บอกก่อนว่า ถ้าคุณไม่ได้เรียกเลดี้กาก้าว่า ‘ขุ่นแม่’ (แม้แต่ฝรั่งก็เรียกเธอว่า Mommy เวลาไปขอลายเซ็น) และไม่ได้ติดตามเรื่องราวของผู้หญิงที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Stefani Joanne Angelina Germanotta มาอย่างใกล้ชิด คุณอาจดูสารคดีเรื่องนี้ – Gaga: Five Foot Two ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่
แต่ไม่ ‘รู้เรื่อง’ ก็ช่างมันเถอะ เพราะอย่างน้อยที่สุด คุณก็จะได้ ‘รู้สึก’ กับเลดี้กาก้าแบบเต็มที่ แนบแน่น ใกล้ชิด และเข้าใจความเจ็บปวดหลายอย่างของเธอได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ตื้นลึกหนาบางอะไรมาก่อน
รู้แค่ว่าเธอคือ ‘เลดี้กาก้า’ ก็พอแล้ว!
สารคดีเรื่องนี้กำกับโดย Chris Moukarbel ซึ่งเคยทำเรื่อง Banksy in New York มาก่อน ท่ี่จริงแล้ว เนื้อหาของสารคดีเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก มันคือการตามติดชีวิตกาก้าในช่วงปี 2016 กับระยะเวลาไม่กี่เดือน เป็นช่วงที่เธอทำอัลบั้มที่ห้าคืออัลบั้มชื่อ Joanne จนหลายคนค่อนขอดว่าสารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจาก ‘คลิปโปรโมท’ อัลบั้มที่มีความยาวมากสักหน่อยเท่านั้นเอง
(โหย, ใจร้าย!)
อย่างไรก็ตาม ท่ีต้องบอกกันก่อนดูก็คือ หนังไม่ได้ปูพื้นชีวิตของกาก้าอะไรเลย ไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งชื่อของอดีตคู่หมั้นของเธอ ก็ยังปรากฏแค่นามเทย์เลอร์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเทย์เลอร์ไหน ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาของคนทำงานสื่อสารยุคก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องบอกว่านี่เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่ง เพราะผู้ชมจะไม่มีวันรู้อะไรเลยถ้าไม่ไปขวนขวายหาข้อมูลเพิ่ม แต่โชคดีที่นี่คือโลกปัจจุบัน โลกที่มีข้อมูลท่วมท้นอยู่รอบตัว ดังนั้น ผมจึงกลับรู้สึกว่า นี่แหละ คือวิธีทำสารคดีที่เหมาะสมกับยุคสมัย
ถ้าสงสัยว่า – เทย์เลอร์ไหนวะ, ก็แค่คลิกเพิ่มอีกนิด คุณก็จะรู้แล้วว่าหมายถึง Taylor Kinney นักแสดงและนายแบบชาวอเมริกัน ที่เล่น Zero Dark Thirty เขาหมั้นกับกาก้าในปี 2015 แต่ถอนหมั้นในเดือนกรกฎาคม 2016 ซึ่งเป็นช่วงก่อนถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ไม่นานนัก เราจึงพบกาก้า – มอนสเตอร์แฟชั่นที่เคยใส่ชุดเนื้อและเสื้อผ้าประหลาดหลุดโลก, ในสภาพที่เปราะบางอย่างที่สุด
นอกจากเรื่องเทย์เลอร์ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่หนังไม่เล่ารายละเอียดเพิ่มเติม แต่ทิ้งกุญแจเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ให้ ถ้าอยากรู้ก็หยิบไปไขหาข้อมูลเพิ่มกันได้ตามใจ จึงกลายเป็นว่า สิ่งที่เคยเป็น ‘ข้อเสีย’ ในยุคที่ข้อมูลหายาก กลายมาเป็นจุดเด่นของการทำสารคดีเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องเท้าความเล่าเรื่องให้เยิ่นเย้อรุงรัง แต่สามารถพาเรากระโจนฝ่าประวัติศาสตร์ทั้งหลายทะลุเข้าถึงความรู้สึกภายในของกาก้าได้เลยแทบจะในทันที
และนั่นแหละ – ที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้ทรงพลัง!
