ตั้งแต่โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย แต่ละวันก็มี ‘ดราม่า’ วนเวียนมาให้เราได้เสพกันอย่างเพลิดเพลิน จนบางคนสามารถเอาไปทำเป็นอาชีพหากินได้ ซึ่งเจ้าเรื่องดราม่าทางโซเชียลนี่ก็เหมือนกันทั้งโลก ไม่ว่าที่ไหนก็มี ญี่ปุ่นเองเขาก็มีดราม่าอยู่บ่อยๆ เช่นกันครับ ซึ่งคำที่เขาใช้เรียกคือ 炎上 (Enjou) ที่มีความหมายเดิมคือ ‘ไฟลุกท่วม’
แต่ปัจจุบันเวลาเห็นคำนี้ก็ต้องนึกก่อนเลยว่า มีอะไรดุเดือดเกิดขึ้นในเน็ตอีกแล้ว ถึงอย่างนั้น ดาราบางคนก็ตั้งใจก่อดราม่าเพื่อให้เป็นที่พูดถึงเหมือนกัน ในปัจจุบัน Enjou นั้นมาแวบๆ แล้วก็ไป แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ バイトテロ(Baito Tero) ที่มาจากการผสมคำว่า アルバイト(Arubaito) ที่แปลว่า ทำงานพิเศษ เข้ากับคำว่า ‘Terrorism’ ที่หมายถึงการก่อการร้ายนั่นเอง ซึ่งจะแปลรวมๆ ก็คงได้ความประมาณว่า ‘การก่อการร้ายโดยพนักงานทำงานพิเศษ’ ก็คงได้
ฟังดูอาจจะงงๆ ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ก็เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์กนี่ล่ะครับที่สามารถทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะคำอธิบายจริงๆ จังๆ ของคำคำนี้คือ การที่พนักงานทำงานพิเศษของกิจการใดกิจการหนึ่ง ไปทำอะไรแผลงๆ ระหว่างที่ทำงานอยู่ในร้าน หลังจากนั้นก็อัพข้อความ รูป หรือคลิปวิดีโอแผลงๆ นั้นขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อกิจการนั้นๆ อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ลดลง หรือบางร้านก็ต้องปิดตัวไปเลย จนอาจจะเทียบได้ว่าเป็นการถูกพนักงานเหล่านั้นก่อการร้ายกับร้านนั้นๆ ก็ว่าได้ (แม้ความหมายของก่อการร้ายจะเพี้ยนไปก็ตามที) จะว่าไปมันก็เป็นพัฒนาการขั้นกว่าของ バカッター(Bakattaa) ที่ผสมคำว่า Baka ซึ่งแปลว่า งี่เง่า เข้ากับ Twitter คำคำนี้ใช้เรียกคนที่ทำอะไรบ้าบองี่เง่าในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั่นเอง
เข้าปี 2019 มา Baito Tero ก็กลายเป็นข่าวมาหลายครั้ง เพราะร้านอาหารแบบแฟรนไชส์และร้านสะดวกซื้อหลายต่อหลายร้านก็เจอผลกระทบไปเต็มๆ มีตั้งแต่ 7-11 ที่มีพนักงานอัพคลิปโดยคีบเอาโอเด้งที่ขายในร้านออกมาใส่เข้าปากแล้วคายลงพื้นทันที (เป็นการเล่นกับของที่เอามาขาย และชวนให้ไม่ไว้ใจเรื่องความสะอาดของร้านและสินค้า) Family Mart ก็เจอคลิปพนักงานเลียสินค้าในร้าน เครือร้านอาหารจีนอย่าง Bamiyan ก็มีคลิปพ่อครัวที่พยายามทำให้ไฟจากเตาทำอาหารลุกท่วมเพื่อจุดบุหรี่สูบด้วยไฟจากเตาในครัวของร้าน เครือคาราโอเกะ Big Echo ก็มีคลิปพนักงานเอาไก่คาราอาเกะที่เตรียมทอด มาถูกับพื้นครัว ซึ่งคลิปที่ออกมาแต่ละอันก็ทำให้เกิดดราม่าและกลายเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ
แต่ที่เป็นข่าวล่าสุดและส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจหนักเอาเรื่อง คงเป็นกรณีของเครือร้านซูชิ Kura Sushi ที่มีคลิปพนักงานในร้านเอาเนื้อปลาที่ถูกทิ้งไว้ในถังขยะออกมา แล้วเอามาวางที่เขียงซึ่งใช้ในร้าน ซึ่งแม้จะเป็นการทำเล่นๆ แต่สำหรับอาหารที่เน้นความสดและสะอาด การกระทำแบบนี้อาจทำให้เป็นอันตรายต่อคนกินด้วย การเล่นแบบนี้จึงทำให้ความน่าเชื่อถือของร้านลดลงฮวบฮาบ เมื่อยิ่งเป็นข่าว คนก็ยิ่งไม่อยากจะเสี่ยงไปกินที่ร้านอีก เรียกได้ว่าคงใช้เวลานานกว่าจะดึงความน่าเชื่อถือกลับคืนมาได้
จริงๆ แล้ว เรื่องของ Baito Tero ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมตั้งแต่ช่วงปี 2013 ที่เริ่มมีการแชร์ทั้งภาพและคลิปของการกระทำต่างๆ
