กี่โมงแล้ว? ขอดูนาฬิกาชีวิตเธอหน่อย
ก่อนรู้จักเวลาบนฝาผนังหรือนาฬิกาข้อมือ มนุษย์ทุกคนรู้จัก ‘นาฬิกาชีวภาพ’ ในร่างกายเป็นอันดับแรกโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
นักชีววิทยาสรีระ John Gibbon เคยกล่าวว่า นาฬิกาที่แอบแฝงในตัวคุณเป็นนาฬิกาปฐมกาลก่อนนาฬิกาใดๆ ทั้งมวล (Primordial Time) ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดบนโลก รับรู้การเปลี่ยนผันของกาลเวลา ตั้งแต่ดอกไม้เล็กจิ๋วที่แง้มกลีบรับแสงแดดอุ่นๆ ยามเช้า ฝูงตั๊กแตนจอมตะกละที่ต้องย้ายถิ่นฐานทุกๆ 17 ปี หรือแม้แต่ทริปนั่งเครื่องบินไปยุโรปอันไม่น่าพิสมัยของคุณ กับอาการ jet lag ที่ร่างกายปั่นป่วนจากการเดินทางข้ามโซนเวลา
พวกเราล้วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวลาที่กำหนดโดยร่างกาย แล้วภายใน 1 วัน ร่างกายคุณมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มาดูกันซิว่า หากคุณเป็นคนตื่นตอนเช้า กินตอนเที่ยง และนอนหลับไม่เกินเที่ยงคืน ร่างกายอันมหัศจรรย์ของคุณจะจัดสรรช่วงเวลาดีๆ อย่างไร
(ปล. เวลาที่ The MATTER นำเสนอเป็น ‘ค่าเฉลี่ยมาตรฐาน’ ที่วิทยาศาสตร์พยายามศึกษาจาก Circadian Clock ซึ่งแท้จริงแล้วนาฬิกาชีวภาพของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันจากรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงานของอวัยวะร่างกาย และปัจจัยละเอียดที่ยิบย่อยลงไปอีก ดังนั้นนาฬิกาชีวิตของคุณ อาจจะไม่เหมือนกับตัวอย่างนี้ทั้งหมดนะ)
Get to know your ‘Life Clock’
ไม่จำเป็นต้องดูนาฬิกาเลยเหรอ? คุณอาจจะเรียกว่า ‘ใช้สัญชาตญาณ’ ส่วนตัวก็ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า สิ่งมีชีวิตรับรู้การเปลี่ยนผันของเวลาด้วย 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ Interval Timer และ Circadian Clock เพราะธรรมชาติของเวลานั้นมีทั้งคาบสั้นและคาบยาว ทำงานซ้อนทับกัน เหมือนเข็มสั้นเข็มยาวบนนาฬิกาที่เดินไปพร้อมๆ กัน
- Interval Timer เป็นการรับรู้เวลาละเอียดระดับ ‘มิลลิวินาที’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเซลล์ประสาทคอร์ติคอล (Cortical Neuron) นับล้านๆ เซลล์ ที่ยิงสัญญาณประสาทในอัตราต่างๆ กันไปยังสมอง Cortex ส่วนตัดสินใจในเพียงเสี้ยววินาที ลองจินตนาการว่า คุณกำลังขับรถบนถนนเส้นรัชดาฯ แล้วเห็นสัญญาณไฟสีเหลือง เซลล์ประสาทคอร์ติคอลจะยิงสัญญาณฉับพลัน เพื่อให้คุณเตรียมหยุดรถเมื่อเห็นไฟสีเหลือง (แต่บางคนก็ดันเหยียบคันเร่งซะมิดเฉยเลย) การตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาที จำเป็นในการอยู่รอดอย่างยิ่งยวด
