วิธีรักษาทางการแพทย์อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยบางราย หรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาแบบทั่วไปได้ บางครั้งการหันมาพึ่งสิ่งที่ ‘เชื่อมั่น’ ว่าอาจจะเป็นยารักษาโรคได้ จึงทำให้อาการของพวกเขาดีขึ้นแทน
ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีข่าวเกี่ยวกับการรักษาโรคที่ชวนให้สงสัยเกิดขึ้นมากมาย แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบก็แล้ว มีผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายก็แล้ว หรือมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยพิสูจน์ก็แล้ว แต่ก็ยังมีข่าวประเภท ‘ดื่มปัสสาวะรักษาโรค’ หรือ ‘แตะบัตรพลังงานแก้ปวดเมื่อย’ ผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ แถมวิธีเหล่านี้ผู้ใช้หลายรายเองก็บอกว่าได้ผลจริงอีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าที่พวกเขาพูดมานั้นจริงแค่ไหนหรืออาจคิดไปเอง แต่ที่แน่ๆ ทางการแพทย์มีคำอธิบายให้กับภาพรวมของปรากฏการณ์นี้
เมื่อจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว
บางครั้งความเชื่อก็มีพลังมากพอที่จะทำให้เราหายจากโรคภัยไข้เจ็บ หลายคนอาจจะงงว่าเป็นไปได้อย่างไร? แต่ถ้าหากใครเคยดูรายการทีวีของอังกฤษที่ชื่อ ‘วันสิ้นโลกและความกลัว’ (Apocalypse and Fear) บน Netflix ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการเป็นนักอ่านใจระดับโลกอย่าง แดร์เรน บราวน์ (Derren Brown) ก็คงจะร้องอ๋อกับชื่อ ‘ยาหลอก’ (Placebo) ยามหัศจรรย์ที่บางครั้งวงการแพทย์เลือกใช้ในการรักษาผู้ป่วย
ยาหลอก ชื่อก็บอกตรงตัวว่าไม่ใช่ยาจริง ไม่ส่งผลใดๆ ทางการแพทย์ นอกเหนือไปจากการหลอกให้ผู้ป่วยคิดว่าพวกเขากำลังได้รับการรักษาเท่านั้น ยาหลอกเป็นเพียงแค่ยาหรือแคปซูลที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาล ซึ่งแพทย์นิยมใช้ในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช โดยอาศัยอิทธิพลทางจิตวิทยาและความเชื่อของผู้ป่วยเป็นหลัก
แดร์เรนได้ทดลองใช้ยาหลอกกับผู้เข้าร่วมจำนวนหลายสิบราย โดยให้ยาชื่อ ‘รูไมโอดิน’ (Rumyodin) ที่อ้างว่ามีสารบางอย่างในการช่วยลดความกลัว ด้วยรูปทรงแคปซูลและเป็นสีฟ้า (สีที่ทำให้รู้สึกสงบ) ยารูไมโอดินจึงทำให้ผู้เข้าร่วมเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันคือยากำจัดความกลัวของจริง
การสร้างความน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ยาหลอกประสบความสำเร็จ นอกจากรูปร่างของตัวยาที่มีผลต่อการหลอกผู้เข้าร่วมทดลอง ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่แดร์เรนจัดฉากขึ้นเพื่อโน้มน้าวกลุ่มตัวอย่างของเขา อย่างการให้ผู้เชี่ยวชาญที่ดูน่าเชื่อถือมาอธิบายคุณสมบัติและกระบวนการทำงานของยา พร้อมทั้งมีคลิปวิดีโอประกอบการอธิบาย และตอกย้ำประสิทธิภาพของยา ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทดลองได้พบปะพูดคุยกับคนที่เคยใช้ยาแล้วได้ผลตอบรับที่ดี (แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็ถูกจัดฉากขึ้นเช่นเดียวกัน)
หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมทดลองก็ได้รับยารูไมโอดินมากิน เมื่อผ่านไปหลายวันก็พบว่า บางคนจากที่กลัวความสูง ก็สามารถยืนอยู่บนสะพานสูงได้โดยไม่เวียนหัวหรือคลื่นไส้ บางคนที่ติดบุหรี่ ก็สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 18 วัน (ตามระยะเวลาที่ได้รับการทดลอง) บางคนที่กลัวการเผชิญหน้ากับผู้คน ก็สามารถพูดคุยและจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่จะตอบสนองกับยาหลอก
แดร์เรนอธิบายว่า เหตุที่ทำให้ยาหลอกได้ผล อย่างแรกเป็นเพราะตัวผู้ป่วย ‘เชื่อ’ ว่าตัวยานั้นมันช่วยรักษาโรคได้จริง จากนั้นพวกเขาก็เปิดใจ ทำเหมือนกับว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเป็นอยู่ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป และเอาชนะความกลัวเหล่านั้นได้ ดังนั้น ทั้งหมดจึงไม่ใช่เพราะยา และร่างกายก็ไม่ได้ตอบสนองใดๆ กับแคปซูลสีฟ้า แต่เป็นเพราะจิตใจและการปรับความคิดของตัวผู้ป่วยเองต่างหาก ซึ่งในภายหลังแดร์เรนก็ได้เฉลยแก่ผู้ทดลองว่าชื่อยา Rumyodin จริงๆ แล้วมาจากการสลับตัวอักษรของคำว่า ‘Your Mind’
ยารูไมโอดินยังเคยถูกนำไปทดลองกับทหารอเมริกันในช่วงสงครามอิรักปีค.ศ. 2003 เพื่อลดสถานการณ์ตึงเครียดในสงคราม แต่ก็ได้ผลตอบรับที่ไม่ดี เนื่องจากทำให้ทหารกล้าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายมากขึ้น ซึ่งมากเกินไป จนไม่สนความปลอดภัยของเพื่อนในสนามรบ
ยาหลอกกับการอุปทาน
ในปีค.ศ. 1950 เฮนรี่ บีเชอร์ (Henry K. Beecher) วิสัญญีแพทย์ชาวอเมริกา ได้ทดสอบการทำงานของยาหลอก และพบว่าร้อยละ 32 ของผู้ป่วยอาการดีขึ้นจากการกินยาหลอก แม้อาจเหมือนจะไม่มาก แต่มันก็มีประสิทธิภาพพอๆ กับยาที่ใช้ทั่วไปอย่างยาแก้ซึมเศร้า หรือยาสเตียรอยด์แก้ปวดหลัง
เมื่อ ‘ความเชื่อ’ ถูกพิสูจน์โดยทางการแพทย์แล้วว่าได้ผลจริงในการรักษาโรค จึงทำให้เกิด ‘ปรากฏการณ์ยาหลอก’ (Placebo Effect) ขึ้นได้ไม่ยาก อย่างที่เราเห็นได้จากหลายๆ ข่าวในบ้านเรา เช่น น้ำหมักป้าเช็ง บัตรพลังงาน หรือน้ำปัสสาวะ เมื่อมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบแล้วก็พบว่า แทบไม่มีตัวยาใดๆ ที่ช่วยรักษาโรคแฝงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกันกลับมีผู้บริโภคหลายรายออกมาพูดกันเรื่อยๆ ว่าพวกเขาใช้แล้วได้ผลจริงตามที่อวดอ้างสรรพคุณไว้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมอและพยาบาลต้องหันขวับ กับ 6 วิธีรักษาโรคชวนสงสัย)
ในสายตาคนนอกอาจมองเป็นเรื่องมโนหรือโกหกหลอกหลวง กับการที่มีคนออกมาบอกว่าเอาบัตรพลังงานมาแตะตัวแล้วหายปวดจริง หรือน้ำหมักป้าเช็งดื่มแล้วสุขภาพดีขึ้น แต่เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อเล่นกับการ ‘อุปทาน’ ของผู้บริโภค หลักการทำงานจึงเป็นไปแบบเดียวกันกับยาหลอก
เมื่อจิตเชื่อในสิ่งใด ร่างกายก็จะตอบสนองไปในทิศทางนั้น
ยาหลอกในสมัยนี้ไม่ได้มาในลักษณะของแคปซูลยาเหมือนในทางการแพทย์ บางครั้งมันก็มาในรูปแบบของสิ่งที่เหนือความคาดหมายและไม่น่าเป็นไปได้ จึงทำให้หลายข่าวที่ออกมาดูเป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งระหว่าง ‘ความเชื่อ’ และ ‘ความงมงาย’
แต่ยาหลอกไม่จำเป็นจะต้องมาในรูปแบบของแคปซูลยาเสมอไป เพราะมันอาจเป็นเครื่องรางนำโชค พิธีกรรม ไสยศาสตร์ รองเท้าเทนนิสคู่โปรดที่เราใส่ในวันแข่งขัน หรืออะไรก็ตามที่เราอยากจะเชื่อ เพราะหลักการคือขอเพียงแค่เรา ‘เชื่อ’ ในสิ่งนั้นก็พอ
ยาหลอกจึงไม่ต่างอะไรกับ ‘เครื่องรางนำโชค’ ที่เราอุปทานว่าเมื่อมีติดตัว ก็จะช่วยเสริมในเรื่องของโชคลาภ ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือช่วยให้หน้าที่การงานเจริญเติบโต ซึ่งพลังงานที่แท้จริงนั้นจะมีหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ด้วยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่แน่นอนว่ามันมีผลต่อจิตใจของผู้พกพา และมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะถ้าเราเชื่อว่าเรากำลังจะสุขภาพแข็งแรง เราก็จะพยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายมากขึ้น หรือนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือหากเราเชื่อว่าเรากำลังจะรวย เราก็จะมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น
สจ๊วต ไวส์ (Stuart Vyse) นักจิตวิทยาและนักเขียนเรื่อง Believing in Magic: The Psychology of Superstition กล่าวว่า “ผู้คนถูกปลูกฝังให้เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก จนความเชื่อพวกนั้นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และเป็นกระบวนการพื้นฐานของการขัดเกลาทางสังคม นอกจากนี้ มนุษย์เรายังอาศัยอยู่ในโลกที่ควบคุมผลลัพธ์ไม่ได้ แต่ดูเหมือนความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติจะอยู่เหนือกฎเกณฑ์เหล่านั้น มนุษย์จึงทำทุกอย่าง เพื่อให้มั่นใจว่าผลที่ได้จะออกมาตามที่พวกเขาหวังไว้”
บางสิ่งแม้ไม่สมเหตุสมผลแต่คนเราก็เลือกที่จะเชื่อ อย่างในสมัยเด็กที่เราถูกปลูกฝังว่าห้ามตัดเล็บหรือเล่นซ่อนแอบในเวลากลางคืน เมื่อโตขึ้นเราพอจะทราบเหตุผลและที่ไปที่มาของความเชื่อเหล่านี้แล้วก็ตาม เราก็ยังคงทำพฤติกรรมนั้นต่อไป
“การทำตามความเชื่อในโชคลาง มักจะง่ายกว่าการตั้งใจที่จะต่อต้านมัน เพราะเราใช้เพียงแค่ความศรัทธาเท่านั้น” สจ๊วตให้เหตุผลเพิ่มเติม ในบางกรณี ซึ่งความเชื่อในลักษณะก็ดันได้ผลดี ยกตัวอย่างการเล่นเบสบอล ที่บางทีเราคิดว่าเราตีโฮมรันได้เพราะวันนี้ใส่ถุงเท้านำโชคมา แต่เรามักจะไม่ค่อยจำหรอกว่ามันก็เป็นถุงเท้าคู่เดิมกับตอนที่เราตีไม่ได้
การที่ได้ผลเช่นนี้เป็นเพราะว่าเรากำลังคิดว่าเราควบคุมสถานการณ์ได้ จิตใจของเรามีอคติที่เอนเอียงไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จและวัตถุนำโชค ด้วยเหตุนี้ คนที่ออกมาบอกว่าหายป่วยจากการดื่มน้ำปัสสาวะ ดื่มโคลนลาวาศักดิ์สิทธิ์ หรือดื่มน้ำหมักป้าเช็ง ถ้านอกเหนือไปจากการเชื่อในสรรพคุณอวดอ้างที่ฟังมา ก็จะมีความเชื่อที่ว่าตัวเองกำลังจะหายป่วย และกำลังได้รับการเยียวยาอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลวิจัยออกมายืนยันถึงผลลัพธ์เชิงบวกของการใช้ยาหลอก แต่มันก็ไม่สามารถทำหน้าที่แทนยาจริงได้ทั้งหมด เป็นเพียงแค่กระบวนการหนึ่งในการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมก็คือการใช้หลักการของยาหลอกมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกำไรของผู้ประกอบการบางราย ที่นอกจากจะเข้าข่ายหลอกลวง ไม่ส่งผลลัพธ์ใดๆ ตามที่อวดอ้างสรรพคุณแล้ว บางครั้งยังถือเป็นการสร้างอันตรายให้แก่ร่างกายของผู้บริโภคมากขึ้นอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก