ในช่วงไม่กี่วันมานี้ที่ท้องฟ้าดูขุ่นมัว ประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่างประสบกับฝุ่นละออง PM 2.5 อีกครั้ง จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index ซึ่งถูกรับรองมาตรฐานโดยองค์กรต่างๆ อย่าง UNEP UN-Habitat Greenpeace ฯลฯ พบว่าในครั้งนี้ ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วยซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการประกาศให้ ‘การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง’ เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ จนกระทั่งในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2562 จึงมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ในการดําเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวม และในพื้นที่วิกฤตของประเทศ
โดยล่าสุด วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า ประชาชนอาจจะต้องประสบกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จนถึงวันนี้ (17 ธันวาคม) เป็นอย่างต่ำ อีกทั้งยังขอให้ประชาชนได้เสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นอย่างมาก คำถามที่ตามมาสำหรับสภาพฝุ่นในเช้าหลายวันมานี้ คือ รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วมาตรการที่รัฐบาลได้ทำไปนั้น คืบหน้าไปถึงไหน The MATTER อยากชวนทุกคนลงไปทบทวนกันอีกครั้งว่า ในรอบปีที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ไปถึงไหนกันบ้างแล้ว
การประกาศนโยบายจากทางภาครัฐ และการดำเนินการบางส่วน
เป็นที่ได้ยินกันอยู่บ้างเนืองๆ เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พยายามยึดโยงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วนั้น
ดูจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตไม่ใช่น้อย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติเห็นชอบ ‘แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง (เฉพาะกิจฯ)’ ทั้งสิ้น 12 ข้อ ภายใต้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยหากพูดถึงภาพใหญ่ของมาตรการหลักที่ไล่เรียงได้กว่า 12 ข้อ ลงมาเป็นภาพเล็กให้สั้นกระชับและเข้าใจได้ง่ายนั้น อาจจะสามารถสรุปมาให้เห็นภาพได้สั้นๆ ดังนี้
คงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ หากไม่ได้เริ่มจากการแก้กันตรงที่การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงข้อมูลที่ล่าสุดที่สุด โดยกรมประชาสัมพันธ์ได้ให้ข้อมูลว่า คณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้จัดทำแอปพลิเคชัน Air4Thai ที่จะคอยทำหน้าที่รายงานการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองทั่วประเทศของกรมควบคุมมลพิษ พร้อมทั้งยืนยันว่าระบบมีความแม่นยำ ถูกต้อง เพราะได้มาตรฐานสากล
เช่นเดียวกันกับการประกาศให้ประชาชนได้มี ส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และการลดการเผาป่าผ่านการจัดที่ดินทำกิน โดยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 พล.อ.ประยุทธ์ มีการแถลงยกตัวอย่างโมเดล NAN Sandbox โครงการจัดสรรที่ดินทำกินและแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติในพื้นที่ป่าของจังหวัดน่าน และการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำถึงปัญหาไฟป่า โดยรัฐบาลเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้มีการลดปัญหาไฟป่าได้
เมื่อพูดถึงปัญหาการจัดหาที่ดินเพื่อลดการเผาที่ คงมีความจำเป็นอยู่มากที่ต้องกลับมาพิจารณาถึงการจัดการปัญหาไฟป่าในภาคเหนือ เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มติชนได้มีรายงานว่า วันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2563 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งด่วนที่สุด เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สืบเนื่องจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้น โดยทางรัฐบาลมีคำสั่งให้นำแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2562 มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง
แต่หากจะแก้กันที่ต้นทางก็คงดูเหมือนจะไม่ทันกาล นโยบายที่หน่วยงานภาครัฐพยายามจะนำมาแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในเบื้องต้นคงหนีไม่พ้น ‘การฉีดน้ำลดฝุ่น’ ซึ่งเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดกระแสต่อต้านบนโลกอินเตอร์เน็ตมาหลายปี หลังจากกรุงเทพมหานคร มีนโยบายในการฉีดน้ำไล่ฝุ่น โดยอ้างว่าเป็นการบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เพิ่มสูงมากขึ้นในระยะเบื้องต้น ค้านกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มองว่าการฉีดน้ำดังกล่าวนั้น สิ้นเปลืองน้ำ และไม่ได้ช่วยลดฝุ่นจริง
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของไทยรัฐ ระบุว่า ทางกรุงเทพมหานครได้ออกมาแถลงแย้งว่า แม้การฉีดน้ำจะไม่ได้เป็นการลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยตรง แต่การฉีดล้างต้นไม้ใบไม้ ทั้งบริเวณริมถนนและสวนสาธารณะ เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวในการดักจับฝุ่นละออง การล้างทำความสะอาดและดูดฝุ่นริมถนน เป็นการลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นขณะรถวิ่งผ่าน และลดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่บริเวณริมถนน รวมถึงการฉีดน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เป็นการลดฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย และการฉีดพ่นละอองน้ำจากอาคารสูง ช่วยให้ฝุ่นละอองสามารถรวมตัวกันได้ดีและตกลงสู่พื้นดินง่ายขึ้น โดยปัจจุบันนี้ เรายังคงเห็นกรุงเทพมหานครใช้วิธีการฉีดน้ำลดฝุ่นอยู่เนืองๆ
การออกนโยบายและการสั่งฉีดน้ำอาจเป็นเพียงแค่การประกาศแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในขั้นเบื้องต้น หากย้อนกลับมามองใส่ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว จะพบได้ว่า อีกปัญหาต้นทางหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักๆ ต่อการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงการใช้รถยนตร์ที่มีระบบการเผาไหม้ด้วยน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายระยะกลางในการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 ด้วยการปรับลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพประจำปี อีกทั้งการใช้มาตรการจูงใจให้ผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาต้นทางดังกล่าว
เช่นเดียวกันกับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในประเด็นหมอกควันข้ามพรมแดน มีรายงานจากทาง Greenpeace ว่า ไทยได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของหมอกควันไฟจากการเผาทำลายป่าเพื่อขยายอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ประกอบกับปัญหาการเผาป่าในภาคเหนือ และมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน จึงเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียนหารือกัน และหาทางออกในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ ThaiPBS รายงานว่า สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ได้แจ้งยกระดับสถานการณ์หมอกควันข้ามแดน เป็นระดับ 3 (สถานการณ์วิกฤต) โดยขอให้ทุกประเทศเร่งดำเนินมาตรการควบคุมการเผาและบรรเทาสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้ง ให้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานภายใน 11.00 น. ของทุกวัน
แล้วทุกอย่างคืบหน้าไปถึงไหน?
