คุณก็รู้จัก, ผมก็รู้จัก, ไอ้ปุ่มเล็กๆ นั่น – ทั้งที่เป็นเพียงแค่ปุ่ม ‘สมมติ’ แท้ๆ แต่พอกดมัน ชีวิตกลับพลิกผันดราม่า ปัญหาเกิดขึ้นไม่หยุดไม่หย่อน
ในห้วงขณะของปัญหา บางครั้งคุณก็อาจคิดว่าทำไมต้องปวดหัวกันขนาดนี้ด้วย ก็ ‘การเป็นเพื่อน’ ในเฟซบุ๊ก มันก็แค่คำประดิษฐ์ของมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กไม่ใช่เหรอ มันเทียบอะไรไม่ได้กับ ‘การเป็นเพื่อน’ จริงๆ
แล้วทำไมเวลา ‘อันเฟรนด์’ ใครแต่ละครั้งบนเฟซบุ๊ก มันกลับต้องมามีผลร้ายแรงในชีวิตจริงด้วยเล่า!
บางครั้งคุณก็อาจจะอยากแค่ – เลิกเห็นโพสท์ของเขาคนนั้น – คุณรู้แล้วว่าตอนนี้มีปุ่ม unfollow ที่ทำให้คุณไม่ต้องเห็นสิ่งที่เขาโพสท์อีก แต่เมื่อคุณไล่สกรอลเฟซบุ๊กในทุกวัน คุณก็กลับต้องเห็นคอมเมนต์ของเขาสะแหลนขึ้นมาในโพสท์เพื่อนที่เหลืออยู่ของคุณ คุณเห็นว่าเขาไปกดไลก์อะไรบ้าง แล้วคุณก็รู้สึกอยาก ‘ตัดขาด’ กับเขาให้มากกว่านั้น – แต่ทำไมเราจึง ‘ตัดขาด’ กับใครบนโลกโซเชียล โดยไม่มีผลกับโลกจริงไม่ได้กันนะ
ปุ่ม ‘อันเฟรนด์’ เป็นปุ่มน่าพิศวงที่ส่งผลกระทบอย่างเหลือเชื่อ อย่างที่ได้มีการศึกษาไว้หลายครั้ง – ตั้งแต่เหตุผลที่เรากดอันเฟรนด์ใครสักคน ไปจนถึงผลลัพธ์ของการอันเฟรนด์ ทั้งฝ่ายที่ถูกอันเฟรนด์ และฝ่ายที่ไปอันเฟรนด์เขา (ผมเคยเป็นทั้งสองฝั่ง!)
ดร. เจนนิเฟอร์ บีวาน จากมหาวิทยาลัยแชปแมน ในแคลิฟอร์เนีย พูดถึงการเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนในโซเชียลเนตเวิร์กไว้น่าสนใจ โดยเธอเปรียบเทียบกับการเป็นเพื่อนในโลกจริง ว่า
“ (การเป็นเพื่อน หรือเลิกเป็นเพื่อนในโซเชียลเนตเวิร์ก) นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจล้วนๆ เหมือนคุณเอาตัวเองออกมาเสี่ยง และมันก็มีเครื่องหมายอย่างชัดเจนด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในความสัมพันธ์จริงๆ มันไม่ได้มีเครื่องหมายอะไรมาบอกชัดเจน ว่าใครเริ่มเป็นเพื่อนกับใครก่อน แต่ถ้าในโซเชียลเนตเวิร์ก คุณสามารถพูดได้เลยว่า “เธอมาขอเป็นเพื่อนกับฉัน” หรือ “เธออันเฟรนด์ฉัน” นี่เป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนมาก ฉันคิดว่าเรื่องพวกนี้แหละที่ทำให้อารมณ์และความคิดมันพุ่งพล่าน เพราะคุณมีเครื่องหมายบ่งบอกชัดเจน ตัวเลขจำนวนเพื่อนของคุณก็ลดลงให้เห็นได้ชัดเจน ไม่เหมือนความเป็นเพื่อนในโลกจริง ที่พอเจือจางลง คุณก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ”
ทำไมเราถึงอันเฟรนด์
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ โดยคุณคริสโตเฟอร์ สิโบน่า เขาศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 1,077 คน พบว่าเหตุผลที่คนอันเฟรนด์กันหลักๆ นั้นมีอยู่สี่ข้อ คือ
- การโพสท์เรื่องที่ไม่สำคัญ เรื่องเรื่อยเปื่อย บ่อยเกินไป
- การโพสท์เรื่องการเมืองที่เข้าข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป รวมถึงเรื่องศาสนา (polarizing posts)
- การโพสท์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เหยียดเพศ เหยียดผิว
- การโพสท์อื่นๆ เช่น โพสท์อวดลูก อวดผัวอวดเมีย (spouse) โพสท์รูปอาหาร ฯลฯ
ดร. บีวาน (ที่กล่าวถึงก่อนหน้า) ก็เคยทำงานวิจัยเพื่อหาเหตุผลไว้เช่นกัน แต่เป็นเหตุผลที่ต่างออกไป โดยหลักๆ จะบอกว่าอันเฟรนด์กันเพราะเหตุผลที่เกิดขึ้นในโลกจริงๆ (เช่น ไปผิดใจกันในโลกจริงๆ ทะเลาะกัน แล้วมาอันเฟรนด์กันในเฟซ) รองลงมาบอกว่า อันเฟรนด์กันเพราะจริงๆ แล้วไม่ได้รู้จักกัน ตามมาด้วย “ไม่รู้เหตุผลแน่ชัดว่าทำไม” และน้อยที่สุดคืออันเฟรนด์กันเพราะเหตุผลที่อีกฝั่งโพสท์อะไรที่ไม่ถูกใจ
เราอันเฟรนด์ใคร
คริสโตเฟอร์ สิโบน่า ทำการศึกษาต่อมาเพื่อหาคำตอบว่า แล้วคนที่มักจะถูกอันเฟรนด์บ่อยๆ เป็นคนที่เรารู้จัก หรือมีความสัมพันธ์กับเราแบบไหน เขาสอบถามคนอีก 1,552 คน พบว่าคนที่ถูกอันเฟรนด์บ่อยๆ มักจะเป็น เพื่อนมัธยม (18.6%) อื่นๆ (12.5%) เพื่อนของเพื่อน (11.7%) เพื่อนที่ทำงาน (10.9%) เพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (10.5%) แต่เมื่อสอบถามว่า แล้วใครกันที่อันเฟรนด์คนที่ตอบแบบสอบถาม คำตอบจะกลับกันเล็กน้อย คือถึงแม้จะ “เพื่อนมัธยม” จะนำโด่งอยู่ที่ 16.3% แต่รองๆ ลงมา นั้นตำแหน่งจะเปลี่ยนไป คือ เพื่อนที่อันเฟรนด์นั้นเป็น เพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (13.5%) เพื่อนมหาลัย (11.7%) เพื่อนที่ทำงาน (11.2%) และแฟน (เก่า) 11%
การสำรวจทั้งสองด้านให้ผลออกมาตรงกันว่า เพื่อนที่มักจะถูกอันเฟรนด์ และอันเฟรนด์คนอื่นมากที่สุด คือเพื่อนสมัยมัธยม (ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะพอโตมาแล้ว อาจจะไม่ได้ติดต่อกันอีกแล้ว และอาจจะมีการเติบโตทางด้านความคิดต่างๆ กัน ทำให้รสนิยมไม่ต้องกันอีกแล้ว)
นอกจากนั้นการศึกษายังพบว่าการอันเฟรนด์ส่วนใหญ่ จะถูกทำโดยคนที่ถูกขอเป็นเพื่อน (68.2%) มากกว่าคนที่ไปขอเขาเป็นเพื่อน (31.8%) ด้วย (หมายความว่า คนที่ไปขอเขาเป็นเพื่อนแล้วยังจะมาอันเฟรนด์เขาทีหลังนี่มีน้อยกว่า)
ผลของการอันเฟรนด์ต่อโลกจริง
สิโบน่ายังถามต่อไปอีก! เขาถามว่าผู้ตอบแบบสอบถามแล้วถูกอันเฟรนด์แล้วรู้สึกยังไง (จะให้รู้สึกดีเหรอ!) พวกเขาตอบว่า รู้สึกประหลาดใจ, รู้สึกแย่ (It bothered me.), รู้สึกขบขัน, หรือรู้สึกเศร้า โดยสิโบน่าบอกว่า ถ้ายิ่งสนิทกันแล้วโดยอันเฟรนด์ก็จะยิ่งรู้สึกแย่มากขึ้น (…ก็แหงสิ) แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจคือเขาพบด้วยว่า เพื่อนที่เคยสนิทกันมักจะอันเฟรนด์กันมากกว่าแค่คนคุ้นหน้า
นอกจากนั้น เขายังพบด้วยว่า คน 40% จะหลบลี้หนีหน้าไปจากคนที่มาอันเฟรนด์พวกเขาในเฟซบุ๊ก โดยผู้หญิงจะหลบหน้ามากกว่าผู้ชาย โดยการ “จะหลบหน้าหรือไม่หลบหน้า” นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น หลังอันเฟรนด์ได้มีการคุยกันมั้ย, อันเฟรนด์เพราะพฤติกรรมออนไลน์หรือออฟไลน์, อยู่ไกลกันอยู่แล้วหรือเปล่า?
ลิเบอรัลมักจะอันเฟรนด์เพื่อนเพราะความเห็นไม่ตรงกัน
PEW Research พบว่าคนที่ระบุว่าตนเองเป็นคอนเซอร์เวทีฟมักจะเห็นว่าโพสท์บนโซเชียลมีเดียนั้น “เข้ากับ” ความคิดของตนเอง ในขณะที่คนที่เป็นลิเบอรัลมักจะเห็นว่าโพสท์บนโซเชียลมีเดียมีหลายโพสท์ที่ไม่พ้องกับความคิดของตน ยังมีสถิติต่อมาด้วยว่าถ้าเห็นสิ่งที่ตนไม่ชอบ หรือขัดกับความคิดของตน (คนที่บอกว่าตนเป็น) ลิเบอรัลมักจะกดไฮด์ บล็อก อันเฟรนด์ หรืออันฟอลโล่ว (44%) ในขณะที่คอนเซอร์เวทีฟจะทำอย่างนั้นน้อยกว่า คือเพียง 31%
คนที่บอกว่าตนเป็นลิเบอรัล (consistenly liberal) ยังบอกว่าเคยเลิกคบกับเพื่อนเพราะเรื่องการเมือง 24% ในขณะที่คนที่ “เป็นลิเบอรัลพอประมาณ” เคยเลิกคบเพื่อนอย่างเดียวกัน 10%, คนที่มีความคิดทางการเมืองแบบผสมเคยเลิกคบเพื่อนแบบเดียวกัน 8%, “คอนเซอร์เทวีฟพอประมาณ” 9% และคอนเซอร์เวทีฟจ๋า 16%
นั่นหมายความว่าคนที่มีความคิดทางการเมืองสุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่ง จะเลิกคบกับเพื่อนมากกว่าคนที่มีความคิดเห็นกลางๆ และโดยทั่วไปแล้วคนที่พิจารณาว่าตนเองเป็นลิเบอรัล เคยเลิกคบเพื่อน (ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน) มากกว่าคอนเซอร์เวทีฟ
การเป็นเฟรนด์ในโลกกฎหมาย
หากคุณเป็นผู้พิพากษา ในบางรัฐในสหรัฐอเมริกากำหนดไว้เลยว่าคุณไม่ควรเป็นเฟรนด์กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งอาจรวมไปถึงทนายหรืออัยการด้วย แต่บางรัฐ (เช่นฟลอริด้า) ก็บอกว่า ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์นะ ช่วยไม่ได้หรอกที่จะเป็นเพื่อน (เฟรนด์) กับใครบ้าง แต่ขอให้อย่าเป็นเฟรนด์กับทนายในคดีที่ตัวเองต้องพิจารณาก็แล้วกัน
เมื่อพิจารณาในเชิงกฎหมาย จึงต้องมีการตีความกันด้วยว่าการเป็น ‘เฟรนด์’ หรือไม่เป็น ‘เฟรนด์’ กับใครนั้น มีความหมายในเชิงความสัมพันธ์บนโลกจริงๆ ไหม ซึ่งแต่ละรัฐก็มีการตีความแตกต่างกันไป เช่น เซาธ์ แคโลไรนาอนุญาตให้ผู้พิพากษาเป็นเพื่อนกับทนายและตำรวจได้ แต่ห้ามพูดถึงคดี โดยบอกว่า “ผู้พิพากษาไม่ควรถูกกันจากสังคมที่เขาอยู่” ในขณะที่เคนตักกี้ก็บอกว่าการเป็นเฟรนด์ในโซเชียลเนตเวิร์กไม่ได้บ่งชี้ถึงระดับความสัมพันธ์ในโลกจริง
เมื่อก่อน ตอนที่โลกโซเชียลเข้าสู่ชีวิตใหม่ๆ – การแยกเป็นสองระหว่างโลกโซเชียลกับโลกจริง (Dualism) ดูเหมือนจะทำให้อะไรชัดเจน
แต่ในตอนนี้ คุณก็รู้ว่าโลกทั้งสองมันพัวพันกันจนแยกไม่ออกแล้ว ทั้งหมดจึงมีความ ‘จริง’ พอๆ กันไปเสียหมด การเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนในโซเชียลเนตเวิร์ก จึงไหลรวมมาหมายความถึงการเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนในโลกจริงในบางระดับด้วย
จึงไม่แปลกที่สำหรับใครบางคน – การอันเฟรนด์เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันไม่ใช่แค่ “ความสัมพันธ์ปลอมๆ” ที่มาร์กตั้งไว้อีกแล้ว
อ้างอิง
https://www.scribd.com/document/219656395/Christopher-Sibona-Unfriending-on-Facebook-Study
https://www.theatlantic.com/technology/archive/2014/04/how-to-get-unfriended/361394/
http://www.adweek.com/digital/unfriend-chapman-study/
https://phys.org/news/2014-04-impact-facebook-unfriending.html
http://www.businessnewsdaily.com/3890-unfriend-social-media.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Friending_and_following