ความเชื่อเหนือธรรมชาติ หรือ superstition เป็นคำกลางๆ ที่รวมเอาความเชื่อที่อยู่นอกเหนือความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ด้วยกัน ทั้งการนับถือผีสางเทวดา ตำนานเหนือจริงต่างๆ ไปยันฮวงจุ้ย ดูดวง เพอซิอุส ยันแวนโก๊ะเข้าฝัน ในทางความเชื่อส่วนบุคคลแล้ว เราคงไม่สามารถจะไปกำหนดอะไรใดๆ ได้ว่าคนนั้นคนนี้ควรจะต้องเชื่ออย่างไร แต่ในทางสังคมภาพรวมแล้วผมคิดว่าเราพอจะมีเกณฑ์ที่จะพูดได้อยู่บ้างว่า ความเชื่อเหนือธรรมชาติไม่เมกเซนส์เอามากๆ แล้วที่จะนำมา ‘ใช้ในการบริหารจัดการสำหรับสังคมโดยรวม’ ว่าอีกแบบก็คือ มันควรจะเป็นเรื่องในอดีตไปนานแล้ว
ความเป็นเหตุเป็นผลแบบสมัยใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า modern rationality บ้าง enlightenment rationality บ้าง ดูจะแยกไม่ออกเลยจากพัฒนาการทางการปกครองของสิ่งที่เรียกว่ารัฐสมัยใหม่ครับ ในโลกตะวันตกนั้น จุดเด่นที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความเชื่อเหนือธรรมชาติต่างๆ ดั้งเดิมที่เคยมีไม่ว่าจะเป็นความเชื่อผีสาง ไปจนถึงความเชื่อทางศาสนา มันค่อยๆ ถูกท้าทาย และโดนต่อสู้มาโดยตลอดหลายร้อยปีนับแต่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา
มีการถกเถียงมามากมายว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ควรจะนับเริ่มจากจุดใด เพราะสิ่งที่เรียกว่าการค้นคว้าและค้นพบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มีหลากหลายมาก
แต่จุดร่วมที่หลายๆ คนมักจะนับร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ก็คือปี ค.ศ. 1543 ที่นิโคลัส โคเปอร์นิคัส ตีพิมพ์ De Revolutionibus Orbium ผลงานอันโด่งดังของเขาที่อธิบายว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่โลกเรานั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่างหาก หากเริ่มนับจากจุดนี้ก็คงแปลได้ว่าการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มีจุดเริ่มต้นมาในช่วงราวๆ ยุคสมัยใหม่ตอนต้น (early modern) นั่นเอง
นับจากโคเปอร์นิคัสเป็นต้นมา ก็มีการค้นพบต่างๆ อีกมากมายทางวิทยาศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1632 กาลิเลโอ กาลิเลอีตีพิมพ์ Dialogue Concerning the Two Chief World System ที่เปรียบเทียบระบบแบบโคเปอร์นิคัส กับระบบแบบพโตเลมิก (Ptolemic system) ซึ่งเป็นระบบที่คริสตจักรเชื่อและเชิดชูมาตลอด แน่นอนว่ากาลิเลโอสนับสนุนโคเปอร์นิคัส เพราะวิธีคิดและหลักฐานสนับสนุนล้วนบ่งชี้ไปในทางนั้น กาลิเลโอต่อสู้กับคริสตจักรในเรื่องนี้และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ยอมจำนนในท้ายที่สุดอย่างที่รู้กัน