ดังกล่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์กหลายครั้ง
แต่ครั้งแรกที่เป็นข่าวน่าจะเป็นตั้งแต่ปี 2007 ที่พนักงานเครือ Yoshinoya เอาวัตถุดิบในร้านมาทำข้าวหน้าหมูขนาดยักษ์เล่นกันแล้วอัพคลิปขึ้น ซึ่งก็เป็นปัญหาเรื่องของการจัดการรักษาความสะอาดของอาหาร
ในปี 2013 เมื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ก็ทำให้เริ่มมีคลิป เช่น พนักงานในร้านโซบะลงไปเล่นในอ่างล้างจาน และเข้าไปเล่นในห้องเย็นเก็บอาหาร เช่นเดียวกับ Lawson สาขาหนึ่งที่มีรูปพนักงานเข้าไปแกล้งทำเป็นนอนเล่นในห้องเย็นเก็บอาหารเช่นกัน จนกลายเป็นข่าวที่สร้างภาพลบให้กับกิจการเหล่านั้น และสื่อทางอินเตอร์เน็ตก็เริ่มใช้คำว่า Baito Tero กับพฤติกรรมเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกของความนิยม (ในแง่ลบ) ของพฤติกรรมเหล่านี้
ในช่วงแรกก็มีคนให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วการกระทำเหล่านี้เป็นการ ‘รับงาน’ จากร้านหรือเครือคู่แข่งมาทำลายร้านเป้าหมายหรือไม่ แต่ไปๆ มาๆ ก็เป็นแค่ความ ‘ห่าม’ และทำอะไรไม่คิดของพนักงานทำงานพิเศษเหล่านั้นมากกว่า และเอาเข้าจริงๆ กรณีแบบนี้ก็มีกันหลายที่ทั่วโลก ยิ่งในประเทศตะวันตกยิ่งมีเยอะ เพียงแต่เป็นที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้มงวดกับเรื่องความสะอาดและมาตรฐานการบริการเป็นอย่างมาก พอมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบตอความเชื่อมั่นที่มีต่อกิจการนั้นๆ ขึ้นมานั่นเองครับ
ผลกระทบที่ตามมาของ Baito Tero แต่ละครั้งก็มีมากน้อยต่างกันไป ตัวอย่างเช่น Lawson สาขาที่เป็นข่าวในปี 2013 และ ร้าน Yoshinoya ในปี 2007 ก็ถูกยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์ แต่ที่น่าเศร้าสุดคือร้านโซบะที่ว่า ไม่ได้เป็นร้านสาขาแฟรนไชส์อะไร แต่เป็นกิจการส่วนตัว กลายเป็นว่าพอเกิดเรื่องแล้ว คนก็เลิกไปกินที่ร้านจนสุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงและยื่นล้มละลายในภายหลัง และสำหรับกรณีร้าน Kura Sushi รอบนี้ ก็แน่นอนว่าต้องมีผลกระทบไม่น้อย เพราะบริษัทแม่ก็รีบแถลงการขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทแค่ไหนครับ
หลังจากมีเรื่องเกิดขึ้นหลายครั้ง ก็เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมว่า ทำไมถึงมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น บางคนก็มองแบบกำปั้นทุบดินว่าเป็นแค่เรื่องของวัยรุ่นที่อยากจะทำอะไรแผลงๆ เท่านั้น แต่มองอีกมุมหนึ่ง การมาทำอะไรแบบนี้แล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถส่งผลกระทบต่ออนาคตตัวเองได้ ก็น่าคิดว่าทำไมยังทำกันอยู่ มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการจ้างงานแบบของญี่ปุ่นเองนี่ล่ะครับ เกือบทั้งหมดของพนักงานที่ก่อเรื่องคือพนักงานทำงานพิเศษ (ตามชื่อของกรณี) ไม่ใช่พนักงานประจำ
ซึ่งพูดตรงๆ ก็คือเป็นการทำงานรับเงินรายชั่วโมง ไม่ได้มีสวัสดิการหรืออนาคตอะไรกับกิจการนั้นๆ ไม่ได้คิดจะเติบโตหรือผูกพันอะไร หรือก็คือ แค่ทำงานเพื่อรับเงินไปใช้ในชีวิตประจำวัน และหลายครั้งก็ได้ค่าจ้างรายชั่วโมงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แต่กลับเจองานหนักเท่าพนักงานประจำ แถมหลายต่อหลายครั้งก็ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับเงินเพิ่ม (ถ้าเป็นพนักงานประจำจะได้เงินเพิ่ม) ความเบื่อหน่าย รู้สึกไร้ค่า และรังเกียจงานที่ตนเองต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ ก็ทำให้เกิดการแสดงออกด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ขึ้นมา
