“สิ่งที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนคือ อย่าเขียนมากจนเกินไปในแต่ละครั้ง … อย่าดึงพลังของตัวเองจนเหือดแห้ง ให้เก็บบางส่วนไว้สำหรับวันต่อไปบ้าง”
เฮมิงเวย์เป็นนักเขียนอเมริกันในตำนานแห่งศตวรรษที่ 20 ตัวเฮมิงเวย์เองไม่ค่อยพูดเรื่องงานเขียนเท่าไหร่ มีหนังสือและคำแนะนำว่าด้วยงานเขียนและอาชีพนักเขียนที่มีคนรุ่นหลังรวบรวมไว้จากที่ต่างๆ ในหนังสือชื่อ Ernest Hemingway on Writing แต่มีกรณีเด็กหนุ่มบ้าเลือดที่เดินทางข้ามประเทศไปเพื่อขอคำแนะนำ และเฮมิงเวย์ก็ได้ให้คำแนะนำพร้อมรายชื่อหนังสือที่นักเขียนควรอ่านมาชุดหนึ่ง
ในปี 1934 ชายหนุ่มไฟแรงวัย 22 ปีชื่อ อาร์โนลด์ ซามูเอลสัน หลังจากหนุ่มน้อยได้อ่าน ‘One Trip Across’ ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ในนิตยสาร Cosmopolitan ด้วยความประทับใจ เจ้าหนุ่มน้อยผู้ซึ่งเพิ่งจะเรียบกระบวนวิชาวารสารศาสตร์จาก University of Minnesota ครบถ้วน ตัดสินใจไม่จ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อรับประกาศนียบัตร เด็กหนุ่มตัดสินใจโบกรถระยะทาง 2,000 ไมล์ ข้ามประเทศ เพื่อมาพบและขอคำแนะด้านการเขียนจากนักเขียนรุ่นใหญ่
ช่วงปี 1930s ถือเป็นช่วงเวลาที่อเมริกากำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) การที่เด็กหนุ่มตัดสินออกเดินทางแทนการหาการหางานก็ถือเป็นการกระทำที่บ้าบิ่นพอสมควร ในยุคแห่งความยากลำบาก ซามูเอลสันเดินทางลงใต้ โบกรถฟรีเพื่อไปยังฟลอริดา เมื่อซามูเอลสันเดินทางถึงคีย์เวสต์ เขาพบว่าเมืองนั้นเต็มไปด้วยความลำบาก ซึ่งการเดินทางและหลับนอนของซามูเอลสันก็ลำบากพอๆ กัน สุดท้ายพี่แกโดนตำรวจเชิญตัวจาการที่นอนเรื่อยเปื่อย
เมื่อซามูเอลสันเคาะประตูบ้าน และเฮมิงเวย์เปิดประตูออกมา เฮมิงเวย์ถามแค่ว่า “ต้องการอะไร” เด็กหนุ่มจึงอธิบายเหตุผลและแรงบันดาลใจจากนักเขียนรุ่นใหญ่ เฮมิงเวย์บอกแค่เพียงว่าเขายุ่งมาก ให้กลับมาใหม่วันพรุ่งนี้ช่วงบ่ายโมงครึ่ง
คงเห็นแก่ความบ้าบิ่นและความฝันของเด็กหนุ่ม วันรุ่งขึ้นเฮมิงเวย์ก็รอพบเด็กหนุ่มอยู่แล้ว พร้อมกับให้คำแนะนำอันมีค่าว่าด้วยการทำงานด้านการเขียนนวนิยาย โดยรวมแล้วเฮมิงเวย์แนะนำวิธีการเขียนได้โดยไม่ตัน คืออย่าทำงานจนพลังหมดตัว เมื่อเรารู้ว่าจะเขียนอะไรต่อ เรื่องของเรากำลังน่าสนใจ แนะนำให้หยุด ปล่อยไป ให้จิตไร้สำนึกของเราทำงาน เมื่อพักการเขียนในแต่ละวันแล้วไปพัก ไปหลับให้ดีก่อนที่เช้าวันต่อมาค่อยมารีไรต์งานที่เขียนไว้
การเป็นนักเขียนที่ดีก็ต้องเป็นนักอ่าน เฮมิงเวย์ถามว่าเคยอ่านงานของคนโน้นคนนี้ไหม แล้วก็แนะนำว่าอย่าไปเอานักเขียนที่มีชีวิตเป็นเส้นชัย ให้มุ่งเอาชนะนักเขียนที่ตายแล้ว—เหล่านักเขียนที่งานของพวกเขาถูกทดสอบโดยกาลเวลามาแล้ว เมื่อเราก้าวพ้นนักเขียนเหล่านั้นได้ เราก็จะรู้ได้ว่าเราเก่งขึ้นแน่ๆ ดังนั้นพี่แกเลยให้รายชื่อหนังสือและเรื่องสั้นมาชุดหนึ่ง พร้อมบอกว่า ถ้าอยากเก่งการเขียน ควรอ่านงานดีๆ พวกนี้นะ และนี่คือรายชื่อเรื่องสั้นและหนังสือจากปู่เฮมิงเวย์
- เรื่องสั้น ‘The Blue Hotel’ ของ Stephen Crane
- เรื่องสั้น ‘The Open Boat’ ของ Stephen Crane
- Madame Bovary ของ Gustave Flaubert
- Dubliners ของ James Joyce
- The Red and the Black ของ Stendhal
- Of Human Bondage ของ Somerset Maugham
- Anna Karenina ของ Leo Tolstoy
- War and Peace ของ Leo Tolstoy
- Buddenbrooks ของ Thomas Mann
- Hail and Farewell ของ George Moore
- The Brothers Karamazov ของ Fyodor Dostoyevsky
- The Oxford Book ของ English Verse
- The Enormous Room ของ E.E. Cummings
- Wuthering Heights ของ Emily Bronte
- Far Away and Long Ago ของ W.H. Hudson
- The American ของ Henry James
ใครที่อยากอ่านงานที่ดี หรืออยากเป็นนักเขียน ก็ลองหาอ่านตามคำแนะนำของนักเขียนในตำนานได้
อ้างอิงข้อมูลจาก