ต่อจากนั้นที่เป็นที่รู้จักกันก็คือการตีพิมพ์ Principia ของไอแซก นิวตัน ในปี ค.ศ. 1632 ซึ่งอธิบายถึงกฎการเคลื่อนที่ และแรงโน้มถ่วงทั่วไป (Newton’s law of general gravitation) ซึ่งคงไม่ต้องบอกนะครับว่าเป็นคำอธิบาย เป็นความคิดที่ท้าทายสวรรค์และพระผู้เป็นเจ้า (Heaven-defying) ขนาดไหน นิวตันทำให้สิ่งที่เราพบเห็นและประสบพบเจออยู่ทุกชั่วขณะของชีวิต อย่างการเคลื่อนไหว การตกของสิ่งของใดๆ การที่ตัวเรายึดเกาะอยู่กับผิวโลกได้กลายเป็นสิ่งที่มีกลไกอย่างสลับซับซ้อน มีความเป็นเหตุผลที่มากมายหลายขั้นกว่าเพียงอิทธิปาฏิหาริย์อย่างยากจะนับเท่าถ้วนได้ ว่ากันอีกแบบก็คือ นิวตันได้ตั้งคำถามและกระทั่งให้คำตอบที่สุดเอื้อมทางความคิดให้กับสิ่งซึ่งแทบจะไม่เคยถูกตั้งคำถามมาก่อน สิ่งซึ่งเป็นเพียงความปกติอย่างที่สุดของมนุษย์เรา และการค้นพบต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อยๆ เข้ามาท้าทาย และทดแทนคำอธิบายเดิมทางศาสนาหรือความเชื่อผีสางเทวดาต่างๆ ก็ค่อยๆ พัฒนามากขึ้น ช่วงศตวรรษที่ 17 ที่มีการค้นพบอันยิ่งใหญ่มากมายบนฐานของเหตุผลนี้ ทำให้บางครั้งยุคนี้ถูกเรียกโดยรวมๆ ว่า The Age of Reason หรือยุคสมัยแห่งเหตุผลนั่นเอง
ว่าง่ายๆ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ คือ ความต่อเนื่องของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในทางกฎเกณฑ์หรือระเบียบทางธรรมชาติ ที่วางฐานอยู่บนความสมเหตุสมผล ซึ่งเมื่อมันเป็นกฎเกณฑ์หรือระเบียบทางธรรมชาติแล้ว มันก็ย่อมต้องไปท้าทายกับคำอธิบายเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่ทำการ ‘ฮุบและครอบครองกฎธรรมชาติ ณ เวลานั้น’ ไว้กับตัวเองด้วยโดยปริยาย ตลอดเวลาหลายพันปีของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หรือหากนับไปยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย นับตั้งแต่การปฏิวัติการรับรู้มาก็เป็นแสนปีเลยด้วยซ้ำ ที่ความเป็นไปของธรรมชาติและจักรวาลอยู่ภายใต้อาณัติของตัวตนเหนือธรรมชาติต่างๆ และเหตุผลชุดเดียวที่ดูจะอธิบายโครงสร้างวิธีคิดแบบนี้ก็คือ การมองว่า ‘ระเบียบ’ นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย ‘บัญชา’ จากอำนาจที่อยู่เหนือกว่า ฉะนั้นการจะจัดระเบียบให้กับธรรมชาติได้ก็ควรจะมาจากตัวตนที่เหนือกว่าธรรมชาติขึ้นไป และหากมนุษย์ตัวจ้อยอย่างเราจะขอให้ธรรมชาติเป็นใจต่อการใช้ชีวิตของเราเอง เราก็ควรจะต้องไปเอาใจ ‘ตัวตนที่ควบคุมธรรมชาติ’ เหล่านั้นอีกทอดหนึ่งแทน
อิทธิพลของวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นี้เองนำมาสู่การพัฒนาความคิดในส่วนสังคมศาสตร์ด้วย (และนั่นทำให้วิชาอย่างสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ พยายามกลายตัวเป็น science แบบหนึ่ง) ชุดเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ส่งอิทธิพลให้เกิดยุครู้แจ้ง หรือ The Age of Enlightenment ขึ้น ทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ด้วยถึงการเป็นรากฐานทางความคิดที่นำมาสู่การปฏิวัติมากมายในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 18 หรือที่เรียกกันว่า First Wave Democratization (การปฏิวัติประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 1) เพราะการจัดระเบียบเหตุผลและความคิด รวมถึงการกระตุ้นให้ตั้งคำถามต่ออำนาจที่เหนือกว่าที่กำหนด ‘ระเบียบ’ ต่อตัวเราเองนั้น คือ ผลพวงที่ออกดอกออกผลอย่างงดงามจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์
ดอกผลของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ได้ต้องการความจำเป็นของผู้คนในการจะต้องมาเข้าใจแนวคิดอันซับซ้อนของกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน หรือระบบโคเปอร์นิคัสเลยก็ได้ และต้องยอมรับความจริงนั่นแหละครับว่า เป็นเพียงคนส่วนน้อยมากๆ ในยุคสมัยนั้นที่จะมาเข้าใจความคิดเหล่านี้โดยละเอียดชัดแจ้ง แต่คุณค่าสาระประการอื่นๆ ของมันสามารถเข้าใจได้โดยคนทั่วไป อย่างความจริงซึ่งถูกกำหนดมาให้เชื่อสืบทอดกันมาไม่ได้จำเป็นจะต้องถูกต้องเสมอ, อำนาจเหนือธรรมชาติอาจจะไม่ได้มีจริงหรือไม่ได้ทรงภูมิอย่างที่มักจะถูกกล่าวอ้างและนำมาใช้งานกัน, อำนาจหรือระเบียบแบบเดิมที่อ้างในความถูกต้องภูมิธรรมต้องสามารถถูกท้าทายและลุกขึ้นสู้ ต่อต้าน ล้มล้างได้ เป็นต้น จะเรียกได้ว่า วิธีคิดแบบ Men VS Gods นี่เป็นจิตวิญญาณแบบยุครู้แจ้ง (Enlightenment spirit) ก็ว่าได้
ระบอบการปกครองอย่างประชาธิปไตยและการกำเนิดขึ้นของรัฐเสรีนิยมสมัยใหม่จึงกล่าวได้ด้วยว่า เป็นผลพวงมาจากการปฎิวัติวิทยาศาสตร์และการมีเหตุผลอย่างวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ
หน้าที่ของรัฐสมัยใหม่จึงเปลี่ยนมาจากการเป็นตัวตนที่มีขึ้นเพื่อรับใช้เจ้าผู้ปกครอง ประชาชนที่มีหน้าที่ในการอุทิศตนเพื่อนายจึงถูกตั้งคำถาม และต่อสู้ จนยุติลงในการปฏิวัติโดยประชาชนในช่วงคลื่นลูกที่ 1 และนำมาสู่การจัดระเบียบเชิงโครงสร้างอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนใหม่ แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของรัฐเสรีนิยมสมัยใหม่จึงต้องไม่ใช่การอยู่ใน ‘ระนาบทางอำนาจที่เป็นลำดับขั้นหรือเขย่งกัน’ โดยมีกษัตริย์หรือลอร์ดเป็นฝ่ายรับประโยชน์ฝ่ายเดียวอีกแล้ว แต่ต้องเป็น ‘การแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ’
ภายใต้ข้อผูกพันธ์หรือสัญญาระหว่างประชาชนกับรัฐที่เรียกว่ากฎหมาย ประชาชนยินยอมแลก ‘ความเชื่อฟัง (obedience) และอัตลักษณ์ (identity)’ ของตนให้กับรัฐ ในขณะที่รัฐมีหน้าที่มอบ ‘ความมั่นคงปลอดภัย (security) และสวัสดิภาพในการดำเนินชีวิต (welfare)’ ให้กับประชาชนที่ยอมแลกเปลี่ยนภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงนี้ และข้อตกลงนี้เองที่ทำให้ประชากรธรรมดาๆ มีสถานะเป็น ‘พลเมืองสมัยใหม่’ (modern citizen) หรือประชากรผู้ซึ่งดำรงด้วยสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของรัฐโดยสมบูรณ์
บทบาทใหม่ของรัฐที่มีต่อประชาชนนี้ ทำให้รัฐสมัยใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนพระเจ้าหรือผีสางเทวดาที่ถูกทำลายไป ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ก่อนหน้าที่รัฐจะมีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ (Raison d’état) และคอยประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนนั้น ประชาชนได้แต่ภาวนากับพระผู้เป็นเจ้า หรืออ้อนวอนผีสางเทวดาให้คุ้มครองช่วยเหลือตน