แม้จะยังไม่รู้ว่าปีหน้าต้องเผชิญกับความเฮงซวยอะไรบ้าง แต่ใครหลายคนก็ได้แต่งตั้งให้ปีนี้เป็น the worst year ever ไปเรียบร้อยแล้ว
ปี ค.ศ.2020 นับได้ว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยวิกฤตและความสูญเสีย ซึ่งไม่ได้กระทบแค่ในระดับตัวบุคคลเท่านั้น แต่ความเสียหายได้กระจายไปยังวงกว้าง และบางเหตุการณ์ก็กระทบไปถึงระดับโลกเลย ลองไล่ดูสิ ไฟป่า กราดยิง ประท้วง โรคระบาด น้ำท่วม เลือกตั้ง เรียกได้ว่ากว่าจะผ่านมาได้แต่ละเดือน แทบจะหายใจไม่ทั่วท้องกันเลยทีเดียว
และวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น ไม่ใช่แค่วิถีชีวิตรูปแบบใหม่หรือที่เราเรียกกันว่า new normal เช่น สวมหน้ากาก พกเจลแอลกอฮอล์ สแกนไทยชนะ ทำงานที่บ้าน หรือสั่งอาหารจากแอพพลิเคชัน แต่มันยังสร้างความเปลี่ยนไป ‘ความรู้สึก’ ภายในจิตใจของพวกเราด้วย
- รับมือกับสูญเสียมากขึ้น เพราะข่าวร้ายมีมาให้เห็นทุกเดือนไม่หยุดไม่หย่อน ทำให้ปีนี้เราต้องเตรียมสภาพจิตใจให้แกร่งกันพอสมควร เพื่อรับมือกับความสูญเสียที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันดีคืนดีมีเหตุกราดยิง วันดีคืนดีมีตำรวจมารวบตัวถึงที่บ้าน วันดีคืนดีคนรอบข้างติดโรคระบาด COVID-19 และไม่ใช่แค่การสูญเสียชีวิตของคนรักหรือคนรอบข้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสูญเสียอาชีพการงานด้วยเนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด ทำให้บางคนตกงานจนตอนนี้ยังไม่ได้งานกลับมา บางคนยังหางานใหม่ไม่ได้ บางคนยอมทำงานแลกกับค่าแรงที่น้อยลง หรือบางคนสูญเสียโอกาสสำคัญในชีวิตไป เช่น แพลนท่องเที่ยว เรียนต่อต่างประเทศ งานแต่งงาน คอนเสิร์ตที่เฝ้ารอ รวมไปถึงสูญเสียชีวิตประจำวันบางอย่างไปด้วย คิดถึงร้านข้าวประจำที่เคยกิน ทุกวันนี้เขาปิดกิจการไปทำอะไรต่อนะ
- ความเครียดก่อตัวจากกฎที่เข้มงวด เพราะไม่มีใครอยากให้สถานการณ์โรคระบาดรุนแรงไปมากกว่านี้ จึงต้องเคร่งปฏิบัติตามกฎให้ได้มากที่สุด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้หน้าจะเป็นสิวผด หายใจลำบาก และหาซื้อยากก็ตาม เพราะแค่จะเข้าร้านสะดวกซื้อ แต่ลืมหน้ากากอนามัยไว้ที่บ้าน แค่นี้ก็เข้าไม่ได้แล้ว แถมยังต้องจดบันทึกตลอดว่าไปที่ไหนมาบ้าง เพื่อที่ว่าถ้าติดโรคขึ้นมาจะได้เตือนคนอื่นทัน ด้วยกฎระเบียบต่างๆ และเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่เพิ่มเข้ามานี้ ทำให้เรารู้สึกอึดอัดและเครียดที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่อยากสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น แถมจะรู้สึกเครียดมากกว่าเดิมเมื่อเห็นว่ามีคนไม่ปฏิบัติตามกฎ เช่น ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไอจามไม่ปิดปาก หรือมีความเสี่ยงว่าจะติดโรคระบาด แต่ไม่ยอมกักตัวอยู่ในบ้าน ด้วยเหตุนี้ หลายคนก็คงมีความรู้สึกหงุดหงิดและเซ็งๆ กันบ้างแหละ
- เผชิญหน้ากับภาวะหมดไฟ ในช่วงล็อกดาวน์ หลายคนต้องกลับมาทำงานอยู่บ้านที่มีสภาพแวดล้อมหรือเครื่องมือที่ไม่เอื้อต่อการคิดหรือสร้างสรรค์งานมากนัก บางคนอยู่ในบ้านที่มีญาติพี่น้องเยอะจนไม่มีสมาธิทำงาน บางคนอยู่ในบ้านที่ไวไฟไม่เสถียร แถมเก้าอี้ โต๊ะ แสงในห้องก็ไม่ซัพพอร์ตต่อการนั่งทำงานอีก ไหนจะวิตกกังวลกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ แถมไม่รู้ว่าจะถูกบริษัทปลดเราออกจากตำแหน่งเมื่อไหร่ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลงไปด้วย กลายเป็นภาวะหมดไฟหรือ burn out ส่วนนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์เช่นกัน หลายคนรู้สึกหมดไฟในการอ่านหนังสือสอบ เพราะคุณภาพการศึกษาในช่วงล็อกดาวน์นั้นไม่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เท่าที่ควร
