ในช่วงเวลาที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากสถานการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจการเมืองที่ผันผวน สังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา และวิกฤติโลกร้อน เหล่านักออกแบบและนักพัฒนาก็พยายามรับมือกับความไม่แน่นอนเหล่านั้น ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้มนุษยชาติสามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
นี่คือ 9 นวัตกรรมการออกแบบและเทคโนโลยีแห่งปีจากลิสต์ของ Fast Company ที่อยากเลือกสรรมาให้ดู ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยให้โลกที่เราอยู่ดีขึ้นกว่านี้ ปลอดภัยกว่านี้ สวยงามกว่านี้ และเท่าเทียมกันมากกว่านี้
LOCAL PROJECTS
รางวัล : Design Company of the Year & Best Design North America
สตูดิโอในนิวยอร์ก ที่ผสมผสานการเล่าเรื่อง งานออกแบบ และเทคโนโลยี ออกมาเป็นนิทรรศการการเรียนรู้ในรูปแบบ Immersive หลากหลายวิธี ที่ทำให้คนเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่อย่างน่าสนใจ พร้อมส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เสียงของทุกภาษาที่คนพูดกันบนโลก นิทรรศการเพื่อหยุดความรุนแรงในผู้หญิง นิทรรศการถ่ายทอดประสบการณ์การสังหารหมู่คนผิวดำที่ทัลซา (Tulsa race massacre)
3D PRINTED HOMES FOR THE HOMELESS
รางวัล : General Excellence
โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคน(เคย)ไร้บ้าน ภายใต้ความร่วมมือของ Mobile Loaves & Fishes (MLF) และ Icons ที่บ้านทั้งหมดในโครงการนั้น สร้างมาจากการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการก่อสร้าง ดำเนินการได้รวดเร็วกว่า (ภายใน 24 ชั่วโมง) และพิสูจน์มาแล้วว่าอยู่ได้จริง
KEY WORKERS
รางวัล : Data Design
จริงๆ แล้ว ผู้อพยพนับเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมของแทบทุกประเทศ แต่ส่วนใหญ่พวกเขามักถูกละเลยไม่ให้คุณค่าและความสำคัญเท่าที่ควร งาน Data Visualization ที่ Federica Fragapane ร่วมกับ Alex Piacentini ชิ้นนี้ จึงหยิบเอาเรื่องของบทบาทแรงงานอพยพที่เด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วง COVID-19 มาเปลี่ยนเป็นภาพที่เล่าเรื่อง พร้อมคำถามสำคัญที่ชวนสังคมคิดว่า แล้วต่อจากนี้เราจะดูแลพวกเขาอย่างไรให้เหมือนกับที่พวกเขาดูแลเรา
PROJECT GUIDELINE
รางวัล : Experimental
Google Creative Lab ร่วมกับ Google Research พัฒนาระบบช่วยเหลือขึ้นมา เพื่อให้ผู้พิการทางสายตา สามารถเดินหรือวิ่งออกกำลังกายได้อย่างไร้อุปสรรค โดยระบบนี้จะติดตั้งอยู่ที่ Google Pixel เมื่อผู้พิการเดินทางหรือออกกำลังกายก็แค่เปิดกล้องเพื่อให้ระบบได้ตรวจสอบเส้นบนถนน จากนั้นระบบก็จะประมวลผลเส้นทางจากฐานข้อมูล เพื่อคอยเตือนว่าผู้ใช้งานกำลังอยู่ในเส้นทาง หรือส่งเสียงเตือนเมื่อหลุดออกนอกเส้นทางไป
FLARE
รางวัล : Fashion and Beauty
กำไลสำหรับผู้หญิง ที่พัฒนาขึ้นโดยสองผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เคยผ่านประสบการณ์การก่อกวนทางเพศมาแล้ว กำไลนี้จึงไม่ใช่แค่เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม แต่ยังฝังปุ่มขอความช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากไว้ โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกำไลนี้เข้ากับแอพฯ Get Flare ที่ให้เลือกเบอร์โทรติดต่อยามฉุกเฉิน (อาจจะเป็น 911 หรือคนใกล้ชิด) และมีระบบ GPS เพื่อบอกสถานที่ที่ติดต่อขอความช่วยเหลือ เมื่อรู้สึกไม่สบายใจได้อีกด้วย
THE GUARDIANS
รางวัล : Wellness
สุขภาพจิต เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพสำคัญของคนทั่วโลก MIT Media Lab จึงได้ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับความเข้าใจในพฤติกรรมผู้ใช้ พัฒนาออกมาเป็นแอพฯ ดูแลจิตใจผู้คนผ่านรูปแบบเกม โดยกลไกง่ายๆ คือ ถ้าจะได้สิ่งของหรืออัพเลเวลเพิ่มได้ในเกมนี้ ต้องมีการทำกิจกรรมบางอย่างที่จะช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ในชีวิตจริงเสียก่อน ก็ดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเอาไว้ดูแล้วตัวเองในช่วงเวลาอันไม่ปกติเช่นนี้
THE MOST LIKELY MACHINE
รางวัล : Learning
เว็บไซต์สำหรับเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘อัลกอริธึม’ และอคติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลสำหรับเด็ก พัฒนาโดยสตูดิโอ Artefact ซึ่งทำให้เด็กๆ สามารถเข้าใจแบบง่ายและเร็วว่า กลไกที่อยู่เบื้องหลังโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่างๆ นั้นมีโอกาสทำให้เกิดอคติในการรับรู้ของพวกเขาอย่างไร ซึ่งเหมาะอย่างมากในวันที่พวกเขาถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะทั้งการเรียนหรือกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต
URBANFOOTPRINT
รางวัล : Impact
แรกเริ่มเดิมที่ แพลตฟอร์มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็น Sim City ในชีวิตจริงให้นักผังเมืองหรือผู้บริหารเมืองใช้ข้อมูลด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านประชากรศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม หรือการขนส่ง เพื่อวางแผนในการพัฒนาเมือง แต่พอมาในยุค COVID-19 การพัฒนาเมืองถูกชะลอลง และมีปัญหาเร่งด่วนกว่าที่ต้องจัดการ แพลตฟอร์มเลยผันตัวเองมาเป็น Sim City สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้คน โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเพื่อประมวลผลว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงด้านใด และควรได้รับการช่วยเหลือด้านไหนบ้าง (Fastco ชื่นชมแพลตฟอร์มนี้ก็เพราะการปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ แล้วสร้างอิมแพ็กได้จริง)
HOT HEART
รางวัล : Sustainability
ในช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกมุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) ก็ได้จัดการประกวด Helsinki Energy Challenge ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนช่วยกันเสนอทางออกสำหรับประเทศตัวเอง หนึ่งในไอเดียบรรเจิดที่ผู้อำนวยการ MIT’s Senseable City Lab เสนอมาคือการสร้างถังเก็บพลังงานความร้อนในทะเลบอลติก ซึ่งจะใช้กลไกของธรรมชาติในการจัดเก็บและรักษาพลังงานเหล่านั้นไว้ แม้ไอเดียนี้อาจจะยังอยู่ในช่วงการพัฒนาเพื่อทดลองใช้ แต่ก็ดูเป็นทางออกที่ดีที่มนุษย์จะได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่เบียดเบียนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก