วันนี้ หลายคนอาจจะได้เห็นข่าวว่ามีคนตั้งข้อสังเกตว่ารูปที่บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่เอามาลงๆ ในอินสตาแกรม ในเฟซบุ๊กของเธอเนี่ย ทำไมมันคุ้นๆ เหมือนกับรูปของคนนั้น คนนี้ ที่เคยเห็นมาเลย และมีกระทั่งการเอารูปมาเทียบกันช็อตต่อช็อตด้วยว่า จริงๆ แล้วที่เห็นเหมือนว่าเธอไปเที่ยวในสถานที่ exotic ต่างๆ อย่างเช่นไปดูแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ ไปโดดร่ม ไปอิตาลี ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เป็นโกหกคำโตหรือเปล่า เพราะทั้งรูป ทั้งมุม ทั้งแคปชั่น ก็เหมือนกับว่าไปก๊อปเขามา แล้วตัดต่อโฟโต้ชอปตัวเองลงไปเท่านั้น
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เฮ้ย มันถึงยุคที่คนเราต้องทำอะไรกันแบบนี้เพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดแชร์กันแล้วเหรอเนี่ย คือถ้าไปเที่ยวแล้วเอามาลงจริงๆ นี่พอว่านะ แต่การที่ไม่ได้ไปเที่ยวที่นั่นจริงๆ แล้วตัดต่อรูปของชาวบ้านมาลง นี่มันผิดมากไปกว่าเรื่องผิดลิขสิทธิ์แล้ว มันผิดเหมือนกับการหลอกลวงประชาชนด้วยไหม?
แต่กระแสสวนกลับที่บอกว่า “ตัดต่อแล้วยังไง ไปด่าเค้าทำไม เค้าก็แค่ตัดต่อ” ก็มี หรือ “ตัดต่อแล้วสวยก็ยอมได้” ก็มีเช่นกัน
ทำให้นึกไปถึงข่าวไม่นานนี้ ที่มีการเปิดโปงว่านักร้องสาวคนหนึ่ง ก็มีพฤติกรรมทำนองนี้เหมือนกัน เป็นการโพสท์รูปกระเป๋าแบรนด์ต่างๆ ที่มีราคาแพง หรือกระทั่งไลฟ์สไตล์ อย่างเช่นการได้ดินเนอร์รูฟท็อป ลง Instagram แต่พอสืบไปสืบมาก็พบว่าอ้าว เธอไม่ได้ไปเอง ทั้งหมดเป็นการก๊อปมาจากอินสตาแกรมของคนอื่นทั้งสิ้น (http://gossipstar.mthai.com/gossip-content/46581)
เฟคเพื่อโปรเจ็คต์ศิลปะ
การ ‘เฟคประสบการณ์บนโซเชียลมีเดีย’ บางครั้งก็ถูกใช้ด้วยความตั้งใจ (ให้จับได้) เพื่อเป็นการโปรโมตแคมเปญต่างๆ หรือเป็นการทำผลงานศิลปะ เช่น Amalia Ulman ศิลปินคนหนึ่งที่โพสท์ไลฟ์สไตล์ดี๊ด๊างามงดลงอินสตาแกรม เป็นรูปเธอออกกำลังกายในยิมบ้าง กินอาหารคลีนๆ บ้าง พักโรงแรมหรูๆ หรือชอปปิ้งบ้าง ซึ่งในเวลาไม่นานแอคเคานท์ของเธอก็มีฟอลโลวเวอร์มากถึง 89,000 คน
แต่ต่อมาเธอก็เปิดเผยว่า ทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงทั้งสิ้น เธอออกมาประกาศว่าทั้งหมดเป็น ‘ส่วนแรก’ และต่อมาในช่วงอีกสี่ห้าเดือนเธอก็โพสท์ภาพประสบการณ์ การติดยา ทำนม สติแตก ฯลฯ (ซึ่งทั้งหมดก็ยังเป็นการแสดง) และก็ตามมาด้วยการเข้ารับบำบัด โยคะ ฯลฯ เพื่อปิดฉากประสบการณ์ปลอมๆ ของเธอ
เธอบอกว่าทั้งหมดนี้เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากรีแอคชั่นที่สาธารณชนมีต่อดาราสาว อแมนด้า ไบรนส์ ที่เคยสติแตกไปก่อนหน้า
เฟคหลอกพ่อแม่ว่าไปเที่ยวเอเชีย
อีกกรณีหนึ่งซึ่งคล้ายกับกรณีบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวคนไทยเพิ่งมีข่าว คือกรณีของ Zilla Van Den Born ที่บอกพ่อบอกแม่บอกเพื่อนว่าลาล่ะ จะไปเที่ยวเอเชีย แล้วเธอก็เดินทางมาไทย กัมพูชา และลาว แต่จริงๆ แล้วทั้งหมด เธอไม่ได้ไปไหนเลย… เธอก็อยู่ที่อัมสเตอร์ดัมแล้วตัดต่อรูปเธอเอาเองนั่นแหละ วันคริสต์มาสเธอยังสไกป์มาหาพ่อแม่โดยจัดฉากข้างหลังให้เหมือนไทยด้วยนะ (แบบเอาร่มที่เราดูแล้ว… ก็ไม่ใช่ร่มไทยนัก มากางๆ ด้านหลัง ดูตามรูป) แถมยังไปเข้าเครื่องทำผิวสีแทนให้เหมือนกับไปเที่ยวจริงๆ อีก โอ๊ยย
แต่ทั้งหมดนี้คือเธอทำไปด้วยความรู้ตัวไง ว่าต้องการที่จะสื่อว่าการบิดเบือนความเป็นจริงบนโซเชียลมีเดียนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก “ฉันทำไปเพราะอยากจะบอกคนอื่นว่าเรากรองสาร และหลอกลวงผู้ชมได้ง่ายเพียงใดบนโลกโซเชียล” เธอบอก
เฟคเพื่อกระตุ้นความสนใจผู้ติดแอลกอฮอลล์
มีแคมเปญที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจเรื่องการติดแอลกอฮอล์ที่ใช้เทคนิคนี้ในการสร้างฟอลโลวเวอร์ด้วย คือโพสท์รูปไลฟสไตล์ของ Loius Delage ว่าไลฟ์สไตล์ดีงาม สวยงาม จิบเหล้าชิคๆ แต่ไปๆ มาๆ ก็เปิดเผยต่อมาว่า Louis Delage เนี่ย ไม่มีตัวตนจริงนะ เป็นแค่แคมเปญของ BETC ชื่อ ‘Like my addiction’ ที่ฉายให้เห็นว่า มันง่ายเพียงไรที่คนใกล้ตัวเราจะติดแอลกอฮอล์โดยที่เราแทบไม่รู้ตัว
http://petapixel.com/2016/10/03/fake-instagram-profile-tricked-50000-people-like-photos-alcoholism/
เฟคเพราะอยากโฟโต้ชอปเล่น
ในไทยเองก็มีโปรเจกต์ทำนองนี้เช่นกัน หากใครยังจำได้ถึงกระทู้เที่ยวญี่ปุ่น “ฉลองโนวีซ่า ไปญี่ปุ่นกันเห๊อะ” ที่เจ้าตัวออกมาบอกตั้งแต่แรกว่าเป็นงานโฟโต้ชอปล้วนๆ ส่วนเหตุผลที่ทำคือ “ผมว่างๆ เลยหาอะไรทำเล่นๆ พอโพสท์ลงเฟซ แม้จะบอกชัดเจนว่าตัดต่อก็ยังมีคนฝากซื้อของ” กระทู้นี้ติดหนึ่งในกระทู้ในตำนานจากการคัดเลือกของพันทิปด้วย
http://pantip.com/topic/30976788
เฟคเพราะชอบจนอยากมีชีวิตแบบนั้น
ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นกรณีที่ไม่น่ากลัว แต่กรณีที่ทำให้สยองขวัญเลยก็มี อย่างเช่นมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามอินสตราแกรมของ Lauren Bullen แล้วเดินทางตามเธอไปทั่วโลก เพื่อถ่ายภาพในมุมเดียวกัน ด้วยการใส่ชุดเดียวกัน คือแทบจะอยากเป็นเนื้อเดียวกันกับต้นแบบเลยทีเดียว จน Lauren Bullen กลัว ต้องออกมาเขียนบล็อกเพื่อให้เธอเลิกทำอย่างนี้เสียที
“ตกใจมากค่ะ ตอนแรกคิดว่าโฟโต้ชอป แต่ว่าพอเทียบไปเทียบมาแล้วไม่ใช่ เธอ (คนที่ก๊อป) เดินทางตามฉันจริงๆ … นี่ไม่ต้องพูดถึงเลยนะคะว่าการเลียนแบบฉันทั้งหมดนี้จะใช้เงินมากขนาดไหน…”
ต่อมา Lauren ก็ได้ติดต่อกับคนที่ก๊อปเธอ (ตอนแรกคนที่ก๊อปบล็อกเธอไป ทำให้คุยไม่ได้ แต่ต่อมาก็อันบล็อก) และได้เคลียร์จนจะแจ้ง ไม่ติดใจเอาความอะไร โดยคนที่ก๊อปบอกว่า ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปของเธอนั่นแหละ และก็ยอมรับว่าก็ทำเกินไปจริงๆ
เฟคเพราะอยากหนี
ถ้าทำไปเพราะว่าจะทำงานศิลปะหรือจะทำแคมเปญ หรือกระทั่งว่างๆ ไม่มีอะไรทำ อยากโฟโต้ชอปเล่น ก็เข้าใจได้ แต่การ ‘ก๊อปไลฟ์สไตล์ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง’ หรือกระทั่งการ ‘เฟคประสบการณ์ที่ตัวเองไม่มี เพื่อมาแสดงให้คนอื่นได้เห็นในโซเชียลมีเดีย’ นั้นมีเหตุผลอะไร
Vice เคยไปสัมภาษณ์ Laura คนรันแอคเคานท์ @FakePerrieLM ที่เฟคตัวเองเป็นศิลปิน Perrie Edwards และทวีตในน้ำเสียงของเธอ ว่านี่เล่นทวิตเตอร์จะเฟคเป็นคนอื่นเพื่ออะไร
เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าฉันกับเพอร์รี่เหมือนกันมาก เรามีความสุขเหมือนกัน ความเศร้าในเวลาเดียวกัน ฉันเห็นตัวฉันในเพอร์รี่ ดังนั้นแอคเคานท์นี้จึงเป็นเหมือนกับการอุทิศให้เธอ”
ซึ่งเป็นเหตุผลคล้ายกันกับที่คนที่รันแอคเคานท์ปลอมของ Ed Sheeran หรือ Cheryl Cole ให้ไว้
ถึงแม้การ ‘เฟคเป็นดารา’ กับ ‘เฟคประสบการณ์ท่องเที่ยว’ ในโซเชียลมีเดียจะไม่เหมือนกันนัก แต่เหตุผลของพฤติกรรมแบบนี้ก็อาจจะมาจากสิ่งเดียวกันนั่นคือ การตระหนักว่า บนโซเชียลมีเดีย คุณเป็นใครก็ได้ “แล้วทำไมจึงไม่เป็นคนที่ไลฟ์สไตล์ฟู่ฟ่าสุดๆ ไปเลยล่ะ”
Dr. Elle Boag ผู้ที่ศึกษาด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัย Birmingham ให้ความเห็นว่า “คนเราเหงาง่ายนะ อาจจะเพราะไม่ค่อยมีเพื่อน หรืออาจจะรู้สึกว่าถ้าปลอมให้ตัวเองเป็นอะไรสักอย่าง ก็อาจจะทำให้มีคนเข้าหามากกว่าเดิม การเป็นเซเล็บเนี่ยมันมีสถานะที่ดีนะ ดังนั้นถ้าเขาหรือเธอปลอมตัวเป็นเซเล็บ ก็อาจจะได้รับการยอมรับ การปลอมแปลงแบบนี้ ก็เป็นการหลีกหนีความจริง เป็นรูปแบบหนึ่งของแฟนฟิกนั่นแหละ
“บางคนชอบโกหก ชอบหลอกลวงคนอื่น มันเป็นเรื่องสนุกสำหรับพวกเขา และทำให้พวกเขาคิดว่าตัวเองมีอำนาจ” Dr. Boag สรุป
https://broadly.vice.com/en_us/article/meet-the-people-pretending-to-be-celebrities-on-social-media