ผ่านมา 120 วันแล้ว นับจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะเปิดประเทศ แม้จะมีการประกาศในภายหลังว่า วันที่จะเริ่มเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจริงๆ คือวันที่ 1 พฤศจิกายนก็ตาม แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ประเทศไทย พร้อมแค่ไหนกันนะ
หากนับ (ใหม่) ตามประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเท่ากับว่า เราเหลือเวลาอีกแค่ 10 กว่าวัน ที่ไทยจะเปิดประเทศจริงๆ แล้ว แต่ประชาชนจำนวนมากยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันก็ยังอยู่ในหลักหมื่น แถมในจังหวัดที่เปิดการท่องเที่ยวไปก่อนแล้ว ตามแผนเปิดประเทศ ก็ยังเจอกับการระบาดหนักอยู่ด้วย
สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ทำให้หลายคนสงสัยว่า เราควรเปิดประเทศกันแล้วจริงๆ เหรอ The MATTER จึงขอสรุปข้อมูลและสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้เห็นภาพกันชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ก่อนจะเปิดประเทศกันอีกครั้ง ไทยพร้อมรับมือกับโอกาสที่จะเกิดการระบาดอีกครั้งแล้วหรือยังนะ
- ยอดตรวจ ATK รายวัน
ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK พุ่งสูงถึงหลักหมื่น และในวันอื่นๆ เองก็อยู่ในหลักพันมาตลอด โดยในรอบ 10 วันที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK อยู่ที่ 4,697 ราย แต่ตัวเลขเหล่านี้ กลับไม่ถูกนับรวมในการรายงานผู้ติดเชื้อรายวัน
ซึ่งหากเราลองนำตัวเลขของผู้ติดเชื้อด้วยการตรวจแบบ ATK ในแต่ละวัน มาบวกรวมเข้ากับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการตรวจแบบ RT-PCRแล้ว จะพบว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของเรายังคงแตะหลักหมื่นอยู่ทุกวัน
นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลยอดผู้เข้ารับการตรวจที่ชัดเจนด้วยว่า แต่ละวันมีผู้ตรวจเชื้อจำนวนเท่าไหร่ ต่างจากกรณีของต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ที่มียอดตรวจเชื้ออยู่ที่ 1.8 ล้านคนต่อวัน ซึ่งผลของการไม่รู้จำนวนผู้ตรวจเชื้อจริงๆ นั้น ทำให้เราไม่ทราบว่าสัดส่วนของคนติดเชื้อกับสัดส่วนของการตรวจเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
นี่ยังไม่นับว่า หากไม่ตรงข้อกำหนดจากภาครัฐ เราก็ยังไม่สามารถเข้ารับชุดตรวจ ATK กันได้แบบฟรีๆ มาใช้ตรวจหาเชื้อเองได้ หรือต่อให้มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขในการรับชุดตรวจฟรี แต่ก็ยังมีปัญหาอีกมากมายในการแจกชุดตรวจ COVID-19 อยู่ดี ทำให้หลายคนต้องเสียเงินซื้อชุดตรวจกันเอง กลายเป็นคำถามว่า แล้วการตรวจ COVID-19 จะครอบคลุมประชากรในประเทศได้อย่างไร?
- ยอดผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ ในรอบ 10 วัน
จำนวนผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่และผู้ป่วยอาการหนัก เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรารู้ว่า สถานการณ์ของ COVID-19 อยู่ในขั้นวิกฤตหรือไม่
นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวในรายการ ‘มาเถอะจะคุย’ ข้อมูลที่เริ่มมีความสำคัญมากกว่ายอดผู้ติดเชื้อคือ จำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่ หรือ active cases ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ยอดผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่นั้น ยังคงอยู่ที่หลักแสนมาตลอด
ตัวเลขหลักแสนนี้ ส่วนหนึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และอีกมากกว่าครึ่ง ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม
ขณะเดียวกัน ยอดผู้ป่วยที่อาการหนักในรอบ 10 วันที่ผ่านมานี้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,973 ราย และยอดผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ในรอบ 10 วันที่ผ่านมา ก็มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 686 ราย
อย่างไรก็ดี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า หากพิจารณาจากภาพรวม ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักก็ลดลงจริง แต่สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการน้อยนั้น อยากให้แน่ใจจริงๆ ว่าเป็นตัวเลขจำนวนเท่าไหร่กันแน่
- ยอดฉีดวัคซีน
วัคซีนกับการเปิดประเทศ เป็นประเด็นสำคัญที่มาควบคู่กัน เพราะหากประชากรในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพครบโดสแล้ว ความเสี่ยงในการเจอกับการระบาดหนักหลังเปิดประเทศ ก็ยิ่งทวีคูณขึ้นมาอีก