หวังให้ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ให้ตัวตนที่ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา (The Immortal) เข้ามาช่วยเหลือเหล่าปุถุชนผู้มีอายุขัย (The Mortal) อย่างพวกเขา อย่างไรก็ตาม ตัวตนของเหล่าผู้อยู่เหนือธรรมชาติต่างๆ ถูกท้าทายและตั้งคำถามถึงตัวตน ความน่าเชื่อถือ การดำรงอยู่เป็นอย่างมากตลอดช่วงยุคแห่งเหตุผล ไม่ต้องนับว่าสังคมที่โค่นล้มระบอบการปกครองดั้งเดิมเองก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากยุคแห่งเหตุผลอีกด้วย เมื่อเข้ามาถึงยุคของรัฐเสรีสมัยใหม่ การทำงานของรัฐที่ต้องประกันความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนจึงต้องวางรากฐานตัวเองอยู่บนการใช้เหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์ในการจัดการแก้ปัญหาด้วย ว่าอีกแบบก็คือ ต้องวางฐานความคิดและจัดการปัญหาแบบเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่จะมาอ้างพระเจ้าหรือภูติผีแบบเดิมอีก
ฐานวิธีคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์นี้ บางครั้งเราเรียกว่า hypothetical imperative ครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ การคิดบนฐาน If X, then Y หรือหากทำ X แล้วจะนำไปสู่ผลแบบ Y นะ ซึ่งเป็นวิธีคิดแก้ปัญหาและจัดการแบบวิทยาศาสตร์อันสำคัญ เมื่อรัฐเผชิญกับปัญหา การแก้ปัญหาด้วยกลไกแบบเป็นเหตุเป็นผลจึงเป็น ‘หมุดหมายสำคัญที่สะท้อนตัวตนของความเป็นรัฐเสรีสมัยใหม่’
กระนั้น ในกรณีของประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมานั้น เราจะได้พบข่าวที่เห็นแล้วก็ได้แต่ละเหี่ยใจมากมาย อย่างรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลออกมาบนบานสานกล่าว ทั้งที่ควรจะเป็นกระทรวงที่ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ห่างไกลจากความเชื่อเหนือธรรมชาติมากที่สุด อย่างน้อยๆ ก็ในทางการปกครองภาพรวม เราได้เห็นรัฐมนตรีเกษตรฯ ก่อดราม่าแย่งห้องทำงาน เพราะเรื่องฮวงจุ้ย แทนที่จะได้เห็นท่าทีที่จะอุ้มชูวิยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรฯ เราได้เห็นรัฐมนตรีศึกษาฯ เสนอเรื่องท่องบทอาขยาน หรือในปัญหาภัยแล้งทั่วทั้งภาคอีสาน เหนือ และกลางบางส่วนนี้ เราได้เห็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์แก้ปัญหาด้วยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้น้ำเต็มอ่าง![1]
ที่เป็นแบบนี้ผมคิดว่ามีเหตุผลที่สำคัญ 3 ประการ
1. ประเทศไทยนั้น เอาเข้าจริงๆ ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางความคิดระหว่างสิ่งเหนือธรรมชาติกับวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เรามีแต่ ‘นำเข้า’ ความคิดซึ่งถูกค้นพบแล้ว ไม่ต้องนับว่าการนำเข้านี้ยังนำเข้าอย่างละมุนละม่อมเหลือเกิน และคัดแล้วคัดอีกว่าจะไม่มา ‘ทำลายฐานโครงสร้างอำนาจเดิม’ ของรัฐไทยแต่เดิมมา
