พูดถึงหุ่นยนต์ปุ๊บ ภาพของหุ่นประกอบจากเหล็ก หรือแบบใกล้ตัวที่สุด เจ้าโรบอตดูดฝุ่นที่พื้นบ้านของเรา ลอยมาปั๊บ
แต่การพูดคุยกับ นาว – ภาดารี อุตสาหจิต CEO แห่ง Lightwork สตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ทำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์หุ่นยนต์สำหรับชาวออฟฟิศ กลับเปิดโลกเราอย่างมาก
เมื่อเธอเรียกสิ่งที่เธอกับทีมทำว่า ‘หุ่นยนต์ล่องหน’ เพราะมันเป็น AI ที่ไม่ได้ประกอบร่างเป็นตัวเป็นตน แต่เป็นซอฟต์แวร์ปลั๊กอินเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ และช่วยบริษัทหรือองค์กรที่มีข้อมูลมหาศาล จัดการข้อมูลยุบยับเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้พนักงานประหยัดเวลาไปทำงานที่มีมูลค่ามากขึ้น
ไม่มีใครอยากทำงานซ้ำซาก พิมพ์ข้อมูลแบบเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาเป็นหมื่นเป็นแสนรอบ – แล้วเทคโนโลยีของ Lightwork ทำงานอย่างไร? ทำไมเธอถึงเห็นปัญหานี้? การทำงานในวงการเทคคอมพานีทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
เราเลยชวนคุยกับ CEO สาวของ Lightwork สตาร์ตอัพที่ทำหุ่นยนต์ล่องหนช่วยชาวออฟฟิศประมวลผล เซฟเวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เล่าให้ฟังหน่อยว่า Lightwork ทำเกี่ยวกับอะไร?
Lightwork เราทำเทคโนโลยีด้านโรบอท เป็น Lightwork Virtual Robot ก็คือเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ได้มีแขนกลหรือตัวตนขึ้นมาจริงๆ ถ้าเราพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเป็นพนักงานล่องหน มาช่วยทำคอมพิวเตอร์ ช่วยคุมเมาท์กับคีย์บอร์ดได้
ถ้าเราพูดเรื่องหุ่นยนต์ คนก็อาจจะคิดว่าเป็นตัวขึ้นมาเลย พวกนั้นจะเป็นหุ่นยนต์ช่วยงานพวกที่ใช้แรงงานค่อนข้างเยอะ หรือ Blue Collar ส่วนเราทำหุ่นยนต์สำหรับ White Collar หรือโรบอทสำหรับพนักงานออฟฟิศ
ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ การทำงานของหุ่นยนต์ของ Lightwork เป็นอย่างไร
ถ้าเราคิดงานที่พนักงานออฟฟิศต้องทำ ก็จะเป็นการทำรีพอร์ต พิมพ์ข้อมูล การประมวลผลต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่โรบอทของ Lightwork เข้ามาช่วยได้
โรบอตของ Lightwork ก็จะออกมาเป็นรูปแบบซอฟแวร์ ไปติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์เครื่องต่างๆ เวลาเราเห็นมันทำงาน ก็จะเห็นเป็นภาพเคอร์เซอร์เมาส์ที่ขยับไปเร็วๆ ได้เอง
ถ้าเรามีงานไหนที่เราสามารถสรุปขั้นตอนการทำงานได้ชัดเจนว่า ขั้นตอน 1-5 ทำยังไง เราก็สอนสเต็ปนั้นไปให้เขาทำ แทนที่เราจะต้องทำเอง ใช้เวลาสองชั่วโมง เรากดคลิกเดียว ก็อาจจะเสร็จใน 5-10 นาทีก็ได้
แล้วโรบอตรูปแบบนี้เหมาะกับใครบ้าง?
