เวลาเห็นว่าคน ‘ของขึ้น’ กันเยอะๆ พร้อมกันในพิธี ‘ไหว้ครู’ ก็มักเกิดคำถามขึ้นมา
บางคนเกรี้ยวกราด บางคนวิ่งพล่าน บางคนร้องไห้ บ้างว่าท่าทางของแต่ละคนที่ของขึ้นจะขึ้นอยู่กับรอยสักที่พวกเขามี บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องงมงาย มีคำอธิบายอะไรสามารถเล่าถึงปรากฏการณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งแสดงออกพฤติกรรมที่ผิดแปลกออกไปจากที่เขาเป็นในชีวิตประจำวันในรูปแบบเดียวกันพร้อมๆ กัน? ถ้ามันไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วมันจะเป็นอะไรไปได้?
เรื่องราวและภาพเหล่านี้เป็นภาพชินตาที่เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่จริงๆ แล้วมันอาจเบื้องหลังที่มากกว่าที่เราเห็น ในประวัติศาสตร์มีเหตุกาณณ์รูปแบบคล้ายๆ กันนับไม่ถ้วน หมู่บ้านที่หัวเราะไม่หยุด ชาวบ้านยุคกลางผู้ไม่สามารถหยุดเต้นได้ หรือการพบเห็นจานบินทั่วโลก มันมีชื่อเรียกว่า Mass psychogenic illness (MPI) หรือ Mass Hysteria ภาวะทางจิตที่ส่งต่อระหว่างคนสู่คนโดยไม่ได้ผ่านพาหะนำโรคอะไร แต่ผ่านจิตใจ
วันนี้ลองไปดู 5 กรณีของ ‘อุปาทานหมู่’ ในประวัติศาสตร์ที่อาจอธิบายเกี่ยวกับภาวะการของขึ้นเป็นหมู่คณะได้
โรคหัวเราะระบาดจนต้องปิดโรงเรียน (แทนกันยีกา, 1962)
หลังจากประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิบริติชในปี 1962 บรรยากาศทางสังคมของแทนกันยีกา (ปัจจุบันคือแทนซาเนีย) มีความตึงเครียดสูงบวกเข้ากับความเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสอย่างมาก อยู่ๆ วันหนึ่งนักเรียนหญิงในโรงเรียนหญิงล้วนที่หมู่บ้านคาชาช่าก็หัวเราะออกมากลางห้องเรียน และในไม่ช้าเพื่อร่วมห้องของเธอก็หัวเราะออกมาตาม โดยจากนักเรียน 159 คน มีนักเรียนถึง 95 คนที่หัวเราะเป็นชั่วโมงๆ บางกรณีนานถึง 16 วัน และในขณะเดียวกันบุคลากรก็ได้รับกระทบนี้ด้วย นักเรียนไม่สามารถโฟกัสกับการเรียนได้จนต้องปิดโรงเรียน และหลังจากนั้นอาการดังกล่าวแพร่ไปยังโรงเรียนในหมู่บ้านอื่นๆ ถึง 14 โรงเรียน ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากโรคหัวเราะระบาดนี้ราวๆ 1,000 คน และใช้เวลากว่า 18 เดือนจึงจะหมดไป
Mass hysteria นั้นสามารถแสดงอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ปวดหัว วิงเวียน คอแห้ง คลื่นไส้ ไปจนการหายใจลำบาก ความวิตกกังวล ไม่สามารถโฟกัสได้นาน ไม่อาจขยับตัวได้ และในกรณีนี้คือ ‘การหัวเราะ’
อารามแม่ชีร้องเหมียว (ฝรั่งเศส, ศตวรรษที่ 14)
ในการบันทึกโดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน โยฮันน์ ซิมเมอร์มานน์ (Johann Zimmermann) เขาเขียนเกี่ยวกับอารามแม่ชีแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่ 14 ว่า เป็นอารามที่มีแม่ชีมากกว่าอารามทั่วไป เพราะอยู่มาวันหนึ่ง แม่ชีคนหนึ่งก็เริ่มร้องว่า ‘เหมียว (mew)’ ออกมา มีงานเขียนเกี่ยวกับโรคระบาดในยุคกลางโดยเบนจามิน บาบิงตัน (Benjamin Babington) ที่เล่าต่อจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่าทั้งอารามชีเริ่มร้องเหมียวตามแม่ชีรายแรกเป็นชั่วโมงๆ ต่อวัน และเมื่อทำไปหลายๆ วันเข้า ชุมชนรอบข้างตะลึงกับ ‘คอนเสิร์ตแมวประจำวัน’
ในขณะที่หลักฐานและคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมีอยู่น้อยนิด มีความเป็นไปได้ว่านี่คือ หนึ่งในเหตุการณ์ mass psychogenic illness ที่เกิดจากความตึงเครียดจากกรอบและกฎเกณฑ์อันคับแคบของการเป็นแม่ชีที่ต้องรักษาพรหมจรรย์ของตัวเอง พร้อมกับอีกกฎข้อห้ามและระเบียบอีกมากมาย นอกจากนั้นยังมีค่านิยมของการเป็นผู้หญิงในศตวรรษที่ 14 ด้วย
คน 400 คนเชื่อว่าโดนวางยาพิษในการชุมนุมทางการเมือง (จอร์เจีย, 1989)
ในช่วงการชุมนุมต่อต้านสหภาพโซเวียต ณ ประเทศจอร์เจียเมื่อ 1989 มีข่าวลือว่าทางการรัสเซียใช้แก๊สพิษคลอโรพิครินใส่นักศึกษาผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านพวกเขา หลังจากข่าวลือดังกล่าวแพร่กระจาย มีการรายงานจากนักเรียน 400 คนในโรงเรียนใกล้บริเวณการชุมนุมว่ามีอาการการเจ็บป่วยแบบเดียวกันกับที่สามารถเกิดจากแก๊สพิษดังกล่าวได้ เช่น ปวดท้อง แสบตา แสบผิว และเจ็บคอ แต่เมื่อได้รับการเข้าตรวจแล้ว พบว่าไม่มีสารพิษอะไรอยู่ในร่างกายทั้งสิ้น
