เคยฝันอยากออกไปใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่นกันมั้ย? หรืออยากลองใช้สิ่งประดิษฐ์อะไรเหมือนกับในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนบ้างหรือเปล่า? อาจดูเป็นเรื่องฟุ้ง เรื่องเพ้อฝัน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ FREAK Lab
หากอยากรู้ว่าถ้าย้ายไปอยู่บนดาวอังคารเราจะใช้ชีวิตอยู่กันได้อย่างไร ปลูกพืชแบบไหน? แต่งหน้าได้มั้ย? หรือแม้แต่จะกินทุเรียน มันจะยังเป็นทุเรียนเหมือนอยู่หรือเปล่า? นั่นคือสิ่งที่ FREAK Lab ก็กำลังสงสัยเช่นเดียวกัน
จากการรวมตัวของกลุ่มคนในค่ายวิทยาศาสตร์ JSTP ที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน และ ‘สนุก’ ที่จะได้ทำอะไรบ้าๆ แปลกๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดเป็น Futuristic Research in Enigmatic + Aesthetics Knowledge หรือ ‘FREAK Lab’ แล็บวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยอิสระทางด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จนได้ออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์มากมายที่ทำให้สิ่งที่คิดว่าดูเพ้อฝันนั้นกลายเป็นเรื่องจริง
The MATTER ชวนไปหาคำตอบร่วมกันในห้องแล็บ และพูดคุยกับ รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้ากลุ่มวิจัย FREAK Lab ถึงความบ้าบอของการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงความเป็นไปได้ของมนุษย์ที่จะไปตั้งหลักปักฐานอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่ห่างไกลหลายล้านปีแสง
FREAK Lab แล็บเพี้ยนๆ ที่เปลี่ยนวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องสนุก
หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวน่ายินดีจากวงการวิทยาศาสตร์ไทยเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2561 ว่าเราได้มีส่วนร่วมในการส่ง ‘สัมภาระ’ ขึ้นไปในยานอวกาศ ‘New Shepard’ ของบริษัท Blue Origin ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมมือกับบริษัทไทยอย่าง muSpace และก็เห็นผลสำเร็จอย่างสวยงาม โดยสัมภาระที่ส่งออกไปตอนนั้นก็คือ ‘ทุเรียน’ ที่คนไทยชอบทาน บรรจุลงกล่องที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรร่วมมือกันสร้างขึ้น
ในตอนนี้ FREAK Lab ก็กำลังคิดจะทำโปรเจกต์สนุกๆ อีกมากมายที่อยู่ในช่วงทดลองและหาคนร่วมมือกันทำ อย่างการนำ ‘แหนมไบโอเทค’ ขึ้นไปพร้อมกับยานอวกาศ เพื่อดูว่าจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่อยู่ข้างในจะยังคงฟังก์ชั่นเอาไว้ได้ดีแค่ไหนเมื่ออยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก
ที่มาของแนวคิดในการส่งของแปลกๆ ขึ้นไปบนอวกาศนั้น อาจารย์วีระศักดิ์เล่าให้ฟังว่า มันเกิดจากการเชื่อมโยงสองสิ่งเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ‘วิทยาศาสตร์’ ที่จะดูว่าเราจะสามารถไปตั้งถิ่นฐานบนอวกาศได้จริงมั้ย แล้วเทคโนโลยีที่เรามีจะสามารถทำให้มันเป็นไปได้หรือเปล่า และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘อารยธรรม’ อย่างแหนมและปลาร้าที่ก็ถือว่าเป็นอารยธรรมการกินของมนุษย์
FREAK Lab ไม่เพียงแต่จะสนใจเรื่องอวกาศ แต่ยังคิดค้นนวัตกรรมแปลกใหม่และสามารถใช้ได้จริงบนโลกมนุษย์ เมื่ออาจารย์วีระศักดิ์พาทัวร์แล็บ ก็รู้สึกสะดุดตากับสิ่งประดิษฐ์น่าสนใจหลายอย่าง ทั้ง iHOY บทเพลงที่บรรเลงโดยคลื่นความถี่เสียงของหอย ชุดดอกไม้ฮอร์โมนที่จะบานก็ต่อมีฮอร์โมนในร่างกายหลั่งออกมาว่าพร้อมจะมีบุตร และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘Food Hologram’ เครื่องที่จะช่วยให้คนรับรู้รสชาติอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องกินเข้าไปจริงๆ เพียงแค่รู้สึกผ่านภาพ 3D ตรงหน้าก็พอ
“สังเกตว่าที่ญี่ปุ่นจะมีอาชีพหนึ่งที่เป็นเพื่อนไปกินอาหาร เพราะคนญี่ปุ่นกลัวรสชาติเผ็ดมาก ไม่เหมือนคนไทย เราก็เลยอยากสร้างประสบการณ์อะไรแบบนี้ให้กับพวกเขา เราจะมีเซ็นเซอร์วัดความเผ็ด แล้วก็แปลงสัญญาณพวกนั้นออกมาเป็นความรู้สึกในเชิงอารมณ์ผ่านภาพโฮโลแกรม อาจจะเห็นเป็นไดโนเสาร์ เปลวไฟ แล้วก็จะใช้ AI มาทำนายผล ว่าถ้ากินจานนี้เข้าไปจะเผ็ดอย่างงี้นะ คือรู้สึกเผ็ด แต่ไม่ได้สัมผัสจริงๆ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่” อาจารย์วีระศักดิ์ เล่าถึงที่มาที่ไปและฟังก์ชั่นของ Food Hologram
นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งประดิษฐ์เจ๋งๆ อีกอย่าง นั่นก็คือ ‘Mind-controlled 3D Printer’ ที่ได้ไอเดียมาจาก ‘brain computer interface’ ซึ่งใช้ AI ในการทำนายและประมวลคลื่นความถี่จากสมอง เพื่อดูว่าคนๆ นั้นกำลังมีอารมณ์แบบไหน แล้วจะไปแมตช์กับรูปอะไร จากนั้นก็จะไปเชื่อมกับตัวเครื่องพิมพ์สามมิติให้สร้างอารมณ์ออกมาเป็นรูป เช่น อารมณ์ดีก็เป็นรูปช็อกโกแลตหรือหัวใจ เหมือนกับที่อีลอน มัสก์ บอกว่า สมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อยู่บนดาวดวงอื่นอย่างไรในคลาสเทคโนโลยีชีวภาพต่างดาว
เทคโนโลยีชีวภาพเฉยๆ อาจดูธรรมดาไป แต่ถ้าเอาไปใช้บนอวกาศได้คงเป็นเรื่องที่ ‘เปิดโลก’ สุดๆ วิชา ‘เทคโนโลยีชีวภาพต่างดาว’ (Astrobiotechnology) วิชาในหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพที่เพิ่งจะเปิดสอนเมื่อไม่นานมานี้ เกิดจากการที่อาจารย์วีระศักดิ์ผู้จัดตั้งวิชาต้องการจะให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ได้คิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมเจ๋งๆ ออกมา ซึ่งหลักๆ ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับชีวภาพที่เราจะสามารถนำไปใช้ในอวกาศหรือดาวดวงอื่นได้ โดยจะสอนตั้งแต่พื้นฐานเบื้องต้นว่ามนุษย์เราจะขึ้นไปข้างบนนั้นได้ยังไง ไปจนถึงเมื่อแลนด์ลงพื้นผิวดาวดวงอื่นแล้ว จะสามารถนำเทคโนโลยีอะไรบ้างเข้าไปใช้เพื่อให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอาหาร พลังงาน ยารักษาโรค หรือสาธารณสุขอื่นๆ ถือเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวดวงอื่นๆ นอกจากโลกได้
คลาสนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่ายในการช่วยกันจัดเตรียมเนื้อหา มีการใช้คนสอนตั้งแต่วิศวกรด้านอวกาศจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) อาจารย์ที่ชำนาญด้านวัสดุ รวมไปถึงคณะนักศึกษามากความรู้ ที่มาจากทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่คอยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำให้วิชานี้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นนั่นก็คือ ‘พีพี—พัทน์ ภัทรนุธาพร’ หนึ่งในสมาชิก FREAK Lab ที่เคยได้ขึ้นพูดบนเวที TEDxASU ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อเรื่อง ‘Prototyping the Impossible’
แม้นวัตกรรมที่ทาง FREAK Lab คิดค้นขึ้น หรือสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในวิชาเรียนอาจจะต้องมีการนำไปต่อยอดอะไรอีกหลายอย่าง หรือรอเทคโนโลยีและทุนสนับสนุนจำนวนมากเข้ามาซัพพอร์ตเพื่อจะให้เกิดขึ้นจริง แต่อาจารย์วีระศักดิ์ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นอุปสรรค