ซอฟแวร์แบบนี้จะเหมาะกับองค์กรที่มีขนาดกลางถึงใหญ่ เพราะหากงานไหนที่ขั้นตอนค่อนข้างเยอะ ก็จะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ประมาณหนึ่ง ที่จะมีเอกสารหรือข้อมูลที่เยอะๆ ให้ Process ลูกค้าเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
จากที่ได้รู้ประวัติคุณนาวมา คุณนาวจบด้าน Business Management ทำไมถึงมาทำงานด้านเทคโนโลยีเต็มตัว
เป็นคนชอบเทคโนโลยีอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ ชอบเล่นเกม พอจบแล้วเราไปทำงานบริษัทเทคฯ ก่อน เราก็ชอบความที่มันเร็ว คิดไรก็ได้โปรโตไทป์ แล้วก็ได้ทดสอบได้เลย
ก็เลยชอบถึงขั้นก่อตั้งบริษัทและฟอร์มทีมของตัวเองขึ้นมาเลย?
ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่กว่าเราจะทำแผน ทดลอง มันค่อนข้างช้า แต่อันนี้รู้สึกเป็นอะไรที่ มัน fast pace แล้วมันก็ได้ฟีดแบ็กจากลูกค้าเร็ว
Lightwork ชื่อก็คือต้องการสื่อสารว่า ต้องการมาช่วยให้คนทำงานเบาลงอยู่แล้ว ถ้าแปลตรงๆ แปลว่างานที่เบา ถ้าเป็นแสลงภาษาอังกฤษ แปลได้ว่า ‘ง่าย’ ด้วย เราอยากให้คนที่นำซอฟต์แวร์โรบอตไปใช้ ใช้งานได้อย่างง่ายด้วย
จุดเริ่มต้นเลย ก็ได้ทำงานการวิเคราะห์กับบริษัทประกันเจ้าหนึ่ง ตอนแรกไม่ได้จะทำโรบอตอะไร พยายามจะทำเทคโนโลยีสักอย่าง หรือพวกวิเคราะห์ข้อมูล หรือ แมชชีนเลิร์นนิ่งต่างๆ ในองค์กร ก็พยายามจะหา pain point พอไปสำรวจ พบว่าเขายังมีงานแมนนวล หรือดาต้าที่ยังไม่ได้ทำโครงสร้างเยอะมากๆ กลายเป็นว่าคนต้องใช้เวลาในการทำรีพอร์ต หรือคีย์ข้อมูลซ้ำเยอะ
เรารู้สึกว่า ขนาดที่บริษัทใหญ่ขนาดนี้ ยังขนาดนี้เลย แล้วถ้าเขายังไม่สามารถกำจัดเวลาที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ได้ มันแทบจะเป็นไปไมได้เลยที่เขาจะมูฟสู่เทคฯ อื่นๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเอาแมชชีนเลิร์นนิ่งมาวิเคราะห์ข้อมูล เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ให้มันมีมูลค่ามากขึ้น โอโห ขนาดองค์กรที่เขาไฮเทคระดับหนึ่ง ยังมี pain point แบบนี้อยู่ แสดงว่าทุกๆ องค์กรในไทยต้องมีแน่นอน ก็คงต้องการความช่วยเหลือ เราก็เลยอยากไปช่วยเขา
เข้าใจว่า Lightwork เป็นสตาร์ทอัพ อยากให้เล่าวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กรให้ฟังหน่อย
ใช่ค่ะ ก็เป็นสตาร์ตอัพ จะทำงานแบบวัฒนธรรมสตาร์ตอัพ ทุกคนช่วยงานกันละกัน
องค์กรก็ Flat มาก (หมายถึงไม่มีระดับขั้นในการทำงาน – ผู้เขียน) นั่งทำงานด้วยกัน มีอะไรก็เสนอได้ ถ้าส่วนไหน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง แต่เรามีความรู้ก็สามารถแชร์ได้ตลอด ตอนนี้ทีมเกือบสามสิบคนแล้ว
เมื่อกี้เล่าให้ฟังว่าเป็นทีมที่ชอบทำงานกับความเร็ว ส่วนตัวคิดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกวันนี้มันเร็วไปไหม หรือว่ามันเป็นไปตามไดนามิกที่ถูกต้องแล้ว
ถ้าเรื่องความเร็วของการทำงานเทคโนโลยีก็คิดว่าเร็ว แต่ส่วนใหญ่ก็เร็วในทางที่ดี ดีไซเนอร์หรือคนคิดเทคโนโลยี ก็คิดยังไงว่าจะแก้ปัญหาของคนให้ดีขึ้น เพราะงั้นคุณภาพชีวิตของคนก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่ว่าความเร็ว ก็มีจุดที่ต้องระวังบางส่วนที่เราจะเอาดาต้าไปใช้มากขึ้น เรื่อง Data Policy บางคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อมูลของตัวเองมีมูลค่า แล้วก็มีคนเอาดาต้าของเขาไปใช้ ปัจจุบันมันก็จะมีเทคโนโลยีฟังเสียงคนพูด แล้วก็ไปยิงแอดฯ ต่างๆ คนก็ยังไม่รู้ว่าถ้าเราตั้งค่าในมือถือให้แอปพลิเคชันต่างๆ เข้าถึงไมโครโฟนได้ แอปฯ ก็จะฟังเสียงเราได้ คือนับว่าไม่ผิด แล้วถ้าคนนั้นเขายินยอมโดยตั้งใจ เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย… เขาได้รับข้อเสนอที่เขาต้องการ เขากำลังมองหามันอยู่พอดี แต่ก็มีประเด็นว่าคนที่เขาไม่รู้ เขาจะรู้สึกไม่พอใจหรือเปล่า รู้สึกว่ามาแอบฟังเขา
คิดว่าอะไรคือตรงกลางของมนุษย์และเทคโนโลยี
เมื่อเทคโนโลยีมันก้าวเร็ว กฎหมายต่างๆ ที่จะให้คนปกป้องสิทธิบุคคล มันจะต้องก้าวตามให้ทันด้วย
ในฐานะคนทำงานด้านเทคโนโลยี คิดว่าเทคโนโลยีช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ไหม
อย่างเทคโนโลยีของ Lightwork การให้โรบอตช่วยงานมันช่วยอันล็อก productivity ทุกๆ องค์กรของไทยได้ เมื่อก่อนถ้าเราบอกว่ามีข้อจำกัด เช่น มีการทำงานแล้วเกิดข้อผิดพลาด หรือใช้เวลาเยอะเกินไป เราก็เอาเทคฯ ตัวนี้มาช่วยแทน มันเหมือนกับว่าเราบอกว่าบริษัทมีคนแค่สิบคน พอมีเทคฯ ช่วย ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนคนขึ้นเป็นทวีคูณ
สองคือ มันน่าจะช่วยให้คนมีเวลาในการใช้ชีวิตมากขึ้น เรามีลูกค้าหลายๆ เจ้า ที่ต้องให้พนักงานเข้ามาทำงานดึกๆ ดื่นๆ ทำโอทีเสาร์-อาทิตย์ พอเอาโรบอตมากใช้ ก็กลายเป็นว่าเสาร์-อาทิตย์ ไม่ต้องเข้ามาแล้ว เขาก็แค่สั่งหุ่นยนต์ทำรีพอร์ตแทน
เสาร์-อาทิตย์เขาก็มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น เพิ่มการใช้จ่ายภาคส่วนอื่นๆ หรือใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวเพิ่ม
คุยเรื่องการทำงานของทีมไปแล้ว คุยการทำงานของคุณนาวในฐานะ CEO บ้าง – คุณนาวบริหารงานที่เป็นสตาร์ทอัพอย่างนี้แบบไหน?
รูปแบบของนาว คือการที่ต้องพยายามแก้ปัญหาให้ลูกค้าให้ได้ดีที่สุด คือหลายครั้งที่ลูกค้าเข้ามาหาเรา ก็อาจจะมี pain point ที่โรโบติกอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดก็ได้ เราก็จะพยายามอธิบายให้เขาฟังและพยายามจริงใจกับเขาว่า โรโบติกมันสามารถช่วยได้ แต่ถ้าคุณไปเปลี่ยนวิธีการทำงานของคุณเอง หรือใช้เทคฯ อื่นมาช่วย มันจะช่วยได้มากกว่านี้อีกนะ
แนวคิดสตาร์ตอัพของนาวคือการพยายามฟังลูกค้าให้ได้เยอะที่สุด เพราะถึงเราคิดว่าเราเข้าใจมันแล้ว ลูกค้าก็ยังเข้าใจมากกว่าเราอยู่ดี แล้วถ้ายิ่งเราฟังลูกค้า เราก็จะยิ่งมีไอเดียมีแนวทางในการพัฒนาโปรดักต์เราให้ดีขึ้น ตอบโจทย์มากขึ้นเรื่อยๆ
ในวงการเทคโนโลยีไทยเราไม่ค่อยเห็นบทบาทผู้หญิงในฐานะผู้นำเท่าไหร่ คุณทำงานในวงการนี้ เจอข้อจำกัดหรืออะไรที่อยากแชร์ให้ฟังบ้างไหม?
อืม คิดว่าคนอาจจะคาดหวังว่าภาพคนในอุตสาหกรรมนี้จะเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ แล้วเราก็อาจจะต้องทลายกำแพงนั้นนิดหนึ่ง แต่จริงๆ ถามเรานะ คิดว่าเป็นจุดเด่นในแง่หนึ่ง
การที่เราต้องไปคุยงานกับทีมไอที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เขาจะรู้สึกว่าเมื่อผู้หญิงเข้ามามันก็มีความแปลกใหม่และสามารถเสนอมุมมองที่เขาอาจจะมองข้ามไป หรืออาจจะมีความละเอียดมากกว่า
ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่องเพศก็ได้ มันอยู่ที่ว่า ถ้าสมมติว่าคนที่เป็น technical มากๆ เขาอาจจะไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่เขาคิดออกมาได้ เขาอาจจะคิดอะไรซับซ้อน ล้ำลึกจนมันยากจะแปลงออกมาเป็นข้อมูล ตัวเราเองอาจจะเป็นคนที่ทำงานเทคโนโลยีคอมพานี แต่ไม่ได้จบเทคโนโลยีอะไรมาตรง
คิดว่าคนแบบเราก็จะเป็นมุมมองที่ช่วยเชื่อมระหว่าง technical team ที่พูดศัพท์เทคนิกมากๆ กับคนที่เป็นลูกค้าหรือ business user ที่เข้าใจภาพรวมหรืออะไรที่ไม่ได้ลงลึกมากกว่า
นอกจาก Lightwork Virtual Robot ที่ทำอยู่ – ทางทีมมีแพลนอนาคตไว้แบบไหน
เราเปิดมาประมาณหนึ่งปี คิดว่าปีหน้าก็จะเริ่มออกไปต่างประเทศแล้ว
แต่ก็มีข้อจำกัดคือเราเจอเรื่องความเป็นซอฟแวร์ไทยเยอะเหมือนกัน จุดหนึ่งเรารู้สึกว่า พอเขารู้ว่า Lightwork เป็นซอฟต์แวร์ไทย – สมมติ ถ้าเรามองไปญี่ปุ่นละกันเนอะ เขาก็มีห้างโตคิว อิเซตัน ที่คนญี่ปุ่นสนับสนุนคนญี่ปุ่นด้วยกัน แต่ของไทยพอเราแนะนำ ‘Lightwork ค่ะ ทีมเราเป็นคนไทย’ แม้เรามีต่างชาติ แต่ทีมหลักเป็นคนไทย กลายเป็นคนรู้สึกว่าซอฟต์แวร์ไทยเหรอ? งั้นไม่ดีมั้ง? ประมาณนี้
กลายเป็นคำว่าซอฟแวร์ไทยไม่ใช่เรื่องที่คนไทยให้คุณค่าเท่าที่ควร ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายที่เราอยากเป็นคือ คนที่พิสูจน์ว่าซอฟแวร์ไทยเก่ง และไปได้ระดับโลกหรือภูมิภาค สร้างซอฟต์แวร์ไทยให้มีคุณภาพที่ดี และคนยอมรับ
เพื่อต่อไปในอนาคตที่เรามีสตาร์ตอัพรุ่นน้อง หรือซอฟแวร์ไทยขึ้นมาเรื่อยๆ เขาจะได้ไม่ต้องเจอสิ่งที่เราเจอ