‘อายุน้อย ก้อนใหญ่’ ข้อสังเกตที่ถูกขีดเส้นใต้จากแพทย์ ในวันที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ยังคงเป็นช่วงเวลาที่จำได้แม่นของผู้หญิงคนหนึ่งในวัยย่าง 29 ปี เพราะนั่นนำมาซึ่งความเห็น “มะเร็งไม่ใช่โรคคนแก่ บอกเลย”
400 คน เป็นตัวเลขโดยประมาณ ของผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในแแต่ละวันในบ้านเรา จนทำให้แต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยแตะ 140,000 คนทีเดียว นำมาสู่การสูญเสียที่ทำให้ ‘โรคมะเร็ง’ กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย
ย้อนไปในปีที่ผ่านมา ข้อความของอาจารย์แพทย์หนุ่ม ผ่านโลกออนไลน์ที่ว่า “ผมกำลังจะแต่งงาน กำลังจะซื้อบ้านแล้ว…ผมก็เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายครับ” ไม่เพียงแบ่งปันประสบการณ์ แต่สร้างความตระหนักถึงการป่วยในช่วงอายุยังน้อย ตอกย้ำด้วย “ลาก่อนนะคะ แล้วเราจะได้เจอกันที่ดาวอังคารค่ะ” ของหญิงที่พบก้อนเนื้อตั้งแต่อายุ 15 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นอีกคลื่นที่ซัดให้ผู้คนหันมามองการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งของคนอายุน้อย
เพิ่มขึ้นจริง หรือเราแค่เพิ่งรู้? The MATTER มีโอกาสคุยกับ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ ถึงสัดส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งในกลุ่มคนอายุน้อยว่าน่าเป็นกังวลหรือไม่ อีกทั้งเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของวัยรุ่นที่เคยรับมือกับมะเร็งมาก่อน
มะเร็งเต้านม ที่เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่อายุ 26 ปี
จากประสบการณ์ผ่าตัดกก้อนเนื้อที่เลวร้ายในช่วงวัย 20 ต้นๆ ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นสถานที่ต้องห้ามของซานที่อยากหนีห่างมาตลอด เธอถึงได้ออกปากว่า ‘ความละเลย’ เกือบทำให้โรคของมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ที่ตรวจพบเกินจะรับมือได้
ด้วยความกังวลว่าก้อนเนื้อที่เคยผ่าจะกลับมาอีก ซานเลยติดนิสัย’คลำเต้านม’ ซึ่งเป็นวิธีเบื้องต้นของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง จนสัมผัสก้อนบางอย่างที่ชวนเอะ ในช่วงอายุ 26 ปี “ภาพจำเราคือถ้าไปหาหมอต้องผ่าตัดนะ ก็เลยปล่อยมา แต่รู้เลยว่าขนาดใหญ่ขึ้น” อีกทั้งยังมีสัญญาณเตือนความผิดปกติ ของการเจอคราบน้ำที่ชุดชั้นใน
“บังเอิญมีรถตรวจสุขภาพเข้ามาในหมูบ้าน เลยไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจโรคของผู้หญิง เขาโทรมาแจ้งให้ไปตรวจซ้ำ พอไปหาหมอก็เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่าหน้าอกเรามีน้ำไหลออกมาเป็นหยดๆ” ถึงได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าระบบการรักษาของซานในวัย 29 ปี
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าเธอจะตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติตั้งแต่วินาทีแรก ทั้งที่มีการตรวจชิ้นเนื้อ และคัดกรองอื่นๆ จากแพทย์ในโรงพยาบาลชั้นนำ
“อายุน้อยเนอะ ที่บ้านก็ไม่มีใครเป็น ก้อนเนื้อธรรมดาแหละ” เป็นความเห็นของแพทย์ในตอนนั้น ขณะที่ผู้ป่วยอย่างซานอยู่ไม่ติด และผ่านมากว่า 2 ปีถึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม หลังตัดสินใจเปลี่ยนโรงพยาบาลที่รักษา
ด้วยขนาดของก้อนเนื้อเกือบ 5 เซนติเมตร ซึ่งโตมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยแรกพบคนอื่นๆ แพทย์จึงต้องใช้วิธีการให้เคมีบำบัด และฉายรังสี เพื่อลดขนาดก้อนเนื้อก่อนที่จะผ่าตัดออก และต่อด้วยการให้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า ที่จะไปสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้
ซานแสดงความเห็นว่า แม้การรักษาโรคมะเร็งของทุกโรงพยาบาลจะมีมาตรฐานเดียวกัน แต่วิธีการตรวจเจอโรคนั้น นับเป็นความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล ประกอบกับความพร้อมของอุปกรณ์ เลยอาจส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาที่ช้าเร็วต่างกัน
ทั้งนี้ ซานยังเล่าถึงกรณียารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ที่จำเป็นต้องได้รับตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เนื่องจากเกณฑ์ที่จะเบิกจ่ายได้ของประกันสังคมนั้น ต้องเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่่ 3 ซึ่งเป็นระยะลุกลามเท่านั้น
