ไม่นานมานี้มีประเด็นฮือฮาที่จู่ๆ บริษัทญี่ปุ่นขอยื่นจดสิทธิบัตร ‘กระท่อม’ พืชสมุนไพรมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ที่เรารู้จักมาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ขึ้นหลังบ้านเราแท้ๆ แต่กลายเป็นของญี่ปุ่นเฉยเลยแบบอึ้งๆ งงๆ
ข่าวนี้สั่นสะเทือนพวกเราไม่น้อย โดยเฉพาะหน่วยงานที่คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ จนต้องจับตาท่าทีญี่ปุ่นตาเป็นมัน แม้ รมว.พาณิชย์จะออกมาแก้ข่าวว่าไม่เป็นความจริง แต่ประเด็นนี้จุดกระแสความกังวล เรื่องต่างชาติเอาพืชไทยไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ขออนุญาตสักคำ หรือการจดสิทธิบัตรแบบฉกฉวยทรัพยากรท้องถิ่น เอาไปวิจัยและพัฒนาต่อจนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยที่เราเองไม่ได้จิบแม้กระทั้งน้ำใต้ศอก ซึ่งเราเคยมีบทเรียนอย่าง ‘เปล้าน้อย’ พืชสมุนไพรประจำภาคตะวันออก ข้าวดอกมะลิ 105 หรือ กวาวครือ ที่ล้วนถูกบริษัทต่างชาติขนไปจดสิทธิบัตรแทบเกลี้ยง กลายเป็นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรที่เรามักช้ากว่าคนอื่นเสมอ และคนในชาติยังคิดว่า จะกลัวอะไรข้างหลังบ้านยังมีอีกเพียบ แต่พอจะเดินไปเก็บเท่านั้นก็ต้องสะดุ้งตัวโยน เพราะใครก็ไม่รู้เอาชื่อไปแปะแล้ว ขืนไปเด็ดก็โดนฟ้องแย่เลย
ความล้าหลังเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ ลืมเลือนภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงกฎหมายและวิทยาศาสตร์ที่เชื่องช้า ทำให้วิสัยทัศน์ ‘ประเทศไทย 4.0′ อาจไม่ไปถึงฝัน จากความเมินเฉยของพวกเรา ความหลากหลายทางสายพันธุ์ ‘ทรัพย์ในดินสินในน้ำ’ ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมถูกฉกฉวย โดยไม่ทันได้บอกลาสักคำ
แต่ความไม่รู้จักทรัพยากรที่เรามี ปิดโอกาสอย่างถาวรแล้วจริงหรือ?
อยู่กับงานเดิมๆ ไม่ใช่คำตอบ
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปลูกอะไรก็ขึ้น ตกอะไรก็ได้ แต่สภาพแวดล้อมทุกวันนี้ไม่เป็นมิตรเหมือนแต่ก่อน ดั่งแฟนสาวที่หักอกแล้วยังขูดรถซ้ำอีก ความที่เรายึดถือหรือเคยชินจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้น้ำมาก พื้นที่มาก ปุ๋ยมาก แล้วติดนิสัยทำเยอะๆ เพื่อที่จะติดอันดับต้นๆ ของโลก อย่าง ส่งออกข้าว (อันดับ 1) มันสำปะหลัง (อันดับ 1) อ้อย (อันดับ 2) และ ยางพารา (อันดับ 1) ถ้าอันดับเหล่านี้เป็นโอลิมปิกก็น่าจะดี แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นเพียง ต้นน้ำ ที่ทำอะไรมักได้อย่างนั้นโดยไม่พลิกแพลง
ทำข้าวได้ข้าวเปลือก ทำมันได้แป้งมัน ทำอ้อยได้น้ำตาล ทำยางได้น้ำยาง
ผลที่ตามมาจากการทำมากเข้าไว้ก่อน ยัดทะยานด้วยจำนวน ทำให้ ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง ที่ไม่รู้จะหาเงินเพิ่มจากสิ่งที่ทำอยู่อย่างไร เพื่อนบ้านจึงให้เราเป็นเพียงผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง แต่ไม่เคยให้นั่งระดับเดียวกับพวกเขา ข้อจำกัดของงานวิจัยเชิงนวัตกรรมของไทยที่ผ่านมาจึงกระจุกตัวและไม่สร้างความคึกคักนัก
พวกเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า ข้าวยังเป็นเอทานอลได้ เป็นพลาสติกชีวภาพได้ มันสำปะหลังยังแปรรูปเป็นเคมีภัณฑ์ หรือกลุ่มเครื่องสำอางได้ อ้อยยังเป็นไบโอพลาสติกย่อยสลายได้ และบริษัทยางระดับโลกคงเชื่อมั่นประเทศไทยมากกว่านี้หากเราเอายางที่มีไปทำยางรถยนต์ได้คุณภาพตามสเป็คสากล สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราไม่เอานวัตกรรมชีวภาพไปต่อยอดแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งที่เรามีโอกาสเพิ่มรายได้กว่า 4-8 แสนล้านบาทต่อปี
มันน่าเสียดายทั้งที่ความได้เปรียบอยู่ข้างพวกเราเสมอ
เพื่อนเขาทำเงินจากธรรมชาติได้อย่างไร?
ทั่วโลกมีการพูดถึงเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) มาสักระยะแล้ว เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่โดยการต่อยอดทรัพยากรทางชีวภาพที่เรามีอยู่เดิมมาใช้ใหม่ ไม่ให้เสียของไปเปล่าๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ ป่าไม้ สัตว์บก สัตว์น้ำ แม้กระทั้งจุลชีพที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ให้กลายเป็นอาหาร วัสดุ และพลังงานในรูปแบบใหม่
จากความก้าวหน้าทางวิทยาการปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันว่ามันสามารถทำได้จริง และเป็นทางออกเมื่อโลกกำลังเผชิญหน้าเกลียวคลื่นแห่งปัญหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติ เราไม่สามารถปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยทางอาหาร และพลังงานที่เหลืออยู่จำกัดจำเขี่ยราวกระเป๋าเงินช่วงสิ้นเดือน ถ้าไม่จัดการของที่เรามีหลังบ้านอย่างชาญฉลาด วันหนึ่งมันก็หมดไปอยู่ดี คุณก็ต้องแอบไปฉกมาจากหลังบ้านคนอื่นอย่างอายๆ
บราซิลเป็นประเทศที่ความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ติดกับดักรายได้ปานกลางจากการเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว คือ พืชตระกูลอ้อย (Sugarcane) ทำให้หลายๆ ปัจจัยมีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ของไทย แต่รัฐบาลและภาคเอกชนเห็นความเป็นไปได้ของ Bioeconomy ที่จะช่วยดึงออกจากกับดักเดิมๆ พวกเขาจึงอัดฉีดงบประมาณทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) กว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาวงการเกษตรกรรมด้วยเชื้อพันธุ์พืช (Germoplasm) ของพืชอ้อย จนสามารปรับปรุงประสิทธิภาพอ้อยให้กลาย ‘เอทานอลคุณภาพสูง’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินเร็วขึ้น x10
ประเทศชั้นนำที่ออกตัวด้าน Bioeconomy ก่อนเนิ่นๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฟินแลนด์ และสวีเดน เอาจริงเอาจังกับ การพัฒนาเทคโนโลยีแบบสหวิทยาการเพื่อปรับเปลี่ยน กลั่นวัสดุทางธรรมชาติ อย่างพืชและของเสียจากโรงงาน ให้เป็นพลังงานรูปแบบใหม่ สารเคมี ไบโอพลาสติก หรือแม้กระทั่งอาหารสัตว์
เยอรมันเองทำเซอร์ไพรส์โดยการประกาศปิดโรงงานพลังนิวเคลียร์ และใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แบบเต็มสเกล
และประเทศออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากที่สุด จากความบอบบางทางภูมิประเทศ ทำให้คนในสังคมต้องลุย Bioeconomy อย่างร่วมใจ และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากทรัพยากรที่มีจำกัด
แม้คุณจะไม่ทำตอนนี้ แต่ธรรมชาติจะบีบให้คุณต้องทำอยู่ดี
เราทำได้ไหมหรือยังไม่ได้ทำ?
