สมองที่บอบช้ำจากการกระทบกระเทือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของนักเขียนอเมริกันสุดห่าม ‘เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์’ นำมาสู่การปลิดชีวิตตัวเองด้วยลูกซองแฝด แต่ในขณะเดียวกัน สมองที่บอบช้ำก็อาจสร้างความล้ำลึกในเชิงวรรณกรรมจนส่งเสริมให้เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ปราดเปรื่องและทุกข์ทรมานที่สุดในโลกตัวอักษร
เฮมิงเวย์มีสมองที่บาดเจ็บเรื้อรังจากรูปแบบการใช้ชีวิตสุดห่าม เมื่อแพทย์สมัยใหม่เปิดปูมที่เก็บซ่อน พวกเขาพบว่า นักเขียนรางวัลโนเบลผู้นี้อาจได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองที่เรียกว่า CTE (Chronic Traumatic Encephalopathy) แบบเดียวกับนักกีฬาอาชีพที่ต้องใช้แรงปะทะ อันนำมาสู่โรคอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย เห็นภาพหลอน และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
ผู้เขียนจำได้ว่า มวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะอ่านวรรณกรรม เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) ให้ความรู้สึกเหมือนกลืนน้ำทะเลเข้าปอดอย่างช้าๆ ค่อยๆ จมดิ่งไปคุดคู้อยู่ใต้มหาสมุทร ขณะสายตาจับจ้องไปยังตาเฒ่าและมืออันหยาบกร้านของเขา ยื้อยุดฉุดกระชากปลากระโทงแทงอันทรงพลังและฉลาดเป็นกรด มันเป็นการดิ้นรนที่ดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้น ชัยชนะที่เราปรารถนามากที่สุด อาจเหลือเพียงความว่างเปล่าสูญสิ้น
งานเขียนของ ‘เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์’ ตรึงเราไว้กับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เปรียบกับชีวิตอันผจญภัยของเขาที่น่าตื่นเต้นและโศกเศร้าไม่สมประดีในเวลาเดียวกัน
ในปี 1954 วินาทีประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ไม่มีใครคาดคิดว่าผู้ที่ได้รับรางวัลจะเป็นหนุ่มใหญ่หนวดเครารุงรัง มีบุคลิกไม่รับแขก ผิดลุคนักเขียนหนอนหนังสือรายอื่นๆ ที่นุ่มนวลและเป็นมิตรกว่า เฮมิงเวย์มีจังหวะชีวิตระทึกขวัญดุจรัวกลองรบ และค่อยๆ สร้างเอกลักษณ์ทางงานเขียนขึ้นมา ถ่ายทอดเป็นภาษาที่กระชับ เป็นตัวของตัวเอง ไม่เวิ่นเว้อ แต่โครงสร้างหนักแน่นดุจหินผา
ชายผู้นี้ตระหนักถึงปัจจัยต่างๆ ของการมีชีวิต รักใคร่ความอันตราย หื่นกระหายท้าทายธรรมชาติ และหลงใหลในการต่อสู้ของปัจเจกชนอันเต็มไปด้วยความรุนแรงและความตาย ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า “เฮมิงเวย์เป็นยอดนักเขียนที่ถ่ายทอดการดิ้นรนของมนุษย์ได้ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก” เพราะสมองของเขาเองก็ดิ้นรนกับความทุกข์ทรมานเช่นกัน
ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนก่อนพิธีมอบรางวัลโนเบล เฮมิงเวย์และภรรยารอดชีวิตแบบฉิวเฉียดจากเครื่องบินตก จนหนังสือพิมพ์ทั่วอเมริกาลงข่าวมรณกรรมของเขาล่วงหน้าไปแล้ว เฮมิงเวย์บาดเจ็บสาหัสเกือบไม่รอดชีวิต กะโหลกแตกจนน้ำหล่อสมองไขสันหลังไหลออกทางช่องหู เหตุการณ์นี้ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวด สุขภาพย่ำแย่ และมีแรงเขียนอะไรได้บ้างนิดหน่อย จนกระทั่งจบชีวิตตัวเองในปี 1961 หลังได้รับรางวัลโนเบล 7 ปี (แต่เขาก็ไม่เคยปรากฏตัวไปรับรางวัลนั้นเลย)
นักวิชาการต่างถกเถียงกันว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เฮมิงเวย์เลือกที่จะฆ่าตัวตาย ด้วยความคลั่งไคล้ปืนทุกชนิด เขาเลือก ‘ลูกซองแฝดล่าสัตว์’ กระบอกโตที่ยาวเสียจนต้องใช้นิ้วเท้าลั่นไก หนึ่งในนักวิชาการรุ่นใหม่ แอนดรูว์ ฟาราห์ (Andrew Farah) นักจิตแพทย์ที่มีความสนใจกลไกการทำงานของสมอง เขียนหนังสือชื่อว่า Hemingway’s Brain โดยในบทหนึ่งอธิบายประสบการณ์เสี่ยงตายที่เฮมิงเวย์เคยผ่านมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยกลางคน กระทั่งประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก สมองของเขาผ่านศึกสมรภูมิมาอย่างโชกโชน ดุจนักมวยเฮฟวี่เวตสายแทงค์ที่เอาหัวรับหมัดแทนการหลบหลีก
ความบอบช้ำสะสมมาเรื่อยๆ จนเกิดอาการผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า CTE (Chronic Traumatic Encephalopathy) พบได้บ่อยในกลุ่มนักกีฬาอาชีพ อย่างอเมริกันฟุตบอล มวยสากล รักบี้ และกีฬาประเภท extreme อันเกิดจากการบาดเจ็บสมองในระดับไม่รุนแรงนักที่เรียกว่า concussion โดยเป็นภาวะที่สมองซึ่งอยู่ในสมดุลของเหลวขยับตัวไปกระแทกกับผิวกะโหลกแข็ง เกิดเป็นกลไกเคมีที่สมองปล่อยโปรตีนพิษ tau หลายต่อหลายครั้งทำให้รู้สึกมึนหัว แต่ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าสะสมอาการนี้ไว้ เพราะเมื่อเกิดอาการมึนหัว ร่างกายจะรักษาตัวเองโดยการนอนพักฟื้นเอาเอง แม้บางรายถึงขั้นสลบหมดสติ แต่เมื่อนอนนิ่งๆ สักระยะก็หายเป็นปกติ กลับกันถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำเรื่อยๆ นานหลายปี สมองจะบอบช้ำจนไปรบกวนการประมวลผลความคิด อารมณ์ และการตัดสินใจ
ในขณะที่นักวิชาการคนอื่นๆ พยายามตีความเฮมิงเวย์ ผ่านงานเขียนของเขา แอนดรูว์ ฟาราห์ไปขุดปมอื่นๆ ที่เข้าถึงยาก โดยการสัมภาษณ์ลูกชายของเฮมิงเวย์ สมุดบันทึกที่เพื่อนๆ เคยเขียนถึงเขา รวมไปถึงสำนวนคดีของ FBI ในกรณีที่เฮมิงเวย์พยายามจะเป็นสายลับสืบล้วงความลับเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้ง 2
หัวที่บอบช้ำของยอดนักเขียน
ตลอดชีวิตของเฮมิงเวย์ประสบอุบัติเหตุที่รุนแรงต่อสมองถึง 9 ครั้ง! และในแต่ละครั้งมีเส้นแบ่ง ‘ความเป็นความตาย’ บางเฉียบนิดเดียว
ในปี 1928 ขณะที่เขาเดินเล่นในปารีส ไฟถนนได้ร่วงลงใส่หัวพอดิบพอดีจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินและเย็บแผลกว่า 20 เข็ม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เฮมิงเวย์ ถูกกระสุนปืนใหญ่ระเบิดระยะเผาขนขณะหลบอยู่ในสนามเพลาะ แรงกระแทกทำให้เขาอยู่ในโรงพยาบาลนานเป็นเดือน เฮมิงเวย์เริ่มบ่นว่าตัวเองมีอาการปวดหัว ได้ยินเสียงแว่ว บางครั้งก็หัวเสียกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนตัวเองไม่เข้าใจ
หลังจากนั้นเขามีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กระทบกระเทือนต่อสมองอีกไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ทำให้เขาหมดสติ จนไปฟื้นอีกทีที่โรงพยาบาล
แอนดรูว์ ฟาราห์ สรุปจากเหตุการณ์ในช่วงชีวิตต่างๆ แล้วพบว่า สมองของเฮมิงเวย์มีความบอบช้ำจนบั่นทอนสุขภาพ มากกว่าความแก่ชราจากอายุ 50 ปีเสียอีก
ด้วยความผิดปกติที่เกิดขึ้นยาวนาน เฮมิงเวย์เริ่มมีอาการทางจิตหลายรูปแบบ เขาเริ่มรู้สึกวิตกจริต มีอาการโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) เริ่มติดเหล้าหนักขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้าที่เรียกว่า Electroconvulsive Therapy หรือเรียกสั้นๆ ว่า ECT เป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำผ่านสมองเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก ซึ่งก็ไม่ทำให้เขาดีขึ้นเลย
ในสมัยนั้นยังไม่มีการวินิจฉัยความผิดปกติทางสมองแบบ CTE (Chronic Traumatic Encephalopathy) ที่เฮมิงเวย์กำลังเผชิญ กลายเป็นว่ายิ่งช็อตด้วยไฟฟ้าครั้งแล้วครั้งเล่า กลับสร้างความบอบช้ำให้สมองโดยแพทย์ในสมัยนั้นไม่รู้ผลกระทบ
ด้วยผลกระทบทางสมองที่ซ้ำซาก ตัวของเฮมิงเวย์จึงเปรียบเสมือน ‘เงา’ (shadow) ที่ค่อยวิ่งตามตัวตนในอดีต ถึงแม้จะทนทุกข์ทรมานหนักเมื่ออาศัยอยู่ในปารีสในช่วงสุดท้ายของชีวิต เขายังพยายามเขียนหนังสืออยู่ แต่รูปแบบประโยคกลับไม่ต่อเนื่อง เหมือนเขียนเศษเสี้ยวของความคิดทิ้งไว้มากกว่า
และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดมาถึง เมื่อเฮมิงเวย์ ‘สูญเสียทักษะการเขียน’ อย่างถาวร
ชายอายุ 62 ที่หลงใหลการเขียนมาทั้งชีวิต เขาไม่สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ที่เคยสัญญากับตัวเองได้อีกแล้ว ไม่กี่วันต่อมาเฮมิงเวย์คว้าลูกซองแฝดลั่นไกใส่ตัวเอง แม้การฆ่าตัวตายของเฮมิงเวย์อาจอธิบายด้วยความผิดปกติทางสมอง CTE แต่การฆ่าตัวตายของสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ทั้งลูกชายและหลานๆ ยังไม่สามารถหาคำตอบได้
ความก้าวหน้าด้านประสาทวิทยาในช่วง 10 ปีให้หลัง ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสมองไม่ให้กระทบกระเทือน นำไปสู่การออกแบบอุปกรณ์นิรภัย หมวกกันกระแทก การออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในวงการฟุตบอลอาชีพ NFL และหากเฮมิงเวย์มีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน เขาอาจจะได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำกว่านี้
อย่างไรก็ตาม งานเขียนของเฮมิงเวย์ยังคงเติบโตในหัวใจของผู้อ่านอย่างไร้กาลเวลา สมองที่บอบช้ำอาจเป็นทั้งคำสาปและพรสวรรค์ให้เขาถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ในชีวิต ความทุกข์ของเขามิได้สูญเปล่าเลย มันยิ่งสร้างพลังให้เราอยากมีชีวิตมากขึ้นเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Hemingway’s Brain
The same brain disease battering the NFL may have killed Ernest Hemingway
- Multiple Concussions May Have Sped Hemingway’s Demise, a Psychiatrist Argues