“คำนวณปริมาณยาที่ใช้จากน้ำหนักตัว ราคาเลยต่างไปในแต่ละคน อย่างตอนนี้ตัวที่ใช้ ราคา 22.5 บาทต่อมิลลิกรัม น้ำหนักเราใช้ 280 มิลลิกรัมเท่ากับ 6,300 บาทต่อครั้ง ซึ่งตามสูตรต้องได้รับยาทุกๆ 3 สัปดาห์ จนครบ 1 ปี ก็จะเท่ากับ 18 ครั้ง ”
“เราไม่ได้ใช้ชีวิตโหดนะ เป็นสายรักสุขภาพคนหนึ่งเลย เลือกทาน ออกกำลังกาย ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เลยถ้าจะให้นึกว่าอะไรกระตุ้นโรคเรา คงเป็นการใช้ชีวิตและความเครียด” ซานเล่า
นอกจากนี้ การเห็นตัวอย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อายุน้อยลงออกมาเล่าประสบการณ์ ช่วยให้คนรุ่นราวเดียวกันสนใจสังเกตตัวเองมากขึ้น อย่างที่เพื่อนของเธอเอง ที่เข้ามาปรึกษาเพราะสัมผัสเจอก้อนเนื้อบริเวณเต้านม แต่ยังลังเลจะพบแพทย์
“มะเร็งมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่อยากให้ชะล่าใจเหมือนเรา ไม่ต้องรอแก่แล้วถึงจะเป็นโรค หรือเพิ่งจะมาดูแลตัวเอง ถ้าทุกคนคอยสังเกตร่างกาย เราอาจเห็นความผิดปกติจากโรคอื่นด้วยได้ แล้วมะเร็งไม่ใช่โรคคนแก่ บอกเลย”
สำหรับมะเร็งเต้านม นับเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย ข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2563 พบผู้เสียชีวิตถึง 4,800 คน คิดเป็น 13 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเจอมะเร็งในวัย 22 ปี
ใครจะคิดว่าแค่ขาบวมจนต้องเดินกะเผลก จะนำมาสู่การวินิจฉัยของแพทย์ว่า เป็นผลมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia – AML) ที่ส่งสัญญาณอื่นมาบ้างแล้วโดยที่แจนไม่รู้
ไม่แปลกที่เธออาจปล่อยผ่าน เพราะด้วยอาการท้องเสีย เลือดออกตามไรฟัน เป็นไข้ไม่รู้สาเหตุ ไอตอนกลางคืน ปากซีด รวมถึงตัวช้ำง่าย ล้วนเป็นการเจ็บป่วยในชีวิตประจำวัน ที่คนวัย 22 ปีทุกคนเจอกันได้
“ก่อนไปตรวจคิดหลายอย่าง ว่าเป็นฝีในขาไหมนะ เส้นเลือดตีบไหม แต่พออัลตราซาวด์ดูเห็นว่าเลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อซึ่งแปลก เลยได้เจาะเลือด แล้วก็เลยเจอว่ามีเม็ดเลือดขาวตัวที่ใช้ไม่ได้เยอะมาก 93% เลย”
ด้วยอาการที่ไม่สู้จะดี แจนเลยได้รับเคมีบำบัดอย่างรวดเร็วหลังทราบผล อย่างที่รู้กันบ้างว่าการรับเคมีบำบัดนั้นมีอาการข้างเคียงที่ผู้ป่วยต้องเจอ อย่างแจนที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วม จนต้องให้ยาปฏิชีวนะในทุกครั้ง ชีวิตในตอนนั้นวนเวียนอยู่เช่นนี้ จนถัดมาถึงได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และนับว่าโชคดีที่ร่างกายของเธอเข้าได้กับผู้บริจาค จึงสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกกติ เพียงแต่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษเท่านั้น
“ไม่สูบบุหรี่ กินเหล้าน้อยมาก เราออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3 วัน แล้วก็เลือกกิน เพื่อรักษาสุขภาพกับหุ่นด้วย” คือรูปแบบการใช้ชีวิตก่อนที่เธอจะป่วย เลยยากที่จะทราบสาเหตุที่แท้จริง อีกทั้งโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็มักเกิดจากการกลายพันธุ์ (mutation) มากว่ากรรมพันธุ์ จึงยิ่งไปกันใหญ่หากเราไม่ใช่คนที่ทำงานในห้องที่มีรังสีหรือเคมีเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ดี สำหรับโรคที่รอไม่ได้อย่างมะเร็ง การเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วสำคัญมากตามความเห็นของแจน เพราะผู้ป่วยที่เธอมีโอกาสได้พบจำนวนไม่น้อย ล้วนจากไปด้วยโรคแทรกซ้อน ทั้งจากการติดเชื้อ ไตวาย น้ำท่วมปอด หรือเลือดออกในสมอง มากกว่าผลของโรคมะเร็งตรงๆ
แล้วเรื่องค่าใช้จ่ายละ? โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเลือกไปรักษาที่หน่วยบริการที่มีศักยภาพได้ฟรี แต่ในทางปฏิบัติก็ใช่ว่าจะตามนั้นเสียหมด “ใช้เงินเยอะจริง และมียานอกบัญชีเยอะ” เป็นคำยืนยันของแจน โดยเฉพาะหากรักษาด้วยวิธีทางเลือก อย่างที่เธอปลูกถ่ายไขกระดูก ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง อาจมีกองทุนของโรงพยาบาล หรือบางหน่วยงานแบ่งเบาภาระไปได้บางส่วน
“ทางที่ดีที่สุดคือพยายามรักษาสุขภาพกันไว้ดีกว่า เพราะมันอาจจะเกิดกับใครก็ได้ ทำทุกอย่างให้พอดีจะดีที่สุด”