- ผู้ป่วยซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจของ WHO พบว่า ความต้องการด้านการรักษาโรคจิตเวชทั่วโลกในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะผู้คนเผชิญกับความกังวลหลายทางเหลือเกิน ยกตัวอย่างประเทศไทยเราที่นอกจากจะกังวลการระบาดของโรค COVID-19 แล้ว ในช่วงที่มีการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ใหญ่หลายคนก็กังวลว่าลูกหลานตัวเองจะปลอดภัยมั้ย ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเองก็กังวลว่าจะถูกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเล่นงานเอาเมื่อไหร่ ไม่วายเจอกับภัยพิบัติต่างๆ และความไม่สงบที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันไม่ทันตั้งตัว บางคนพบเจอกับเหตุการณ์รุนแรงต่อหน้า ก็ส่งผลให้เกิดโรค PTSD หรือภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรงตามมาอีก ซึ่งความกลัวและกังวลเหล่านี้ เมื่อสะสมไว้กับตัวมากๆ ก็สามารถนำไปสู่โรควิตกกังวลและกลายเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคตได้
- เราแชร์เรื่องราวและความรู้สึกบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น แม้พวกเราจะแชร์เรื่องราวของตัวเองบนโลกออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ แต่ปีนี้มันมีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อเรากับคนแปลกหน้าให้สื่อสารกันมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ ‘ประสบการณ์ร่วม’ ที่ตอนนี้เรากับอีกหลายๆ คนกำลังเผชิญหน้าในเหตุการณ์รูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงกักตัว ช่วงชุมนุม ช่วงเจอภัยพิบัติ เราแชร์ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือกัน เตือนกัน ให้ความรู้กัน และยังแชร์ ‘ความรู้สึก’ ร่วมกัน เราแชร์ความเศร้า ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวังที่เราเจอให้กับคนอื่นๆ ที่รู้สึกแบบเดียวกัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนมีเพื่อน มีพวกพ้อง ในยามที่รู้สึกโดดเดี่ยวจากการกักตัว รวมไปถึงการพยายามติดต่อสื่อสารกับคนรัก ครอบครัว และคนใกล้ชิดมากขึ้น เพราะความสูญเสียในปีนี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากเหลือเกิน เราจึงไม่รู้เลยว่าวันสุดท้ายที่จะได้พูดคุยกับพวกเขาคือวันไหน
- เจอบททดสอบใหญ่ในความสัมพันธ์ เป็นปีที่ท้าทายสำหรับความสัมพันธ์หลายรูปแบบ โดยเฉพาะคู่รักที่ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันในช่วงกักตัว 24 ชั่วโมง บางคู่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการต้องอยู่ใกล้กันตลอดเวลาจนไม่มีพื้นที่ของตัวเอง บางคู่ได้เห็นลักษณะนิสัยบางอย่างของคนรักที่รู้สึกว่ารับไม่ได้ บางคู่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเงินในช่วงที่วิกฤตกระทบต่อการงานและรายได้ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์แบบครอบครัวพ่อแม่ลูก ซึ่งการกลับมาทำงานที่บ้าน หรือ work from home ทำให้บางคนกระทบกระทั่ง ไม่เข้าใจกัน เนื่องจากปกติไม่เคยอยู่ใกล้ชิดกันนานขนาดนี้ ส่งผลให้บางคนมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง และสถิติที่น่าเศร้าใจกว่านั้นก็คือ อัตราการทำร้ายร่างกายในบ้านเพิ่มสูงขึ้นในช่วงกักตัวด้วยเช่นกัน
กับหลายอย่างที่ต้องเผชิญในปีนี้ อยากให้ยกนิ้วเยี่ยมให้กับตัวเองหลายๆ ที และบอกว่า “ฉันเก่งมาก” ที่ผ่านมันมาได้ บางคนอาจจะมองว่าปีนี้เป็นปีแห่งความล้มเหลว ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ประสบความสำเร็จเลยสักอย่าง แต่อย่าลืมว่าด้วยเงื่อนไขของปีนี้ ทุกคนย่อมผิดหวังกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น เมตตาและใจดีกับตัวเองหน่อยนะ และอย่าลืมสำรวจสุขภาพจิตของตัวเองอยู่เสมอว่าช่วงนี้ไหวมั้ย รู้สึกมีอะไรหนักๆ อยู่ในใจหรือเปล่า เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
หากใครรู้สึกว่าเหตุการณ์ตรงหน้ายากจะผ่านพ้นไป หรือต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจ อาจจะลองหาใครสักคนที่สามารถเปิดอกพูดคุยได้ เพื่อระบายความกังวลออกมา จะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองแบกความทุกข์ใจเอาไว้เพียงลำพัง หรืออาจจะเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก