปร้อยหรือสองร้อยปีก่อน อย่างตอนที่เอดิสันประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา หลอดไฟเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก แต่ชายคนเดียวก็สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ – กลับมาดูในทุกวันนี้ สมมติว่าเราพิจารณากรณีของสตีฟ จ็อบส์ และไอโฟน เราไม่อาจพูดได้ว่าสตีฟ จ๊อบส์ผลิตไอโฟนคนเดียว แต่เขาต้องอาศัยทีมงานเป็นสิบๆ คนต่างหาก”
งานวิจัย Are Ideas Getting Harder to Find ตั้งอยู่บนสมมติฐานพื้นฐานที่ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมมาจากไอเดียของผู้คน เมื่อคุณมีนักวิจัยที่ลงทุนลงแรงวิจัยมากขึ้น เศรษฐกิจก็ย่อมเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย และอันที่จริงก็ควรจะเติบโตในสัดส่วนเท่าๆ เดิม นั่นคือ
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ = ผลิตภาพของการวิจัย (ต่อคน) x จำนวนนักวิจัย
Economic Growth = Research Productivity x Number of Researchers
แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันผลิตภาพของการวิจัยจะลดลงอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนนักวิจัย แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจก็ยังไม่เพิ่มขึ้นตามนัก (จากการเติบโต 4% ต่อปีในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ลดลงเหลือเพียง 2% ในช่วงปี 2010) พูดง่ายๆ คือ การที่จะสร้างนวัตกรรมแต่ละชิ้นได้นั้นมีราคาที่แพงขึ้น งานวิจัยนี้ค้นพบคำตอบว่า : เราต้องใช้กำลังวิจัยมากกว่าเดิมถึง 20 เท่า (อาจตีความเป็น จำนวนนักวิจัย 20 เท่า) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การเติบโตของผลิตภาพเท่าๆ กับ 80 ปีที่แล้ว
ทำไมนวัตกรรมจึงเกิดขึ้นช้าลง? นอกจากเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ‘เราอาจค้นพบนวัตกรรมง่ายๆ ไปหมดแล้ว ตอนนี้เลยเหลือแต่นวัตกรรมยากๆ’ นักวิจัยกลุ่มนี้ยังเสนอว่างานวิจัยอาจมีลักษณะแบบผลตอบแทนลดลง (diminishing return) นั่นคือ ยิ่งค้นคว้ามากเท่าไร ก็ยิ่งค้นพบยากยิ่งขึ้นเท่านั้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าความหวังจะหมดเสียทีเดียว, ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะเดินช้าลงๆ จนไม่ก้าวไปข้างหน้าได้อีก, นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเสนอว่าการเจริญเติบโตของการค้นคว้านั้นเป็นกราฟรูปตัว S ต่อกันหลายๆ ตัว (เช่น มาร์ติน ฟอร์ด ก็เสนออย่างเดียวกันในหนังสือ Rise of the Robots) ของเขา นั่นหมายความว่า: ในตอนนี้ ที่เราไม่เห็นว่ามีการพุ่งขึ้นของนวัตกรรมมากนัก อาจเป็นเพราะเราอยู่ในช่วงเส้นแนวนอนของตัว S เท่านั้นเอง และเมื่อการค้นคว้าดำเนินไปถึงระดับหนึ่ง จำนวนนวัตกรรมก็จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (เพราะฐานงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุน)
ความท้าทายในยุคที่งานวิจัย การค้นคว้าและนวัตกรรมอยู่บนช่วงอึนๆ ตันๆ เช่นนี้ ก็คือ เราควรเตรียมตัวเยาวชนของเราอย่างไร? เราควรให้การศึกษาแบบไหน? การศึกษาที่เน้นการใช้งานระบบมากกว่าความเข้าใจอาจทำให้แรงงานของประเทศตกอยู่ในภาวะลำบาก เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง – หรืออาจลำบากไปกว่า หากการเปลี่ยนแปลงไม่เคยมาถึง
อ้างอิง / ที่มา
Great Ideas Are Getting Harder to Find
https://sloanreview.mit.edu/article/great-ideas-are-getting-harder-to-find/
https://voxeu.org/article/ideas-aren-t-running-out-they-are-getting-more-expensive-find
http://www-leland.stanford.edu/~chadj/IdeaPF.pdf
Are Ideas Getting Harder To Find? Not Really, No, Unless You Measure By Ideas Already Found
นิโคลัส บลูม ให้สัมภาษณ์ […]
https://phys.org/news/2017-09-scholars-big-ideas-harder.html