‘ทำกำไรด้วยสกุลเงินสมมติ หากโชคดีก็อาจร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ถ้าโชคไม่เข้าข้างก็เสี่ยงที่จะต้องติดคุก’
หากใครไม่คุ้นเคยกับโลกของสกุลเงินเข้ารหัสหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อาจเข้าใจว่าผมกำลังอธิบายแนวคิดของบอร์ดเกมยอดนิยมตลอดกาลอย่างเกมเศรษฐี แต่สำหรับแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีในตอนนี้ วลีข้างต้นก็คงใช้อธิบายสถานการณ์ได้ไม่ต่างกัน
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หัวเรือใหญ่ของแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ขนาดยักษ์ แซม แบงก์แมน-ฟรายด์(Sam Bankman-Fried) มหาเศรษฐีผมฟูผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม FTX และมักแทนตัวเองด้วยอักษรย่อ SBF ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินว่าผิดฐานฉ้อโกง หลอกลวงนักลงทุน และฟอกเงินโดยต้องโทษจำคุกเป็นเวลารวมกว่าร้อยปี ขณะที่ฉางเผิง จ้าว (Changpeng Zhao)หรือ CZ ผู้บริหารของอีกหนึ่งแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Binance เพิ่งประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบหลังจากยอมเสียค่าปรับในความผิดฐานฟอกเงิน และอาจเสี่ยงต้องโทษจำคุกเช่นกัน
ทั้งสองกรณีสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้กับแวดวงคริปโตฯ เพราะก่อนที่แพลตฟอร์ม FTX จะประสบปัญหา ทั้งสองเจ้าคือคู่แข่งรายสำคัญที่ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่ามหาศาลให้กับนักลงทุนทั่วโลก หลังจาก FTX ปิดตัวลง Binance ก็ครองอันดับหนึ่งในฐานะเจ้าตลาดโดยกินส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งและมีมูลค่าการซื้อขายรวมมากกว่าแพลตฟอร์มอันดับสองอย่าง Upbit เกือบห้าเท่าตัว
กรณีของ SBF และ CZ เกิดจากสองประเด็นที่เรียกได้ว่าความร้ายแรงต่างกันคนละระดับ แต่ก็สะท้อนปัญหาพื้นฐานของแวดวงคริปโตฯ ที่ต้องหาทางแก้ไขเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองกรณีก็ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าสกุลเงินเข้ารหัสยังคงมีอนาคตอยู่หรือไม่ แล้วอนาคตดังกล่าวอยู่ตรงไหนกันแน่
ปัญหาพื้นฐานของแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ
เมื่อราวหนึ่งปีที่ผ่านมา SBF คงสถานะดาวเด่นแห่งโลกคริปโตฯ ในฐานะผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม FTX สตาร์ตอัปที่เติบโตเป็นบริษัทมูลค่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลาเพียงไม่นาน แต่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ‘ราชาแห่งโลกคริปโตฯ’ ผู้นี้ก็ถูกกล่าวหาว่านำสินทรัพย์ของลูกค้าบริษัทไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อกระบวนการไต่สวนเริ่มต้นขึ้น เหล่าคนใกล้ชิดของ SBF ก็ต่างตีตัวออกห่างและตีแผ่สารพัดปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมของ FTX สุดท้ายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาศาลก็มีคำตัดสินว่าผิดทุกข้อกล่าวหาและลงโทษจำคุกรวมกันแล้วกว่าหนึ่งร้อยปี
เบื้องหลังที่นำไปสู่การล่มสลายของ FTX คือการเสนอขายเหรียญที่ชื่อว่า FTT ของตัวเองซึ่งมีสภาพคล่องต่ำให้กับนักลงทุน แล้วนำเงินและสินทรัพย์ของลูกค้าที่ได้มาไปใช้จ่ายโดยผิดกฎหมายและไม่ได้รับความยินยอม เช่น นำไปลงทุนความเสี่ยงสูง บริจาคให้กับเหล่านักการเมืองเพื่อวิ่งเต้นด้านกฎหมาย และซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาแพงผ่านเฮดจ์ฟันด์ของ SBF ที่ชื่อว่าอลามีดา (Alameda)
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงช่องว่างทางกฎหมายของแพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซีที่แทบไม่มีการกำกับดูแล ต่างจากวิธีปฏิบัติในแวดวงหลักทรัพย์ที่จะเคร่งครัดอย่างยิ่งเรื่องการจัดการสินทรัพย์และเงินลงทุนของลูกค้า เช่น การแต่งตั้งบุคคลที่สามมาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์และรับฝากสินทรัพย์ (Custodian) เพื่อให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ดังกล่าวมีอยู่จริงและไม่ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม แม้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะพยายามปิดช่องว่างดังกล่าวด้วยเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน (Blockchain) แต่การล่มสลายของ FTX ก็ชี้ให้เห็นว่ายังมีช่องว่างที่เปิดทางให้นักฉ้อโกงใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
ส่วนกรณีของ CZ อดีตผู้บริหารของ Binance นั้นต่างออกไป เขาตกลงจ่ายค่าปรับ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 18 เดือนเนื่องจากกระทำความผิดโดยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จากการที่แพลตฟอร์ม Binance อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมแก่กลุ่มก่อการร้ายหรือประเทศที่ถูกคว่ำบาตร อาทิ กลุ่มฮามาส กลุ่มอัลกออิดะห์ และประเทศอิหร่าน ส่วนแพลตฟอร์ม Binanceยังคงเปิดต่อไปได้ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของรัฐบาล ทั้งนี้บริษัทจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์
กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้นับว่าเกินคาด เพราะระหว่างปี 2017 ถึง 2021 เราสามารถสมัครบัญชีบนแพลตฟอร์ม Binance โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบตัวตน ที่จริงแล้วข้อมูลเพียงอย่างเดียวที่ใช้ในการเปิดบัญชีคืออีเมล์เท่านั้น นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ Binance ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งในฐานะแพลตฟอร์มระดับโลกและยังมีสภาพคล่องที่สูงลิ่ว กระนั้นการปล่อยให้มีการทำธุรกรรมอย่างเสรีเช่นนี้โดยไม่กลั่นกรองว่าผู้ใช้งานคือใครย่อมกลายเป็นปัญหาดังที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งสองเรื่องนี้คือปัญหาพื้นฐานที่เป็นประเด็นถกเถียงมาอย่างยาวนาน คริปโตเคอร์เรนซีก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกครองกันเองโดยไม่ให้รัฐมายุ่มย่าม แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ยากเพราะกลับกลายเป็นการเปิดช่องทางให้นักฉ้อฉลเข้ามาฉกฉวยประโยชน์และทำธุรกรรมผิดกฎหมาย สุดท้ายแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Binance จึงกลับลำหันมาร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่
โดยเปลี่ยนแนวทางจากการดำเนินงานอย่างอิสระเป็นการขอใบอนุญาตทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมายใน 18 ประเทศทั้งจากยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และใน 44 รัฐของสหรัฐอเมริกา
อนาคตของคริปโตฯ อยู่ที่ไหนกัน?
หากแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานอย่างการดูแลสินทรัพย์ของลูกค้า และเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตนเพื่อให้มั่นใจว่าอุตสาหกรรมแห่งนี้จะไม่ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน คำถามต่อไปคืออนาคตของคริปโตฯ อยู่ที่ไหนกันแน่ ซึ่งผมมองเห็นความเป็นไปได้ 3 ประการ
ความเป็นไปได้แรกคือคริปโตเคอร์เรนซีในฐานะเงินตรา แม้ว่าปัจจุบันจะมีเพียงประเทศเอลซัลวาดอร์ที่ประกาศให้สามารถใช้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่คริปโตเคอร์เรนซีก็ยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย โดยประเทศเหล่านี้มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน เช่น เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินค่อนข้างสูง เท่ากับว่ามีโอกาสน้อยมากที่สกุลเงินเข้ารหัสจะถูกนำมาใช้ทดแทนเงินสกุลเดิมในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีต้นทุนธุรกรรมทางการเงินต่ำ
เอลซัลวาดอร์นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากรัฐบาลพยายามสนับสนุนเต็มที่ให้ประชาชนใช้งานแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ชื่อว่า Chivo ถึงขนาดแจกบิตคอยน์มูลค่าเทียบเท่ากับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อมีการเปิดใช้งานครั้งแรกรวมถึงให้ส่วนลดเวลาชำระค่าน้ำมันผ่านแอปพลิเคชั่นดั่งกล่าว แต่ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ส่วนใหญ่ผู้คุ้นเคยกับการใช้เงินสดก็ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนั้นมาเพื่อใช้เงินโบนัสในกระเป๋าเท่านั้น และพอโบนัสหมดก็แทบไม่ได้เปิดใช้งาน