โดยตามข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างเฉียบพลันเอาไว้ว่า ถ้าพบแล้วแต่ไม่ได้รักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตใน 3-4 เดือน เนื่องจากการติดเชื้อที่ลุกลาม ซึ่งต่างกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ที่อาการค่อยเป็นค่อยไป อาจจะเริ่มจาก 6-8 เดือน หลังจากนั้นอวัยวะต่าง ๆ ก็จะเริ่มเสื่อมลง จนเกิดปัญหารุนแรงตามมา
มายาคติของโรคคนแก่
“อุบัติการณ์ของมะเร็งเริ่มพบสัดส่วนในคนอายุน้อยลง ในหลายชนิดมะเร็งจริง” เป็นคำยืนยันของ นพ.มานพ ว่าภาพสะท้อนผ่านโซเชียลมิเดียที่มีคนอายุน้อยป่วยเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องเกินจริง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้
สอดคล้องกับข้อมูลทะเบียนมะเร็ง ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2564 ที่ระบุว่าโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับ คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
แม้ยังไม่มีรายงานสถิติแนวโน้มคนอายุน้อยเป็นมากขึ้น แต่ข้อมูลจาก Thaihealth Watch พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าในรอบ 10 ปี (ปี 2552 – 2561) โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานคร มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด 15 คนต่อ 1 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า
นพ.มานพ อธิบายว่า การพบสัดส่วนโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อย เป็นผลจาก 2 ปัจจัย คือ
- การคัดกรอง ด้วยในปัจจุบันความสนใจที่จะทำการคัดกรองมีมากขึ้น ทั้งวิธีทั้งตรวจแมมโมแกรม ตรวจอัลตราซาวด์ รวมถึงการส่องกล้อง ทำให้พบผู้ป่วยมะเร็งรวดเร็วขึ้น
นพ.มานพ ยังกล่าวอีกว่า ในอดีตข้อมูลที่บ่งชี้ว่าโอกาสเสี่ยงที่จะพบโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ เป็นที่มาของเกณฑ์ช่วงอายุเข้าข่ายการคัดกรอง แต่เมื่อแนวโน้มผู้ป่วยมีอายุลดลง จึงทำให้ข้อแนะนำการตรวจโรคต้องปรับปรุงตาม “โอกาสเจอก็จะเร็วขึ้น มันก็นับยอดเข้าไป คนที่เป็นก็จะยิ่งอายุน้อยลง”
- รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ทั้งอาหารการกิน การใช้ฮอร์โมน ความอ้วน ความเครียด เป็นต้น
อีกประการหนึ่งมุ่งเป้ามาที่ผู้หญิง คือ “การแต่งงานช้า เป็นโสด มีลูกน้อย หรือไม่มีลูก ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่เรารู้กันอยู่แล้ว” ซึ่งตามทางการแพทย์ ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เซลล์เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามระดับฮอร์โมน เท่ากับว่าร่างกายใครอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนยิ่งนาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งคนที่มีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุน้อยๆ รวมถึงคนที่ไม่มีลูก เพราะช่วงเวลาการตั้งครรภ์นั้น ร่างกายจะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนชั่วคราว
แล้วดูเหมือนว่า ไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงไทยก็เป็นไปในทิศทางนั้น จากงานวิจัยที่ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย ในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปี (2528-2560) พบปรากฏการณ์ ‘Marriage Strike’ ที่ผู้หญิงการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงาน อยู่เป็นโสดมากขึ้น และมีลูกลดลง
เช่นนี้แล้ว มะเร็งยังเป็นโรคคนแก่อยู่อีกหรือไม่? หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ อธิบายถึงมายาคติดังกล่าวไว้น่าสนใจ ว่า “มะเร็งเป็นโรคคนแก่อาจจะจริง ตรงที่อายุเพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น พอคนเราอายุยืนขึ้นอุบัติการณ์ของมะเร็งก็จะสูงขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่ามะเร็งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะคนแก่ คนอายุน้อยก็มีสัดส่วนของการเป็นมะเร็งสูงขึ้นด้วย”
ในเมื่อไม่มีสูตรสำเร็จว่า ทำยังไงเราถึงจะรอดพ้นจากโรคมะเร็ง ดังนั้นการใส่ใจสุขภาพ และมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะพาเราเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที