ลองนึกภาพ…คุณเดินเข้าไปในโซนขายทีวีหลากหลายขนาดหน้าจอ ทดสอบความคมชัดและความสดของสีโดยวิดีโอฉายภาพโลกใต้น้ำ ปะการังสีสันสดใส ปลาเล็กใหญ่ว่ายไปมา…แต่ภาพเหล่านั้นเป็นแค่อดีต ความเป็นจริงที่เป็นอยู่ก็คือสุสานปะการังสีน้ำตาล และกิ่งก้านที่เหลือแต่สีขาวเหมือนกระดูก ไร้วี่แววสิ่งมีชีวิตใดๆ
สวรรค์ใต้ทะเลช่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่ทุกวันนี้สวรรค์นั้นกำลังร่วงโรย และเราก็ไม่ได้รับรู้เลย
ปะการังเป็นเสมือนต้นไม้ในป่าให้สัตว์พักพิงและตึกในเมืองให้คนอาศัย ปะการังจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบนิเวศใต้ท้องทะเล สัตว์น้ำ 1 ใน 4 ของโลกพึ่งพิงสิ่งมีชีวิตนี้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหาร คนกว่าพันล้านคนทั่วโลกก็ฝากฝังปากท้องไว้กับแนวปะการัง ยังไม่นับประโยชน์อื่นๆ เช่น เป็นแนวป้องกันชายฝั่งจากคลื่นและพายุ ดังนั้นปะการังจึงไม่ได้มีความสำคัญแค่ความสวยงามและการท่องเที่ยว แต่เป็นมากกว่านั้น
ทว่าทุกวันนี้ระบบนิเวศที่สำคัญกับผู้คนอีกหนึ่งระบบนี้กำลังพังทลาย ปีที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวปะการังทั้งในอ่าวไทยและอันดามันฟอกขาว แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ออสเตรเลีย Great Barrier Reef ตายจำนวนมาก และเมื่อเทียบอัตราสูญเสียในปัจจุบันก็เป็นไปได้ว่าในอีก 30 ปี ปะการังทั้งโลกจะตายหมด
ไม่จำเป็นต้องรอลุ้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทวรรษหน้า พื้นที่บางแห่งก็ได้รับผลกระทบแล้วในปัจจุบัน เช่น หมู่เกาะคิริบาส ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาน้ำทะเลเข้าท่วมแหล่งน้ำจืดเพราะปะการังอันเป็นส่วนประกอบหลักของแผ่นดินค่อยๆ พังทลาย
ฟังดูน่าหดหู่ แต่มีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้อยู่…เพื่อจะชักชวนให้คนกลุ่มใหญ่ๆ หันมาสนใจกับประเด็นดังกล่าว
สารคดีชื่อ Chasing Coral บอกเล่าเรื่องราวของเหล่านักดำน้ำ Jeff Orlongski (ผู้กำกับสารคดีตามล่าน้ำแข็งที่หายไปเพราะโลกร้อน ‘Chasing Ice’) Richard Vevers (อดีตนักทำโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นปากเสียงให้ท้องทะเล) และ Zack Rago (หนุ่มที่มีบ้านเกิดเป็นเมืองหุบเขา แต่หลงใหลปะการังเป็นที่สุด) ตามเก็บภาพปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสีเพื่อนำมาเผยสู่สายตาชาวโลก
โปรเจกต์นี้เริ่มต้นในวันหนึ่งเมื่อ Richard ไปดำน้ำที่จุดประจำของเขาและพบว่าเจ้ามังกรทะเลสาหร่าย สิ่งมีชีวิตที่เขาชื่นชอบหน้าตาคล้ายๆ ม้าน้ำหายไป เขาจึงเริ่มเอะใจและเริ่มเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่ท้องทะเลกำลังประสบอยู่มากขึ้น หลังจากนั้น เมื่อได้ดูสารคดี Chasing ice เกี่ยวกับภารกิจเก็บภาพน้ำแข็งละลายแบบ time-lapses ณ จุดๆ เดิม วินาทีต่อวินาที เขาก็ติดต่อไปหาผู้กำกับว่าอยากทำแบบเดียวกันนี้กับเรื่องราวใต้ผืนน้ำ โครงการ Chasing coral จึงเกิดขึ้นมา
จากชายฝั่งอเมริกาถึง Great Barrier reef ที่ออสเตรเลีย จากที่ใช้กล้องเก็บภาพอัตโนมัติซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมา แต่เจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนต้องเปลี่ยนมาเก็บภาพโดยดำน้ำลงไปถ่ายเองทุกๆ วัน โครงการใช้เวลาศึกษาและดำเนินงานกว่าสามปี แต่พวกเขาสามารถเก็บภาพความเปลี่ยนแปลงของปะการังจากอุดมสมบูรณ์เป็นใกล้ตายได้ภายในเวลาเพียงแค่สองเดือน มันเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภารกิจสำเร็จ แต่นั้นก็หมายความว่าปัญหาปะการังฟอกขาวกำลังเกิดขึ้นจริงๆ แถมยังรวดเร็วมาก
