เพราะงานศิลป์ทุกชนิดไม่จำเป็นต้องมอบแค่ความบันเทิง หลายครั้งงานเหล่านั้นออกจะเป็นบันทึกมุมมองต่อยุคสมัย ดังนั้น ภาพยนตร์จึงสามารถมอบให้ทั้งความบันเทิง และบางครั้งก็เล่าสาระให้ย่อยง่ายขึ้น เลยทำให้มีผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนหนึ่งนิยมจะเอาเรื่องราวแนวคิดทางศาสนามานำเสนอใหม่ในฉบับจอเงิน
และหลายๆ ครั้งหนังเกี่ยวกับศาสนาเหล่านั้น ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวแบบตรงกับความเชื่อดั้งเดิมเท่านั้น เพราะผู้สร้างหลายคนตั้งใจสร้างที่ว่างเว้นวรรคเอาไว้ให้ผู้ชมได้ขบคิดว่าสิ่งที่ศรัทธากันนั้น เราควรจะเชื่อตามที่คนยุคก่อนบอกเล่าไปโดยตลอดดีไหม หรือเราควรจะฉุกคิดและตั้งคำถามขึ้นมาบ้าง และเราเห็นว่ามีหนังอยู่กลุ่มหนึ่งที่ชวนกระตุกต่อมว่าเราควรจะศรัทธาแบบไม่คิด หรือเราควรคิดและพินิจเรื่องราวความศรัทธาต่างๆ ด้วยมุมมองอื่นบ้างหรือเปล่า
PK
อินเดียถือว่าเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ และมีความเชื่อแบบพหุเทวนิยม เลยมีหนังที่บอกเล่ากับประเด็นความเชื่อต่างๆ อยู่บ่อยๆ ทั้งการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา สอดคล้องกับความศรัทธาของคนในท้องที่ หรือบางครั้งก็เป็นการตีความใหม่ให้ทันสมัยขึ้น จับต้องได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ชมยุคใหม่
แต่สำหรับภาพยนตร์ PK แล้ว พวกเขากลับเอาแนวคิดแบบไซไฟ มาถกเถียงกับความศรัทธาแบบจริงจัง โดยให้ตัวละครหลัก PK (นำแสดงโดย Aamir Khan) เป็นมนุษย์ต่างดาวที่เดินทางมายังโลกซึ่งโดนขโมยรีโมทควบคุมยานอวกาศไป แล้วดันมีคนบอกว่า ‘มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้’ เลยทำให้มนุษย์ต่างดาวคนนี้ตามหา ‘พระเจ้า’ ที่นำพาให้เขาไปป่วนในศาสนสถานหลายต่อหลายแห่ง ก่อนจะได้มีโอกาสปะทะฝีปากกับกูรูของศาสนาฮินดูอีกด้วย
แม้ว่าหนังจะเล่าในลักษณะตลกโปกฮา แต่ฉากการเสวนากับผู้ชี้นำทางศาสนา มนุษย์ต่างดาวคนนี้กลับแทงลงไปตรงๆ ว่า หากพระเจ้ามีอยู่จริง เขามองว่าพระเจ้านั้นคือความหวัง และพระเจ้าในลักษณะนั้น เป็นพระเจ้าที่คนสร้างขึ้นมาเอง รวมถึงว่ามนุษย์ตัวเล็กๆ บนดาวใบหนึ่งนั้นจะปกป้องผู้สร้างจักรวาลได้อย่างไร สุดท้ายแล้ว ‘พระเจ้า’ ของใครบางคน อาจจะเป็นแค่การตีตราสร้างความแตกต่าง เพื่อการแบ่งแยก เพื่อสร้างผลประโยชน์ ให้กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็เท่านั้น
Samsara
ภาพยนตร์ร่วมทุนนานาชาติที่ผู้กำกับและผู้เขียนบท Nalin Kumar Pandya หรือ Pan Nalim จากอินเดีย ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของฤๅษีวิศวามิตร มาหลอมรวมกับแนวคิดทางศาสนาพุทธ ทั้งในพื้นที่ ลาดัค ของประเทศอินเดีย ที่เป็นฉากหลังของภาพยนตร์ และแนวคิดจากฝั่งจีน กับ ไทย จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ผู้กำกับระบุว่าต้องการจะเล่าเรื่องราวของความรัก แต่ในขณะเดียวกันคนดูหลายคนกลับคิดว่าเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความหลายของชีวิตที่เกิดขึ้นในสังสารวัฏ
แม้ว่าหลายคนจะมองว่าตัวหนังเรื่องนี้มีไฮไลท์อยู่ที่ฉากอัศจรรย์ของเรื่อง แต่อีกส่วนที่ทำให้หนังโดนพูดถึงในหลายประเทศ ก็คือการที่ภาพยนตร์ชวนตั้งคำถามกับแนวคิดเชิงพุทธ โดยเฉพาะช่วงท้ายของเรื่องที่ Pema (แสดงโดย Christy Chung) ที่ ดักรอ Tashi (แสดงโดย Shawn Ku) ชายหนุ่มที่ถูกพามาบวชเรียนตั้งแต่เล็กตามธรรมเนียมของท้องถิ่น กลับมาใช้ชีวิตทางโลกหลังจากตกหลุมรักกับหญิงสาว แต่ก็กลับมาครองเพศบรรพชิตอีกครั้งในท้ายเรื่อง ที่เขารับฟังคำพูดของ Pema ที่เล่าเรื่องราวของ ยโสธารา ที่แต่งงานกับ สิทธัตถะ แท้จริงแล้วเธอเองก็อยากจะละทางโลกตามผู้เป็นสามีเช่นกัน ทว่าผู้เป็นแม่ สตรีเพศที่มีบุตร ย่อมไม่อาจละทิ้งชีวิตน้อยๆ ในอ้อมอก อย่างที่บุรุษเพศกระทำได้โดยง่าย
แม้ในเรื่องจะไม่ได้สรุปว่าชีวิตของตัวละครทั้งสองจะเป็นอย่างไรต่อ แต่เรื่องนึกที่คนดูตระหนักขึ้นมาก็คือ ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ สิ่งที่ถูกบดบังนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องสถานะทางสังคมเท่านั้น แต่อาจจะยังปิดกั้นแสงสว่างนำใจไปอีกด้วย
Jesus Camp
ภาพยนตร์สารคดีนั้นมักจะพาเราไปรับชมอะไรที่ไม่ค่อยได้เห็นนัก เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่นำเสนอชีวิตของเด็กๆ ที่ไปเข้าค่ายศาสนาที่จัดอยู่เป็นประจำในประเทศอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ
ตัวสารคดีพาคนดูไปรู้จักค่าย Kids on Fire School of Ministry ในอเมริกา และติดตามชีวิตของเด็กๆ หลายคน แม้ว่าเด็กกลุ่มหนึ่งที่เคยมาเข้าค่ายแห่งนี้จะดีใจและแสดงออกว่ามีศรัทธาต่อศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่กิจกรรมบางอย่างของค่ายก็ชวนให้สงสัยว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการปลูกฝังแนวคิดที่ผิดเพี้ยน จนพอจะเรียกได้ว่า ‘ล้างสมอง’ หรือเปล่า เช่น การนำเด็กๆ ในค่ายมาชำระล้างและเข้าร่วมเป็น ‘กองทัพของพระเจ้า’ ที่ต้องต่อสู้กับเหล่าผู้คนที่อาจจะทำให้ศาสนาแปดเปื้อน, การระบุว่าเด็กๆ ในค่ายสามารถ ‘นำอเมริกาให้นับถือศาสนาคริสต์’ ได้อีกครั้ง ,การนำเด็กไปรวมเดินขบวนต่อต้านการทำแท้ง หรือ คนรักร่วมเพศ ฯลฯ
ทั้งนี้ เด็กหลายคนที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายเจ้าในภายหลัง โดยมีกลุ่มหนึ่งบอกกล่าวว่าพวกเขาก็ยังมีความสุขดีกับความเชื่อของพวกเขา แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าการร่วมกิจกรรม ณ ตอนนั้น เป็นการทารุณกรรมเด็กอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ทำให้ผู้ชมหลายคนต้องติดตาม ก็คงจะเป็นเรื่องกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาอาจจะนำพาให้เด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีความมั่นคงทางตัวตนให้เดินทางไปในทิศทางที่ตัวของพวกเขาเองก็ยังไม่รู้ตัว และบางครั้งก็ยากที่จะบอกว่ามันจะส่งผลอะไรต่อไปในอนาคต
The Passion of The Christ
ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามบอกเล่าเรื่องราววันสุดท้ายก่อนที่ เยซู แห่ง นาซาเร็ธ จะถูกตรึงกางเขน ตัวหนังตั้งใจจะสร้างอะไรที่ทำให้คนดูตั้งหลักไม่ทัน เพื่อที่จะได้รับชมเนื้อหาของหนังแบบตั้งใจ ทั้งการให้นักแสดงในภาพยนตร์ใช้ภาษาอราเมอิก (Aramaic) ที่เชื่อว่าเป็นภาษาที่นิยมใช้กันในเมืองนาซาเร็ธ ณ ยุคนั้น รวมถึงกับการตั้งใจใส่ภาพรุนแรงแบบที่สอดคล้องกับหลักฐานหลายๆ อย่างประกอบกัน ทั้งจากเนื้อหาในไบเบิลโดยตรง, หลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงงานศิลปะต่างๆ
