ถ้าหุ่นยนตร์สามารถเรียนรู้ความเจ็บปวดได้เอง คุณจะอยากลองเตะมันไหมล่ะ?
ชีวิตคือความเจ็บปวด พวกเราล้วนมีประสบการณ์แห่งความเจ็บจี๊ดพันล้านเหตุการณ์ ตั้งแต่วินาทีแรกที่คุณเกิด จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต แฟนบอกเลิก นิ้วโป้งเตะมุมโต๊ะ ประตูหนีบนิ้ว โดนโกงค่าตัว ความเจ็บคือเพื่อนสนิทคนซื่อที่พร้อมเล่นงานคุณให้เข็ดหลาบ!
แต่ความเจ็บปวดเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆ ต่อการดำรงชีวิตของพวกเรา และความเจ็บก็มีประโยชน์ มันมอบประสบการณ์อันเลวร้ายในตอนเด็กๆ เมื่อคุณทะเล่อทะล่าไปจับหม้อร้อนๆ คุณก็จดจำความเจ็บนั้นไว้ได้ และเรียนรู้ที่จะไม่จับของร้อนๆ ไปตลอดชีวิต
เมื่อหุ่นยนตร์เรียนรู้ความเจ็บ
ถ้าหุ่นยนตร์สามารถเรียนรู้ได้ว่าสิ่งไหนทำให้มันเสียหาย จนมันเลือกที่จะหลีกเลี่ยงและปกป้องตัวเองจากภัยไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป ถึงขั้นนั้นหุ่นยนตร์จำเป็นต้องรู้สึกเจ็บอีกหรือ เพราะในเมื่อเราส่งหุ่นยนตร์ไปทำภารกิจเสี่ยงตายที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายวัตถุระเบิด หรือตะลุยเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายของ “ฟุกุชิมาไดอาชิ” ในญี่ปุ่น เพราะล้วนเป็นประโยชน์จากการ “ปราศจากความรู้สึก” ด้วยทั้งสิ้น
ดังนั้นการทำให้หุ่นยนตร์เจ็บ คือการพัฒนาที่ก้าวไปข้างหน้า หรือถอยหลัง?
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Leibniz ใน Hannover กำลังศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมอบความเจ็บปวดให้หุ่นยนตร์ ซึ่งเป็นประสบการณ์สำคัญที่สัตว์โลกจำเป็นต้องมี ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของงานสัมมนาระดับนานาชาติจาก ‘สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์’ (IEEE) มีประเด็นหลักคือเรื่องหุ่นยนต์และวิศวกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติที่จัดขึ้นในกรุงสตอกโฮล์ม ได้สาธิตเทคโนโลยีความเจ็บเมื่อถูกโปรแกรมไปในหุ่นยนตร์ ด้วย Biotac Fingertip หรือการพัฒนาปลายนิ้วสัมผัสของแขนหุ่นยนตร์ให้มีเซ็นเซอร์จำลองการทำงานคล้ายเนื้อเยื่อของผิวหนังมนุษย์ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถตัดสินใจได้ว่า ความเจ็บมีความแตกต่างกันกี่ระดับ และตัวหุ่นยนตร์เองมีปฏิกิริยารับมือความเจ็บปวดที่หลากหลาย โดยสัญญาณความเจ็บจะถูกส่งเป็นคลื่นแสงความถี่สูง
เมื่อมีแรงมากระทำพื้นผิว แขนกลจะรับรู้ความไม่สบายตัวและหาทางหลบเลี่ยงจนกว่าภัยนั้นจะหายไป ตั้งแต่การหลบเลี่ยงอย่าช้าๆ จนกระทั้งโยกซ้ายขวาอย่างรวดเร็วดุจ ‘มูฮัมหมัด อาลี’ แต่หุ่นยนตร์เองจะต้องถูกโปรแกรมเพื่อไม่ตอบโต้ (Passive stance) เพื่อป้องกันความเสียหายตัวหุ่นยนตร์เอง หรือสร้างความบาดเจ็บให้มนุษย์
Johannes Kuehn และ Sami Haddaddin สองนักวิจัยให้เหตุผลว่าการทำให้หุ่นยนตร์เรียนรู้ความเจ็บปวดจำเป็นต่อการพัฒนาด้าน Robotic Engineering ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมวิจัยทดลองโปรแกรม ให้ ‘หุ่นยนตร์ต่อยคน’ (จริงๆนะ มันต่อยเลย) แต่เพื่อจุดประสงค์ให้มันเรียนรู้การคำนวณแรงกระทำที่อาจสร้างความบาดเจ็บให้มนุษย์ โดยให้มันทำคนเจ็บน้อยที่สุด (โล่งอก)
เมื่อหุ่นยนตร์รู้สึกเหมือนมนุษย์ ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์
ถ้าหุ่นยนตร์เลือกที่จะไม่จับหม้อร้อนๆ เครื่องจักรมีสำนึกถึงความปลอดภัยของตัวมันเอง และมันรับรู้ความเจ็บปวดได้เหมือนพวกเรา กฎหมายในอนาคตต้องครอบคลุมสิทธิและเสรีภาพต่อหุ่นยนตร์ด้วยหรือไม่ เพื่อให้ไม่คนในยุคหน้ารังแกหุ่นยนตร์อย่าป่าเถื่อน แล้วหากโปรแกรมที่ควบคุมมันกลับตอบโต้มนุษย์เสียเอง และเรียกร้องเสรีภาพจากการกดขี่ สงครามระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรจะเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า
เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ แต่ที่แน่ๆ วิศวกรรมหุ่นยนตร์กำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และนักวิจัยต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ทางสังคมที่หมิ่นเหม่และปวดหัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกินปรัชญาแห่งวิศวกรรมจะรับมือได้ ยิ่งทำให้อนาคตเป็นเรื่องท้าทายและน่าติดตาม
หรือหุ่นยนตร์เรียนรู้ความเจ็บปวดที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำต่อร่างกาย แต่เป็นบาดแผลทางใจ
เมื่อเวลานั้นมาถึงหุ่นยนตร์จะอกหักได้หรือเปล่า และคุณอาจจะต้องมานั่งสงสัยตัวเองว่า
“นี่ถึงเวลาที่ต้องมานั่งปลอบหุ่นยนตร์กันแล้วหรือ”