การประท้วงในฮ่องกง ลากยาวจนกำลังจะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 แล้ว โดยตลอดเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ระหว่างการประท้วงหลายครั้ง ทั้งการชุมนุมเดินขบวนที่ผู้จัดอ้างว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 1.7 ล้านคน การเข้าบุกยึดรัฐสภา การปะทะ ยิงแก๊สน้ำตาระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมถึงการปิดสนามบินฮ่องกง จนกระทบการบินเข้าออกด้วย
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดบริเวณไหนบ้าง การชุมนุมนัดรวมตัวกันตรงไหน เดินไปที่ไหนบ้าง The MATTER ได้ทำแผนที่ขนาดย่อ พาไปดูฮ่องกง (รวมถึงพื้นที่บางส่วนของจีน)ว่าเหตุการณ์ชุมนุมตลอด 12สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นที่ไหน จุดไหนบ้าง
Victoria Park– จุดแลนมาร์กของการนัดชุมนุมประท้วง
สวนสาธารณะวิคตอเรียน ปาร์กบริเวณแถบ Causeway Bayที่เป็นจุดแลนด์มาร์กที่ผู้ประท้วงมักนัดมารวมตัวชุมนุมกัน ซึ่งตั้งแต่ 9 มิถุนายน ที่เป็นวันแรกของการชุมนุมจนถึงการชุมนุมในสัปดาห์ที่11 หรือครั้งล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีผู้ชุมนุมกว่า 1.7 ล้านคนออกมา ต่างก็นัดพบ และเริ่มต้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้
ผู้ชุมนุม มักจะรวมตัวตามถนนบริเวณนั้น และยาวไปจนถึงแถบCentral ซึ่งมีระยะทางประมาณ4 กิโลเมตร และเดินไปเรียกร้องรัฐบาลบริเวณนั้น
Central (Government Area) – บริเวณสถานที่ราชการที่ผู้ชุมนุมมักไปเรียกร้อง
ย่านเซ็นทรัล ของฮ่องกง เป็นย่านธุรกิจและศูนย์กลางการค้าของฮ่องกง ที่เต็มไปด้วยตึก ห้าง และโรงแรม ทั้งดิดอ่าววิคตอเรีย ซึ่งนอกจากนี้ ยังเป็นบริเวณที่มีสถานที่ราชการหลายแห่ง ทั้งทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแครี่ แลม ผู้ว่าเกาะฮ่องกง, สำนักงานรัฐบาลกลาง, รัฐสภา, และกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งสถานที่เหล่านี้ ล้วนเป็นปลายทางที่ผู้ชุมนุมเดินไปประท้วง เพื่อแสดงเจตจำนงในข้อเรียกร้องต่างๆขอให้ยกเลิกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไม่จนถึงให้แลม ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งบริเวณเหล่านี้ ยังเกิดการปะทะกับตำรวจบ่อยครั้งด้วย รวมถึงเกิดเหตุการณ์บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ผู้ชุมนุมเข้าไปพ่นสเปรย์ทับสัญลักษณ์ตรา ชูธงชาติสมัยบริติชฮ่องกง จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วย
The Shenzhen Bay Sport Centre – พบเห็นกองกำลังตำรวจ ทหารจีน และรถหุ้มเกราะ
ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีภาพถ่ายจากดาวเทียมที่พบเห็นกองกำลังตำรวจและทหารจีน(PAP) รวมถึงรถหุ้มเกราะหลายสิบคันจอดอยู่บริเวณสนามกีฬาThe Shenzhen Bay Sport Centreที่เซินเจิ้น เมืองชายแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ ริมฝั่งตรงข้ามเกาะฮ่องกงและห่างจากShenzhen Bay Bridge สะพานที่เชื่อมเซินเจิ้น และฮ่องกงด้วย
สื่อในจีน ยืนยันว่า รถหุ้มเกาะ และทหาร เป็นหนึ่งในแผนการฝึก ที่ถูกส่งมาเพื่อฝึกซ้อมทางทหาร และไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นฮ่องกง แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า กองกำลังเหล่านี้อาจเข้ามาในฮ่องกงเพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วง หากยังคงยึดเยื้อ
Hong Kong Airport – มอบบุกยึดสนามบิน ปิดการบินเข้า-ออก
ผู้ชุมนุมฮ่องกงเคยปิดล้อม และชุมนุมบริเวณสนามบินฮ่องกงมาแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้ประท้วงบริเวณที่สนามบินอีกครั้ง จนมีการยกเลิกเที่ยวบินขาออกกว่า 180 เที่ยวบิน เป็นเวลากว่า 2 วัน ทั้งการจราจรนอกสนามบินยังเป็นไปอย่างติดขัด รวมถึงนักท่องเที่ยวที่สับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
บรรยากาศในสนามบินก็มีผู้ชุมนุมที่เดินทางไปเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆแต่ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์โดยส่วนใหญ่ก็เป็นไปโดยสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง โดยผู้ชุมนุมได้พยายามสื่อสารให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ถึงข้อมูลการประท้วง และเหตุผลของการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็เกิดความวุ่นวาย หลังผู้ชุมนุมจับตัวชายคนหนึ่ง ที่คาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ และชายผู้สวมเสื้อกั๊กสีสะท้อนแสงไว้ด้วย ก่อนที่การชุมนุมจะคลี่คลาย และสลายไปในคืนวันที่ 14 สิงหาคม
Yuen Long District – บริเวณที่ชายชุดขาวปรากฏตัว โจมตีประชาชน และผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจ
Yuen Long เป็นเขตที่อยู่ทางตอนเหนือของฮ่องกง และใกล้กับเขตแดนจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 7 ของการชุมนุม กลุ่มผู้ประท้วงได้นัดชุมนุมกันที่บริเวณนั้น แต่ในช่วงกลางดึก หลังที่ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายแล้ว เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อขาวได้เข้าทำร้ายผู้ชุมนุมที่ใส่เสื้อสีดำ และประชาชน ตีด้วยอาวุธ บริเวณรถไฟฟ้าใต้ดิน จนประชาชนได้รับบาดเจ็บ 45 ราย
ทั้งนอกจากนี้ ยังมีเหตุการปะทะของเจ้าหน้าที่ กับผู้ชุมนุม ที่มีการยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยางสเปรย์พริกไทยใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมก็ตอบโต้ด้วยการขว้างก้อนอิฐและวัสดุอื่นใส่กัน จนเป็นการโจมตีที่ดุเดือดด้วย
Kowloon (Ex.Tsim sha tsui,Sham Shui Po, Mongkok) –จุดชุมนุม ที่เกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่
เกาลูน เป็นพื้นที่ที่เคยรวมตัวของการปฏิวัติร่ม ในปี 2014 มาแล้ว และในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมเองก็มักนัดรวมตัวในบริเวณนี้เช่นกัน ทั้งในจิมซาจุ่ย ซัมชุยโป มงก๊ก และบริเวณอื่นๆ โดยรอบ ที่นอกจากการรวมตัว ยังเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประท้วงบ่อยครั้ง
โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ระหว่างวันที่ 2-5 ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงได้ปิดทางข้าอุโมงค์ข้ามอ่าว (Cross Harbour Tunnel) ที่เชื่อมระหว่างเขตเกาลูนและฮ่องกงไว้ จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ จนมีประชาชนกว่า 20 คน ที่ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดรวมถึงการชุมนุมที่ผิดกฎหมายในบริเวณนี้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะด้วย
อ้างอิงจาก