งานวิจัยที่รวบรวมวิธีการต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ mass hysteria ได้ชื่อ Protean nature of mass sociogenic illness โดย โรเบิร์ต บาร์โธโลมิว (Robert Batholomew) และ ไซมอน เวสเซอร์ลีย์ (Simon Wessely) สันนิษฐานว่าอุปาทานหมู่รูปแบบดังกล่าวเกิดจากการรายงานข่าวอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับประเด็นการใช้แก๊สพิษ บวกเข้ากับข่าวลือสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คน และการแพร่กระจายโดยสื่อนี้ทำให้มันเกิดซ้ำขึ้นไปได้เรื่อยๆ และกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในอดีตมาบ่อยครั้งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือจะหลังการก่อการร้ายด้วยสารซารินโดยลัทธิโอม ชินรีเกียว
ไม่จำเป็นต้องโดนเจ้าเข้าจริง ไม่จำเป็นต้องโดนวางยาจริง ไม่จำเป็นต้องเห็นยูเอฟโอจริง มีเพียงความเชื่อก็ก่อให้เกิดอุปาทานหมู่ได้
The Dancing Plague โรคเต้นไม่หยุดจนตาย (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์, ศตวรรษที่ 14-17)
อย่างสุดท้ายที่เราจะนึกถึงเมื่อเราพูดถึงไพร่ในยุคกลาง คือปาร์ตี้กลางท้องถนน The Dancing Plague จึงดูเป็นคอนเซ็ปต์ที่แปลกประหลาดอย่างมากเมื่อเรานึกภาพตาม โรคเต้นไม่หยุดจนตายเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ที่ในปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี โดยมากจะเริ่มจากประชาชนสักคนเริ่มเต้นอยู่บนท้องถนนในเมืองหรือที่ไหนสักที่โดยไม่มีท่าทีจะหยุด แล้วหลังจากนั้นก็จะเริ่มมีคนอื่นๆ ตามเข้ามาร่วมเต้นกันด้วยข้ามวันข้ามคืน โดยในครั้งหนึ่งที่เมืองสตราสเบิร์ก มีประชาชนร่วมเต้นกันราวๆ 400 คนไม่หยุดเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนมีผู้เต้นเสียชีวิต
ณ ขณะนั้น คำอธิบายแรกในสมัยนั้นคือการโดนวิญญาณผีร้ายเข้าสิง แต่ในปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นส่วนผสมระหว่าง mass hysteria ที่กำเนิดจากความตึงเครียดและคุณภาพชีวิตของไพร่ยุคกลางผสมเข้ากับอาหารที่ปนเปื้อน อาหารดังกล่าวคือขนมปังไรย์ที่มักโดนเชื้อราเออร์กอตปนเปื้อน โดยเชื้อราดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่ได้รับมันเข้ากระแสเลือดอาเจียน ท้องเสีย และชัก แต่ที่สำคัญคือมันทำงานลักษณะคล้ายยา LSD อีกด้วย ทำให้ผู้ที่ได้รับมัน ‘เมา’ และอาจนำไปสู่การเต้นที่ไม่หยุดหย่อนได้
แพนิคแบบ Y2K (ค.ศ. 1999)
ก่อนจะเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน สิ่งที่เราคุ้นเคยที่สุดเกี่ยวกับคำว่า Y2K หรือ Year 2000 คือข่าวว่าการเข้าสู่สหัสวรรษใหม่จะทำให้ระบบการทำงานคอมพิวเตอร์ทั่วโลกล้มเหลวเนื่องจากคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถแยกออกระหว่างปี 2000 กับ 1900 ได้ และมันจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับขนาดใหญ่ทั่วโลก อินเทอร์เน็ตใช้การไม่ได้ และความล่มสลายของสังคมมนุษย์ที่เรารู้จัก บวกกับการรายงานข่าวและทอล์กโชว์จำนวนมากตีข่าวเรื่องนี้อย่างหนัก พร้อมกับสหรัฐฯ ใช้งบประมาณราวๆ 134 ดอลลาร์ในการพยายามแก้ปัญหา Y2K ความแพนิกดังกล่าว นำไปสู่การกักตุนอาหาร กักตุนน้ำ สร้างหลุมหลบภัย ฯลฯ
ในขณะที่อุปาทานหมู่ที่เราคุ้นชินมักเกิดขึ้นในกลุ่มเล็กๆ รูปแบบอุปาทานหมู่ระดับสังคมไม่เคยหายห่างออกจากเราไปไหนเลย ไม่ว่าจะการตุนน้ำตุนอาหารตุนกระดาษทิชชู่เพื่อเตรียมตัววันสิ้นโลก การพบเห็น UFO เมื่อเราเห็นข่าวเกี่ยวกับมันมากๆ หรือการล่าแม่มดในยุคกลางเพราะความเชื่อที่ได้รับมา
อ้างอิงจาก
education.nationalgeographic.org
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Proofreader: Runchana Siripraphasuk