ทว่าก็มีปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องภาพที่รุนแรงเกินไป ทำให้คริสตชนส่วนหนึ่งคัดค้านกับภาพที่รุนแรงจนติดเรต R ในอเมริกา กระนั้นเมื่อภาพยนตร์ได้รับการฉายในวงกว้าง คนดูส่วนหนึ่งก็น้อมรับมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์ได้ แต่ก็มีความกังวลจากผู้ชมอีกกลุ่มมองว่า การเซ็ตให้ตัวละครชาวยิวในเรื่องเป็นดูมีความเป็นตัวร้ายมากไป อาจจะเป็นการทำให้เกิดความเกลียดชังผู้นับถือศาสนายิวได้
ถึงมุมหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นถึงความอดทนและการให้อภัยอย่างไม่มีขอบเขต แต่ในมุมของผู้ชมกลุ่มหนึ่ง หนังเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ตระหนักว่า สื่อบันเทิงสามารถสร้างภาพเหมมารวมเรื่องร้ายๆ ให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน
Submission
ภาพยนตร์ขนาดสั้นราว 10 นาที ที่ไม่ได้ใช้ทุนสร้างยิ่งใหญ่ ไม่ได้ถ่ายภาพอลังการ เพียงแค่ให้นักแสดงหญิงคนหนึ่ง ยืนเล่าเรื่องราวสมมติของผู้หญิงสี่คนที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของศาสนาอิสลาม และต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่การวางตัว การพูดจา ไปจนถึงถึงการล่วงละเมิดทางเพศ
แนวคิดของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามของผู้กำกับภาพยนตร์ว่าทำไมในคำสอนของศาสนาจึงมีการระบุว่า อิสตรีสามารถถูกฝ่ายชายตบตีได้หากเธอทำตัวไม่เหมาะสม
ไม่แปลกเลยถ้าภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้จะสร้างความไม่พอใจต่ออิสลามิกชน แต่เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไปไกลกว่าการเกิดดราม่าในอินเตอร์เน็ต เพราะมันจบลงด้วยการพรากชีวิตของ Theo Van Gogh ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ โดยที่ตัวฆาตกรที่ก่อเหตุอุกอาจยังได้ทิ้งข้อความไว้ ว่าเขาสมควรโดนประหารจากการทำภาพยนตร์เช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีข้อความไปพาดพิงกระทบกระทั่งนักแสดงที่อยู่ในหนังสั้น ข้ามไปกระทบผู้นับถือศาสนายิว และยังออกความเห็นในช่วงที่ถูกตัดสินคดีความว่าไม่รู้สึกผิดแต่อย่างใด
ในทางกลับกันหลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมนี้ ก็มีเหตุวุ่นวายอีกเพราะมีการเข้าปะทะกันของคนที่เห็นด้วยกับและไม่เห็นด้วยในประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่เรื่องจะลดลงเหลือเป็นการถกเถียงในสังคมไปในที่สุด
แม้ว่าการพูดคุยเรื่องศาสนาอาจจะมีความสุ่มเสี่ยง เพราะอาจจะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ความเข้าใจของคนในแต่ละท้องที่ไม่สามารถเข้าใจตรงกันได้ แต่การที่ปิดกั้นการตั้งคำถาม หรือ วิพากษ์ใดๆ ก็พาลให้ชวนคิดว่าคนที่ปิดกั้นเหล่านั้น นับถือศาสนาในฐานะเข็มทิศของหัวใจ หรือ เป็นเพียงแค่วัตถุที่เอาไว้อวดอ้างกันแน่
Hail Satan?
