ช่วงนี้ใครอ่านข่าวไอทีหรือข่าวธุรกิจก็มักจะเจอกับคำศัพท์อย่างคำว่า FinTech (ฟินเทค) อยู่บ่อยๆ คำนี้ย่อมาจากคำว่า Financial Technology แปลกันตรงตัวก็หมายถึงการนำเทคโนโลยีทำให้เรื่องเงินๆ ทองๆ มันถูกจัดการได้ง่ายและรวดเร็วกว่าแต่ก่อนนั่นเอง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นกระแสที่หลายๆ ฝ่ายกำลังให้ความสนใจกันทั่วโลกเลยทีเดียว เพราะเหมือนเป็นการติดจรวดให้กับวงการการเงิน
และหนึ่งในเทคโนโลยีเบื้องหลัง FinTech ที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษก็คือ Blockchain (บล็อคเชน) ที่เค้าว่ากันว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะพลิกโลกโดยเฉพาะวงการการเงินเลยก็ว่าได้
วันนี้ The MATTER ชวนมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีตัวนี้เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการทำงาน รวมไปถึงเราจะได้ประโยชน์อะไรจากมันบ้าง และคุณจะไม่เชื่อเลยว่ามันเริ่มใกล้ชิดเรามากขึ้นทุกทีๆ
เดี๋ยวก่อน Blockchain คืออะไรกันแน่
Blockchain เป็นเทคโนโลยีทางด้านโครงสร้างข้อมูลที่สร้างการกระจายตัวของข้อมูลไปอยู่กับทุกคนในระบบแบบไม่มีศูนย์กลาง (Distributed Ledger) โดยจะเข้ารหัสข้อมูลขั้นสูงในรูปแบบที่เครือข่ายนั้นๆ อนุญาตให้เข้าถึงได้ จากนั้นเก็บลงในบล็อก (Block) และแต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมต่อกันเป็นโยงใยห่วงโซ่ (Chain) เราจึงเรียกมันว่า Blockchain
เดี๋ยวนะ งง
เรามั่นใจว่าหลายๆ คนอ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันคืออะไร… โอเค งั้นลองนึกภาพตามว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่กระจายข้อมูลเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ไม่มีศูนย์กลาง แต่ละคนในเครือข่ายจะมีประวัติธุรกรรมของทุกคนเหมือนกัน ทีนี้พอมีใครในเครือข่ายทำธุรกรรมใดๆ ขึ้น ระบบจะกระจายข้อมูลธุรกรรมตัวนี้ไปให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้เพื่อช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูล หากเรียบร้อยก็จะบันทึกประวัติธุรกรรมลงไปในบล็อกของทุกคนในเครือข่าย ซึ่งถ้ามีใครซักคนคิดจะเปลี่ยนแปลงประวัติของตัวเองเพื่อทุจริตก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะทุกคนในเครือข่ายจะรับรู้ประวัติธุรกรรมของกันและกันหมดทั้งเครือข่าย ถ้าเกิดจะแก้หรือแฮคข้อมูลก็ต้องทำให้หมดทุกบล็อกในเครือข่าย ซึ่งมันยากมากๆ
เหมือนพอเราจะซื้ออะไรกับตาสีตาสาสักอย่างนึง แล้วคนทุกคนในระบบก็จะรู้ว่าอ๋อ ฉันจ่ายเงินให้กับตาสีตาสานะ ก็จะบันทึกไว้ในโน้ตของตัวเอง ทีนี้ ถ้าตาสีตาสามาบอกว่า เฮ้ย ยังไม่ได้จ่าย ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าทุกคนมีหลักฐานว่าฉันจ่ายแล้ว
ซึ่ง Blockchain ยังสามารถแบ่งได้ง่ายๆ 2 ประเภท คือ
- Public Blockchain (Blockchain สาธารณะ)
Public Blockchain เปรียบแบบง่ายๆ ก็เหมือนกันอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนจะเข้าถึงข้อมูลใดๆ เมื่อไหร่ก็ได้ ปัจจุบันน่าจะมีเพียง Bitcoin หรือ สกุลเงินดิจิทัลที่นำ Public Blockchain ไปใช้งาน ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศ บางร้านเริ่มรับชำระเงินด้วย Bitcoin แล้วนะ
- Permission หรือ Private Blockchain (Blockchain ส่วนตัว)
ถ้า Public Blockchain คืออินเทอร์เน็ต Private Blockchain ก็เปรียบเสมืออินทราเน็ตนั่นเอง พูดง่ายๆ ว่า Blockchain แบบนี้จะอนุญาตให้เฉพาะคนภายในองค์กรหรือคนที่เชิญเข้ามาใช้งานได้เท่านั้น
ตัวอย่างของ Permission หรือ Private Blockchain ที่ดังๆ ก็อย่างเช่น Ripple ที่ให้บริการโซลูชั่นด้านการโอนเงินระหว่างประเทศชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา และก็กลุ่มพันธมิตร R3 เป็นต้น