- Circadian Clock เป็นปัจจัยอันดับที่ 2 แต่สำคัญสุดๆ ไม่แพ้กัน ในการกำหนดการรับรู้ในระดับ 24 ชั่วโมง (24 Hour Cycles) โดยร่างกายทำงานร่วมกับประสาทการมองเห็น ‘กลางวัน/กลางคืน’ เรติน่าของดวงตาตรวจจับแสงที่มองเห็นจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และจอโทรศัพท์มือถือ โดยส่งข้อมูลไปยัง เซลล์พิเศษที่ชื่อว่า Suprachiasmatic Nucleus หรือ SCN และ Paraventricular Nucleus ซึ่งจะไปควบคุมการทำงานของต่อมไพเนียล (Pineal Gland) อีกที ในการกำหนดว่าควรหลั่งฮอร์โมนอะไร ในช่วงเวลาไหน เพื่อที่จะทำให้ร่างกายดำเนินไปอย่างพาสุขที่สุด (เท่าที่คุณจะอนุญาต)
คาบเช้า 6 : 00 AM (เช้า) – 12 : 00 PM (เที่ยงวัน)
6 : 45 AM จะตื่นหรือขี้เกียจ
ความดันโลหิตสูงขึ้น ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเครียด
หลังจากนอนมาเต็มอิ่ม (หรือนอนไม่หลับ) ร่างกายของคุณเริ่มตอบสนองกับแสงยามเช้าอันอบอุ่น ความดันเลือด (Blood pressure) จะเริ่มสูบเลือดเลี้ยงร่างกายในอัตราที่สูงมาก เพื่อให้คุณมีแรงลุกจากที่นอน กระนั้นเลยหลายคนกลับตื่นมาพร้อมกับความซึมเศร้าและเครียด ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากทำอะไรเลย
มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะฮอร์โมนเครียด Cortisol หลั่งในช่วงเช้ามากกว่าช่วงกลางคืน 10 ถึง 20 เท่าเลยทีเดียว
7 : 30 AM ไม่นอนแล้วเนอะ
ต่อมไพเนียล (Pineal Gland) จะหยุดหลั่งฮอร์โมนเมลาโตนิน ที่ควบคุมการนอนหลับ เพื่อให้คุณไม่ง่วงนอนอีก ลุกมาทำอะไรที่จำเป็นเล็กๆ น้อยๆ แต่บางคนก็เริ่มส่อง Facebook เพื่อน หรือตอบ Inbox ลูกค้า
8 : 30 AM ต้องเข้าห้องน้ำด่วน
ลำไส้เริ่มเคลื่อนไหว (Bowel Movement) อยากขับถ่ายอุจจาระ ระบบย่อยอาหารพยายามจะกำจัดกากของเสียในรูปแบบของอึหรือฉี่ ใครที่สามารถควบคุมวินัยในการเข้าห้องน้ำได้ ถือว่าเป็นคนประเสริฐสุด เพราะการที่ลำไส้เริ่มเคลื่อนไหวตามเวลา Circadian Clock เป็นสัญญาณที่ดีแรกเริ่มของร่างกาย
10 : 00 AM ร่างกายตื่นตัว พีคเต็มที่ ไปทำงานดีกว่า
ฟังก์ชั่นต่างๆ ของร่างกาย Alert อย่างที่สุด ช่วงนี้เหมาะสมสำหรับการเริ่มทำงานชิ้นแรก คุณยังมีแรงเหลือเฟือจดจ่อกับภาระที่สาหัส เอาเป็นว่าเราไม่กวนเธอตอนนี้แล้วกันนะ ทำงานไปเถอะ
คาบบ่าย 12 : 00 PM (เที่ยง) – 6 : 00 PM (เย็น)
2 : 30 PM ร่างกายทำงานประสานกันมากที่สุด
ถึงจะแอบหาวหวอดๆ แต่ร่างกายคุณกำลังอยู่ในภาวะที่สมดุลของวัน เป็นไปได้ที่ต่อมไพเนียลจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโตนิน (Melatonin) อีกครั้งหลังจากร่างกายย่อยอาหารมื้อเที่ยง การได้กาแฟหรือนมอุ่นๆ สักแก้วทำให้คุณสดชื่นขึ้นมาได้
3 : 30 PM ปฏิกิริยาตอบสนองดีที่สุด แข่งกีฬากันไหม
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge พบว่าปฏิกิริยาตอบสนองหรือ Reflex จากการควบคุมของ Interval Timer ในร่างกาย จะทำให้เซลล์ประสาทคอร์ติคอล (Cortical Neuron) ทำงานอย่างรวดเร็วที่สุด หลายคนนิยมเล่นกีฬาที่ต้องอาศัยการตอบสนองอย่างรวดเร็ว
5 : 00 PM เข้ายิมออกกำลังกายดีกว่า
หัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) ทำงานอย่างดีเยี่ยม รวมไปถึงพละกำลังของกล้ามเนื้อแต่ละมัดพร้อมระเบิดพลังสุดท้าย ช่วงเย็นๆ เหมาะสมที่สุดที่จะออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วน จะเวทเทรนนิ่ง เต้นซุมบ้า หรือแอโรบิคหลังห้างโลตัส ก็แล้วแต่สะดวก
คาบค่ำจรดเที่ยงคืน
6 PM (เย็น)– 12 AM (เที่ยงคืน)
6 : 30 PM ความดันโลหิตขึ้นสูงที่สุด
แม้แต่ความดันโลหิตยังเคร่งครัดกับตารางชีวิตประจำวัน มันมักสูงขึ้นเมื่อคุณตื่น และดำเนินเรื่อยๆ ไประหว่างวัน จนมาสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงเย็น การที่รูปแบบความดันโลหิตเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นสัญญาณของโรคต่างๆ อย่าง โรคต่อมไทรอยด์ เบาหวาน และโรคตับ
7 : 00 PM อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงที่สุด
โดยพื้นฐานแล้วร่างกายของเรามีอุณหภูมิที่ราวๆ 37 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงค่ำๆ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส
9 : 00 PM เมลลาโตนินเริ่มหลั่งอีกครั้ง
อิทธิพลของ Circadian Clock ที่ควบคุมเรื่องการรับรู้แสงทำให้คุณเริ่มง่วงนอน ความมืดของกลางคืนบอกเป็นนัยให้เซลล์ Paraventricular Nucleus ควบคุมให้ต่อมไพเนียลปล่อยฮอร์โมนเมลลาโตนินทีละหน่อย เพียงพอจะให้คุณคืบคลานไปบนเตียงหลังจากเหนื่อยมาทั้งวัน
10 : 30 PM การเคลื่อนไหวของลำไส้หยุดทำงาน
เพื่อเตรียมร่างกายให้เข้าสู่ภาวะหลับขั้นต้น ลำไส้จะชะลอการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันไม่ให้คุณถ่ายเรี่ยราดขณะนอนหลับ
คาบเที่ยงคืนถึงเช้ามืด 1 : 00 AM (เที่ยงคืน) – 6 Am (เช้า)
2 : 00 AM หลับลึกที่สุด
คุณกำลังอยู่ในช่วงหลับลึกที่สุดของ Non-REM Sleep Cycle หรือการนอนหลับแบบกรอกลูกตาไปมาอย่างช้าๆ ในขั้นที่ 3 หากใครปลุกคุณขึ้นมากลางช่วงหลับลึก มักสร้างความฉุนเฉียวและมึนงงตลอดทั้งวัน ร่างกายจะทำการซ่อมแซมเนื้อยื้อที่เสียหายระหว่างวัน กล้ามเนื้อสร้างใหม่ และเซลล์เม็ดเลือดขาวเริ่มสร้างภูมิคุ้มกัน
4 : 30 AM อุณหภูมิร่างกายลดลงต่ำที่สุด
ช่วงนี้หนาวเหน็บที่สุดของวัน คุณจะหนาวสั่นจากระบบเผาผลาญร่างกายที่ทำงานลดลง คนที่เป็นเบาหวานมักมีปัญหาการนอนร่วมด้วย พวกเขามักหนาวจนทรมาน เพราะร่างกายไม่สามารถเผาพลาญน้ำตาลได้เหมือนคนปกติ
เวลาแห่งร่างกายคือเวลาที่ซื่อตรงต่อคุณมากที่สุด หากมันรวนเพียงเล็กน้อย สัญญาณต่างๆ ก็จะส่งผลต่อภาพรวม
เพียง 24 ชั่วโมงอะไรต่อมิอะไรก็เกิดขึ้นเยอะไปหมด ลองฟังเสียงสัญญาณของร่างกายคุณดู เพราะแท้สุดแล้ว มีคุณคนเดียวเท่านั้นที่ฟังเสียงเข็มชีวิตเดินได้ชัดที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Neuropsychological mechanisms of interval timing behavior
The Body Clock Guide to Better Health by Michael Smolensky, Lynne Lamberg