เวลายืนรอต่อคิวอะไรนานๆ หรือต้องยืนบนรถไฟฟ้าตั้งแต่ต้นยันปลายสาย ก็อดคิดไม่ได้ว่า คงจะดีเหมือนกันนะ ถ้าเรามีเก้าอี้ที่ติดตัวเราไปได้ทุกหนทุกแห่ง คิดจะนั่ง.. ก็นั่งลงไปได้เลย
นั่นเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งของ LEX เก้าอี้แบบสวมใส่ที่ใช้เทคโนโลยีด้าน Exoskeleton หรือโครงร่างหุ่นยนต์สามารถหยิบยื่นให้ได้ นอกเหนือไปจากเป้าหมายหลักในการช่วยปรับท่านั่งของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศให้ถูกที่ถูกทาง
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา LEX: Bionic Chair เป็นโปรเจ็กต์ Exoskeleton ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน Kickstarter ได้รับการสนับสนุนในอัตราเกือบ 300% ที่สำคัญคือเป็นบริษัท Exoskeleton แห่งแรกของไทยที่ออกสู่ตลาดโลก
The MATTER ได้มีโอกาสคุยกับ คุณอาร์ม และ คุณดล จากทีม LEX by Astride Bionix เกี่ยวกับโปรเจ็กต์ LEX ที่โด่งดังในสื่อชั้นนำระดับโลก รวมไปถึงสถานการณ์ของ Exoskeleton และมุมมองต่อบทบาทของหุ่นยนต์หรือจักรกลในชีวิตของเรา ในฐานะที่ทั้งคู่คือผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมา
จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้คืออะไร ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง กว่าจะมาขึ้น Kickstarter แบบที่เห็น
เริ่มจากเรามีพี่มีเพื่อนที่เจอปัญหาแบบมนุษย์ออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นต้องแบกกระเป๋าหนักๆ มาทำงาน หรือนั่งทำงานแล้วปวดหลัง เราเริ่มเห็นว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ก็เลยศึกษาดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง แล้วก็ไปเจอว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการนั่ง เพราะวันๆ เรานั่งทำงานกันนานมาก รวมถึงว่ามีงานวิจัยหลายชิ้น ที่บอกว่าไม่ว่าเราจะนั่งนานหรือยืนนาน มันก็เป็นปัญหาได้ทั้งนั้น เราก็เลยมองว่าเทคโนโลยีอย่าง Exoskeleton น่าจะเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาได้
ต้องอธิบายก่อนว่า Exoskeleton เหมือนหุ่นยนต์ที่มาเกาะกับร่างกาย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบางอย่าง ช่วยเสริมกำลัง หรือในทางการแพทย์ก็ช่วยในการฟื้นฟูร่างกายได้ แต่สำหรับ LEX นี่คือช่วยปรับตำแหน่ง (posture) การนั่งให้ถูกต้องตามธรรมชาติ สามารถลุกยืนได้ง่าย เราได้ลองวิจัยและทดลองทั้งตำแหน่งการนั่ง ดีไซน์ และน้ำหนักเพื่อให้พกพาได้ (น้ำหนักเพียง 1 กิโลกรัม แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม)
แต่เนื่องจากเป็นโปรดักต์ที่ใช้ทุนค่อนข้างสูง ต้องผลิตจำนวนมากถึงจะควบคุมให้อยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ ก็เลยตัดสินใจลง Kickstarter ก็ถือว่าเป็นการทดลองตลาด และนำไอเดียไปสู่ตลาดโลกได้แบบรวดเร็วด้วย พอลงแล้วก็ได้เห็นฟีดแบค ตอนแรกคิดว่ากลุ่มเป้าหมายคือคนที่มีปัญหาเรื่องหลังอย่างเดียว แต่มีคนญี่ปุ่นมาซื้อไปเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับชีวิตเอาท์ดอร์ อย่างเช่นเวลาออกไปตกปลาหรือไปแคมป์ ก็อยากได้อะไรที่พกไปนั่งได้ง่ายๆ หรือคนอเมริกันก็จะมองเป็นแนวสุขภาพ อุดหนุนด้วยแนวคิดว่าเขาอายุเยอะแล้ว อยากนั่งพัก ถ้าได้พัก เขาก็อาจจะไปต่อได้ไกล คนไทยก็มีบ้าง ส่วนใหญ่มองเรื่องการปรับตำแหน่งท่าทางในการทำงานเป็นหลัก
คิดว่าในอนาคต LEX จะพัฒนาจนมาแทนที่เก้าอี้จริงๆ ได้ไหม แล้วมีแผนที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไรอีกบ้าง
อาจจะเป็นไปได้ เพราะพื้นที่ใช้สอยของเราเริ่มถูกจำกัดให้เล็กลงเรื่อยๆ LEX ก็อาจจะตอบโจทย์ตรงนี้ ออฟฟิศต่างประเทศบางที่ก็เริ่มมาติดต่อเพื่อไปใช้แทนเก้าอี้แล้ว ส่วนแผนต่อจากนี้ ก็อยากลองทำ Exoskeleton รูปแบบอื่นๆ อาจจะเป็น ‘third arm’ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม การขนส่ง หรืองานในบ้าน
หลายครั้งที่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้คนรู้จัก จะมีอุปสรรคอย่างเช่นคนต่อต้านหรือรู้สึกไม่ยอมรับเพราะผิดแปลกไปจากวิถีปกติ มีวิธีก้าวข้ามความท้าทายลักษณะนี้อย่างไรบ้าง
หลักๆ คือเราพยายามให้เห็น before – after คือทำให้เขาเห็นปัญหาของตัวเองก่อน แล้วค่อยทำให้เห็นว่าสิ่งนี้มันทำให้ดีขึ้นได้ยังไง อย่าง LEX นี่คือให้เห็นว่าท่าทางการนั่งแบบเดิมมีปัญหา ถ้าเขารู้ว่ามันเป็นปัญหา แล้วเรามีทางออกให้เขา เขาก็อาจจะอยากลองใช้ ส่วนเรื่องของสีและดีไซน์ เราก็ปรับให้เรียบง่าย เวลาคนที่ไม่คุ้นเคยเห็น ก็จะได้ตกใจน้อยลง
สถานการณ์ของ Exoskeleton ในระดับสังคมหรือระดับโลกตอนนี้ พัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้ว
จริงๆ เทคโนโลยีด้าน Exoskeleton พัฒนาไปไกลมากแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นของงานวิจัย ออกมาเป็นโปรดักต์ไม่มาก สาเหตุจากราคาค่อนข้างสูง ก็อาจจะเห็นมากหน่อยในวงการแพทย์หรือทหารในต่างประเทศ
เริ่มแรก ใครๆ ก็อยากทำระดับ Power Exoskeleton (ใช้พลังงานในการเพิ่มประสิทธิภาพ) ออกมา แต่ด้วยต้นทุนที่สูง หลายๆ บริษัทก็เลยหันมาจับตลาดที่เป็นไปได้ ก็คือทำให้คนทั่วไป หรือทำเพื่อรองรับในการทำงานในอุตสาหกรรมบางประเภท อย่างเช่นอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีงานหลายส่วนที่ยังต้องอาศัยคน และคนต้องทำงานในท่าทางซ้ำๆ เป็นกิจวัตรที่เกิดขึ้นในท่าเดิมๆ เช่น ยกของหรือประกอบชิ้นส่วน แล้วในโรงงานก็ไม่มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นตลาดที่เริ่มเอา Exoskeleton มาใช้
อีกอุตสาหกรรมที่ Exoskeleton มีบทบาทมากก็คือ Last Mile Logistics การขนส่งจากสายการผลิตขึ้นรถ หรือจากรถที่ขนส่งเข้าไปในร้าน ตรงจุดนั้นไม่สามารถเอาเครื่องจักรไปวางไว้ได้ ก็เลยใช้ Exoskeleton เป็นตัวช่วยซัพพอร์ตหรือลดแรงได้ อีกอย่างที่เริ่มใช้กันมากก็คือในวงการเกษตรกรรม ในแง่ที่เป็นตัวช่วยในการเก็บผลผลิต
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนมีความรู้สึกว่าไม่ค่อยได้เห็นโปรดักต์ ‘ฝีมือคนไทย’ อยู่ในตลาดโลก
จริงๆ มีคนไทยอยู่ในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เยอะนะ แต่มักไม่ค่อยเห็นขายในเมืองไทย ส่วนหนึ่งคือคนไทยทำ คนไทยไม่ค่อยซื้อ จะขายได้ ก็ต้องไปขายเมืองนอกก่อน แล้วค่อยมาขายเมืองไทย ก็อาจจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้
มีหลายคนมองว่าการนำหุ่นยนต์หรือจักรกลมาใช้ในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลเสียต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแย่งงานหรือการก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในฐานะคนที่พัฒนาอุปกรณ์ในลักษณะนี้ขึ้นมา มีความเห็นอย่างไรบ้าง
