วัคซีนที่ดีที่สุด คือ .. ?
ประโยคยอดฮิตที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ เมื่อรัฐบาลอยากให้ประชาชนฉีดวัคซีน แต่ประชาชนก็อยากฉีดวัคซีนที่เลือกเองได้ และมั่นใจในประสิทธิภาพ พร้อมกันนั้น ข้อคำถามเกี่ยวกับวัคซีนที่ผู้คนยังข้องใจก็ทำให้หลายคนตัดสินใจกันไม่ถูกด้วยว่า จะเอายังไงดีน้า
เพื่อคลายความสงสัย The MATTER ไปพูดคุยกับ นพ.ปวิน นำธวัช ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการนำข้อสงสัยต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องชนิดวัคซีน การแพ้ ไปถึงความเสี่ยง และประสิทธิภาพ ไปถามคุณหมอกันเลยเพื่อให้เคลียร์ถึงประเด็นต่างๆ
ประสิทธิภาพของวัคซีน คืออะไร แล้วบอกอะไรกับเราบ้าง
บอกจำนวนคนที่ป้องกันได้ คำนวณโดยเอาสัดส่วนของคนที่ได้วัคซีนแล้วเกิดโรค มาเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้วัคซีนแล้วเกิดโรค แล้วดูว่าสัดส่วนลดลงมาเท่าไรจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ลดมากี่เปอร์เซ็นต์ ก็ออกมาเป็นตัวเลขแบบที่เราเห็นกัน แต่ไม่ได้แปลว่า เมื่อฉีดแล้วจะมีภูมิต้านทานในร่างกายกี่เปอร์เซ็นต์
ไอเดียคือว่า ฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิ มีภูมิเพื่อป้องกันโรค เป็นโรคแล้วก็จะไม่ตาย ก็จะเป็นสเต็ปแบบนี้ แต่ว่าการที่วัดผลจากเปอร์เซ็นต์ของวัคซีนนี่คือ เป็นโรคและตาย ไม่ได้ดูภูมิคุ้มกัน
ถ้ามีภูมิก็แสดงว่ามีโอกาสที่จะป้องกันโรคได้ มีโอกาสที่จะป้องกันตายได้ด้วย เพราะฉะนั้นการดูภูมิก็เป็นสเต็ปแรกที่ใช้ในการบอกได้ แต่จริงๆ ไอเดียหลักคือ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด ว่าวัคซีนที่เราฉีดสรุปแล้วป้องกันโรคได้หรือเปล่า เป็นทีละสเต็ป
แต่หมอจะพยายามสื่อสารว่า อย่าโฟกัสกับตัวเลขจนเกินไป เพราะตัวเลขจะมากจะน้อยนั้น มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของบริบท พื้นที่ และตัวบุคคลด้วย ดังนั้น มันจึงเทียบกันแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ ในความเป็นจริง ตัวเลขมันอาจจะแกว่งได้อีก
ผลลัพธ์ของวัคซีนมีอะไรบ้าง
วัคซีนให้ผลลัพธ์ 3 อย่าง คือ ป้องกันอาการหนัก-เสียชีวิต ป้องกันการติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
วัคซีนที่ดีต้องทำได้ทุกอย่าง โดยอย่างน้อยที่สุดต้องป้องกันการเสียชีวิตให้ได้ แล้วถ้าวัคซีนดีกว่านั้น ก็ป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก ถ้าดีกว่านั้นอีกก็ต้องป้องกันไม่ให้เป็นโรคด้วย ถ้าดีขึ้นมาอีกขั้น ก็ต้องป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อด้วย ถ้าวัคซีนดีก็จะต้องดีทุกด้าน
ตอนนี้มีตัวเลขออกมาเกือบทุกตัวแล้ว เกือบทุกตัวสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่ถ้าสเต็ปที่ว่าป้องกันไม่ให้ติดโรค จะมีได้บ้างได้น้อยขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ละตัว
สมมติเราฉีดวัคซีนที่ป้องกันการตายได้ สุดท้ายแล้ว ก็ยังต้องฉีดวัคซีนที่ป้องกันการแพร่เชื้อด้วยหรือเปล่า ถึงจะกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ
เป็นไปได้ว่าต้องฉีดเพิ่ม แต่ตอนนี้ทุกวัคซีนก็ยังได้ผลลัพธ์ไม่แน่ชัดเหมือนกัน
วัคซีนใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะออกฤทธิ์
โดยมากคือ หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นวัคซีนที่ฉีดแค่เข็มเดียว อย่าง Johnson & Johnson จะมีระยะประมาณ 1 เดือนหลังจากที่ได้ฉีด ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตาย ฉีดเข็มแรกไปแล้วไม่ได้ผลอะไรมาก ต้องฉีดเข็มที่ 2 ด้วย ไม่งั้นก็เหมือนไม่ได้ฉีดอะไร
ความสามารถของวัคซีนขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนด้วยไหม
อาจจะใช่ เพราะเทคนิคในการผลิตวัคซีนแบบใหม่อย่าง วัคซีนแบบ mRNA และวัคซีนที่ไวรัสเป็นพาหะ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ดีกว่า แต่เราก็ยังไม่ทราบผลในระยะยาว เนื่องจากเทคนิคมันใหม่มาก เรายังเก็บข้อมูลไม่พอที่จะสรุปได้อย่างชัดเจน
แล้วความปลอดภัยของวัคซีน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนด้วยไหม
อาจจะมีแตกต่างกันเหมือนกันครับ แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างปลอดภัยมากแล้ว เพราะผ่านการพัฒนามาหลายขั้นตอนแล้ว ซึ่งความปลอดภัย เป็นขั้นแรกของการทดสอบเลย ดังนั้น จึงปลอดภัยกับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางกรณีที่ร่างกายของเราแพ้สารบางอย่าง ทำให้เกิดอาการแพ้ได้อยู่
วัคซีนใดๆ ก็ตามมีผลข้างเคียงอยู่แล้ว ในทางการแพทย์ ต้องเทียบระหว่างผลประโยชน์ที่เราได้รับและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ 90% นี่ไม่มีผลข้างเคียงหนัก ตรงนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นรายคน แต่โดยส่วนใหญ่มันได้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย ยิ่งในตอนที่ระบาดหนักๆ ด้วย
ผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนไหม
คาดว่า ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนด้วย และจริงๆ น่าจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อ เทคนิค แต่ละอันเลย เพราะแต่ละแบบอาจจะมีไม่เหมือนกัน คือผลข้างเตียงอาจจะรวมเป็นกลุ่มกันได้ แต่ว่าอยากให้พิจารณาเป็นแต่ละตัวไปเลย เพราะแต่ละตัวเขาผลิตไม่เหมือนกัน
ที่บอกว่าผลข้างเคียงมีโอกาสเกิดน้อย มัน ‘น้อย’ ยังไง
ต้องยอมรับว่า วัคซีนก็คือยาอันหนึ่ง ต้องมีผลข้างเคียงแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีผลข้างเคียง แต่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่เราคาดไว้แล้ว เช่น เป็นไข้ ปวด แสบ หรือชาบริเวณที่ฉีด อันนี้ต้องมีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติของทุกวัคซีนเลย ไม่ใช่เฉพาะวัคซีนโควิด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็จะมีปัญหาแบบนี้ได้
ผลข้างเคียงที่เรากังวลมากกว่าคือผลข้างเคียงในระยะยาว ว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือเปล่า จะเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันไหม ซึ่งผลข้างเคียงที่ระยะยาวและรุนแรงจริงๆ แล้วพบน้อย ไม่ถึง 1 ในหมื่นหรือแสนเลย เรียกว่าน้อยมาก
ปกติจะเจอผลข้างเคียงภายในกี่ชั่วโมง/วัน
ถ้าเป็นผลข้างเคียงแบบแพ้จะเจอภายในเร็วๆ นั้นแหละครับ ไม่เกินสัก 2-3 ชม. ภายในชั่วโมงแรกก็น่าจะเจอแล้ว ต่ก็มีผลข้างเคียงบางอันที่มันรุนแรง เช่น พวกลิ่มเลือดอันนี้จะช้า ซึ่งบางทีอาจจะเป็น 1 สัปดาห์เลยก็ได้
ถ้าเกิดรู้สึกว่ามีอาการที่ผิดปกติหลังฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็ตาม ต้องไปหาคุณหมอ แนะนำว่าไม่ควรจะอยู่ดูเองที่บ้าน ให้คุณหมอตัดสินใจว่าเป็นอะไร หรือถ้าไม่มั่นใจคุณหมอคนแรกก็เปลี่ยนคุณหมอก็ได้
กรณีวัคซีน AstraZeneca ซึ่งมีผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ควรฉีดให้คนอายุเท่าไหร่กันแน่
ปัญหาลิ่มเลือดอุดตันพบในผู้หญิงอายุน้อย และอาจไม่เกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันแบบปกติที่เจอทั่วไป เพราะปกติเลือดอุดตันมักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ผลข้างเคียงของวัคซีน ไม่ได้เกิดกับคนที่เจอลิ่มเลือดอยู่แล้ว ซึ่งแปลก คาดว่าน่าจะเกิดจากคนละกลไกกัน และต้องศึกษาต่ออีกมาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เป็น มีคนแค่ส่วนน้อยมากๆ ที่เป็น ดังนั้น หลายประเทศจะให้คนอายุน้อยเลือกฉีดวัคซีนได้ เพราะว่าคนอายุน้อยที่เจอปัญหาลิ่มเลือดที่เกิดจากวัคซีนมากกว่า
แล้วกรณีเกิด stroke จากวัคซีน Sinovac เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มไหน
ตอบยาก เพราะมีแต่ข้อมูลในไทย ไม่มีข้อมูลจากต่างประเทศเลย และข้อมูลในไทยก็เป็นข้อมูลที่ทางการประกาศออกมา ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสาร จึงมีผลข้างเคียงคลุมเครือมาก
คนที่มีโรคกลุ่มไหน ที่ต้องระวังเรื่องการรับวัคซีนเป็นพิเศษ
กลุ่มที่ต้องรับประทานยากดภูมิทั้งหลาย เช่น โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง เพราะยาบางตัวอาจจะไม่เข้ากับวัคซีนบางประเภท แนะนำว่า ควรถามคุณหมอที่ดูแลอยู่ก่อนรับวัคซีน ส่วนคนที่ตั้งครรภ์ไม่น่ามีปัญหาอะไร
วัคซีนใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะออกฤทธิ์
โดยมากคือ หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นวัคซีนที่ฉีดแค่เข็มเดียว อย่าง Johnson & Johnson จะมีระยะประมาณ 1 เดือนหลังจากที่ได้ฉีด ส่วนวัคซีนเชื้อตาย ฉีดเข็มแรกไปแล้วไม่ได้ผลอะไรมาก ต้องฉีดเข็มที่ 2 ด้วย ไม่งั้นก็เหมือนไม่ได้ฉีดอะไร
ย้ำว่า วัคซีนประเภทเชื้อตายต้องฉีดเข็มที่สอง ถึงจะได้ผล?
ใช่ครับ อันนี้เป็นเมสเสจที่ต้องย้ำ บางคนอาจมองว่า ฉีดเข็มเดียวไปแล้วไม่อยากฉีดเพิ่ม เพราะกลัว ถ้ากลัวหมายความว่า คุณทิ้งไปเลยนะ มันจะไม่ได้ผลแน่ๆ ใครฉีดเข็มเดียวมาแล้วอยากให้ฉีดไปให้ครบ อย่างน้อยมันจะได้มีขึ้นมาหน่อย ไม่งั้นเหมือนไม่ได้ฉีด เหมือนเสียเข็มแรกไปฟรีๆ
ปกติอาการแพ้จะเกิดกับวัคซีนเข็มที่เท่าไหร่
เกิดได้ทั้งคู่แต่โดยมากจะเกิดเข็มแรกมากกว่า
ถ้าแพ้วัคซีนเข็มแรก ควรเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนหรือชนิดของวัคซีนไหม
ถ้าแพ้แล้วคุณหมอคิดว่าเป็นจากตัววัคซีน จริงๆ ควรเปลี่ยน และส่วนใหญ่เขาจะให้เปลี่ยนชนิดด้วย แต่ถามว่าจริงๆ อาจจะแพ้แค่บางอย่างที่ยี่ห้อนั้นไม่เหมือนยี่ห้ออื่นก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ถ้าอยากให้ชัวร์สุดๆ คือเปลี่ยนกลุ่มไปเลย
ถ้าผลข้างเคียงของวัคซีนมันเสี่ยง ทำไมถึงไม่หยุดใช้
ถ้าไม่ใช้ก็ไม่มีตัวอื่นให้ใช้ อันนี้ตอบง่ายมาก เพราะถ้าหยุดใช้ เราก็จะไม่มีวัคซีนให้ใช้แล้ว ถ้าเป็นยาทั่วไปที่ไม่ได้รีบใช้ขนาดนี้เขาก็จะกันไว้ก่อน แต่เพราะมันระบาดเยอะเขาก็คงจะกันไม่ไหว ก็อาจจะมีคนที่อยากจะฉีดทั้งๆ ที่ยอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่
แล้วการนำวัคซีนไปฉีดในคลัสเตอร์ต่างๆ มันช่วยได้จริงไหม
ช่วยในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า ช่วยไหม ก็ช่วยนะ ถ้าเกิดว่ามันวนกลับมาที่เดิมก็ช่วยป้องกันได้ เพราะคนในชุมชนก็จะมีภูมิแล้ว แต่ ณ เวลานี้ก็ยังไม่ทันขึ้นหรอก ต้องรอเวลาให้ภูมิขึ้น
การจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไทย เราควรฉีดวัคซีนตัวไหน และควรฉีดไปเท่าไหร่
ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพเยอะ ก็ฉีดน้อยได้ หมายความว่า ที่เขากล่าวว่า การจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องฉีดให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร เป็นการคำนวณจากรายงานที่ตั้งว่าวัคซีนได้ผล 100% แน่นอนว่า ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ 100% อยู่แล้ว ดังนั้น ยิ่งเราใช้วัคซีนที่ประสิทธิภาพห่างจาก 100% ไปเท่าไร ก็ต้องยิ่งฉีดให้มากกว่า 70% ของประชากรเท่านั้น แต่เป็นจำนวนที่แน่ชัดเท่าไหร่นั้น ยังไม่มีใครบอกได้
แปลว่า 70% ของประชากร คือขั้นต่ำใช่ไหม
ขั้นต่ำครับ ถ้าวัคซีนเราเวิร์กแบบ 100% แต่วัคซีนเราถ้าเป็น AstraZeneca ก็ประมาณ 70-80% ถ้าเป็น Sinovac ก็ประมาณ 50-60% ก็อาจจะต้องฉีดเยอะกว่าระดับ 70% หรือ 80-90% แต่ต้องอย่าลืมว่าทุกคนเขาก็อาจจะมีความลังเล คนที่ไม่ได้ฉีดอยู่อีก จึงอาจจะยากที่จะเกิด herd immunity ได้
หลายคนยังลังเลกับการฉีดวัคซีน ตรงนี้คุณหมอมองว่ายังไง
คนยังกังวล เพราะข่าวเรื่องผลข้างเคียง จริงๆ ผลข้างเคียงมันน้อยนะ ถ้าเทียบกับคนที่ฉีดไปทั้งหมด แต่เข้าใจว่าไม่มีใครที่อยากเป็นคนโชคร้ายคนนั้น ก็ต้องลองพิจารณาดูจากตัวเลข ถ้ามีวัคซีนให้เลือกเยอะกว่านี้ คิดว่าคนจะลังเลน้อยลง
ยิ่งมีตัวเลือกให้มาก ก็จะจูงใจให้คนฉีดวัคซีนได้มากขึ้นด้วย และจะทำให้จำนวนคนฉีดวัคซีนโดยรวมเพิ่มขึ้นแน่นอน