ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั้นถูกกำหนดด้วยคนรอบข้าง ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัย เมื่อคนรอบๆ ตัวเราคิดอย่างไร ความคิดเราก็มักจะเฉไฉไปอย่างนั้น อย่างน้อยก็ถึงช่วงอายุหนึ่ง สิ่งแวดล้อมได้คอยบ่มเพาะ รดน้ำพรวนดิน ให้ต้นไม้ที่ต่อมาจะเติบโตเป็นลักษณะนิสัย เป็นความคิด ความเชื่อ ที่เรามักปะท้ายว่า ‘ความคิดส่วนตัว’ หรือ ‘ความเชื่อส่วนบุคคล’ ซึ่งอันที่จริงแล้วมันก็ไม่ ‘ส่วนตัว’ หรือ ‘ส่วนบุคคล’ เสียเท่าไหร่หรอก
มีคนกล่าวว่าคนเราเป็น Mashup (หรือภาพปะติดปะต่อ) ของโลกรอบๆ ผมก็คิดเห็นเช่นนั้น
พฤติกรรมของมนุษย์นั้นติดต่อกันได้ ติดต่อกันง่าย ยิ่งเป็นพฤติกรรมที่เรารู้สึกว่า ‘ได้รับความนิยม’ หรือ ‘ใครๆ เค้าก็ทำกัน’ ก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ สมมติว่าเพื่อน 8 ใน 10 คนที่เรารู้จักมีพฤติกรรมแบบนี้ มีความคิดความเชื่อแบบนี้ เราก็มักจะรู้สึกว่า ‘ใครๆ ก็คิดแบบนี้’ และเผลอๆ ก็จะทำให้คิดแบบนี้ตามเขาไปด้วย
บนอินเทอร์เนต ความคิดที่ว่า ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ หรือ ‘ใครๆ ก็เชื่อแบบเรา’ ยิ่งเกิดขึ้นง่าย เหตุผลหนึ่งคือเพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘Filter Bubble’ หรือ ‘ตัวกรองฟองสบู่’ ที่เป็นคำอธิบายถึงอัลกอริธึมที่โซเชียลเนตเวิร์กต่างๆ มักจะเลือกแสดงแต่สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรากดไลก์ มาให้เราเห็นบ่อยๆ นานๆ ไป หน้าโซเชียลของเราจึงมีแต่สิ่งแบบนั้น เป็นสิ่งที่เราชอบทั้งหมด แต่ก็ทำให้เรามองเห็นอะไรได้แคบลงอย่างเหลือเชื่อ
อีกเหตุผลหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาพลวงตาของหมู่มาก’ (Majority Illusion) ซึ่งเพิ่งได้รับการสื่อสารอย่างจริงจัง เป็นวิทยาศาสตร์ ตีพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารวิชาการ ในเดือนมิถุนายนปีนี้
ทีมนักวิจัยจาก USC Information Science Institute ในแคลิฟอร์เนีย ใช้สูตรคณิตศาสตร์และทฤษฎีกราฟวิเคราะห์เรื่องนี้ พวกเขาค้นพบว่าการจะหลอกลวงให้คนคนหนึ่งคิดว่าความเห็นใดเป็นความเห็นของคนหมู่มากนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย และไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คนมากถึง 50% ของคนทั้งหมดด้วย
แปลว่า คนที่มีความเชื่อประมาณ 10% ของสังคม (คือเชื่ออะไรที่ไม่ป๊อป) นั้นสามารถคิดว่าความเชื่อของตัวเอง ‘ป๊อป’ เกินความจริงไปเองได้ โดยเฉพาะในโซเชียลเนตเวิร์ก
ด้วยสูตรคำนวณที่ซับซ้อน (หมายถึง: ซับซ้อนเกินกว่าผมจะอ่านเข้าใจ) นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้พิสูจน์ออกมาว่า เราสามารถทำให้คน 60-70% ของโซเชียลเนตเวิร์กหนึ่งๆ คิดว่าคนหมู่มากมีความเห็นไปทางใดทางหนึ่งได้ โดยใช้คนที่คิดอย่างนั้นจริงเพียง 20% เท่านั้นเอง (ยิ่งได้ผลมากขึ้นถ้าเป็นเรื่องการเมือง) นั่นหมายความว่า สมมติว่าเราจะให้คนส่วนใหญ่คิดว่าคนส่วนใหญ่เชียร์รัฐบาล (อ่านดีๆ นะครับ จะทำให้ ‘คนส่วนใหญ่’ คิดว่า ‘คนส่วนใหญ่’) เราก็เพียงต้องการคนเชียร์รัฐบาลจริงๆ 20% เท่านั้น (ไม่ใช่เกิน 50%)
ลองคิดตามนะครับ อาจมีบางครั้งที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมใครๆ ก็คิดแบบนี้ ทำไมใครๆ ก็ใช้แอพนี้ หรือโพสท์ในลักษณะนี้ เราอาจคิดอย่างนั้นเพราะเราเห็นมันเต็มหน้าเฟซบุ๊ก เต็มหน้าวอลล์เราไปหมด แต่ความจริงอาจเป็นเพียงว่า ในกลุ่มประชากร 200 คนที่เป็นเพื่อนเรานั้น มีคนจำนวนเกินครึ่งที่คิดแบบนั้นก็ได้ แต่ถ้าเราซูมขยายออกไป อาจปรากฏว่าคนคิดแบบนั้นมีเพียงแค่ 10-20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ เป็นไปได้ไหม?
นักวิจัยบอกว่าการ ‘เชื่อไปเองว่าคนอื่นคิดเหมือนตัวเอง’ นั้นมักจะเกิดขึ้นในแวดวงการเมืองเสียด้วยนะครับ
ผลสรุปของการวิจัยนี้จึงออกมาเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องสามัญสำนึกบางทีที่เราลืมไปบ่อยๆ
ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นกันทั้งโลก บางทีมันก็อาจเป็นอย่างนั้น แค่เท่าที่ขอบเขตของสายตาเรามองเห็นเท่านั้นเอง
อ้างอิงจาก https://arxiv.org/abs/1506.03022 The Majority Illusion in Social Networks