“โอไมครอนหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไหม แล้วมันแพร่เร็วขึ้นกว่าเดลตาหรือเปล่า?”
คำถามที่ทั่วโลกต้องจับตามอง แม้ว่าจะหมดปี 2021 แล้ว แต่การระบาดของ COVID-19 ยังคงเป็นประเด็นสำคัญอยู่ หลังมีการพบเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่อย่าง ‘โอไมครอน (Omicron)’ หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ B.1.1.529 ที่ขึ้นแท่นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ตามประกาศขององค์การอนามัยโลกไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนอย่างน้อย 11 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อยู่ในกรุงเทพฯ 9 ราย และที่เหลืออยู่ในนนทบุรีและชลบุรี ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขคาดว่า ไทยน่าจะเริ่มพบผู้ป่วยโอไมครอนมากขึ้นช่วงหลังปีใหม่ หรือในกลางเดือนมกราคม 2565
ช่วงแรกที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับโอไมครอน อาจจะยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ ซึ่งทาง WHO เองก็ระบุว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2สัปดาห์ในการวิจัยตัวอย่างของเชื้อ เพื่อจะตอบคำถามว่า โอไมครอนน่ากังวลยังไงบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว The MATTER เลยขอพามาอัพเดทข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้กัน
- โอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นไหม?
ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก นักระบาดวิทยาถึงจะบอกได้ว่า สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นหรือเปล่า เพราะเชื้อกลายพันธุ์ระดับกลางอาจแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าด้วยหลายปัจจัย เช่น มีการเกิด superspreader ขึ้นสองถึงสามที่ ซึ่งอาจทำให้ภาพของการระบาดดูเลวร้ายกว่าก็เป็นได้
ถึงอย่างนั้น ข้อมูลปัจจุบันจากประเทศที่พบการระบาดของโอไมครอน พบว่าโอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึง สายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุดที่พบในตอนนี้ โดยในหลายประเทศที่เจอเชื้อโอไมครอนตั้งแต่แรกเริ่ม พบว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในทุกๆ 2-3 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าการระบาดของเชื้อเดลตา
ขณะที่ นักวิจัยชาวอังกฤษ ระบุผลสำรวจจากครัวเรือนที่ติดเชื้อโอไมครอนทั้ง 121 คน พบว่า โอไมครอนมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อในครัวเรือนมากกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 3.2 เท่า
แต่ก็ต้องย้ำว่า นักวิจัยยังไม่ทราบว่า ทำไมโอไมครอนถึงแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือ โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่สามารถบุกรุกเซลล์ได้ง่ายขึ้น แต่ก็อาจจะมีความเป็นไปได้อื่น ๆ เช่น เป็นเชื้อที่มีความสามารถในการทวีคูณภายในเซลล์
- โอไมครอนหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้หรือเปล่า?
จากข้อมูลที่ทราบกันตอนนี้ พบว่า เชื้อโอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ทั้งจากวัคซีนและจากการติดเชื้อ อย่างกรณีของแอฟริกาใต้ ซึ่งเคยเผชิญกับการระบาดหนักมาแล้วทำให้ผู้คนจำนวนมากที่ภูมิคุ้มกัน COVID-19 แต่ก็มีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากในการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน
ขณะเดียวกัน งานวิจัยจากอังกฤษก็เผยว่า ก็พบว่ามีคนจำนวนมากที่เคยติด COVID-19 แล้ว แต่ยังติดเชื้อโอไมครอนได้ ซึ่งนักวิจัยคาดการณ์คร่าวๆ ว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ที่ 5 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันนี้อาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่าทำไมเชื้อโอไมครอนถึงแพร่ระบาดได้รวดเร็ว เพราะในขณะที่เชื้อสายพันธุ์อื่นไม่สามารถทะลวงภูมิคุ้มกันของร่างกายมาได้ แต่เชื้อสายพันธุ์โอไมครอนกลับทำได้ และทำให้อัตราการแพร่เชื้อจากคนสู่คนเพิ่มสูงขึ้น
- วัคซีนจะป้องกันโอไมครอนได้ไหม?
กรณีศึกษาของประเทศที่เจอกับเชื้อโอไมครอนก่อนใครอย่างแอฟริกาใต้ อาจจะบอกอะไรได้ไม่มากนัก เพราะแอฟริกาใต้มีเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับวัคซีนอยู่แค่ 30% เท่านั้น ทำให้ยากที่จะบอกถึงประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อโอไมครอน
ขณะที่ งานวิจัยด้านระบาดวิทยาจากสหราชอาณาจักร ระบุว่า หลังจากฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว 6 เดือน ประสิทธิภาพของวัคซีนจาก AstraZeneca จะไม่สามารถป้องกันเชื้อโอไมครอนได้ ส่วนวัคซีนของ Pfizer จะป้องกันได้แค่ 34% เท่านั้น แต่ถ้าบูสต์เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนของ Pfizer จะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ 70-75%
เช่นเดียวกับงานศึกษาจาก University of California สหรัฐฯ ที่พบว่า ประสิทธิภาพจากการฉีดวัคซีนครบโดส ของวัคซีนชนิด mRNAซึ่งได้แก่ Pfizer และ Moderna นั้น จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 30% ต่างจากเชื้อเดลตาที่ป้องกันได้ 87%
“ตอนนี้ ยังไม่มีการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโดยตรงกับการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรงจากประเทศไหนเลย ดังนั้น การประมาณการของเราจึงยังไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการประมาณการโดยตรงได้” มาร์ม คิลแพทริก (Marm Kilpatrick) นักวิจัยจาก University of California กล่าว
- โอไมครอนดึงจีโนมของไวรัสอื่นมาผสมได้?
แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรายงานจากองค์การอนามัยโลกว่ามีเชื้อโคโรนาไวรัสแบบลูกผสม (Hybrid) แต่ก็มีรายงานว่า สายพันธุ์โอไมครอนสามารถดึงเอาชิ้นส่วนจีโนมของโรคหวัดสายพันธุ์ HCoV-229E เข้ามาไว้ในสายพันธุกรรมของโอไมครอนเองได้
การดึงสายรหัสพันธุกรรมของโรคหวัด เข้ามาไว้ในสายพันธุกรรมของโอไมครอน ทำให้เกิดกรดอะมิโน 3 ตัว ได้แก่ กรดกลูตามิก โปรลีน และกรดกลูตามิก ที่ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม
“นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้โอไมครอนต่างจากสายพันธุ์อื่น คือ ไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อได้รวดเร็ว คล้ายกับไวรัสไข้หวัดธรรมดา แต่ต้องดูต่อไปและต้องระวัง เนื่องจากการดึงสายพันธุกรรมไวรัสตัวอื่นเข้ามาได้ หากไปดึงสายพันธุ์อื่นเข้ามา อย่างเดลตา อัลฟา เบตาจะเกิดอะไรขึ้น อาการจะรุนแรงหรืออ่อนกำลังลงยังไม่มีใครรู้ ต้องติดตาม” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์กล่าว
- ยารักษา COVID-19 ใช้กับโอไมครอนได้ไหม?
รักษาได้ แม้ว่าโอไมครอนจะมีความสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ แต่บริษัทยา GlaxoSmithKline (GSK) จากสหราชอาณาจักรก็ออกมาบอกว่า ยา Sotrovimab ที่ใช้รักษาโรค COVID-19 นั้น ยังคงมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันอาการป่วยหนักได้
ส่วนยา Paxlovid จากบริษัท Pfizer และยา Molnupiravir จากบริษัท Merck แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาออกมารองรับ แต่ก็คาดกันว่าจะสามารถป้องกันเชื้อโอไมครอนได้ เพราะโอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ แต่ยาฆ่าเชื้อสำหรับโรค COVID-19 จะเข้าไปยับยั้งโปรตีนส่วนอื่นที่ไม่ได้มีการกลายพันธุ์ในเชื้อโอไมครอน
- อนาคตการระบาดของเชื้อโอไมครอนจะเป็นยังไง
แม้จะยังมีข้อมูลไม่มานัก แต่เหล่านักวิจัยก็คาดการณ์ว่า โอไมครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเป็นหลักในหลายประเทศในช่วงสิ้นปีนี้ โดยตอนนี้ WHO ระบุว่า พบเชื้อโอไมครอนแล้วอย่างน้อย 77 ประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในสัปดาห์ถัดไป และแม้ว่าอาการจากเชื้อโอไมครอนอาจจะไม่รุนแรงมากเท่าสายพันธุ์อื่น แต่ถ้ามีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าครั้งก่อนๆ ก็ส่งผลกระทบต่อการรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม หากประชากรของโลกจำนวนมากได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ได้รับวัคซีนประตุ้นในเวลาที่เหมาะสม และมีมาตรการป้องกันโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ก็จะช่วยชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนได้
อ้างอิงข้อมูลจาก