ไม่เพียงเท่านั้น คนไทยจำนวนมากเชิดชูบูชาในความไม่เคยผ่านการเป็นอาณานิคมใดๆ มาก่อน (ซึ่งก็ไม่จริงทั้งหมดด้วย) การไม่เคยเป็นอาณานิคมของชาติใดมาก่อนนั้นอาจจะมีข้อดีมากมายก็จริง แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ทำให้ไม่เกิดการนำเข้าขององค์ความรู้แบบไม่ต้องผ่านการคัดเลือกของชนชั้นนำสยามด้วย แต่แน่นอนครับว่า การเป็นโคโลนีของเจ้าอาณานิคมไม่ได้ประกันว่าจะได้รับการถ่ายทอดวิธีความคิดแบบนี้ พม่าเองก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญ อย่างไรก็ดี ส่วนสำคัญคือชนชั้นนำของสยามมีอำนาจในการคัดเลือกองค์ความรู้ ที่จะเข้ามาสู่ประเทศได้อย่างไม่ท้าทายต่อพวกตนมากจนเกินไป จำกัดเฉพาะกลุ่มมากจนเกินไป
ว่ากันอีกแบบก็คือ วิธีการแบบนี้ทำให้ประเทศไทยอาจจะมี Enlightenment knowledge แต่ไร้ซึ่ง Enlightenment spirit หรือจิตวิญญาณแบบยุครู้แจ้ง จิตวิญญาณแบบ Men VS Gods
องค์ความรู้สมัยใหม่แทนที่จะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายฐานอำนาจเก่าแบบที่ควรจะเป็น จึงกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำไป และเมื่อชนชั้นนำไม่เคย ‘ตัดขาด’ จิตวิญญาณแบบเก่าทิ้งไป เพราะไม่เคยมี Enlightenment spirit พวกเขาจึงสามารถบูชาสตีฟ จ็อบส์ ไปพร้อมๆ กับบูชาพระแม่คงคา หรือหวังให้พระแม่ธรณีมาบิดมวยผมแก้ภัยอย่างไม่รู้สึกติดขัดอะไรใดๆ ได้ และกรณีนี้อาจจะรวมถึงสังคมโดยภาพรวมด้วย
2. การที่สังคมและกระทั่งชนชั้นปกครองนั้นต้องหันมาพึ่ง ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังเหนือธรรมชาติ’ เป็นการฟ้องว่า กลไกการจัดการและบริหารในรัฐได้ล้มเหลวลงแล้ว เพราะหน้าที่ของรัฐคือ การใช้ทรัพยากรและความสามารถของตนมาจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลในการจะประกันความมั่นคงให้กับประชาชน แต่หากประชาชนกระทั่งนักการปกครองหันไปบูชาผีสางเทวดาในเรื่องอันเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ เหล่านี้ทั้งหมด มันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ‘รัฐไทยกำลังล้มเหลวในการดำรงไว้ซึ่งเหตุผลในการดำรงอยู่ของตัวเอง’
รัฐไทยที่คนทุกฝั่งทุกฝ่ายกระทั่งตัวนักการปกครองเองยังต้องหันไปพึ่งเทวดาฟ้าดินนั้น บอกเราว่ารัฐเรากำลังละทิ้งบทบาทหน้าที่ของตน คือ การดูแลประชาชน กลับไปเป็นรัฐแบบเดิมที่มีขึ้นเพื่ออุ้มชูความสุขของกษัตริย์และชนชั้นนำเท่านั้น
3. ประการสุดท้ายนี้อาจจะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมมากสักหน่อย แต่ผมเชื่อว่าในสภาวะที่อนาคตก็ดูจะมองไม่เห็นทางไป และปัจจุบันเองก็เลวร้ายเกินกว่าจะทนทาน พื้นที่เดียวที่จะยังพอแต่งแต้มเติมสีให้สวยงามได้อยู่ก็คือ ‘อดีตที่ผ่านพ้นมานานจนยากเกินกว่าจะจดจำได้โดยชัดเจน’ แล้วเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อดีตจึงเป็นดินแดนในฝัน เป็นแฟนตาซีของเหล่านักอนุรักษ์นิยมหรือชนชั้นนำที่ไม่ได้ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า หรือกระทั่งไม่มีสติปัญญาพอจะจัดการกับปัจจุบันสมัยตรงหน้า