เพียงแต่ว่าในยุคที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบนี้
ก็เลยทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นแพร่หลายกระจายออกไปได้มากขึ้น
และทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าการทำพฤติกรรมเหล่านี้มีผลกระทบต่ออนาคตตัวเองอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ทำงานไปวันๆ เขาก็คงไม่ได้คิดอะไรมาก และหลายกรณี ถึงกิจการนั้นจะพยายามเอาคืนด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถฟ้องอะไรได้มากนัก เพราะตัวกิจการต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ารายรับที่ลดลงเป็นผลกระทบโดยตรงจากพฤติกรรมของพนักงานทำงานพิเศษที่ก่อเรื่องให้ได้
และเอาจริงๆ แล้ว ถึงฟ้องร้องชนะก็คงจะไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยจำนวนมากได้จริงๆ เพราะส่วนใหญ่คนที่ก่อเรื่องก็ยังอายุไม่มากและส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถที่จะชดใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
การจะแก้ปัญหาแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะแน่นอนว่า ตอนสัมภาษณ์เลือกคนเข้าทำงานก็ไม่สามารถที่จะแยกได้ว่าใครเข้ามาทำงานแล้วจะก่อปัญหาบ้าง บางคนหงิมๆ แต่เข้ามาทำงานแล้วกลายเป็นอีกคนก็มี ส่วนเรื่องการฟ้อง ถ้าจะเอาให้หนักๆ ชนิดจ่ายไม่ได้ก็ติดคุกไป ฟังดูเหมือนจะดีต่อกิจการ ซึ่งถ้าเป็นกิจการเล็กๆ ที่บริหารเองก็คงดีครับ แต่เครือใหญ่ๆ ก็คงจะทำได้ยาก เพราะการฟ้องแบบนี้ อาจจะทำให้กระแสสังคมตีกลับไปอีกทางได้
แถมปัญหาต่อมาคือ ถ้าบริษัททำอย่างนี้ไป อนาคตข้างหน้า คนที่อยากจะมาทำงานในนั้นก็ลดน้อยลง สุดท้ายก็อาจจะได้แต่พนักงานประเภทที่ ไม่มีที่ไป ไม่มีทางเลือก เลยมาทำงานที่นี่แทน ก็ดูจะยิ่งทำให้มีโอกาสก่อปัญหามากขึ้น กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบริหารงานเข้าไปอีก
เท่าที่ไล่หาอ่านดู แนวทางป้องกันปัญหาแบบนี้ทางหนึ่งคือ พยายามอบรมทำความเข้าใจกับพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานทำงานพิเศษให้ดีว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ และควรทำงานกันแบบแฟร์ๆ ไม่ใช่ว่าเห็นเป็นพนักงานทำงานพิเศษแล้วอยากจะทำอะไร อยากจะใช้อะไรก็ได้ ไม่ต้องสนใจเพราะคิดว่ามีตัวแทนมาเรื่อยๆ พูดให้ฟังดูดีก็คือ ทำให้สถานที่ทำงานเป็นที่ที่น่าทำนั่นล่ะครับ เพราะว่าถ้าพนักงานทำงานมีความสุขก็คงไม่ทำอะไรที่เป็นการทำลายทั้งอนาคตของร้านและของตัวเองแบบนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นทั้งต่อการบริหารงาน ทั้งต่อสังคม คือการพยายามสอนให้ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เข้าใจถึงการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เหมาะสม หรือจะเรียกว่ามารยาททางโลกออนไลน์และผลกระทบก็ว่าได้ครับ เพราะว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเราแบบที่จะเอาออกไปเลยก็คงยากแล้ว เมื่อแยกออกจากกันไม่ได้ ก็ควรทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากมันอย่างเหมาะสมนั่นล่ะครับ อย่างน้อยจะได้รู้ว่า ทำอะไรไปแล้วจะมีผลกระทบแบบไหนบ้าง เพื่ออนาคตของตัวเองด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก