เวลาคุณได้ยินว่า ‘ที่ที่คนอื่นเขาไม่บ้าไปกัน!’ คุณนึกถึงที่ไหน? อัฟกานิสถาน นามิเบีย รวันด้า เคนยา คิวบา หรือเกาหลีเหนือ แต่ผู้ชายคนนี้ไปทำ ‘เถื่อน’ มาหมดทุกที่ที่บอกมาแล้ว!!
และด้วยความ ‘เถื่อน’ นี้เอง The MATTER เลยขอบุกบ้าน ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ ไปคุยกันเรื่องเถื่อน (ๆ) ที่เขาได้ทำมา ไม่ว่าจะเป็นรายการ ‘เถื่อนทราเวล’ ที่เดินทางมาถึงซีซั่นสองแล้ว รวมถึงหนังสือเล่มสองอย่าง ‘เถื่อนแปด’ ทำไมอะไรๆ ก็ ‘เถื่อน’ ? มีวิธีทำ ‘เถื่อน’ ยังไง? เรียนรู้อะไรบ้างจากความ ‘เถื่อน’ ต่างๆ ที่สำคัญ อยากรู้ว่าคนอย่างวรรณสิงห์กลัวตายไหม?
The MATTER : ทำไมถึงใช้คำว่า ‘เถื่อน’
วรรณสิงห์ : คำนี้ได้มาโดยบังเอิญ ตอนเอาการเดินทางที่ผ่านๆ มา มารวมเล่ม ‘เถื่อนเจ็ด’ ตั้งเป็นชื่อเล่นเรียกกันในทีม (a book) แล้วสุดท้ายก็เห็นตรงกันว่าชอบชื่อนี้ ก็เลยออกมาเป็น ‘เถื่อนเจ็ด’ ตอนแรกวรรณสิงห์จะให้เถื่อนเจ็ดเย็ดเข้เต็มๆ ไปเลย แต่รู้สึกว่าจะไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์
จากตรงนั้น เราก็ค้นพบว่าสิ่งที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Journalism ใน Conflict Zone ทำ Documentary เรื่องสีเทาทั้งหลาย ทำอะไรที่เป็นมุมดาร์กๆ ของโลกเนี่ย คำว่า ‘เถื่อน’ ดูเข้าใจง่าย ชัดเจนดี ไม่ได้เป็นทางการมากเกิน แล้วก็น่าจะส่งสารบางอย่างให้คนดูได้ เวลาตั้งชื่อรายการก็หยิบเอาคำนี้มาเป็นเถื่อนทราเวล ล่าสุดเพิ่งเปิดบริษัทใหม่ของตัวเอง ก็ตั้งชื่อว่า เถื่อน กัมปะนี จำกัด ไปเลย เราคิดว่าเราค้นพบตัวเองแล้วกับคำๆ นี้
The MATTER : ไม่กลัวคนจะคิดถึงคำว่า ‘เถื่อน’ ในแง่ลบเหรอ
วรรณสิงห์ : ตัวเราเองไม่ได้มองแง่ลบเลย เราไม่เคยดูถูกพื้นที่ไหน เราไม่เคยตัดสินใคร ไม่เคยเอาวัฒนธรรมอะไรมาล้อเล่น เรานำเสนอทุกอย่างโดยเน้นที่ความเป็นมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ถ้าจะมีอะไรด้านลบเกี่ยวกับชื่อ ‘เถื่อน’ เราว่าเนื้อหาที่เรานำเสนอจะช่วยอธิบายเองว่ามันไม่ใช่
The MATTER : มีอะไรใน ‘เถื่อนแปด’
วรรณสิงห์ : ในเถื่อนแปดเป็นการเดินทางที่ผสมระหว่าง ตอนทำรายการพื้นที่ชีวิตเมื่อหลายปีก่อน อย่างคิวบาหรือเคนยา กับตอนทำเถื่อนทราเวล ซีซั่นแรก อย่างนามิเบีย อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ หรือว่าเบื้องหลัง AV ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเราพยายามเอาด้านที่ไม่ได้อยู่ในรายการมานำเสนอ ด้านเหล่านั้นคือความคิดและกระบวนการตกตะกอนทางความคิดของเรา เพราะในรายการเราพยายามไม่ออกความเห็น เน้นนำเสนอสิ่งที่ไปเจอมามากกว่า
ในกระบวนการเขียนหนังสือ เรามีเวลาตกผลึกกับความคิดมากกว่า ทำให้เป็นคนละแบบกับรายการ อย่างเช่นตอนเบื้องหลัง AV ถ้าดูในรายการก็จะเป็นแค่การนำเสนอเรื่องราวของวงการ AV แต่ว่าในหนังสือจะเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเซ็กซ์กับมนุษย์ ทำไมบางศาสนาห้ามเรื่องเซ็กซ์ ทั้งที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และในสังคมญี่ปุ่นที่มองเรื่องเซ็กซ์เป็นอิสระ ทั้งที่มีกฎระเบียบอื่นเคร่งครัดแทบทุกอย่าง ฟังก์ชั่นของเซ็กซ์คืออะไรกันแน่ เราก็จะมองลึกลงไปกว่าสิ่งที่อยู่ในรายการ
แล้วในเล่มก็ยังมีบางที่ที่ไปเที่ยวเฉยๆ แล้วได้ประสบการณ์มาเขียนหนังสือได้ เช่น ตอนไปเซเรนกิติกับแม่ หรือตอนไปปีนคิริมันจาโร ตอนแรกก็ไม่ได้จะไปทำงาน แต่ประสบการณ์ที่ได้กลับมาก็คิดว่าน่าจะเอามาใส่ในเล่ม
The MATTER : ถามถึงเรื่องที่ไปถ่ายรายการ มีวิธีเลือกสถานที่ยังไง
วรรณสิงห์ : เราคิดจากเรื่องที่อยากรู้และสนใจ ไม่ได้เอาคำว่า ‘เถื่อน’ นำหน้า ว่าต้องอันตรายเต็มที่หรือต้องเสี่ยงตายตลอดเวลา แต่ทีนี้เรื่องที่เราอยากรู้และสนใจ มักจะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก และต้องเดินทางไปยังที่ที่คนอื่นๆ เขาคงไม่ไปกัน ตามคอนเซปต์รายการที่ว่าคนดีๆ เขาไม่บ้าไปกัน
เราเป็นคนขี้สงสัยตามธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วอาชีพที่ทำก็เปิดโอกาสให้เราเดินทางไปหาคำตอบได้เต็มที่ อย่างเช่น War Zone เขาอยู่กันยังไง ชาวเผ่าแอฟริกาเขาอยู่กันยังไง สถานการณ์โคเคนที่โคลัมเบียเป็นยังไงบ้าง ขั้วโลกเขาอยู่กันแบบไหน หรือประเทศที่ว่ากันว่าอันตรายที่สุดโนโลกอย่างซีเรีย สภาพปัจจุบันหลังจากสงครามเป็นยังไง ความสงสัยเหล่านี้มันดันให้เราไปในที่ต่างๆ ในโลก
The MATTER : มีวิธีการนำเสนอประเด็นหรือความขัดแย้งในแต่ละที่ยังไง
วรรณสิงห์ : นำเสนอบริบทของความขัดแย้งก่อน แล้วก็นำเสนอความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในนั้น ก็จะมีทั้งสัมภาษณ์ให้คนที่อยู่ตรงนั้นเล่าเรื่อง กับทำอะไรสนุกๆ กับเขา คนเราพอได้ยิ้มร่วมกัน ก็จะเริ่มเปิดใจมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น แต่ประเด็นที่ยากกว่าคือถ้าเป็นเรื่องที่คนไทยมีความคิดความเห็นกับเรื่องนั้นอยู่แล้ว อย่างเช่นเกาหลีเหนือ ที่เรามีภาพที่ค่อนข้างลบและน่ากลัว เราก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่าสิ่งที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องของการเมืองหรือเรื่องของโครงสร้างระบบ แต่เป็นเรื่องของผู้คนที่อยู่ในนั้น เพราะเราไม่ค่อยได้ยินคนเกาหลีเหนือพูดและไม่ค่อยได้เห็นคนเกาหลีเหนือใช้ชีวิต
เราก็พยายามหาวิธีเลี่ยงดราม่า เพราะเราอยากให้สารที่เราตั้งใจนำเสนอเข้าหาคนดูได้โดยไม่มีดราม่าคั่นระหว่างทาง สารที่เราทำก็เป็นเรื่องเดียวเสมอมาและจะเป็นตลอดไป คือความเป็นมนุษย์ของผู้คนในทุกๆ ที่ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนในเกาหลีเหนือ หรือว่าจะเป็นดารา AV ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี หรือเป็นเพียงเครื่องสนองทางเพศ แต่เราพยายามทำให้คนดูมองข้ามเรื่องเซ็กซ์แล้วเห็นความเป็นมืออาชีพของดาราเหล่านี้ เพื่อที่คนอาจจะยอมรับได้ว่าเขาก็แค่ทำอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง เป็นการทำงานด้วยความสามารถอีกแบบหนึ่งที่เราหรือหลายๆ คนไม่มี
การนำเสนอประเด็นหรือความขัดแย้งก็ต้องยกเอาความเป็นคนขึ้นมาแบบไม่เข้าข้างใคร ไม่ใช่ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยหรือเปล่า แต่ความคิดแรกของเราคือเราเข้าใจเขาหรือยัง เราต้องหาทางเข้าใจเขาเพื่อจะได้นำเสนอให้คนดูเข้าใจด้วย ผมรู้สึกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สุดท้ายผลก็เหมือนเดิม แต่ถ้าทำให้เข้าใจได้สิถึงจะไม่เหมือนเดิม
The MATTER : การถ่ายทำคนเดียว ทำให้มีอิสระในการนำเสนอความคิดมากขึ้นไหม หรือมีอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง
วรรณสิงห์ : ก็ค่อนข้างเลือกได้ตามใจเรา อาจจะมีเรื่องของโฆษณาบ้าง ถ้าไม่รบกวนเนื้อหาหลัก เราก็ยินดีทำ เพราะถ้าเราอยากทำงานนี้เป็นอาชีพ เราก็ต้องเป็นมืออาชีพพอจะรับเรื่องนี้ได้ การอยู่คนเดียวตอนถ่ายทำก็เปิดโอกาสหลายอย่าง เช่น เราสามารถเคลื่อนที่เร็วได้ ไม่โดนจับตามองหรือสงสัยอะไรมาก บางพื้นที่เราก็ต้องเข้าไปเนียนๆ มันง่ายกว่าในการที่จะได้เนื้อหามา
แต่การถ่ายคนเดียวมันก็ทำให้เราต้องคิดตลอดเวลา ไทม์ไลน์ของรายการจะต้องอยู่ในหัวเลย ตรงไหนตกหล่น ต้องถ่ายตรงไหนเพิ่ม เพื่อประกบกับสิ่งที่ถ่ายมาแล้ว ข้อจำกัดเรื่องถ่ายทำก็มีเรื่องมุมกล้อง หรือการที่ตัวเราทำทุกอย่างพร้อมกันไม่ได้ ก็มีตกหล่นไปบ้าง แล้วการแบกอุปกรณ์หลายอย่าง เดินทางในที่ลำบากๆ ก็เหนื่อยเอามากๆ แต่จริงๆ ถ้าเรื่องประสานงานหรือติดต่อ ก็มีทีมช่วย
The MATTER : เรียนรู้อะไรจากการเดินทางบ่อยๆ
วรรณสิงห์ : เรียนรู้ความสุขครับ คือบางทีเราวิ่งหาความสุขกันในชีวิตปกติ บางคนอาจจะเจออยู่ในนั้น แต่สำหรับผม ผมรู้ตัวและรู้สึกได้ว่ามีความสุขมากๆ ตอนผมอยู่ในที่เหล่านั้น บางครั้งพอได้วางกล้องลงแล้วนั่งเฉยๆ สัก 20 นาที ครึ่งชั่วโมง มันนั่งยิ้มอยู่คนเดียวกลางที่พวกนี้ แล้วรู้สึกว่ามีแรงทำต่อ และรู้ได้ว่านี่คือที่ของเรา
แล้วก็เรียนรู้ได้อีกอย่างคือเรียนรู้ที่จะเลิกใส่ใจตัวเองมากมายนัก กับเถื่อนทราเวลเรารู้สึกว่าเราลืมตัวเองไปเลย เราสนใจแค่สิ่งที่เข้ามาจากรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นธรรมชาติ เป็นสัตว์ เป็นสถานการณ์ แล้วเราเป็นแค่ช่องทางในการนำเสนอ ไม่ได้สนใจว่าตัวเองจะต้องออกความคิดเห็นอะไร ในแง่ทางอ้อมก็ลดอีโก้เราไปเยอะเหมือนกัน อีโก้อย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุมาจากการที่เราใส่ใจความคิดตัวเองเยอะ แล้วเราก็มานั่งเถียงว่าความคิดเรานั้นถูก สำหรับเรารู้สึกเบาขึ้น ด้วยการไม่หวงความคิดตัวเองมากขนาดนั้นอีกแล้ว