“ตลอดเวลาสองเดือน เราค่อยๆ เฝ้ามองระบบนิเวศหนึ่งตาย…ต่อหน้าต่อตา” Zack ซึ่งมาช่วยประดิษฐ์กล้องในตอนแรกและเข้ามาเก็บภาพอย่างเต็มตัวภายหลังกล่าว สิ่งที่ยากไม่แพ้อุปสรรคทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่พวกเขาเจอก็คือการทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และคงไม่น่าแปลกใจอะไรหากเราจะดูสารคดีเรื่องนี้จบแล้วแอบร้องไห้ Jeff กล่าวกับผู้ชมในงานถาม-ตอบเกี่ยวกับภาพยนตร์หลายครั้งว่า “ถ้าคุณดูหนังจบแล้วรู้สึกสลดใจนิดๆ ก็ไม่ต้องกังวล พวกเราหดหู่ใจมากกว่าเยอะ”
เราฟังข่าวสิ่งแวดล้อมรายงานว่าโลกร้อน หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพียง 1-2 องศาเซลเซียส มนุษย์เราที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินอาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก แต่ท้องทะเลที่อุ่นขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียสก็ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างมหาศาล เหมือนกับร่างกายที่ตัวอุ่นยามมีไข้ ใช้ชีวิตตอนมีไข้รุมเร้าไม่ใช่เรื่องง่าย จริงไหม? อุณหูมิที่สูงขึ้นทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวที่ให้สีสันปะการังไม่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง ปะการังจึงมองว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมแล้วขับออกมาทำให้อดตาย…เกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘ปะการังเปลี่ยนสี’ หรือ ‘ปะการังฟอกขาว’
ดำน้ำดูปะการัง กิจกรรมที่คุณมาเมืองไทยแล้วห้ามพลาด
ปะการังฟอกขาวอาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และเกิดได้ปกติ แต่สามสิบปีที่ผ่านมานี้กลับเกิดการฟอกขาวครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นหลายครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและยากจะย้อนคืน แม้แต่ดินแดนน้ำใสปะการังสวยอย่างประเทศไทยเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2558 ปะการังไทยจัดอยู่ในสถานะวิกฤตคือเสียหายมากกว่า 70%
70%… แต่ว่าตัวเลขความเสียหายดังกล่าวไม่ได้มาจากสาเหตุเดียวอย่างอุณหูมิที่สูงขึ้นจนปะการังค่อยๆ ตาย ทว่ายังมีอีกหลายต่อหลายสาเหตุ ตั้งแต่การทิ้งสมอเรือทำลายแนวปะการัง การทำประมงลากอวน ใช้ระเบิดปลา ไปจนการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวอาจเผลอเหยียบย่ำบนปะการังหรือการปล่อยน้ำเสียและทิ้งขยะลงทะเลจนสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต สารพัน
“นอกเหนือจากผลกระทบทางธรรมชาติทั้งเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปะการังฟอกขาวแล้ว มนุษย์เรานี่แหละครับที่ทำลายได้เร็วกว่าธรรมชาติมากมายนัก”
หากใครดูสารคดีแล้วคงเห็นผู้ชายผมดำๆ คนหนึ่งปรากฏพร้อมข้อความข้างใต้ว่า Thailand… เขาคือแยม-ธนากิจ สุวรรณยั่งยืน นักดำน้ำและช่างภาพใต้น้ำที่ร่วมส่งภาพร่วมกับโปรเจกต์ Chasing Coral ที่เชิญชวนให้นักดำน้ำจากทั่วทุกมุมโลกพากันสำรวจสภาพปะการังใกล้บ้านคุณ
“ช่วงที่ไปเก็บภาพและวิดีโอ ไปถ่ายที่กองหินโลซิน เป็นกองหินเล็กๆ ทางด้านใต้สุดของอ่าวไทย เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความใสของน้ำและปะการังเขากวางที่สมบูรณ์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ผมไปสามรอบในช่วงที่ถ่ายภาพในระยะเวลาหนึ่งเดือน”
แม้ว่าการไปเก็บภาพสามครั้งจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างและบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าปะการังบริเวณนั้นกำลังฟอกขาวเพราะระยะเวลาค่อนข้างจำกัด แต่จากประสบการณ์ดำน้ำหลายครั้งและหลายแห่งทำให้ธนากิจยืนยันว่าเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ปะการังในชายฝั่งประเทศไทยก็เกิดการฟอกขาวไม่ต่างกับที่อื่นๆ ในโลก
และไม่ได้มีเพียงแต่ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเท่านั้นที่กำลังรบกวนระบบนิเวศใต้ท้องทะเล แต่ยังมีสาเหตุอีกหลายๆ อย่างซึ่งส่งผลกับความเป็นอยู่ของแนวปะการัง คงจะถึงเวลาแล้วล่ะมั้งที่เราจะเริ่มให้ความสนใจดูแลอย่างจริงจัง
ต่อให้อยู่บ้านในบ้านก็ช่วยรักษาปะการังได้
หากเราไม่ใช่นักอนุรักษ์ ไม่ใช่นักดำน้ำ ไม่ใช่คนชอบเที่ยวทะเล แล้วจะทำอะไรได้บ้าง…จริงๆ แล้วต่อให้อยู่แต่บ้านก็ช่วยดูแลปะการังได้เหมือนกัน
นอกเหนือไปจากกิจกรรมที่ส่งผลกับตัวปะการังโดยตรงแล้ว กิจกรรมอ้อมๆ หรือกล่าวได้ว่าชีวิตประจำวันของคนเราล้วนส่งผลต่อระบบนิเวศปะการังเพราะปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นและทะเลก็เป็นแหล่งกักเก็บความร้อนกว่า 93% ที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ นั้นแสดงว่าเมื่อโลกยิ่งร้อน ความร้อนในทะเลก็สูงขึ้น ปะการังที่ตายเพราะการฟอกขาวก็เพิ่มขึ้นตาม นำไปสู่ปัญหาต่างๆ นานา
วิธีช่วยกันลดวิกฤตการณ์ปะการังฟอกขาวก็คงไม่ต่างกับวิธีช่วยลดโลกร้อนที่เรารู้กันอยู่แล้วอย่างการปิดไฟ ใช้ถุงผ้า ไปไหนทางเดียวกันก็แชร์รถกันไป บางครั้งเราอาจละเลยเพราะหลงลืมและนึกไม่ถึงว่าสิ่งต่างๆ ล้วนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่นั้นแหละคือเหตุผลที่เหล่านักดำน้ำ Chasing Coral ดำดิ่งลงไปในทะเลลึกเพื่อเฝ้าเก็บภาพปะการังเปลี่ยนสีทุกๆ วันเพื่อจะนำภาพความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ลึกใต้ก้นท้องน้ำขึ้นมาบนโลกให้ทุกๆ คนได้รับรู้
“Do we lose the thing that we can save?” – นักร้องเสียงใส Kristen Bell ร้องถามทิ้งท้ายไว้ตอนจบของสารคดี
หนังจบ แต่คนไม่จบ? หลังจากชมโลกใต้ทะเลผ่านสารคดี Chasing Coral ที่บ้านแล้ว ภาพปะการังสีสันสวยงามและปลาน้อยใหญ่ที่เห็นอยู่เมื่อครู่จะเป็นเพียงแค่ความทรงจำในอดีตหรือสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันและวันข้างหน้าก็คนขึ้นอยู่กับเราทุกคน
ครั้งหน้าหากไปเดินโซนขายทีวีที่พากันฉายคลิปปะการังอวดประสิทธิภาพทางหน้าจอ…คุณอยากเห็นปะการังเป็นอย่างไร
ชมปะการังสวยๆ และความพยายามในการรักษามันได้ในสารคดี Chasing Coral ใน Netflix และส่งต่อเรื่องราวให้คนอื่นรับรู้ได้ด้วยรูปภาพและอินโฟกราฟิกต่างๆ จากเว็บ www.chasingcoral.com นอกจากนี้ทางโครงการยังสนับสนุนให้นำสารคดีไปจัดงานฉายหนังได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ใกล้มหาสมุทรไหนในโลกก็ตาม
Tips
- ปะการังอาจเป็นทางออกสำหรับมะเร็ง! การวิจัยยาสำหรับรักษามะเร็งส่วนใหญ่ทดลองจากสารสกัดที่ได้มาจากปะการัง นักวิจัยทางทะเลยังเชื่อว่าเรามีโอกาสค้นพบยาใหม่ๆ จากทะเลได้ 300-400 มากกว่าบนบก
- ปะการังมีสิทธิรอด เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลลดลง ปะการังที่ฟอกขาวอาจฟื้นฟูกลับมาได้ นอกจากนี้ปะการังบางชนิดอาจสามารถปรับตัวให้ทนต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น Richard Vevers จัดตั้งมูลนิธิ 50 Reefs เพื่อศึกษาปะการังที่อาจทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและช่วยสืบต่อสิ่งมีชีวิตนี้ในอนาคตได้
- ดูจบแล้วอยากเม้าท์! สามารถเข้าไปพูดคุยถามคำถามกับทีมงานได้ใน www.reddit.com
อ้างอิงข้อมูลจาก
คุณธนากิจ สุวรรณยั่งยืน
คุณนัสรี อาจหลัง นักวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์