ก่อนหน้านี้ เราจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งว่า ต้องฉีดวัคซีนครบโดสให้ได้มากกว่า 70% จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ แต่เมื่อมาดูยอดการฉีดวัคซีนในรอบ 10 วันที่ผ่านมา ก็พบว่า มีจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วอยู่ที่ 24,502,527 คน หรือคิดเป็น 37.02% เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า มีเพียง 36,239,806 คนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม หรือคิดเป็น 54.75% ของประชากรทั้งหมดด้วย ซึ่งระบบวิเคราะห์ของ Covidvax เว็บไซต์ที่ติดตามการฉีดวัคซีน COVID-19 ระบุไว้ว่า ไทยจะต้องใช้เวลาอีกราว 2 สัปดาห์ จึงจะบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดสให้ประชากรเกิน 70%
ระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ นับว่าใกล้เคียงกับกำหนดการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน (อีก 18 วัน) ก็จริง แต่นั่นเป็นเพียงการฉีดวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการป้องกัน COVID-19
ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ของการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่ง นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส จาก TDRIกล่าวในรายการมาเถอะจะคุยว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัตราการฉีดวัคซีนทั้งเข็มที่ 1 และ 2 ในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งหลายจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกหลายพื้นที่ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจและประชากรจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนนั้น กลับต้องมารับความเสี่ยงในการระบาดของโรคไปด้วย จากการที่ภาครัฐตัดสินใจว่าต้องเร่งเปิดประเทศ
- เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนแบ่งตามยี่ห้อ
นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่หลายคนตั้งคำถาม กับยี่ห้อวัคซีนที่ให้ประชาชนเข้ารับการฉีด หลังจากงานวิจัยจำนวนมากเปิดเผยว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ แต่ยี่ห้อที่ไทยใช้นำเข้ามาตั้งแต่แรกๆ และถูกใช้เป็นหลักนั้น กลับไม่ใช่วัคซีนชนิด mRNA เลย
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ซึ่งอัพเดทถึงวันที่ 8 ตุลาคมนั้น พบว่า วัคซีนที่มีสัดส่วนการใช้สูงที่สุด คือวัคซีน AstraZeneca คิดเป็น 45.25% ของจำนวนโดสที่ฉีดไปทั้งหมด รองลงมาเป็นวัคซีน Sinovac ซึ่งคิดเป็น 35.54%
สำหรับวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ ที่ผ่านมาเราจะเห็นประเด็นที่บุคคลากรทางการแพทย์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล นำเข้าวัคซีน mRNA มาโดยไว เพราะวัคซีน Sinovac ไม่สามารถรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่วัคซีน AstraZeneca เองก็มีความเสี่ยงกับผู้หญิงที่อายุน้อยด้วย
ขณะที่ วัคซีนยี่ห้อ Sinopharm ซึ่งคนไทยไม่ได้ฉีดกันฟรีๆ นั้น มีสัดส่วนการใช้งานสูงเป็นอันดับถัดมา อยู่ที่ 16.21% ส่วนวัคซีนPfizer นั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 2.99% ซึ่งกรมควบคุมโรคระบุว่า ตอนนี้ฉีดวัคซีน Pfizer ให้กลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 1,744,783 โดยในจำนวนนี้ รวมกับ 1.5 ล้านโดสที่ไทยได้รับบริจาคมาจากสหรัฐฯ ด้วย
ยี่ห้อของวัคซีนนั้น เป็นตัววัดประสิทธิภาพในการรับมือกับการระบาดและเชื้อกลายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี หากเรายังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้มากเพียงพอนั้น ก็อาจทำให้เราไม่สามารถรับมือกับการระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นหลังเปิดประเทศได้
- สถานการณ์ในจังหวัดที่เปิดแล้ว
เล่าคร่าวๆ ก่อนว่า แผนการเปิดประเทศของรัฐบาลนั้น แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งเริ่มไปแล้ว 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และสมุย พลัส ซึ่งเริ่มไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม ระยะที่ 2 เปิดการท่องเที่ยวใน 4 จังหวัด (จากเดิมมี กทม.ด้วย) ซึ่งเริ่มแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
คำถามที่ตามมาก็คือ พื้นที่ที่เปิดการท่องเที่ยวไปแล้วนั้น เจอกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง?
หนึ่งในจังหวัดที่เจอกับการระบาดหนักอีกครั้งคือ เชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,268 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยสีเขียว 1,279 ราย ผู้ป่วยสีเหลือง 311 ราย และผู้ป่วยสีแดง 38 ราย
ขณะเดียวกัน ก็ยังพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 587 ราย และยังพบอีก 7 คลัสเตอร์ย่อย ที่เชื่อมโยงกับตลาดเมืองใหม่ กระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ ยิ่งกว่านั้น ยังพบคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งแยกเป็นคลัสเตอร์ใหม่ และมีการระบาดต่อเนื่องอีก 20 คลัสเตอร์ด้วย
ขณะที่ ชลบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เปิดพื้นที่แล้ว แต่ก็มีการระบาดอยู่เช่นกัน โดยจำนวนผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ 9,120 ราย และมีคลัสเตอร์ใหญ่จากเขตพื้นที่ทหารเรือ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อสะสมจากคลัสเตอร์นี้ถึง 1,219 ราย
นอกจากนี้ สุราษฎร์ธานี จังหวัดที่เปิดการท่องเที่ยวตามแผนเปิดประเทศระยะที่ 1 ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่เช่นกัน โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 2,406 ราย ทั้งยังพบคลัสเตอร์บนเกาะสมุยอีกครั้ง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 29 ราย จากการตรวจหาเชิงรุก 139ราย นายอำเภอเกาะสมุยจึงต้องประกาศสั่งปิดพื้นที่ตลาดซึ่งเป็นที่มาของคลัสเตอร์นี้ เป็นการชั่วคราว
- แผนจัดสรรวัคซีนสำหรับอนาคต
แถลงของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา เปิดเผยถึงตัวเลขของวัคซีนที่คาดว่าจะเข้ามาในไทยเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งตอนนี้ไทยยังมีวัคซีน 4 ตัวหลัก ได้แก่ วัคซีน Sinovac, AstraZeneca และ Pfizer ซึ่งคาดว่ารวมกันแล้วจะมีมากถึง 20 ล้านโดส
ขณะเดียวกันก็มีวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับวัคซีนอีก 2 ยี่ห้อ คือวัคซีน Sinopharm และ Moderna ด้วย ซึ่งทางกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ไทยมีวัคซีนพอสำหรับป้องกันการระบาดแน่นอน
แต่ที่ผ่านมา การนำเข้าวัคซีนก็เจอปัญหาล่าช้า ทำให้คลาดเคลื่อนจากกำหนดการอยู่บ่อยครั้ง แถมในตารางยังระบุด้วยว่า ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้รับวัคซีนแล้วบางส่วนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากกำลังรอคอยวัคซีน Moderna ซึ่งเสียเงินค่าจองวัคซีนกันไปนานแล้ว โดยแถลงการณ์จากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ระบุว่า ทางบริษัท Moderna มีความแน่นอนค่อนข้างมากว่าวัคซีนจะส่งมอบในเดือนพฤศจิกายน ถึงแม้ว่าในสัญญาจะระบุว่า สามารถนำเข้าได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ก็ตาม
ยิ่งกว่านั้น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังระบุด้วยว่า ผู้ที่จองวัคซีน Moderna ไปแล้ว จะไม่สามารถขอเงินจองคืนได้ แต่สามารถโอนสิทธิ์ หรือเลื่อนวันฉีดได้ แต่เนื่องด้วยความไม่ชัดเจนในวันนำเข้าวัคซีน จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า เมื่อไหร่ลูกค้าถึงจะเลื่อนวันฉีดหรือโอนสิทธิ์ได้
- ชาวต่างชาติเข้ามาแล้วต้องทำยังไง
หลังจากที่ นายกฯ ประกาศว่าจะเริ่มเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน คำถามที่ตามมาก็คือ จะเปิดอย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง
ตามแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ระบุว่า จะเริ่มเปิดจาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน 10 ประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และสหรัฐฯ แต่ในวันนี้ (14 ตุลาคม) ยังไม่มีการเปิดเผยว่า ประเทศใดบ้างที่จะเริ่มเปิดก่อนเป็น 10 ประเทศแรก
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศยังยืนยันถึงเงื่อนไขในการเปิดรับนักท่องเที่ยวว่า ต้องเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการระบุถึงเกณฑ์ยี่ห้อของวัคซีนเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เดินทางได้เฉพาะทางอากาศ และผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศยังต้องตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ก่อนออกจากประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งหลังเข้าไทยอีกครั้ง ซึ่งถ้าผ่านเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว ก็สามารถเข้าประเทศได้ โดยไม่ต้องกักตัว
อย่างไรก็ดี ทางการยังเปิดให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศอื่นๆ สามารถเข้าไทยได้ โดยต้องกักตัวตามกำหนด ส่วนแผนการเปิดประเทศและรายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ คงต้องรอให้ทางการประชุมและเปิดเผยในภายหลัง
นอกจากนี้ ในการแถลงของนายกฯ ยังประกาศไว้ด้วยว่า ภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะอนุญาตให้ประชาชนสามารถนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร รวมถึงอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงต่างๆ ได้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ใกล้ปีใหม่
อ้างอิงจาก