The MATTER : การไม่ออกความคิดเห็นหมายถึงความไม่ใส่ใจหรือเปล่า
วรรณสิงห์ : มันมีอีกทางนอกเหนือจากการออกความเห็น คือการลงมือทำ ถ้าการออกความเห็นนำไปสู่การลงมือทำก็ยิ่งดี การออกความเห็นมันก็ควรมี แต่เราพบว่าเราเลือกลงมือทำมากกว่า อย่างเรื่องผู้ลี้ภัย เราก็พยายามหาวิธีแลกข้อมูลกับเงินบริจาค เปลี่ยนมันเป็นน้ำ เสื้อผ้า หรืออาหารเพื่อไปช่วยชีวิตเขาเลย สำหรับเรา การไม่ออกความเห็นไม่ใช่ความเพิกเฉย เพียงแค่เราเอาพลังงานเราไปลงตรงไหน สิ่งที่เราค้นพบว่าพลังงานของเราไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่คือการออกความเห็น เพราะก็ทำได้แค่ดึงคนมาเถียงกัน แล้วบางครั้งก็โตไปเป็นความโกรธหรือความเกลียดชัง
The MATTER : ทำไมคนถึงต้องใส่ใจประเด็นหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่อื่นบนโลก
วรรณสิงห์ : จริงๆ ไม่มีใครต้องทำอะไรหรอกครับ แล้วก็ไม่มีใครเรียกร้องให้ใครทำอะไรได้ แต่เราอยากทำ เพราะเราโหยหาความหมายให้กับชีวิต เราไม่อยากเกิดมาแล้วตายไปโดยรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ อย่างเรื่องผู้ลี้ภัยนี่เราจะรู้สึกเยอะหน่อย เพราะว่าเราเดินทางไปในพื้นที่ Conflict Zone แล้วเราเห็นหลายอย่างที่สะเทือนใจ ได้เห็นเด็กทารกอายุไม่กี่เดือนนอนอยู่บนพื้น ร้องไปก็ไม่มีใครอุ้ม พอเรารู้สึกกับเรื่องเหล่านี้ เราก็เอาความรู้สึกแปลงมาเป็นการกระทำ แล้วมันก็ช่วยเราได้ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างแล้วกับความรู้สึกเหล่านี้ เราคงไม่ประกาศว่าสิ่งที่เราทำมันช่วยอะไรใครได้ เราก็แค่อยากทำของเราไป ส่วนการจะไปตัดสินว่าใครควรรู้สึกหรือใส่ใจยังไง คงไม่ใช่หน้าที่ของเรา
The MATTER : วรรณสิงห์พอใจกับชีวิตและสิ่งที่ทำไหม อยากทำอะไรอีก
วรรณสิงห์ : เรามีความสุขกับชีวิตนะ ก็ได้ทำงานที่เป็นความฝันอยู่ เป็นงานที่ดูจะมีประโยชน์กับใครต่อใครบ้าง ซึ่งมันก็เติมเต็มตัวเราเองด้วย แต่หลังจบซีซั่นสองนี่รู้สึกว่าต้องการเวลาพักและอยู่นิ่งๆ บ้าง อยากศึกษาความนิ่งของชีวิตให้มากกว่านี้ ตอนนี้แทบไม่ได้อยู่กับที่เลย
The MATTER : วรรณสิงห์กลัวตายไหม
วรรณสิงห์ : (หัวเราะ) คือผมก็กลัวตายครับ ไม่ต่างอะไรจากคนอื่นเขา แต่ความกลัวพวกนี้จะหายไปในทันทีเมื่ออยู่ในพื้นที่ ก่อนจะทำคือกลัว แต่ตอนทำลืมหมดเลย พอทำเสร็จแล้วค่อยมานั่งคิดว่าเมื่อกี้แม่งโคตรอันตรายเลยว่ะ ทั้งติดหล่มในทะเลทราย ทั้งเฉียดระเบิลในคาบูล
แต่มีหลายเหตุผลมากๆ ที่ทำให้เราทำ มากกว่าทำให้เรากลัวที่จะไม่ทำ ถ้าจะตอบคำถามนี้คือกลัวตายไหม กลัว แต่กลัวไม่ได้ใช้ชีวิตให้เต็มที่มากกว่า