Gaga: Five Foot Two เล่าถึงชีวิตของกาก้าในช่วงอึงคะนึง ช่วงต้นๆ หนังเน้นย้ำคำว่าอึงคะนึงโดยถ่ายทอดตอนที่กาก้าต้องท่องบทพูดด้วยคำว่า Tumultuous ซ้ำๆ คำนี้บ่งบอกถึงสภาพชีวิตของเธอในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเพิ่งเลิกกับคู่หมั้นแล้ว เธอยังต้องบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่ แถมยังเป็นอัลบั้มสำคัญในระดับหัวเลี้ยวหัวต่อของอาชีพด้วย เพราะพอมาช่วงหลังๆ (หลังอัลบั้มที่สามอย่าง Artpop) หลายคนมองว่าเธอเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วง ‘ขาลง’ แล้ว อัลบั้ม Joanne จึงเป็นงานที่จะพิสูจน์ความเป็นกาก้าอีกครั้ง
พร้อมๆ กันกับการบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่ เธอต้องไปถ่ายซีรีส์อย่าง American Horror Story รวมทั้งถ่ายหนังเพลงระดับตำนาน เรื่อง A Star is Born ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสร้างกันมาสองครั้ง มีนักร้องระดับยิ่งกว่าตำนานอย่าง จูดี้ การ์แลนด์ และบาร์บรา สตรัยแซนด์ แสดงนำ ทุกอย่างจึงเขม็งเกลียวเคร่งเครียด
ที่ว่ามานี้ ยังไม่นับรวมงานอื่นๆ เช่น การแสดงในการประชุมพรรคเดโมแครตระดับชาติ การแสดงในงานวันเกิดของโทนี่ เบนเน็ตต์ รวมไปถึงงานยิ่งใหญ่ที่ตัวเธอเองก็ตื่นเต้นมากถึงขั้นออกปากว่าเป็นเหมือน Life Achievement อย่างหนึ่ง นั่นคือการแสดงในช่วงพักครึ่งการแข่งขันซูเปอร์โบลว์ อันเป็นสิ่งที่นักร้องทุกคนใฝ่ฝัน
และงานอันเป็นสุดยอดแห่งความเคร่งเครียดทั้งหมดทั้งปวงนี้ – วางอยู่บนฐานของความเปล่าเปลี่ยวหลังเธอเลิกรากับเทย์เลอร์ ถึงขั้นที่เธอพูดออกมาเองว่า – ในเวลากลางวัน ทุกคนพูดกับเธอ ทำโน่นนี่กับเธอตลอดเวลาจนเธอแทบไม่มีเวลาคิดถึงตัวเองเลย แต่แล้วในที่สุด เมื่อสิ้นวัน ทุกคนก็จากไป – ทิ้งให้เธออยู่กับความเงียบงันเพียงลำพัง
เสียงสะอื้นไห้ในความมืดของเลดี้กาก้าไม่ได้โหยหวน มันดังเพียงเบาๆ แต่ก็มากพอจะสะท้อนเข้าไปสะเทือนทุกรอยร้าวในหัวใจของคนที่รักเธอ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเครียดมหาศาลทั้งหมดนี้จะไปสุมรุมกันอยู่ที่ไหน
ใช่ – มันเข้าไปขมึงตึงอยู่ในกล้ามเนื้อของเธอ เลดี้กาก้าป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบที่เรียกว่า Fibromyalgia ทำให้เกิดความปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังอย่างที่เธอบรรยายให้นักบำบัดของเธอฟังว่ามันเจ็บปวดรวดร้าวตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นมาถึงซี่โครง บ่าไหล่ และกระทั่งถึงศีรษะ
เราจะเห็นได้เลยว่าเธอรักษาทุกแบบ ทั้งการนวดผ่อนคลาย การ Cupping แบบจีนจนทำให้หลังไหล่ของเธอเป็นรอยรูปถ้วย รวมทั้งการกินยา และการรักษาล้ำหน้าแบบแพทย์สมัยใหม่ ด้วยการฉีดยาเข้าไปในกล้ามเนื้อพร้อมกับทำ MRI ไปด้วยเพื่อดูว่ายาเข้าไปทำอะไรกับร่างกายของเธอ