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมักจะแต่งแต้มอดีตอันไกลโพ้นอย่างงดงามเกินกว่าที่มันควรจะเป็น พวกเขาปกป้องสาแหรกที่เชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีตอันอุดมไปด้วยสีสันเหล่านั้นอย่างสุดสิ้นจิตวิญญาณ เพราะเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาจะยังพอมีปัญญาทำอะไรกับมันได้ หากหมดซึ่งสิ่งนี้ไป พวกเขาจะเป็นอะไรเล่านอกจากเศษซากของความรุ่งโรจน์ในอดีต? สกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่รวบรวมเงินมาให้เหยื่อจากคดีของแพรวาได้ 500,000 บาท เองก็ออกมายอมรับกับข้อเท็จจริงนี้ว่า ราชสกุลของเขาเองก็มีเพียงไม่กี่คนที่มีฐานะพอจะช่วยไหว ที่เหลือหลายคนก็อยู่อย่างอัตคัดไม่น้อย (ในแง่นี้มันก็สะท้อนด้วยว่า บ้านแพรวาเองก็อาจจะไม่ได้มีเงินขนาดนั้น อาจจะมีสินทรัพย์เป็นมรดกตกทอดมาบ้าง แต่ในยุคสมัยแบบนี้ที่ดินอะไรก็ไม่ได้ขายง่ายนัก แต่นี่เป็นคนละเรื่องกับการไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ เลยนะครับ) ว่ากันอีกอย่างก็คือ การมีอดีตอันรุ่งโรจน์ของชนชั้นนำไม่ใช่เครื่องประกันความสามารถในการบริหารจัดการใดๆ เลย หากไร้ซึ่งอดีตและตัวกลางที่จะยึดโยงปัจุบันสมัยเข้ากับอดีตได้ พวกเขาก็จะเป็นเพียง ‘คนธรรมดา’ เป็นโนบอดี้อย่างที่เราๆ ทุกคนเป็น
ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำผู้เป็นเศษซากของยุคสมัยไม่สามารถจะทนได้ พวกเขาจึงไม่เคยจะทอดทิ้งความเชื่อมโยงเดียวที่พวกเขามีต่ออดีตอันรุ่งโรจน์ อย่างสถาบันอนุรักษ์นิยมต่างๆ พร้อมๆ กันไป พวกเขาก็ขยันขันแข็งในการแต่งแต้มอดีตให้งดงามและทรงอำนาจเกินกว่าที่มันเคยเป็นหรือมีวันจะเป็นได้ อำนาจเหนือธรรมชาติเองที่เป็นส่วนหนึ่งของอดีตอันรุ่งโรจน์ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผูกโยงอำนาจของชนชั้นปกครองกับอดีตอันแสนหวานของพวกเขาจึงได้รับการดูแลอยู่ตลอด เหมือนอย่างพระโคที่ได้รับความสนใจจากสื่อมากกว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใดๆ หมอดูและโหราจารย์ที่ได้รับพื้นที่สื่อและเป็นที่รู้จักเสียยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์คนไหนๆ
เรายังเถียงกันอยู่เลยว่า คนทรงและเวทมนต์คาถาที่ทำให้ฟันแทงไม่เข้านั้นมีจริงไหม ออกสื่อ! ถ้ามันมีจริง ป่านนี้เราเป็นมหาอำนาจของโลกไปแล้วครับ ไม่ต้องมากลัวเรือกลไฟปิดปากอ่าวสมัย ร.5 (วิกฤติปากน้ำ) หรอกครับ! แต่นั่นแหละ มันถูกแต่งแต้มและให้ราคาอย่างเกินจริงตลอดเวลา และยังคงทรงพลัง
ในอดีตที่การสื่อสารยังเป็นเส้นทางเดียวอยู่ ความไม่รู้อาจจะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ และนับรวมตัวเองเป็นเหยื่อได้ แต่ในยุคสมัยนี้ที่การสื่อสารและเข้าถึงความรู้ไม่ใช่แค่เส้นทางเดียวอีกแล้ว วิธีการแบบเดิมๆ อาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป และที่สำคัญ ‘ความไม่รู้-ความโง่’ ในยุคนี้ไม่ใช่การเป็นเหยื่ออีกต่อไปแล้วครับ แต่เป็น ‘ตัวเลือก’ ที่เราเลือกเองว่าจะย่ำอยู่กับความไม่รู้ ย่ำอยู่กับที่ต่อไปไหม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู https://www.banmuang.co.th/news/region/157523