ส่วนฝั่งบริษัทก็มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่รับบิตคอยน์ แถมบริษัทเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ถือครองบิตคอยน์แต่จะแปลงสกุลเงินเข้ารหัสที่ได้มาเป็นดอลลาร์ทันที ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่าการที่คริปโตเคอร์เรนซีจะถูกนำมาใช้ในฐานะเงินตรานั้นไม่ง่าย เว้นแต่ว่าสกุลเงินหลักของประเทศผันผวนอย่างหนัก หรือการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มคริปโตฯ มีต้นทุนต่ำกว่ามาก
ความเป็นไปได้ที่สองคือคริปโตเคอร์เรนซีสำหรับแสดงสิทธิครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้อ่านหลายคนคงคุ้นเคย (และอาจเจ็บตัว) กับโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนได้หรือ NFTs (Non-Fungible Tokens) ซึ่งเปรียบเสมือนใบรับรองสิทธิในสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งในอดีตสินทรัพย์ดังกล่าวสามารถผลิตซ้ำได้ง่ายดายและแทบไม่มีข้อจำกัด
ความนิยมของ NFTs พุ่งแตะเพดานเมื่อราวปีสองปีที่ผ่านมาก่อนจะหล่นลงฮวบจน ‘งานศิลปะ’ ที่เคยมีราคาแพงหลายชิ้นแทบไม่หลงเหลือมูลค่าและสภาพคล่องในปัจจุบัน แม้ว่ากระแสการเก็งกำไรในตลาด NFTs จะสลายหายไปพร้อมกับฟองสบู่ แต่ทุกวันนี้ตลาดดังกล่าวก็นับว่าคึกคักพอใช้ได้โดยมีปริมาณการซื้อขายราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน โดยสินทรัพย์ยอดนิยมยังเป็นผลงานศิลปะและของสะสม รองลงมาคือของในเกม
อนาคตของ NFTs นับว่าน่าจับตามองในเรื่องของ ‘แนวคิด’ ในการสร้างสิทธิในสินทรัพย์ดิจิทัล ในฝั่งของผลงานศิลปะอาจเป็นเรื่องจับต้องได้ยากสักหน่อย แต่ในฝั่งของเกม NFTs ก็ถือเป็นแนวคิดที่เย้ายวนใจสำหรับเหล่าเกมเมอร์ นึกภาพง่ายๆ อย่างเช่นเกมการ์ดที่ผู้เล่นจะมีคอลเล็กชั่นการ์ดดิจิทัลของตัวเอง การนำระบบ NFTs เข้ามาใช้ก็จะช่วยให้เหล่าผู้เล่น ‘เป็นเจ้าของ’ การ์ดใบนั้นจริงๆ และสามารถนำไปขายได้ผ่านแพลตฟอร์มเช่น TokenTrove
ความเป็นไปได้ที่สุดท้ายคือเทคโนโลยีบล็อกเชนกับเว็บไซต์ 3.0 นวัตกรรมนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีโดยตรง แต่เป็นการประยุกต์ใช้บล็อกเชนสำหรับโครงสร้างเว็บไซต์ ปัจจุบัน ข้อมูลผู้ใช้งานของเว็บไซต์เวอร์ชั่น 2.0 ถูกรวบรวมและครอบครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัทเหล่านั้นทำเสมือนหนึ่งว่าเสนอบริการบนโลกอินเทอร์เน็ตแบบฟรีๆ แต่ความจริงแล้วใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อทำกำไรมหาศาล ตัวอย่างที่เราคุ้นชินกันดีก็คือเว็บไซต์ค้นคำชื่อดังอย่างกูเกิล และสารพัดโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต่อก เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม
เว็บไซต์ 3.0 จะมีหน้าตาและรูปแบบการใช้งานไม่ต่างจากในปัจจุบันมากนัก แต่ต่างกันที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะมีสิทธิเป็นเจ้าของข้อมูลตนเองอย่างสมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ปัจจุบัน แม้เว็บไซต์ 3.0 จะมีการพัฒนาขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งเพราะระบบการใช้งานที่ยังคงยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงปัญหาเรื่องการกำกับดูแลที่ยังไม่แน่ไม่นอน รวมถึงปัญหาของบล็อกเชนเองที่ประมวลผลช้าและขยายได้ลำบาก นี่คือความท้าทายที่กำลังรอการแก้ไขซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเปลี่ยนอำนาจในการครอบครองข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล
แม้ว่าอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีในตอนนี้อาจไม่ได้หวือหวาเมื่อเทียบกับช่วงที่แตะจุดสูงสุด แต่ฝั่งผู้คร่ำหวอดในวงการกลับมองว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระแสฟองสบู่ครั้งล่าสุดก็ได้คัดกรองคนที่หวังมาฉ้อโกงและนักเก็งกำไรออกไปจากตลาดจนเหลือแต่นักพัฒนาที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้จริงๆ ส่วนจะประสบความสำเร็จตามฝันหรือไม่ก็คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
อ้างอิงจาก
Regulators put the future of America’s crypto industry in doubt
El Salvador’s Experiment with Bitcoin as Legal Tender