เข้าใจขั้นตอนการกระจายข้อมูลของ Blockchain แล้ว แต่พอจะมีตัวอย่างที่มโนตามง่ายๆ มั้ย
ได้เลย งั้นมาเข้าคลาสจินตนาการกันต่อ ตัวอย่างที่ให้นึกตามแบบง่ายๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องการโอนเงินนี่แหละ นึกภาพการโอนเงินข้ามประเทศปัจจุบัน หลายคนคงไม่รู้ว่ากว่าเงินจะไปถึงผู้รับที่อยู่ต่างประเทศมันเดินทางผ่านอะไรบ้าง (ซึ่งปัจจุบันใช้เทคโนโลยีที่ชื่อ Swift กันอยู่) สมมติ จะโอนเงินจากไทยไปอเมริกา อย่างแรก คือ ผ่านธนาคารในไทย ซึ่งธนาคารในไทยต้องคุยกับธนาคารระหว่างทางอีกหลายๆๆ ธนาคารกว่าจะไปถึงธนาคารในอเมริกา ทำให้ใช้เวลาหลายวันกว่าเงินจะไปถึง ในระหว่างทางก็ตรวจสอบยากอีกว่าตอนนี้เงินมันไปถึงไหนแล้ว บางทีก็ใช้เวลา 4-5 วัน ในขณะที่ถ้าใช้เทคโนโลยี Blockchain เจ้าของเทคโนฯนี้จะใช้วิธีรวบรวมธนาคารหลักๆ ของทุกประเทศในโลก (เท่าที่จะเป็นไปได้) เอามาอยู่ในวง หรือใน network เดียวกัน (หรือเรียกว่าเป็น Private Network) ทีนี้ เวลาจะโอนเงินระหว่างประเทศก็ง่ายแล้ว ไม่ต้องผ่านตัวกลางหลายๆ อันให้เสียเวลา ทุกธนาคารในวงนี้ก็จะสามารถติดต่อหรือส่งข้อมูลกันได้โดยตรง
แล้ว Blockchain มีประโยชน์ยังไง ใครเริ่มใช้แล้ว
เชื่อหรือไม่ว่าถ้าหากมี Blockchain เกิดขึ้น ทุกคนก็จะทำธุรกรรมต่างๆ เช่นการโอนเงินระหว่างประเทศที่แต่ก่อนต้องผ่านตัวกลางหลายๆ ด่าน ก็จะกลายเป็นการทำธุรกรรมที่
- รวดเร็ว อย่างการโอนเงินไปต่างประเทศก็จะลดระยะเวลาดำเนินการจาก 3-4 วัน เหลือเพียงไม่กี่นาที
- ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งในแง่ต้นทุนของผู้ให้บริการ และค่าธรรมเนียมของผู้บริโภค
- ปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะสามารถตรวจสอบธุรกรรมระหว่างธนาคารได้โดยตรง
ถ้าพูดถึงการโอนเงินระหว่างประเทศ ตอนนี้ก็มีธนาคารชั้นนำหลายๆ แห่งทั่วโลกเช่น Citibank, Morgan Stanley, HSBC, Deutsche Bank ก็นำ Blockchain เข้าไปใช้งานแล้ว
เห็นพูดแต่เรื่องเงินๆ แล้วมีใครเอา Blockchain ไปทำอย่างอื่นอีกมั้ย ?
จริงๆ บริษัทชื่อดังของโลกบางรายก็เริ่มมีการเอาเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้กันบ้างแล้ว อย่างเช่น
โตโยต้า ญี่ปุ่น ก็เพิ่งประกาศว่าภายในปีนี้จะทดลองการใช้เทคโนโลยี Blockchain กับการบริหาร Supply Chain ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบสถานะของชิ้นส่วนรถยนต์ตั้งแต่ตอนออกจากโรงงานแล้วขนส่งข้ามประเทศต่อมาเรื่อยๆจนถึงมือผู้บริโภค หรือช่วยเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับอุปกรณ์ส่วนตัวของผู้ขับและเซ็นเซอร์ตรวจจับของระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในเมืองหรือตามถนนทำให้การขับขี่หรือตรวจสอบเส้นทางทำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
อนาคตต่อไปของ Blockchain
เอ๊ะ! เคยได้ยินว่า Blockchain คือ The Next Internet ?
นักวิเคราะห์มองว่ามันอาจเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างนวัตกรรมมาปฏิวัติโลกจนขนานนามว่าเป็น The Next Internet ก็เพราะเหมือนกับที่อินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนแปลงโลกของเราแบบก้าวกระโดดมาแล้ว ในอเมริกาตอนนี้ทั้งฝั่งภาคธุรกิจเองและ Startup ต่างๆ ก็เริ่มตื่นตัว ศึกษาและทดสอบเพื่อมองหาโอกาสต่อยอดจากเทคโนโลยี Blockchain แล้ว
กลับมาที่ประเทศไทยก็เริ่มจะได้ข่าวกันแล้วว่าธนาคารหลายแห่ง
ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเทคโนโลยีนี้ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่กำลังทดสอบ Blockchain ในเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศ ในฐานะผู้บริโภคก็หวังแค่ว่า Blockchain จะมาช่วยให้ชีวิตเราง่าย สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายอย่างที่เค้าว่าไว้ และอยากจะลองใช้บริการเร็วๆ เท่านั้นเอง….
อ้างอิงข้อมูลจาก