สารก่อมะเร็ง (Carcinogen) อยู่รอบตัวเราไปหมด มันมาในรูปแบบของฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในอดีตที่ผ่านมามักถูกมองข้ามอาจด้วยความชินชาหรือการจำต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองเป็นเวลานาน ทำให้ปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละอองตกสำรวจไปหลายทศวรรษ
ประเทศจีนอยู่กับปัญหาฝุ่นละอองในเมืองหลวงเป็นเวลานาน แต่น้อยครั้งที่ปัญหานี้จะถูกเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง จนกระทั่งปี 2014 มีเด็กหญิงชาวจีนอายุเพียง 8 ขวบ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด ทั้งๆ ที่อายุยังน้อย แพทย์ตรวจพบอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นอันตรายปริมาณมากในปอด ก่อนจะเริ่มลุกลามเป็นเนื้อร้าย และพัฒนาเป็นมะเร็งปอด (Lung Cancer) ในที่สุด เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก จนรัฐบาลต้องออกมาตรการงดการเรียนการสอน หากพบว่ามีค่าฝุ่นละอองมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ภายในปีเดียวกัน องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ประกาศให้ฝุ่นละอองในอากาศเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งอย่างเป็นทางการ หลังจากใช้เวลาเก็บข้อมูลค้นคว้านานกว่า 10 ปี ซึ่งข้อมูลนี้ยังรวมไปถึงฝุ่นละอองจากสารโลหะหนัก เขม่าไอเสียจากเครื่องจักร การทำฟาร์ม ปศุสัตว์ และกิจกรรมต่างๆ จากบ้านเรือน
นักวิทยาศาสตร์เคยสงสัยมานานแล้วถึงพิษภัยของฝุ่นละอองในอากาศที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ย้อนไปได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 แต่ถึงอย่างนั้นกลับต้องใช้เวลานานเพื่อเชื่อมโยงหลักฐานทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้นคือการพยายามระบุว่า ‘ควันบุหรี่’ สามารถนำไปสู่โรคมะเร็งปอดได้ ซึ่งในตอนนั้น ฝุ่นละอองมีหลักฐานเพียงแค่ว่าสามารถนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจได้เท่านั้น แต่หลายปีต่อมา มีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ข้องแวะกับบุหรี่ แพทย์จึงเริ่มรวบรวมข้อมูลว่าสาเหตุหนึ่งอาจมาจากสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองในพื้นที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นเอง
โรคมะเร็งปอดถือเป็นโรคที่นำไปสู่การเสียชีวิตถึง 15% จากสาเหตุการตายทั้งหมด และที่น่ากลัวคือ ทุกคนล้วนถูกห้อมล้อมด้วยสารก่อมะเร็งโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว อาจด้วยความเคยชินหรือหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะยังไงคุณก็ต้องหายใจ ไม่ว่าจะพยายามหลีกหนีแค่ไหนก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์พบว่าสารเคมีหลายชนิดในอากาศมีอัตราเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งไม่เท่ากัน บางชนิดก่อให้เกิดมะเร็งอย่างรวดเร็วภายใต้ความเข้มข้นระดับหนึ่ง แต่บางชนิดก็ก่อตัวอย่างช้าๆ ซึ่งทำให้ในแต่ละช่วงชีวิตของมนุษย์มีคาบความเสี่ยงยาวนานต่อเนื่อง
องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ประเมินว่า มีสารพิษในธรรมชาติที่ก่อให้เกิดมะเร็งราว 970 ชนิด และสารพิษจากฝีมือมนุษย์ที่จัดเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen) อีก 464 ชนิด สารหลายชนิดเป็นสารตัวเดียวกับที่สถาบันพิษวิทยาแห่งชาติ (National Toxicology Program: NTP) เคยประกาศไว้ราว 240 ชนิด โดยมีสารก่อมะเร็งที่พบได้ตามธรรมชาติ อาทิ อะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) ที่อยู่ในดินหรือเติบโตในพืชตระกูลถั่วกับพืชตระกูลหัว และสารที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น รังสีก่อไอออน ที่เกิดจากการฉายแสงทางการแพทย์ หรือเคมีภัณฑ์ที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด
เอาเข้าจริงแม้จะมีการค้นพบสารก่อมะเร็งที่โลกรู้จักเพียงพันกว่าชนิด แต่ก็ยังน้อยนักเมื่อมีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีสารก่อมะเร็งมากถึง 80,000 ชนิดที่ยังไม่ได้รับการรับรองหรือศึกษาอย่างเป็นทางการ
ฝุ่นละอองเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร ยังเป็นประเด็นถกเถียงในทางการแพทย์ ทฤษฏีหนึ่งระบุว่า สารพิษจะเข้าไปก่อกวนระบบต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการสร้างและหลั่งฮอร์โมนสำคัญต่างๆในร่างกาย แต่ทว่าในห้องแล็บส่วนใหญ่ทดลองโดยใช้สารพิษปริมาณค่อนข้างมาก (high dose) ที่อาจจะไม่ได้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย ซึ่งอาจมีสารพิษในปริมาณน้อย แต่กินระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นนักวิจัยจึงเริ่มขยายวิธีการศึกษาโดยไม่ได้ทดลองกับสัตว์เท่านั้น แต่ศึกษาจากผู้คนจำนวนมากที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองปกคลุมเป็นเวลานาน และศึกษาในหลายช่วงอายุคน เช่น ผู้หญิงช่วงตั้งครรภ์ หนุ่มสาว เด็กแรกเกิด หรือผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพผลกระทบจากฝุ่นละอองซึ่งเกิดกับคนหลายวัยในมุมที่กว้างขึ้น
และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือมีงานวิจัยระบุว่า เซลล์ต่อมลูกหมากของมนุษย์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสเต็มเซลล์ ก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อน สาร “บิสฟีนอล เอ” (Bisphenol A) ที่มักพบในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพในการผลิต ซึ่งอาจทำให้คุณผู้ชายเสี่ยงต่อการเป็นหมันและโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในอนาคตทั้งๆ ที่ตัวคุณเองยังไม่ทันจะได้เกิดเลยด้วยซ้ำ
ต่อไปผลกระทบอาจไม่ได้ตกกับคุณคนเดียว แต่อาจลามไปถึงประชากรในอนาคต
งานวิจัยเริ่มมองไปข้างหน้าว่า ผลกระทบจากฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งอาจส่งผลไปถึงคน 3 – 4 รุ่นต่อจากเรา ซึ่งจากการทดลองในหนูพบว่า หนูในคลอกที่เกิด 4 รุ่นถัดมามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยแสดงออกผ่านยีนที่ส่งต่อมาจากรุ่นทวด ปัญหานี้กินระยะเวลาหลายเจเนอเรชั่น และท้ายที่สุดก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต
การที่พวกเราเผชิญฝุ่นละอองและสารก่อมะเร็งในระยะยาวตลอดเวลา ทำให้เริ่มมีคำศัพท์ที่เรียกกันว่า ‘Exposome’ หมายถึง การที่คนๆ หนึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสารอันตรายตลอดชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร หรือแม้กระทั่งอากาศที่หายใจ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนร่างกายของเราในระดับเซลล์แล้วเซลล์เล่า ฝังรากในพันธุกรรมและส่งต่อสู่รุ่นถัดไป
การใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้จึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การหยุดสูบบุหรี่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพ รวมถึงการผลักดันนโยบายสุขภาพในระดับชาติเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน
ประเทศจีนเห็นถึงภัยที่กำลังบั่นทอนประชากรในอนาคตจึงมีนโยบายลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจัง แม้จะยังไม่เห็นผลแบบทันทีทันใด แต่อย่างน้อย 10 เมือง จาก 74 เมือง เริ่มมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ประชาชนจีนเริ่มจริงจังและใส่ใจกับอากาศที่พวกเขาหายใจ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นแบบอย่างให้ไทยเราจริงจังที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หาใช่เพียงประชาชนดิ้นรนกันเอง
เพราะคุณหายใจรับสารก่อมะเร็งเข้ามาอยู่ในร่างกายมานานแล้ว ตอนนี้มันอยู่ในตัวพวกเราทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Air Pollution and Cancer IARC Scientific Publication No. 161 Edited by Straif K, Cohen A, Samet J
NTP 12th Report on Carcinogens.