มันถือเป็นการ ‘เปิดหูเปิดตา’ ช่วยกันหาคำตอบร่วมกันมากกว่า
คนเรียนก็ได้เรียนรู้ คนสอนก็ได้เรียนรู้ เรียนรู้ไปด้วยกัน
หนัง sci-fi ที่ใกล้เป็นจริง
เวลาเราเด็กๆ จะชอบจินตนาการอะไรฟุ้งๆ เกี่ยวกับอวกาศ นั่นก็อาจเป็นเพราะหนัง sci-fi ที่มักจะสร้างความตื่นตาตื่นใจ และนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ๆ จากจินตนาการของผู้กำกับอยู่เสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้
เมื่อสเต็ปแรกในการไปเหยียบบนดาวอื่นได้ผ่านพ้น สเต็ปต่อไปก็คือการค้นหาคำตอบ ว่ามนุษย์จะ ‘อยู่อาศัย’ บนนั้นอย่างไร อาจารย์วีระศักดิ์บอกว่า ตอนนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนสนใจก็คือ ดูการงอกของพืชบนดวงจันทร์ ถือเป็นเรื่องสำคัญและมีคนจำนวนมากกำลังทำอยู่ รวมถึงคนไทยเองก็เช่นกัน พวกเขาต้องการที่จะหาคำตอบว่าในสภาวะไร้น้ำหนักแบบนี้ การงอกของพืชที่จะช่วยให้ออกซิเจนและใช้เป็นอาหารของคนจะมีสภาพเป็นอย่างไร เพราะถ้าหากมนุษย์เราสามารถย้ายไปอยู่บนดาวดวงอื่นได้ ก็ควรที่จะต้องปรับสภาพให้ใกล้เคียงกับดาวดวงนั้นเสียก่อน ซึ่งในตอนนี้ก็มีโครงการไบโอสเฟียร์ ที่ให้มนุษย์ได้จำลองการอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักแล้ว
แต่ทั้งหมดอาจจะต้องค่อยๆ ใช้เวลา อย่าง SpaceX ของอีลอน มัสก์ ที่ยังต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ ทุนสนับสนุน และเทคโนโลยีอีกมากมายในการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ และถ้าถามถึงในประเทศไทย อาจารย์วีระศักดิ์ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัวหรือเกินความเป็นจริง แม้จะยังไม่สามารถตั้งหลักปักฐานบนนั้นได้ในเร็วๆ นี้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถไปถึงได้แน่นอน ซึ่งสิ่งสำคัญคือหลังจากนั้นต่างหาก ว่าเราจะทำอะไรบนพื้นผิวดวงดาว อย่างการส่งหุ่นยนต์โรเวอร์เพื่อสำรวจสภาพผิวดาวอังคาร หรือการที่ NASA แข่งขันกันเรื่องสร้างที่อยู่อาศัย และทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีมารับรอง
“ตอนนีล อาร์มสตรอง ขึ้นไปบนดวงจันทร์เขาก็แค่ขึ้นไปสัมผัสพื้นดวงจันทร์ ไม่ได้ไปทำอะไร แต่หลังจากนั้นคนเราก็มีความพยายามที่จะไปอีก เพื่อไปทำอะไรสักอย่าง ซึ่งตรงนี้มันสำคัญ”
เรียนวิทยาศาสตร์อย่างไรให้ FREAK
“ถ้าเรียนแบบคนไทยมันไม่สนุกหรอก (หัวเราะ) เพราะมันเรียนเพื่อเอาไปสอบ ตอนสมัยผมเรียนวิทยาศาสตร์มันก็เป็นแบบนี้แหละ” อาจารย์วีระศักดิ์กล่าว
วิชาวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับนักเรียนหลายคน ทั้งฟิสิกส์เอย ชีวะเอย เคมีเอย นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเราเรียนกันแบบฝืนๆ ถูกบังคับให้จำสูตร จำตารางธาตุ จำอนาโตมี่เยอะๆ เพื่อที่สุดท้ายแล้วก็แค่นำไปทำข้อสอบ สอบเสร็จแล้วก็ลืม โยนทิ้งให้หายไป แต่ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนหรือมุมมองในการเรียนวิชาเหล่านี้ มันก็อาจจะกลายเป็นเรื่องสนุกได้อย่างที่คิดไม่ถึง
เมื่อถามอาจารย์วีระศักดิ์ไปว่า แล้วหลักสูตรไทยยังขาดอะไรไป? อาจารย์ถึงกับหัวเราะแล้วพูดว่า “เรื่องนี้ยาวเลย” ก่อนจะอธิบายให้ฟังแบบง่ายๆ
เวลาเราพูดถึง ‘ความคิดสร้างสรรค์’
เราจะนึกถึง ‘นวัตกรรม’ ที่มาพร้อมกับความสร้างสรรค์
ซึ่งมันต้องใช้ ‘จินตนาการ’ ถึงจะเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ขึ้น
แต่ระบบที่เราเรียนมันทำลายในส่วนของจินตนาการไปเกือบหมด ตั้งแต่เราก้าวเข้าไปในโรงเรียนและต้องเรียนต้องจำเพื่อนำไปสอบ และถ้าจินตนาการถูกทำลาย ก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลย
ลองนึกถึงเทคโนโลยีที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะเป็นของวิเศษจากการ์ตูนเรื่อง ‘โดราเอมอน’ ทั้งหมดล้วนเกิดจากจินตนาการของมนุษย์เราทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็คิดสูตรฟิสิกส์ขึ้นมาแล้วก็ประดิษฐ์เลย แต่เราต้องมีจินตนาการที่อยากจะมีสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาก่อน แล้วสูตรคำนวณต่างๆ ก็จะค่อยตามมาทีหลังเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นจริง
“ไม่รู้ว่ามันต้องแก้ยังไงเหมือนกัน แต่อย่างตอนที่ผมทำโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) ผมไม่ได้เอาเนื้อหามาเป็นตัวตั้ง แต่ผมเริ่มจากสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำด้วยสมอง ด้วยใจของเขาก่อน”
อยู่อย่างไรบนโลกที่ AI กำลังจะแทนที่มนุษย์
เมื่อลองโยนคำถามเล่นๆ ให้กับอาจารย์วีระศักดิ์ว่า “คิดเห็นอย่างไรกับประโยคของอีลอน มัสก์ ที่ว่า อาจจะเป็นไปได้ที่อาชีพสุดท้ายบนโลกก็คือคนเขียนซอฟต์แวร์ให้กับ AI?” อาจารย์ก็ให้ความเห็นกลับมาว่า เนื่องจาก AI มีความเป็นเหตุเป็นผลและใช้ตรรกะค่อนข้างสูง มันเลยอาจจะสู้มนุษย์ในเรื่องของการใช้อารมณ์ สุนทรียศาสตร์ หรือสัมผัสจากมนุษย์ไม่ได้ ในทางกลับกัน อาจารย์คิดว่าอาชีพที่ไม่ได้ใช้ตรรกะเลย ใช้เพียงแค่อารมณ์และความรู้สึก อาจจะกลายเป็นอาชีพสุดท้ายบนโลกนี้แทน
“ที่พูดว่าอาชีพสุดท้ายของมนุษย์คือคนเขียนซอฟต์แวร์ มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น ผมก็สงสัยว่าบางทีอาชีพที่ไม่ได้ใช้ตรรกะ สูงอาจจะเป็นอาชีพสุดท้ายซะมากกว่า บางทีเราอาจจะไม่ได้ต้องการเหตุผลขนาดนั้น อย่างชิ้นงาน Emoti-Khon ที่เป็นหน้ากากอ่านอารมณ์คนได้ อันนี้ใช้ความเป็น humanity สูงมาก เพียงแค่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเท่านั้น” อาจารย์วีระศักดิ์เสริม พร้อมกับยกตัวอย่างว่าสมมติ AI สามารถเขียนหนังสือได้ แต่งนิยายได้ โดยการประมวลผลจากนิยายเป็นแสนๆ เล่มออกมาเพื่อสร้างเป็นนิยายเรื่องใหม่ แต่มันก็สร้างขึ้นจากฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเป็นข้อมูลใหม่ที่มันยังไม่มีล่ะ? และนั่นก็คือสิ่งที่อาจารย์วีระศักดิ์ต้องการจะชี้ให้เห็น เพราะมันก็คือเรื่องของ ‘จินตนาการ’ มนุษย์นั่นเอง ที่จะสามารถคิดอะไรได้นอกเหนือจากความเป็นไปได้ และสามารถสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ออกมาได้มากกว่า AI ที่ใช้แต่ตรรกะ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะไม่ได้เห็นหนังที่จบแบบหักมุมออกมาบ่อยๆ
จินตนาการที่จะต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญของ FREAK Lab พื้นที่ที่ไม่ปิดกั้นใดๆ ทางความคิด แม้จะดูเพี้ยน แปลก แหวกแนวแค่ไหนก็ตาม หากใครอยากเห็นผลงานความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักศึกษาและวิทยากร ก็สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ในเว็บไซต์และเพจ เพราะได้ยินมาว่าจะมีการนำเสนอผลงานจากคลาส ‘เทคโนโลยีชีวภาพอวกาศ’ กลางเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ที่ True Digital Park โดยจะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้