เริ่มจากแอปพลิเคชัน Air4Thai ที่มีขึ้นเพื่อประกาศค่าฝุ่นแก่ประชาชน ตามที่กล่าวไปในตอนต้นนั้น อย่างไรก็ดี แอปพลิเคชันดังกล่าวมีคะแนนรีวิวบน App Store อยู่ที่ 1.9 เต็ม 5 โดยคะแนนที่ถูกให้มากที่สุด คือ 1 เต็ม 5 อีกทั้งยังมีผู้ใช้วิจารณ์ว่า ระบบที่รายงานตัวเลขค่าฝุ่นนั้น ไม่ตรงกันกับสภาพความเป็นจริง เพราะในขณะที่สภาพท้องฟ้าเต็มไปด้วยฝุ่นควัน ซึ่งทำให้เห็นตึกไม่ชัด แต่ในแอปพลิเคชันกลับรายงานว่าค่าอากาศอยู่ในระดับปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยแหล่งอ้างอิงข้อมูลค่าฝุ่นในแอปพลิเคชันดังกล่าวถูกระบุเอาไว้ในแอปพลิเคชันเองว่า นำมาจากสำนักงานเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ประกาศว่าจะมีมาตรการในการพยากรณ์สภาพฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วรายงานให้ประชาชนได้ทราบก่อนล่วงหน้า 3 วัน วัน อย่างเช่น ในวันที่ 14 ธันวาคม ที่ประเทศไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 190 นั้น แอปพลิเคชันดังกล่าวมีการแจ้งเตือนจริง แต่เป็นการแจ้งเตือนเพียงแค่ว่าค่าฝุ่นมีเกณฑ์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้าหากนำไปเทียบกับค่าที่วัดจาก World Air Quality Index ที่รายงานว่าสภาพฝุ่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น จากการเปรียบเทียบมาตรฐานการวัดของไทยกับระดับโลกจะพบว่า มีความคลาดเคลื่อนกันเป็นอย่างมาก
และเมื่อเราย้อนกลับไปตรวจสอบนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยกตัวอย่างโมเดล NAN Sandbox ในการจัดให้มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินและแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ เพื่อลดปัญหาไฟป่าไปในตัวนั้น ในทางกลับกัน ทิ้งห่างจากการประกาศนโยบายดังกล่าวไปได้เพียงเดือนเดียว เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศให้มีการเร่งการจัดการปัญหาไฟป่าและการเผาอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และจังหวัดกาญจนบุรี โดยหากพบว่าผู้ขอใช้ประโยชน์พื้นที่ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินไม่ปฏิบัติตาม หรือปล่อยให้มีการเผาในพื้นที่ รัฐบาลจะยกเลิกสิทธิ์ทันที ในขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ มีคำสั่งว่า หากพ้นช่วงฤดูไฟป่า ให้ทุกหน่วยตรวจสอบว่าบุคคลใดเข้าไปปรับพื้นที่ เพื่อทำกินในบริเวณป่าธรรมชาติที่ถูกไฟไหม้ หรือบุคคลใดที่อาศัยทำกิน ในเขตป่าแล้วขยายพื้นที่เกินกว่าที่ทำกินอยู่เดิม ให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด และให้ตัดสิทธิ์ตามมาตรการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติด้วย
The MATTER ตรวจสอบเพิ่มเติมจากสถิติไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประจำวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562-30 กันยายน พ.ศ.2563 (ยังไม่คิดรวมหลังเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ถึงปัจจุบัน) รายงานว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการดับไฟป่าไปแล้วทั้งสิ้น 5,435 ครั้ง โดยคิดเป็นพื้นที่ที่ถูกไหม้กว่า 130,610.6 ไร่ ซึ่งมีปริมาณพอๆ กันกับสถิติเมื่อ พ.ศ.2562 ที่ 151,681.9 ไร่ ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ รายงานว่ามีพื้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดไฟไหม้ป่า 2.8 ล้านไร่ โดยทางราชการได้ออกแอปพลิเคชั่น Fireman TH ในการแจ้งเตือน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าดับเพลิงได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ BBC ไทย ได้รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนที่สะสมเรื้อรังมายาวนาน มีส่วนทำให้ปัญหาไฟป่าในเชียงใหม่มีความซับซ้อนและยากที่จะแก้ไข อาทิ มีกลุ่มโดรนอาสา ที่ได้ทำการบินโดรนเก็บภาพสำรวจไฟป่า ได้ออกมาเปิดเผยว่า การถ่ายรูปไฟป่าด้วยโดรนทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ใหญ่บางคนไม่สบายใจ เพราะภาพถ่ายจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสถานการณ์รุนแรง อีกทั้งยังมีการตั้งด่านสกัดไม่ให้ทีมโดรนอาสาเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ และดอยปุย อีกทั้งยังมีการกำหนดว่าภาพที่กลุ่มโดรนอาสาถ่ายมานั้น จะต้องส่งเข้ากลุ่มไลน์ที่ใช้ประสานงานภายในเท่านั้น และห้ามเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