เรื่องแย่งงานนี่มองว่าจริงๆ เราน่าจะสบายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ไม่ต้องลงแรงกับงานที่เหนื่อย แต่สามารถเอาเวลาไปคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หาวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
แต่เรื่องนี้ก็อาจมองได้สองประเด็น ประเด็นหนึ่งก็คือขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามความสุขของการทำงานของตัวเองว่าอะไร ถ้าเรามีความสุขกับกิจกรรมที่ทำซ้ำๆ เราก็อาจจะรู้สึกว่าถูกแย่งงาน เพราะเราก็ทำงานที่ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ อีกประเด็นหนึ่งคือเป็นเรื่องของลักษณะเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ถ้าเป็นอย่างของบริษัทในจีน ที่เอาเครื่องอ่านสมองมาวัดความเครียดและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน แบบนั้นอาจจะดีตรงที่ช่วยลดอุบัติเหตุในการทำงานได้ แต่ในทางกลับกัน ก็เหมือนว่าเรามองคนเท่ากับหุ่นยนต์ คือเป็นแค่ตัวแปรหนึ่งในสมการ ถ้าคลื่นสมองเราเป็นแบบนี้ คือทำงานมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ใช่คือตกจากมาตรฐาน
จริงๆ ความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่หุ่นยนต์ แต่เป็นที่คนที่เอามาใช้มากกว่า ว่าเอามาใช้ในรูปแบบไหน เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือวิธีการฝึกฝนคนที่จะเอามาใช้ ไปจนถึงการศึกษาของแต่ละประเทศ ที่จะหล่อหลอมแนวคิดของคนว่าเราสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน เราต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้เพื่อให้อยู่ร่วมกับจักรกลได้ ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราก็อยากทำให้อยู่ในระดับที่คนทั่วไปจับต้องได้อยู่แล้ว ต่อไปเมื่อเทคโนโลยีด้านวัสดุและการผลิตพัฒนาขึ้น ราคาก็น่าจะลดลงเรื่อยๆ
ในอนาคตอีกสัก 20 ปีข้างหน้า คิดว่าบทบาทของหุ่นยนต์หรือจักรกลในสังคมของเราจะเป็นอย่างไร
คนส่วนใหญ่น่าจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่มีหุ่นยนต์เดินตามหรืออยู่รอบๆ เพื่อช่วยเรา อย่างตอนนี้ก็มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่วิ่งไปวิ่งมาในบ้าน เพื่อช่วยลดงานเราได้ หรือถ้าตอนนั้นเราอายุ 60 ปี แล้วมีคนบอกว่าใส่ขานี้ ที่เหมือนเป็นเสื้อผ้าอีกชุดนึง แล้วเดินได้เหมือนคนอายุ 30 ปี ทำอะไรได้เหมือนตอนอายุยังน้อย ก็คงมีหลายคนที่อยากใส่
แล้วมองอย่างไรกับกรณีของการโอนจิตสำนึกของมนุษย์กลับมาได้เมื่อตายไปแล้ว มันจะลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือทำให้เกิดคำถามเรื่องความเป็นความตายไหม
ส่วนตัวมองว่าถ้าเรามีประโยชน์ต่อโลก ก็น่าทำไว้ คนรุ่นต่อไปจะได้เรียนรู้และพัฒนาต่อยอดความรู้นั้นได้เร็ว ไม่ต้องซ้ำจุดที่เคยผิดพลาด
แต่กว่าอะไรแบบนี้จะทำได้เป็นเรื่องปกติ ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ถึงตอนนั้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จักรกล หรือหุ่นยนต์ ก็อาจจะชวนให้เราต้องทบทวนกันใหม่ ว่าอะไรกันแน่ที่เราเรียกว่ามนุษย์ ถึงตอนนั้นอาจจะค่อยตอบก็ได้
Photos by Watcharapol Saisongkroh
หมายเหตุ : ปัจจุบัน แคมเปญของ LEX ใน Kickstarter จบลงแล้ว แต่หากสนใจ ติดต่อไปได้ที่ facebook.com/LEXbyAstride