อาการป่วยของกาก้าไม่ใช่แค่อาการป่วย เพราะก่อนหน้านี้ นอกจากเธอจะถูกมองว่าอยู่ใน ‘ขาลง’ แล้ว เธอยังถูกกล่าวหาว่า ‘สำออย’ อีกต่างหาก เช่นในปี 2013 เมื่อเธอต้องยกเลิกทัวร์เพราะจำเป็นต้องผ่าตัดสะโพก หลายคนมองว่ามันคือ ‘กลยุทธ์’ ที่จะได้ไม่ต้องแสดงเนื่องจากขายบัตรได้น้อย
ในสารคดีเรื่องนี้ เราจะเห็นกลิ่นอายการต่อสู้ทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายหลายเรื่อง กระทั่งเรื่องความเจ็บป่วยของกล้ามเนื้อก็เป็นอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน มีงานวิจัยบอกว่า ผู้หญิงในสังคมอเมริกันมักจะแจ้งกับหมอว่าตัวเองเจ็บปวดกล้ามเนื้อมากกว่าผู้ชาย แต่หมอมักไม่เชื่อถือความเจ็บปวดพวกนั้น ผู้หญิงจึงมักได้รับยาบรรเทาปวดน้อยกว่าผู้ชาย งานวิจัยนั้นสรุปว่า สิ่งเหล่านี้คือ ‘อคติ’ ทางเพศอย่างหนึ่ง ซึ่งในกรณีของกาก้า เธอก็ถูกมองคล้ายๆ กัน ประมาณว่าการออกปากว่าเจ็บปวดของผู้หญิงนั้น ‘จริง’ น้อยกว่าของผู้ชาย
ด้วยเหตุนี้ กาก้าจึงไม่ได้แค่ต้องลบคำปรามาสของคนดูที่ว่าเธอแกล้งป่วยหนีการแสดงเพราะอยู่ในช่วงขาลงเท่าน้ัน แต่ยังต้องสู้กับมายาคติทางการแพทย์แบบนี้ผ่านการเชิดหน้าสู้และซ้อมหนักอีกด้วย ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ เธอปวดสะโพกตอนซ้อมเต้น แต่เธอก็สู้ แม้ต้องพักให้นักบำบัดมานวดให้ ก็ยังมีอารมณ์ขันหยอกล้อกับนักบำบัดว่าเธอกำลังจับไหล่หรือจับนมของนักบำบัดอยู่กันแน่
แต่ในทั้งเรื่อง ฉากที่น่าจะประทับใจหลายคน คงเป็นฉากที่กาก้าเล่าให้ฟังว่าทำไมเธอถึงแต่งเพลง Joanne และใช้ชื่อนี้เป็นชื่ออัลบั้ม
Joanne เป็นชื่อน้าของเธอที่เสียชีวิตในวัยแค่ 19 ปี ด้วยโรคลูปัส (Lupus) ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองอย่างหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า โจแอนเคยสร้างแรงบันดาลใจให้เธอในวัยเด็กอย่างไรบ้าง
“การได้เห็นสิ่งที่ [โจแอน] ทำกับ [พ่อ] และครอบครัวของฉัน คือสิ่งที่ทรงพลังที่สุดที่ฉันได้เจอขณะเติบโตขึ้นมา” เธอหมายถึงการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างทรหด แล้วเธอก็บอกว่า – ฉันคือโจแอน ฉันคือลูกสาวของพ่อ นี่คือเนื้อหาที่เพลงนี้ต้องการจะบอก
กาก้าเอาเพลงนี้ไปให้ย่าของเธอฟังก่อนใครในโลก ย่าบอกเธอว่า – นี่คือเพลงที่งดงามอย่างยิ่ง แต่ในเวลาเดียวกัน ย่าก็เตือนเธอในขณะที่พ่อของเธอเดินออกไปเช็ดน้ำตานอกห้องด้วยว่า – เวลาได้ผ่านไปกว่าสี่สิบปีแล้ว อย่าฟูมฟายกับเรื่องนี้เลย (don’t become maudlin over all this)
โดยส่วนตัว – ผมคิดว่าทั้งเพลงและคำเตือนนั้นช่างแสนงาม ใช่, เจ็บปวด – แต่เข้าใจชีวิตและการผ่านมาของชีวิต
หนังเรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นความ ‘เปราะบาง’ อื่นๆ ของศิลปินระดับ ‘ขุ่นแม่’ ของโลกผู้นี้อีกหลายเรื่อง เช่น ความขัดแย้งกับ ‘ขุ่นแม่ของขุ่นแม่’ อย่างมาดอนน่า
หลายคนอาจไม่รู้ว่า มาดอนน่าเคยบอกสื่อว่าเธอคิดว่ากาก้า ‘ขโมย’ (เธอใช้คำว่า Ripped Off) เพลงของเธอไป มีคนวิเคราะห์ว่า มาดอนน่าคิดว่าเพลง Born This Way ของกาก้า มีซาวด์ที่คล้ายคลึงกับ Express Yourself ของเธอ แล้วก็มีคนวิเคราะห์ซ้ำเข้าไปอีกว่า เพลง Two Steps Behind Me ของมาดอนน่า เป็นเพลงที่มาดอนน่าเขียนขึ้นเพื่อจิกกาก้าโดยเฉพาะ เนื้อหาของเพลงตอนหนึ่งพูดไว้รุนแรงว่า “You’re a copycat, where is my royalty? you’re a pretty girl, I’ll give you that. But stealing my recipe, it’s an ugly look.” แต่ผู้จัดการของมาดอนน่าก็ออกมาปฏิเสธ
เพราะฉะนั้น ในอีกด้านหนึ่ง กาก้าก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยอัลบั้มใหม่ของเธอด้วยว่าเธอเป็น ‘ของแท้’ ที่สร้างตัวขึ้นจากความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริง แต่เมื่ออัลบั้มกำลังจะออกวางตลาด ก็เกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีก เพราะมีคน ‘ลีค’ อัลบั้มนี้ของเธอออนไลน์ แถมเมื่ออัลบั้มออกไปแล้ว แฟนเก่าๆ ของเธอหลายคนก็ไม่ค่อยชอบ เพราะ Joanne คืออัลบั้มที่กาก้าเลือกจะ ‘เปิดเปลือย’ เนื้อตัวจริงๆ เธอไม่ได้ซ่อนตัวเองอยู่ใต้หน้ากากหรือชุดอลังการอีกแล้ว ซาวด์ดนตรีก็ไม่เหมือนเดิม มันอบอุ่นขึ้น เติบโตขึ้น
แต่กระนั้น Joanne ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว คือการยอมให้คนอื่น Invade (กาก้าใช้คำว่า Invasive) เข้ามาถึง ‘ภายใน’ ของเธอ
มันจึงเป็นอัลบั้มที่ซื่อสัตย์จริงใจอย่างที่สุด – ของผู้หญิงที่แลดูแสนธรรมดาคนหนึ่ง
สารคดีเรื่องนี้คล้ายอัลบั้ม Joanne ตรงที่ช่างเปิดเปลือยจริงใจและซื่อสัตย์กับความรู้สึก เช่นฉากที่กาก้าตอบโต้มาดอนน่าแล้วบอกว่าจะไม่ให้เอามาออกอากาศ แต่เราก็ได้ดู รวมไปถึงฉากที่เธอได้รับดอกไม้จากเทย์เลอร์ก่อนขึ้นแสดงครั้งสำคัญในซูเปอร์โบลว์ เพราะกาก้าไม่ได้ปกปิดความรู้สึกอะไร เธอเจ็บปวด ทำตัวไม่ถูก อยากขว้างดอกไม้นั้นทิ้งแต่ก็อยากทะนุถนอมมันไว้ในเวลาเดียวกัน
ณ ขณะนาทีนั้น เธอไม่ใช่ ‘ขุ่นแม่’ ที่กร้าวกร้านของคนทั้งโลก แต่กลับกลายเป็นเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่ง คนที่ทอดไข่ทำอาหารเช้ากินเอง คนที่มีพ่อคอยดูแลติดตามไปทุกที่ คนที่ยอมรับว่าดื่มเหล้าเมายา คนที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเวลานั่งอยู่ที่เบาะหน้าของรถ คนที่หยิบซีดีออกใหม่ของตัวเองไปวางบังซีดีของคนอื่นๆ ในวอลมาร์ท,
คนที่เปราะบางกับชีวิต – เปราะบางได้เหมือนทุกๆ คนบนโลกใบนี้
ในฉากที่กาก้านั่งอยู่ริมสระน้ำพลางคุยกับทีมงานเรื่องทำประชาสัมพันธ์อัลบั้ม จู่ๆ เธอก็บอกว่า – ขอโทษนะ ฉันทำแบบนี้สบายกว่า, แล้วเธอก็ปลดบราออก เผยเต้าเต่งให้ทุกคนเห็น
สำหรับผม ฉากนี้งดงามยิ่งกว่าความเปลือย เพราะมันคือสัญลักษณ์ที่บอกเราว่า – ในสารคดีเรื่องนี้ กาก้ายอมเปิดเผยทุกสิ่งให้เราเห็น ทั้งเนื้อตัว หัวใจ ความเปราะบาง และความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญของผู้หญิงคนหนึ่ง
ไม่ต้องสงสัยเลย – ว่าทำไมสารคดีเรื่องนี้จึงได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลกมากกว่าเสียงติ
และไม่ต้องสงสัยเลย – ว่าทำไมเลดี้กาก้าจึงเป็นที่รักของคนมากมายนัก…