จากข้อวิพากษณ์วิจารณ์ของประชาชน และการออกมาแถลงของกรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รายงานไปในเบื้องต้น คงไม่ต้องขยายความเพิ่มเติมถึงนโยบายการฉีดน้ำของรัฐบาลที่ประชาชนได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปถึงนโยบายที่ดูจะส่งผลได้ดี คือ นโยบายการใช้มาตรการจูงใจให้ผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น จากรายงานของ ThaiPBS พบว่า แม้ระยะหลังอัตราการเพิ่มขึ้นของรถไฟฟ้าดูจะพุ่งสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้น จำนวนรถไฟฟ้าสะสมที่วิ่งอยู่บนท้องถนนยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยมีตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 180,000 คันเท่านั้น ต่างจากรถยนต์บนท้องถนนที่มีกว่า 40 ล้านคัน ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าไทยจะมีรถไฟฟ้าหลายรุ่น แต่ราคาของรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ยังคงสูงอยู่มาก โดยมีราคาต่ำสุดประมาณคันละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการครอบครองได้ยาก ยังไม่นับรวมถึงมาตการภาษีนำเข้ารถไฟฟ้า ที่ยังคงเป็นปัญหาต่อนักลงทุน และผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
ปิดท้ายด้วยความหวังในการแก้ไขปัญหาหมอกควันแบบพหุภาคี ผ่านการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรคืบหน้าไปมากกว่าการนั่งโต๊ะประชุมเพื่อพูดคุยกัน เพราะปัจจุบันไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียน ยังคงไม่มีแผนการหารือการจัดการปัญหาในเชิงรูปธรรมออกมาเท่าไหร่นัก และยังคงเป็นประเด็นที่คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาเร่งด่วน เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาหมอกควัน ซึ่งยังคงไม่มีการลงพิธีสาร ตลอดจนการวางแผนระยะยาวใดๆ ออกมาจากทางอาเซียนเลย
ทางออกของปัญหา คุยกับ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Green Peace Thailand
The MATTER ได้ติดต่อไปยัง ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Green Peace Thailand ในฐานะผู้ที่ได้ติดตามปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยมาโดยตลอด เพื่อที่จะทำให้เราได้เห็นผลลัพธ์ที่รัฐบาลได้ลงมือจัดการ และทางออกปัญหาด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพที่กว้างมากยิ่งขึ้น
ธาราเริ่มการพูดคุยด้วยการเปรียบเทียบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างก่อนและหลังการประกาศเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติว่า “หากดูความเข้มข้นของฝุ่นในช่วงก่อนและหลังการประกาศวาระแห่งชาติเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ผลลัพธ์นั้นออกมาแทบจะไม่แตกต่างกันเลย โดยในช่วงเวลานี้ สถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นอยู่ในระยะขาขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขของเมื่อปีก่อนจะพบว่า ค่าฝุ่นมีความแตกต่างกันแค่ในหลักหน่วย โดยจากแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องฝุ่นที่แบ่งมาตราการออกเป็น 3 ระยะนั้น แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงผลลัพธ์ใดๆ เลย”
“มาตรการดังกล่าวดำเนินไปได้ดีหรือไม่ คงต้องไปดูที่ผลลัพธ์ด้วย เพราะเมื่อลงมาดูที่ผลลัพธ์ จะพบว่าทุกอย่างแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่างอะไรเลยอย่างที่ได้กล่าวไป” ธารากล่าวถึงการผลักดันให้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติเพิ่มเติม “ถึงแม้มาตรการภายใต้แผนดังกล่าวในปัจจุบัน จะมีการจัดตั้งศูนย์รับมือวิกฤติฝุ่น หรือการดึงสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน เข้ามาช่วยดูแบบแผนการกระจายตัวของฝุ่น รวมไปถึงแบบจำลองคอมพิวเตอร์ในการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าใน 3 วันแล้วก็ตาม แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม ฝุ่นในช่วง 2-3 วันมานี้ กลับยังคงมีค่าเกินมาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก”
ธารากล่าวย้ำถึงการพยากรณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้าจากภาครัฐว่า “ถ้าเราย้อนกลับไปดูว่า ถึงแม้หน่วยงานรัฐจะมีแบบจำลองในการพยากรณ์ดังกล่าว แต่ทำไมเราไม่ค่อยได้ยินการรายงานผลมากนัก ซึ่งอาจจะมีการรายงานอยู่บ้าง แต่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา มีสื่อสาธารณะประกาศออกมาจากภาครัฐว่าวันนี้ จะมีฝุ่นในปริมาณที่อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่กลับไม่ได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างจริงจัง กลายเป็นว่า ก่อนและหลังการผลักดันวาระแห่งชาติในประเด็นฝุ่นละออง PM 2.5 แทบจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ได้แตกต่างกันเลย”
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ภาครัฐได้นำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในปัจจุบัน ธาราเน้นย้ำถึงตัวอย่างของค่าฝุ่นที่ลดลง ในช่วงการปิดเมืองระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 ว่า “ปีนี้เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราพบว่าช่วงที่รัฐมีมาตรการปิดเมืองนั้น ได้นำไปสู่สถานการณ์ของค่าฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศที่ดีขึ้น จนกระทั่งหลังการคลายมาตรการล็อกดาวน์ สถานการณ์ฝุ่นก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม” ธาราย้ำว่า หน่วยงานภาครัฐไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ดังกล่าวเลย “กลายเป็นว่าเราไม่เรียนอะไรรู้เลย นอกจากในไทย เรามีตัวอย่างทั้งในจีน ยุโรป อินเดีย ที่เมื่อมีการปิดเมือง สถานการณ์ฝุ่นก็มีท่าทีที่ดีขึ้น เราไม่ได้นำตัวอย่างและประสบการณ์ต่างๆ มาต่อยอด”
ธาราได้กล่าวไปถึงการจัดการต่อปัญหาฝุ่นละออง ที่รัฐควรจะมีความจริงใจและจริงจังมากยิ่งขึ้น “อย่างเช่นในการพยากรณ์สภาพฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้า หน่วยงานรัฐควรจะจัดให้มีวอลรูมในการทำงานเร่งด่วน สำหรับการสั่งการในประเด็นต่างๆ เช่น การสั่งปิดโรงเรียนล่วงหน้า การลดกิจกรรมต่างๆ เมื่อสถานการณ์ฝุ่นย่ำแย่ลง และอาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก รวมไปถึงการขอความร่วมมือจากห้างร้านและกิจการในบริษัทเอกชน ที่จะมีมาตรการในการทำงานจากบ้าน (work from home) ซึ่งมันไม่น่าทำยาก แล้วค่อยมาวัดผลว่ามันเปลี่ยนแปลงแค่ไหน”
หากย้อนไปถึงมาตรการที่รัฐได้ทำไปในปัจจุบัน ธาราชี้ให้เห็นถึงการทำงานของภาครัฐที่ยังคงไม่ไปถึงไหน “มาตรการต่างๆ ที่ออกมากลับไม่ส่งผลอะไรได้เลย ในอีกความคิดหนึ่งคือ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในระยะกลาง อาทิ การปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ (Ambient Air Quality) การปรับ euro 5 ไปเป็น euro 6 แผนเหล่านี้สามารถเอามาทำเลยได้ ไม่ต้องรอเวลา เพราะอาจจะล่าช้าและไม่ทันการณ์ เช่นการปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศที่ไทยใช้มาตลอดร่วม 10 ปีนั้น สามารถปรับเปลี่ยนให้ได้มาตรฐานได้เลย เพราะในทางหนึ่งหน่วยงานราชการก็ประกาศว่า มีความพร้อมและสามารถลงมือทำได้ทันที แต่รัฐบาลเองที่ขาดการแก้ไขปัญหาแบบจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องมุมมองในทางการเมืองที่ยังคงเป็นอุปสรรคหลักๆ ในการสั่งการเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว”
“ส่วนมาตรการรถไฟฟ้าต่างๆ ที่รัฐพยายามบอกว่าตนเองได้ผลักดันอยู่นั้น คงต้องยกตัวอย่างเครื่องรถยนต์ดีเซลในรถเมล์ ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงว่าราคาเชื้อเพลิงดีเซลนั้นถูก แต่ถ้าเราเริ่มจากการปรับเปลี่ยนรถเมล์ในกรุงเทพฯ นั้น จะพบได้ว่าเราก็สามารถทำได้เลยอีกเช่นกัน เพราะถ้าให้เทียบค่าซ่อมบำรุงรถเมล์ดีเซล กับรถเมล์ NGV หรือรถไฟฟ้านั้น จะพบได้ว่ารัฐจะเสียงบประมาณไม่ได้ต่างกันเลย ถึงแม้ว่าปัญหาการเปลี่ยนรถเมล์อาจจะแก้ปัญหาฝุ่นละอองได้แค่เสี้ยวเดียว แต่ถ้าเราเริ่มทำแบบขั้นต่อขั้น มันจะทำให้เราเห็นเป้าหมายในการจัดการปัญหาฝุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหลักของการมีรถไฟฟ้าในไทยคือเรื่องการคิดอัตราภาษีนำเข้า การสนับสนุนโครงสร้างทางอุตสาหกรรมจากทางภาครัฐ เราอาจจะเห็นกระแสการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นก็จริง แต่ถ้าหากไม่นำมาตรการต่างๆ มาทำไปพร้อมๆ กัน การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ก็จะไม่ไปถึงไหน”
โดยถ้าหากเรามองย้อนมาถึงการจัดการปัญหาสภาพฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ นั้น ธาราให้ความเห็นว่า “ภาพใหญ่คือ ในกรุงเทพฯ เอง ไม่ได้เกิดฝุ่นแค่จากประชากรในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ฝุ่นได้ถูกพัดมาจากพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ที่ลอยข้ามมาจากจังหวัดข้างเคียงที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาก็คือ พอเศรษฐกิจทรุดตัวลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โรงงานต่างๆ ก็พยายามลดต้นทุน โดยหันไปใช้พลังงานถ่านหิน อาทิ การนำเข้าถ่านหินมาจากอินโดมากขึ้น ในทางกลับกัน การนำเข้าถ่านหินมายังประเทศไทยนั้น มีอัตราการคิดภาษีนำเข้า 0 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พลังงานถ่านหินที่ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาฝุ่นควันถูกนำเข้ามาใช้ในไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาเหล่านี้จึงต้องแก้แบบยกแผง เราจึงควรหันไปพิจารณาว่า ศักยภาพภายใต้รัฐบาลชุดนี้ จะมีเจตจำนงในการจัดการปัญหาดังกล่าวพอไหม เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน”
ในขณะเดียวกัน เราได้สอบถามธาราถึงประเด็นที่หน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้ทำการฉีดน้ำ เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยธารามองว่า “การฉีดน้ำขึ้นอยู่กับระบบคิดของกรุงเทพมหานคร และองคาพยพของระบบราชการไทย ที่ยึดถือแต่เรื่องแนวปฏิบัติในระบบ เพราะพอราชการจัดงบซื้อรถฉีดน้ำไปแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องใช้รถฉีดน้ำ เพื่อเอาออกมาฉีดลดฝุ่น แต่พอฉีดเสร็จก็ไม่ได้มีการนำไปพัฒนาต่อ”
เราถามธาราต่อว่า การฉีดน้ำลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้จริงหรือไม่ โดยเขาตอบว่า “มันอาจจะช่วยลดความเข้มข้มของฝุ่นในพื้นรอบๆ ณ บางช่วงเวลาที่ฉีดน้ำได้ แต่ฝุ่นละอองก็จะฟุ้งไปที่อื่นและกลับมารวมตัวกันใหม่อีกอยู่ดี การแก้ปัญหาในลักษณะนี้เหมือนวัวหายล้อมคอก และตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จริงๆ กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณค่อนข้างมาก เพราะเก็บภาษีได้จำนวนไม่น้อย กรุงเทพมหานครจึงควรจะวางแผนเชิงรุกให้มากกว่านี้”
ในส่วนของการวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่วัดโดยหน่วยงานของสำนักงานเขตในแต่ละเขตของกรุงเทพฯ นั้น ธารากล่าวว่า “กรุงเทพมหานครบอกว่ามีเครื่องวัดของตนเองใน 50 เขต แต่พอเข้าไปดูบนเว็บไซต์รายงานผลค่าฝุ่นกลับไม่มีการอัพเดทข้อมูลเลย เพราะหน่วยงานกลับเอาเวลาไปวุ่นอยู่แต่กับการฉีดน้ำ แล้วเมื่อสถานการณ์วิกฤติขึ้นก็อาจจะเห็นโดรนฉีดน้ำเพิ่มเติม แผนปฏิบัติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของระเบียบราชการที่ดิ้นไม่หลุดไปจากระบบเดิมๆ ที่ไม่ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เข้ามาท้าทายใหม่ๆ”
“ในส่วนของแอปพลิเคชัน Air4Thai นั้น จริงๆ แล้วมีข้อมูลแบบรายงานสดแบบนาทีต่อนาที แต่ข้อมูลเหล่านี้ดันถูกฝังไว้ใต้แอปพลิเคชัน และไม่ได้ถูกรายงานขึ้นมาแบบสดๆ กรมควบคุมมลพิษชี้แจงว่า ที่รายงานสดไม่ได้ เกิดจากการมีมาตรการที่กรมควบคุมมลพิษจะเปลี่ยนค่าการรายงานฝุ่งละอองทุกๆ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีข้อมูลแบบนาทีต่อนาทีตลอด การมีชุดข้อมูลสดในมือจึงแทบไม่เป็นประโยชน์ ในทางกลับกัน ประชาชนอยากรู้ว่าตอนนี้ พวกเขาหายใจเอาอะไรเข้าไปบ้าง ไม่ใช่ผลรายงานที่จะอัพเดททุกๆ 24 ชั่วโมงครั้ง มันจึงเป็นปัญหาจากชุดวิธีคิด และระเบียบราชการที่มีข้อจำกัด”
เราสอบถามถึงการจัดการปัญหาฝุ่นแบบบูรณาการในระดับอาเซียน ธาราให้คำตอบว่า “ล่าสุด อาเซียนได้มีการออกแผนยุทธศาสตร์ที่พยายามจะลดปัญหาหมอกควัน แต่พอเจอสถานการณ์ COVID-19 การขับเคลื่อนปัญหาหมอกควันจึงมีความคืบหน้าแทบจะเป็นศูนย์ ถึงการประชุมในอาเซียนจะจัดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างปีนี้เวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุม แต่ก็ไม่ได้มีการผลักดันปัญหาหมอกควันขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ เช่นเดียวกับตอนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ก็กลับไม่มีการผลักดันประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุย แต่ถึงจะมีมาตรการออกมาจริง แต่พอมันเป็นประเด็นที่ข้ามรัฐ มันก็ถูกปฏิบัติไม่ได้จริงจัง”
“ประเด็นที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุด คือ การก่อตั้งศูนย์อุตุนิยมวิทยาของอาเซียน โดยมีฐานอยู่สิงคโปร์ ศูนย์ดังกล่าวนี้ ทำหน้าที่ในการรวบรวมภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายความร้อน ฯลฯ มานำเสนอในรูปแบบของการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบ ผ่านแผนภาพที่ถ้ามีหมอกควันข้ามพรมแดน ก็จะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาดังกล่าว แทบจะเป็นประเด็นเดียวที่อาเซียนทำออกมาได้เป็นรูปรรมที่สุด ส่วนความร่วมมืออื่นๆ ที่เหลือกลับเป็นแค่การพูดคุยกันระหว่างรัฐเฉยๆ เช่น ความร่วมมือไทย-พม่า หรือไทย-ลาว ที่ทำไปแค่การพูดคุยกันว่าเราจะทำอะไรบ้าง แต่พอพูดคุยกันเสร็จก็แยกย้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
สำหรับแนวโน้มในอนาคต ธารามองว่า “ถ้าเรายังรับมือกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 แบบเฉพาะหน้า ชนิดว่าพอฝุ่นหายก็ลืมกันไป เราก็จะเจอฤดูฝุ่นแบบนี้กันไปอีกยาวนาน เพราะปัจจัยที่เข้ามาส่งผลอย่างมากอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บางวันอากาศดีมาก พออีกวันอากาศเริ่มแย่ วิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เข้ามาจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง จริงๆ ไทยเรามีความพร้อมเกือบครบทุกอย่าง ทั้งนักวิชาการด้านมลพิษทางอากาศ เจ้าหน้าที่ในกรมควบคุมมลพิษที่มีความรู้ความสามารถในระดับสูง อีกทั้งยังมีเครื่องมือและข้อมูลที่พร้อม แต่ทำไมแค่การปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ที่ไทยใช้มาเป็น 10 ปีกลับไม่ทำสักที ยังไม่นับรวมถึงมาตรการการลดฝุ่นจากแหล่งต้นกำเนิด อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม รถยนตร์เชื้อเพลิงดีเซล ฯลฯ ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำ มันก็จะเป็นอย่างนี้ไปจนถึงคนอีกรุ่นหนึ่ง ถ้าเราไม่เริ่มในวันนี้ เราจะทำอะไรไม่ได้เลย พูดโดยสรุป เรื่องเดียวที่เราไม่พร้อมคือเรื่องมุมมองในทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบายที่ยังคงมีปัญหา”
เหมือนฝันร้ายที่ประเทศไทยยังขับเคลื่อนไปไหนไม่ได้ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงวนเวียนกลับมาเยี่ยมเยียนเราในทุกๆ สิ้นปีที่มาถึง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดูจะยังคงกระจัดกระจายไม่เป็นระบบ แล้วคุณคิดว่ารัฐบาลได้จัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ดีแล้วหรือยัง? The MATTER ชวนคุณย้อนอ่านบทความ ‘ระบบราชการไทยไร้เจ้าภาพแก้วิกฤต PM2.5” ที่เราได้เคยคุยกับธาราเมื่อครั้งก่อน ได้ที่: https://thematter.co/social/air-pollution-interview-greenpeace-thai/69890
อ้างอิงจาก