ร่างกายของคุณคือแผนที่อันเต็มไปด้วยการเดินทางและเรื่องราวของชีวิต แม้ดวงตาเปล่าๆ ของคุณจะมองไม่เห็น แต่ตามร่างกายยังมีสรรพชีวิตที่งดงามและร้ายกาจใช้ชีวิตร่วมไปกับคุณ—มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ถักทอเรื่องราวอยู่เพียงคนเดียว
พวกมันอยู่ในไรฟัน วิ่งเล่นอยู่ในท้อง นอนกินจุอยู่บนเส้นผม หรือซุกตัวอบอุ่นอยู่ใต้รักแร้ บางตัวทำให้คุณมีกลิ่นเหม็นจนเพื่อนเกลียด แต่อีกมากที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ฟิตเปรี๊ยะ คุณอยากรักษามันไว้พอๆ กับอยากกำจัดพวกมันเสียเหลือเกิน
‘เมืองจิ๋ว’ ตามร่างกายมีอิทธิพลกับตัวคุณมากกว่าที่คาดคิด เมืองเล็กๆ นี้มักเต็มไปด้วย ‘ชีวนิเวศจุลชีพ’ หรือ ไมโครไบโอม (microbiome) มีทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ไปจนถึงไวรัสที่อาจจะมีปริมาณมากถึง 50 ล้านล้านชีวิต พวกมันอาศัยเบียดเสียดในร่างกายมากกว่าเซลล์มนุษย์ที่คุณเป็นเจ้าของด้วยซ้ำ
เรามากางแผนที่ตัวคุณและสำรวจเมืองจิ๋วหลิวเหล่านี้ที่ทั้งประกาศสงครามและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกันตลอดเวลา
หัวเมืองในร่างกายบ่งบอกความเป็นตัวคุณได้อย่างมหัศจรรย์
1. ขึ้นเหนือสุดสู่เมือง ‘หนังศีรษะ’
เราขับขึ้นเหนือสุดมายังกลางกระหม่อม ป่าผมดกดำหนาแน่น (แต่บางคนก็ล้านโล่ง) เป็นที่อาศัยของจุลชีพน่าสำรวจ
บนหนังหัวของคุณมีน้ำมันเพื่อรักษาสมดุลให้เส้นผมเงางามซึ่งยีสต์สกุล Malassezia อาศัยน้ำมันนี้เป็นอาหาร จากนั้นมันจะปล่อย ‘กรดโอเลอิก’ (oleic acid) กรดไขมันที่พบมากที่สุดในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายมนุษย์เป็นอันดับ 2 รองจากกรดปาล์มิติก ที่พอแห้งกรังก็จะกลายเป็นรังแคขาวๆ นั่นเอง
ยีสต์มาลาสซีเซียอยู่คู่กับสัตว์เลือดอุ่นมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ พวกมันสามารถมีชีวิตร่วมกับโฮสต์ได้โดยไม่สร้างปัญหาเดือดร้อน ซึ่งสุขภาพผิวที่ดีก็มาจากสมดุลของมาลาสซีเซียที่ช่วยปกป้องคุณจากจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายอื่นๆ นักวิจัยพบว่า หากระบบภูมิคุ้มกันเริ่มอ่อนแอหรือมีสมดุลลดลง เจ้ามาลาสซีเซียอาจก่อโรคเล่นงานคุณได้เช่นกัน—โรค ‘กลากเกลื้อน’ ไงล่ะ
2. เลี้ยวเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองของ ‘สมอง’
สมองของคุณเป็นอวัยวะที่อ่อนไหวต่อการตอบสนอง แต่ตัวมันเองมีเกราะป้องกันสุดล้ำลึกคล้ายด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ช่วยไม่ให้ถูกรุกรานได้ง่ายๆ
เมื่อ 100 ปีที่แล้วมีการทดลองฉีดสารสีฟ้าเข้าไปในร่างกายของสัตว์ทดลอง ผลลัพท์ที่ออกมาต่างทำให้นักวิทยาศาสตร์ตกตะลึง เมื่อเนื้อเยื่อเกือบทั้งหมดของสัตว์เปลี่ยนเป็นสีฟ้ายกเว้นสมองและไขสันหลังเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนไปด้วย
เหตุการณ์นั้นเป็นครั้งแรกที่วิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สิ่งมีชีวิตมีกลไกป้องกันไม่ให้ผู้บุกรุกเดินทางจากเลือดเข้าสู่สมองได้ กลไกนี้ถูกตั้งชื่อว่า blood brain barrier (BBB) ประกอบด้วยโครงสร้างของผนังเซลล์หลอดเลือดฝอยที่กั้นสารโมเลกุลใหญ่ไม่ให้ทะลุผ่าน แต่อนุญาตให้สารโมเลกุลเล็กๆ บางชนิดผ่านได้ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ฮอร์โมนสเตอรอยด์ ซึ่งกลไก BBB ค่อนข้างแม่นยำทีเดียว
แต่ยอดแบคทีเรียไม้เบื่อไม้เมาของคุณ Streptococcus pneumoniae สามารถหนีการคัดกรองของ BBB ได้อย่างแยบยล และเข้ามาทำลายสมองจนก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) อันน่าหวาดกลัว ยิ่งไปกว่านั้นในแพทย์ปัจจุบันยังพบเชื้อ Streptococcus pneumoniae ที่ดื้อยากลุ่มเพนิซิลลินสูงขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นความกลุ้มใจด้านสาธารณะสุขที่ต้องคอยเตือนตัวเองเสมอว่า ‘ยาปฏิชีวนะ’ อย่ากินซี้ซั้ว!
3. จอดแวะแพะเมืองผีบน ‘ผิวหน้า’
แม้ผิวหน้าคุณจะเป็นพื้นที่ที่คุณให้ความสำคัญมากที่สุด แต่ผิวหน้าก็คึกคักไปด้วยประชากรแบคทีเรียหนาแน่น โดยเฉพาะความวิตกกังวลจากแบคทีเรีย Propionibacterium acnes หากชื่อท้ายคุ้นๆ ก็เพราะพวกมันชอบก่อการกบฏให้เกิด ‘สิว’ ที่ขึ้นบนหน้าใครก็ได้ แต่อย่ามาขึ้นที่หน้าฉันเป็นพอ
เมื่อรูขุมขนบริเวณผิวหน้ามีฝุ่นผงหรือสะเก็ดผิวหนังที่แห้งตายมาอุดตันมากๆ บวกกับสมดุลน้ำมันซีบัม (sebum) ที่มากเกินไป เจ้าประชากรแบคทีเรียรายนี้จะเริ่มกินน้ำมันซีบัมที่ตัวมันชื่นชอบเป็นพิเศษ และจะกินเฉยๆ ก็ไม่เร้าใจซะงั้น มันจึงปล่อยสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณรู้ขุมขน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวนี่เอง
4. หยุดเที่ยวใน ‘ช่องปาก’ คลับปาร์ตี้ที่ไม่มีวันเลิก
ในช่องปากของคุณเปรียบเสมือนปาร์ตี้สุดวิปลาสที่อุดมไปด้วยแสง-สี-เสียง ราวกับเป็นมหกรรมบันเทิงที่ไม่มีวันหยุดของจุลชีพน้อยใหญ่ แต่เจ้าตัวที่ตะกละและค่อนข้างอันธพาลในช่องปากของคุณคือแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่ทนกรดได้สารพัด เจ้าแบคทีเรียตัวนี้จะเข้าไปในเหงือก ไรฟัน และเกาะที่ผิวเคลือบฟัน ทำให้เกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์ขึ้นบนส่วนต่างๆ ของช่องปากเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ที่มีความเหนียวหนึบยึดเกาะเป็นเลิศ
แค่นั้นยังไม่พอ ระหว่างที่ไปเกาะแบคทีเรียนี้ยังสามารถปล่อยกรดที่ทำให้แร่ธาตุในฟันเกิดการละลายตัวและนำไปสู่การเกิดโรคฟันผุ เพราะแบบนี้เองจึงจำเป็นมากๆ ที่คุณจะต้องเรียนรู้การแปรงฟันอย่างถูกวิธีเพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ก่อตัวเป็นแผ่นฟิล์มก่อนที่มันจะกลายเป็นหินปูน
แล้ว ‘กลิ่นปาก’ ของคุณล่ะ ใครเป็นตัวการรับผิดชอบ? ก็ต้องแบคทีเรียร่วมก๊วน Solobacterium moorei ที่อาศัยอยู่ในลิ้นและน้ำลาย พวกมันเปลี่ยนโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ‘ซัลเฟอร์’ ที่มาของกลิ่นไม่พึงปรารถนายังไงล่ะ
5. หลงทางในวงเวียนอันแออัดใต้ ‘วงแขน’
วงแขนของคุณมีการจราจรของจุลชีพแออัดตลอดเวลาจนถือเป็นจุด ‘ห้ามพลาด’ เป็นฮอตสปอตยิ่งกว่าอนุเสาวรีย์ของจุลชีพ เพราะมันทั้งเปียกชุ่ม อับชื้นตลอดเวลา แต่ก็น่าอยู่อาศัยทีเดียว (ถ้าคุณเป็นแบคทีเรียอะนะ)
Staphylococcus hominis เป็นแบคทีเรียเจ้าถิ่นที่พบได้ในวงแขน พวกมันกินเหงื่อและผิวหนังที่ตายแล้ว จากนั้นจะปล่อยโมเลกุลที่มีกลิ่นเฉพาะตัว thioalcohol ซึ่งแต่ละคนจะมี ‘กลิ่นเต่า’ ที่ไม่เหมือนกันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก่อให้เกิดกลิ่นกายที่บ้างก็มีเสน่ห์ในบางโอกาส ช่วยดึงดูดเพศตรงข้าม แต่บางจังหวะที่ต้องโหนรถไฟฟ้าก็ไม่ไหวเอาเหมือนกัน
แม้แบคทีเรีย Staphylococcus hominis จะทำให้คุณปวดหัวกับกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่มันก็ไม่ทำอะไรร้ายแรงไปกว่านี้ ยกเว้นผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัด (chemotherapy) ซึ่งมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนแบคทีเรียนี้สามารถก่อโรคได้
6. ตรงดิ่งสู่มหานคร ‘กระเพาะอาหาร’