ภาพยนตร์สารคดีมักจะพาเราเดินทางไปสำรวจหัวข้อหลายอย่างที่บางทีคนเราอาจจะมองข้ามกันไปแบบดื้อๆ ด้วยการตีความไปเองว่าเรื่องนั้นไม่เห็นเกี่ยวข้องกับตัวเรา แต่ภาพยนตร์สารคดีนี่ล่ะที่มักจะเชิญชวนคนดูให้ไปสำรวจอีกมุมหนึ่งในสังคมที่บางครั้งก็ชวนเครียด แต่หลายทีก็ชวนขบคิดจนเทำให้คนดูเผลอตบเข่าฉาดได้ดื้อๆ
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้พาผู้ชมไปดูกันว่า The Satanic Temple หรือ โบสถ์ซาตาน องค์กรทางศาสนาที่ได้รับการรับรองจากกรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2019 ว่าเป็นองค์กรศาสนาอย่างเป็นทางการ แท้จริงแล้วมีแนวคิดอย่างไรกันแน่ เพราะถ้าเอาจากภาพจำของคนทั่วไป ก็จะพาลคิดว่าองค์กรนี้อาจจะมีการบูชายัญเชือดแกะกันสดๆ เป็นศาสนกิจอย่างแน่แท้
แต่เปล่าเลย ถึงศาสนานี้จะแต่งตัวด้วยสีดำจนดูแรงแบบโกธิคร็อคจ๋า แต่ปรากฏว่าแนวคิดของเขาไม่ได้อยากจะฆ่าฟันใครเลย แนวคิดของพวกเขาอย่างหนึ่งก็คือ ‘การกระทำความเห็นอกเห็นใจและเอาใจใส่ต่อทุกชีวิตตามหลักการเหตุผล’ แถมยังมีโครงการที่ดูแล้วสวนทางกับชื่อ ‘ซาตาน’ อย่างโครงการคุ้มครองเด็กที่สุ่มเสี่ยงจากการถูกทำร้ายในโรงเรียนอีกต่างหาก
ถึงจะดูยียวนกวนบาทา แต่กลายเป็นว่านี่คือการเคลื่อนไหวทางความเชื่อแบบหนึ่งที่อยากจะสอบถามผู้คน ณ สถานที่ต่างๆ ว่า หลายประเทศอย่างอเมริกาเคยบอกว่า นี่คือประเทศแห่งความหลากหลายที่พร้อมโอบรับความแตกต่าง หรือนี่กลายเป็นรัฐศาสนาที่ปิดกั้นการยอมรับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกันแล้ว
ความจริงคำถามดังกล่าวคงไม่ได้เหมาะแค่ถามอเมริกาเท่านั้น แต่ยังชวนนึกถามไปอีกหลายๆ ที่ว่า ความเชื่อเป็นความศรัทธาส่วนบุคคล หรือควรจะให้รัฐเป็นคนชี้ชัดว่าใครควรจะศรัทธาอะไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
ADL: Fighting Anti-Semitism and Hate