ถ้าคุณได้ยินเพลงเพียง intro ของดิสนีย์เพียงแว่วหู คุณจะเห็นเพื่อนรอบข้างกำลังร้องตาม
เจ้าหญิงคนไหนที่คุณโปรดปรานเป็นพิเศษ? การผจญภัยของใครน่าตื่นเต้นที่สุด? และสัตว์คู่หูประเภทไหนที่คุณอยากมีเคียงข้างหากต้องเผชิญกับโลกที่โหดร้าย
คุณน่าจะมีการ์ตูนดิสนีย์เรื่องโปรดในใจอยู่แล้ว บางครั้งการ์ตูนก็ทำให้เราเสียน้ำตาหรืออัดฉีดความฮึดในวันแย่ๆ
หนังของดิสนีย์มีมนต์เสน่ห์เหนือกาลเวลา เราเติบโตมาพร้อมกับความท้าทายและการยอมรับตัวเอง จากการซ่อนเร้นสาสน์ลับๆ ที่ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์อมิเมชั่นพาเราไปสำรวจตัวเองและคนรอบข้าง การ์ตูนสามารถเยียวยาผู้คนได้ หากคุณเชื่อในพลังของมัน
แม้แต่ครอบครัวที่เผชิญหน้ากับความยากลำบากของภาวะออทิสซึม (Autism) ก็ยังสามารถช่วยกันลดอุปสรรคการเรียนรู้ได้ด้วยพลังการ์ตูน
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1993 มีเหตุการณ์ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นกับเด็กน้อยวัย 2 ขวบ Owen Suskind เมื่อเด็กร่าเริงวัยกำลังโต กำลังเล่นบทบาท ‘ปีเตอร์แพน’ เลียนแบบการ์ตูนอนิเมชั่นของดิสนีย์ในชื่อเดียวกัน เด็กน้อยกวัดแกว่งดาบของเล่นราวกับตัวเอกของเรื่อง คล้ายเด็กๆ ทั่วไปที่ดูการ์ตูนแล้วอิน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถูกบันทึกเป็นโฮมวิดีโอโดยครอบครัว
แต่ภาพเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นภาพสุดท้ายที่ครอบครัว Suskind จะได้เห็นรอยยิ้มของเด็กน้อย เหมือนจู่ๆ เด็กที่เคยร่าเริงก็อันตรธานหายไปจากบ้าน แม้เขาจะไม่ได้ถูกลักพาตัวไปแต่อย่างใด แต่จิตใจกลับล่องลอยหายไป เด็กน้อยไม่สบตากับใครอีก แสดงออกอย่างไม่มีความสุข ร้องไห้อย่างไรเหตุผล และเริ่มไม่พูดเป็นประโยค โดยเฉลี่ยเด็กอายุ 2 ขวบครึ่งควรจะมีคลังคำศัพท์ประมาณ 200 คำ แต่ Owen Suskind พูดได้คำเดียวว่า
“Juice”
มันเริ่มเลวร้ายขึ้นเมื่อทักษะการเคลื่อนไหวของเขาเชื่องช้าลง เดินชนข้าวของเหมือนคนปิดตาเดิน และไม่มีแรงบันดาลใจที่จะเคลื่อนไหวใดๆ เพียงจ้องมองกำแพงที่ว่างเปล่า
พ่อแม่เป็นห่วงกับพฤติกรรมที่หาสาเหตุไม่ได้ของลูกชาย จึงสมมติฐานเองว่า เขาอาจกินอะไรที่ผิดสำแดงไปหรือเปล่า หัวไปโขกกับโต๊ะหรือกำแพงตอนที่ใครไม่อยู่ไหม แต่เด็กไม่ควรจะเติบโตแบบถอยหลังเช่นนี้ไม่ใช่หรือ?
ไม่เสมอไป เพราะเด็กบางรายเติบโตมาด้วยการพัฒนาแบบถอยหลัง Owen Suskind มีภาวะพิเศษที่ไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ เขามี ‘ภาวะออทิสซึมแบบถดถอย’ (Regressive autism) เป็นอาการของผู้แตกต่างทางการเรียนรู้ ซึ่งมักเกิดราว 1 ใน 4 ของผู้มีภาวะออทิสซึม ก่อนหน้านี้เด็กๆ ก็ดูมีการเรียนรู้อย่างปกติดี แต่แล้วจู่ๆก็เหมือนมีอะไรมาปิดสวิตซ์การเรียนรู้ของเขาอย่างฉับพลัน
วิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบกับปริศนาของภาวะออทิสซึม อะไรเป็นกลไกดังกล่าว มีประชากรทั้งหมดทั่วโลกถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าข่ายกลุ่มภาวะในสายออทิสติก (Autistic spectrum disorder) เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง ทำให้มีความบกพร่องของพัฒนาการหลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านภาษาและมีสังคมล่าช้า มีพฤติกรรม ความสนใจและการกระทำที่ซ้ำๆ อย่างจำกัด โดยอาการดังกล่าวเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ ซึ่งมีความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน
จำนวนเด็กที่กำลังเผชิญกับความผิดปกติทางสมองเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี แม้แต่กุมารแพทย์ชื่อดังระดับโลกชาวออสเตรียน Hans Asperger ผู้มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับภาวะออทิสซึมมาตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วยังเคยยอมรับว่า การเฝ้าสังเกตอาการเด็กภาวะออทิสซึมทำได้ยากมาก มันเหมือนกับว่าจิตใจของคุณอยู่ในห้องท่ามกลางเครื่องรับวิทยุ 20 เครื่องที่เปิดพร้อมกัน แต่คนละสถานี คุณแทบจะไม่ได้ยินเสียงดนตรีใดๆ รอบๆเลย มันปั่นป่วนและยุ่งเหยิง
3 ปีในการเลี้ยงดู Owen Suskind ดำเนินไปอย่างยากลำบาก ครอบครัวมีลูกชายอีกคนชื่อ Walt ซึ่งเป็นเด็กปกติ แต่ Owen ยังคงถูกขังเดี่ยวอยู่ในกรงแห่งความเงียบงัน ไม่สื่อสารกับสภาพแวดล้อม แต่แท้จริงแล้วเด็กผู้มีภาวะออทิสซึมกำลังดิ้นรนอย่างสาหัสในการติดต่อกับโลกภายนอก เพียงแต่ไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างที่คนปกติจะเข้าใจได้
เมื่อเข้าช่วงวัย 6 ขวบ มีสัญญาณพิเศษบางอย่างที่น่าประหลาดใจ Owen เริ่มดูภาพยนตร์อนิเมชั่นจากค่ายดิสนีย์เรื่องแล้วเรื่องเล่า เขาดูมันเป็นร้อยๆ ชั่วโมง กรอม้วนวิดีโอซ้ำไปซ้ำมาจนยืด ย้อนดูฉากที่ชื่นชอบเป็นพิเศษจาก ช้างน้อยดัมโบ, พิน็อคคีโอ, โฉมงามกับเจ้าชายอสูร, แฟนตาเซีย, กวางน้อยแบมบี และเงือกน้อยผจญภัย
แล้ว Owen ก็เริ่มพูดด้วยคำที่ซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่พ่อแม่ได้ยินในรอบ 6 ปี
“Juicervoice”
Owen กำลังสื่อสารกับโลก โดยผ่านการ์ตูน
พ่อแม่เริ่มปรึกษาแพทย์บำบัด แต่แพทย์ยังไม่ระบุว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกมากนัก อาจจะเป็นอาการพูดเลียน (Echolalia) เมื่อเด็กๆ พยายามเลียนแบบการสื่อสารของผู้ใหญ่ ซึ่งพบเห็นได้ปกติในเด็กผู้มีภาวะออทิสซึม
แต่พ่อแม่เชื่อว่ามีอะไรที่ ‘ไม่ธรรมดา’ เพราะ Owen ดูเลือกเรียนรู้กับฉากที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษในการ์ตูน โดยเฉพาะเรื่อง ‘โฉมงามกับเจ้าชายอสูร’ ซึ่ง Owen สามารถเรียนรู้ที่จะพูดประโยคยาวๆ จากฉากหนึ่งในเรื่องนั้นได้ ว่า “beauty lies within” (ความงามซ่อนอยู่ภายใน)
เหมือนการ์ตูนของดิสนีย์ได้ปลดพันธนาการที่ล่าม Owen เอาไว้ เขาเริ่มอยากเดินไปโรงเรียนเองตอนเช้า เริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง และเมื่อพี่ชายของเขา Walt กำลังเศร้าในงานวันเกิด Owen สามารถพูดประโยคที่มีความซับซ้อนและสัมผัสถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้
“วอลเตอร์ ไม่อยากโตขึ้น ยังกับ เมาคลี หรือ ปีเตอร์แพน เลย”
พ่อของ Owen เห็นว่า ลูกชายมีของเล่นเป็นเพื่อนลับๆ ชื่อ Lago ตุ๊กตานกแก้วแสนรู้จากการ์ตูนอะลาดิน เขาจึงเริ่มไอเดียเล็กๆ ด้วยการใช้นกแก้วช่วยสื่อสารกับลูกชาย โดยการซ่อนใต้เตียงและเลียนเสียงนกแก้วเพื่อพูดคุยกับ Owen เป็นประจำ
“รู้สึกยังไงบ้างล่ะ ที่ต้องเป็นแบบนี้” นกแก้ว Lago ถาม
“ไม่มีความสุข ไม่มีเพื่อน ไม่เข้าใจเลยว่าพวกเขาคุยอะไรกันอยู่” Owen ตอบ
การเยียวยาออทิสซึมที่เด็กๆ ทุกคนต้องการคือ ‘การสื่อสาร’ เป็นหัวใจที่ร้อยทุกคนเข้าด้วยกัน
ปัจจุบัน Owen อายุ 20 ต้นๆ พูดได้และเรียนรู้ได้ แม้จะท้าทายมากกว่าคนปกติทั่วไป แต่อะไรคือคำจำกัดความของคำว่า ‘ปกติ’ ล่ะ?
ชีวิตของ Owen และครอบครัวที่เชื่อมโยงกับการ์ตูนดิสนีย์อย่างเหนียวแน่น ถูกนำมาเล่าโดยสารคดีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเรื่อง Life, Animated ผลงานกำกับของ โรเจอร์ รอสส์ วิลเลียมส์ ที่สร้างความฮือฮาที่สุดในเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2016 จนคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาได้ท่ามกลางคำชื่นชมล้นหลามของนักวิจารณ์
การบำบัดด้วยพลังของการ์ตูนใน Life, Animated สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยชั้นนำทั้งในสถาบัน MIT Yale และ Cambridge ศึกษาโครงสร้างการบำบัดผู้มีภาวะออทิสซึมอย่างจริงๆ จังๆ โดยสื่ออย่างการ์ตูน เพื่อสื่อสารกับเด็กๆ
แม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่มีออทิสซึมมีกลไกการทำงานของสมองแตกต่างจากคนทั่วไป เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และรู้สึกแตกต่างจากเรา พวกเขาจึงลำบากที่จะแสดงออก แต่พวกเขาก็พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพียงแค่ต้องการความอดทนและให้เวลามากขึ้น เสนอทางเลือก สร้างการเรียนรู้อย่างมีขั้นตอน
เพราะพลังของการ์ตูนไม่เคยเสื่อมคลาย และมันสามารถทลายกำแพงหัวใจของทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
มูลนิธิ Rainbow Room