มหานครแห่งจุลชีพที่วุ่นวายไม่ต่างจากเมืองหลวง อุดมไปด้วยจุลชีพร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งผู้ดีและผู้ร้าย ซึ่งหน่วยสันติบาลที่คอยปกป้องคุณคือ Bacteroides fragilis เจ้าพวกนี้ถือสัตย์ปฏิญาณว่าจะปกป้องคุณ และหาสมดุลด้วยการควบคุมประชากรจุลชีพอื่นๆ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแข็งแรง
แต่อย่าให้พวกมันเข้าไปในระบบเลือดของคุณเป็นอันขาด ตำรวจที่ว่าดีก็ร้ายใช่ย่อย หากอยู่ผิดที่ผิดทางก็ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ในท้องถนนยังมี Bacteroides thetaiotaomicron แบคทีเรียที่ทำตัวเหมือนเทศบาล ช่วยย่อยสลายพืชผักที่กระเพาะของคุณไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้ไม่ท้องอืด และช่วยจัดการส่งธาตุอาหารไปมอบให้คุณได้ดียิ่งขึ้น
ส่วน Bifidobacterium longum จะทำหน้าที่ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ละเอียดขึ้น และปกป้องคุณจากการพยายามรุกล้ำร่างกายของศัตรูที่มากับอาหารสุกๆ ดิบๆ และไม่สะอาด หากมันเอาชนะได้ คุณก็สามารถลดความเสี่ยงจากอาการอาหารเป็นพิษหรือท้องเสียจากเจ้านักเลงหัวไม้ Escherichia coli คู่ปรับของกระเพาะคุณ หรือรู้จักกันดีในชื่อ E. coli กลุ่มอันธพาลที่ขยายอิทธิพลได้รวดเร็วจนทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน
จะเห็นได้ว่าในมหานครนี้ทุกคนทำงานกันอย่างคึกคัก หากใครเริ่มขี้เกียจ ก็เตรียมนอนป่วยยาวๆ ได้เลย
7. สำรวจพื้นที่เร้นลับตาม ‘อวัยวะเพศ’
พื้นที่แห่งนี้เรารู้ว่ามี แต่ไม่ค่อยได้ปรากฏต่อสาธารณะ บริเวณที่เป็นดั่งสวรรค์ของจุลชีพนี้มีทุกอย่างที่พวกมันต้องการ ทั้งความอุ่นสบาย มืดมิด และความชื้น โดยเฉพาะอวัยวะเพศหญิงที่มีจุลชีพตัวสำคัญอย่างสกุล Lactobacillus โดยมีหลายสายพันธุ์ อาทิ crispatus, gasseri, iners, jensenii และอีกมากมายที่ช่วยดูแลพื้นที่แห่งนี้ด้วยกรดแลคติก ควบคุมระดับความเป็นกรดด่าง (pH) ให้อยู่ในระดับสมดุล และปกป้องการรุกรานจากศัตรูภายนอก
น่าสนใจว่าแบคทีเรียสกุล Lactobacillus เป็น ‘ชีวนิเวศจุลชีพแห่งแรก’ ที่เด็กเกิดใหม่จะได้ติดตัวมาด้วย ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่รุนแรงเกินไปจะทำให้ประชากรใฝ่ดีของคุณอยู่กันลำบาก อ่อนแอ และสมดุลเสีย จนจุลชีพอื่นสามารถเข้ามาทำให้เกิดการติดเชื้อได้
8. เมืองที่ดีประชากรต้องหลากหลาย
จุลชีพมีอิทธิพลโดยตรงต่อสุขภาพของคุณ แต่ละสายพันธุ์มีพฤติกรรมต่างกัน ไม่น่าแปลกใจที่ร่างกายของพวกเราเป็น ‘พื้นที่ชีวิต’ ของสิ่งอื่นๆ ได้มหาศาล ราว 70-90% ของเซลล์ในร่างกายเป็นของแบคทีเรียที่อาจมีมากถึง 10,000 ชนิด
เรามีวิวัฒนาการร่วมกันกับเหล่าจุลชีพตั้งแต่วันแรกที่เกิด จวบจนวันสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป
เฉลิมฉลองให้กับพื้นที่ที่คุณแชร์ร่วมกันกับผู้อื่น ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่อยู่อย่างเดียวดาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- PROPIONIBACTERIUM ACNES AND CHRONIC DISEASES
- Streptococcus mutans-Tooth Decay
- Solobacterium moorei Bacteremia: Identification, Antimicrobial Susceptibility
- Staphylococcus hominis subsp. novobiosepticus, an emerging multidrug-resistant bacterium,