อย่างที่ว่าประเทศไทยมีต้นทุนดีจากพื้นฐานการเป็นประเทศเกษตรกรรมมาตั้งแต่ต้น แต่การขับเคลื่อนแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเดินหน้าเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์กับต้นทุนทรัพยากรเดิมไม่ได้ใช้ศักยภาพที่คนไทยมี
จะว่าเราไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชีวภาพก็ไม่ใช่ นักวิจัยไทยก็ธรรมดาเสียที่ไหน แถมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ติดตัวมากับสายเลือดก็ยังไม่ได้จาง กลายเป็นว่าประเด็นหลัก คือการที่สังคมขาดผู้ขับเคลื่อนที่พร้อมร่วมมืออย่างแท้จริง
กลุ่มมิตรผล แม้จะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่ให้ความสำคัญควบคู่กับความใส่ใจปรากฏการณ์โลกที่แปรเปลี่ยนไปตลอด 60 ปี
และเป็นผู้นำร่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพในประเทศไทยมากว่า 20 ปีจากประสบการณ์ทำธุรกิจอ้อยให้เป็นน้ำตาล
แต่อ้อยเป็นได้มากกว่านั้น! มันเปิดประตูโอกาสสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจเอทานอล ธุรกิจปุ๋ย ตลอดจนธุรกิจ Bio-based อื่นๆ
เมื่อกลุ่มมิตรผลเองครบรอบ 60 ปี การจะมาคอยพัฒนานวัตกรรมชีวภาพอยู่คนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องสร้างสรรค์นัก ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่อัพเลเวลความรู้ความสามารถไปไกล พวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบพลวัตร ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน ธรรมชาติ เศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรานึกถึงความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันสังคมต้องการนวัตกรรม ไม่ใช่ความตั้งใจล้มๆ แล้งๆ
หากผู้ใหญ่ไม่ทำอะไรเลย เด็กก็บินไปโชว์นวัตกรรมที่เมืองนอกกันหมดสิ
ถ้ามีฝีมือจะรออะไรล่ะ?
กลุ่มมิตรผลท้าทายสัญชาตญาณนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ ด้วยโครงการประกวด Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 ให้คุณมาร่วมขับเคลื่อนประเทศและสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมจากการต่อยอดพืชเศรษฐกิจ โดยมีโจทย์สุดหินว่า “แนวความคิดที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดคุณค่าให้กับพืชเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน” ย้ำว่า “ไม่เคยมีมาก่อน” ดังนั้นไม่ใช่ทุกแนวคิดจะเข้าวินหมด มีเพียงมันสมองที่เคี่ยวกร่ำมาอย่างดีแล้วเท่านั้นที่จะไปต่อได้ โดยมีเงินรางวัล 1,000,000 เพื่อสนับสนุนความคิดคุณให้ต่อยอดได้อีกมาก
หากคุณยังเป็นนิสิตและนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอนุปริญญา จนถึงปริญญาโทหรือเทียบเท่า ไม่จำกัดคณะและสาขา สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นทีมในสถาบันเดียวกัน ไม่เกิน 4 คน (และคิดว่าไม่ทะเลาะกัน)
สมัครมาที่ www.mitrphol.com/bioinnovator/ ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 พฤศจิกายน 2559
หากแนวคิดคุณสามารถทำให้ประเทศไทยไปต่อด้วยเศรษฐกิจฐานชีวภาพได้ ทำไมจะเก็บไว้คนเดียว แสดงมันให้เห็นว่าคุณจะสร้างปรากฏการณ์ได้อย่างไร และเรียนรู้ว่าโลกนี้ยังมีคนเก่งกว่าคุณ แต่พร้อมสนับสนุนและเดินเคียงข้างในสิ่งที่คุณเชื่อ
Bioeconomy ไม่ใช่กระสุนวิเศษที่ยิงทุกปัญหาแล้วแก้ไขได้หมด มันคือชิ้นส่วนตัวต่อที่สามารถเติมเต็มอนาคตของชาติได้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด
คุณเองจะไม่ลองต่อให้มันเต็มซะหน่อยหรือ?