‘เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน’ เพลงที่กล่อมหู ให้เราร้องตามกันมาตั้งแต่เด็กๆ ตามคำสอนของผู้ใหญ่ว่า ‘ต้องเป็นเด็กดี’ ของสังคม ของประเทศ ของชาติบ้านเมือง หรือแม้แต่คำขวัญวันเด็กเอง ที่มักมีคำว่า เด็กดี ความหมายให้เด็กต้องเป็นคนดีสอดแทรกให้ท่องจำ แต่เด็กดีคืออะไร? จะเป็นเด็กดีได้ต้องทำแบบไหน? ต้องดีแค่ไหน ถึงเรียกว่าเด็กดี ?
‘ความดีอันคนดีทำง่าย แต่คนชั่วทำยาก’-งงแต่ก็เหมือนจะเข้าใจ คำสอนที่ฟังดูเหมือนออกจากปากอาจารย์เซนมาจากแบบเรียนสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ของนักเรียนชั้นประถม 6 ความดี คนดีเป็นเรื่องซับซ้อน แล้วเด็กๆ ที่เราคาดหวังให้เป็นเด็กดี เรามีวิธีสอนเรื่องยากๆ อย่างความดี คนดี การมีชีวิตในสังคมวุ่นวายนี้อย่างไร
เพราะเด็กวันนี้ จะโตเป็นผู้ใหญ่ และกำลังของประเทศในวันหน้า The MATTER จึงไปสำรวจหนังสือเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นวัยรุ่นอย่างเต็มตัว ว่าเด็กนักเรียนในวัยนี้ถูกสอนเรื่องนิยามความดีแบบไหน และมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
*สำรวจจากแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของบริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด
นิยามความดี
‘ความดีคืออะไร?’ เป็นคำถามที่แม้แต่นักปรัชญาต้องมานั่งถกเถียงกัน แต่เราเองต่างก็ต้องสอนให้เด็กๆ ของเราเป็นคนดี ในหนังสือเรียนสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมของเด็กชั้นป.6 จึงมีการระบุนิยามของความดีไว้ให้เราได้เห็นกันอย่างเป็นรูปธรรม
แบบเรียนบอกว่า ‘ความดี’ หมายถึง การทำที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม คนที่คิดดีก็จะพูดดี และทำดีด้วย เพราะมีจิตที่เป็น ‘กุศล’ มองโลกในแง่ดี ทำความดีเป็นปกติวิสัย ไม่เคอะเขินหรือฝืนใจในการทำความดี ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ความดีอันคนดีทำง่าย แต่คนชั่วทำยาก’- คม
เราจะเป็นคนดีแบบไหนได้บ้าง แบบเรียนมีการจัดรูปแบบความดีของบุคคลในประเทศ ว่าเราสามารถทำได้ใน 5 รูปแบบ คือเราเป็นลูก/ศิษย์/เพื่อน/ประชาชน/ศาสนิกชนที่ดี ไปตรวจสอบกันว่าเราดีครบถ้วนมั้ยกัน
- การเป็นลูกที่ดี –ในฐานะที่เป็นลูกควรชื่นชมคุณงามความดีของท่านด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอน ทำงานบ้าน ตั้งใจเรียน ดูแลเมื่อท่านไม่สบาย
- การเป็นลูกศิษย์ที่ดี – ในฐานะที่เป็นศิษย์ควรชื่นชมคุณงามความดีของท่านด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เชื่อฟังคำสอน ช่วยดูแลรักษาความสะอาดของโรงเรียน
- การเป็นเพื่อนที่ดี – ในฐานะที่เป็นเพื่อนควรชื่นชมคุณงามความดีของเพื่อนด้วยการแนะนำเพื่อนให้คิดแต่เรื่องที่ดี พูดแต่เรื่องที่ดี ทำแต่เรื่องที่ดี ไปสู่สถานที่ดีๆ
- การเป็นประชาชนที่ดี – ในฐานะที่เป็นประชาชนควรชื่นชมคุณงามความดีของประเทศด้วยการทำหน้าที่ด้วยซื่อสัตย์สุจริต มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตน ไม่ใช้ประเทศเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
- การเป็นศาสนิกชนที่ดี – ในฐานะที่เป็นศาสนิกชนของศาสนาควรชื่นชมคุณงามความดีของศาสนาด้วยการศึกษาหลักคำสอน ปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้ศาสนาไปหลอกลวงผู้อื่นให้หลงผิด
เพื่อสอนให้เด็กๆ เป็นคนดี หนังสือเรียนก็เลยมีบุคคลที่ทำดีไว้ประกอบด้วย คนดีระดับตัวอย่างตามหนังสือเรียนบอกว่า ‘นาย A (นามสมมุติ)ศึกษาพระพุทธศาสนาและเรียนรู้การฝึกสมาธิตั้งแต่เด็ก นาย A ได้กล่าวว่าการฝึกสมาธิช่วยให้มีจิตใจสงบ รู้จักตนเอง มีความจำดี สามารถเรียนหนังสือได้ดี และที่สำคัญจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูง ความเห็นแก่ตัวหายไป และอาจเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อโลก เพราะดำเนินชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนา’
การปฏิบัติตนดี
อยากเป็นคนดี แต่ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร หนังสือเรียนสังคมทั้งสามระดับของนักเรียนป.4-6 มีระบุไว้อย่างชัดเจน ด้วยบ้านเราเป็นเมืองพุทธการปฏิบัติตนดีตามแบบเรียนจึงเชื่อมโยงเข้ากับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก การปฏิบัติตนดีแบ่งได้เป็น 4 หัวข้อคือ 1) หน้าที่ชาวพุทธ 2) มารยาทชาวพุทธ 3) ศาสนพิธี 4) การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
เริ่มจากหน้าที่ของชาวพุทธ ที่ต้องมีส่วนร่วมในการบำรุง เคารพศาสนสถาน แสดงจนเป็นพุทธมามกะ มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ภายในวัด และปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในวัด
รวมถึงมารยาทชาวพุทธ ที่ต้องมีการปฎิบัติตัวกับพระสงฆ์และครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ให้ถูกต้อง เช่น เมื่อยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ไม่ควรยืนตรง ควรยืนเฉียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง มือทั้งสองข้างประสานกันด้านหน้า หรือปฏิบัติตนตามแนวทางพุทธศาสนิกชน เช่นรักษาศีล 5 ให้ครบถ้วน ทำบุญตักบาตรอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงศึกษาหลักธรรม ประเพณี และพิธีกรรมทางพุทธศาสนาด้วย
สำหรับศาสนพิธี แบบเรียนระบุว่า ในฐานะที่เป็นชาวพุทธต้องศึกษาศาสนพิธีให้เข้าใจ เช่นการปฏิบัติตนในการอาราธนา การจัดที่บูชาพระรัตนตรัย พิธีทอดผ้าป่า หรือพิธีทำบุญงานมงคลต่างๆ และอีกมากมาย เพื่อจะได้ปฏิบัติตนถูกต้อง
การบริการจิตและเจริญปัญญา เป็นวิธีทำให้จิตใจบริสุทธิ์ตามหลักพระพุทธศาสนา ในบทเรียนจึงมีการสอนบทสวดมนตร์และแผ่เมตตา การยืน การเดิน การนั่ง และการนอนอย่างมีสติ เช่นให้ยืนตัวตรง มือขวากุมมือข้างซ้ายไว้ข้างหน้าหรือไพล่หลัง ก้มหน้า หลับตาพร้อมภาวนา ‘พุทธ’ เมื่อหายใจเข้า และ ‘โธ’ เมื่อหายใจออก หรือการฝึกกำหนดความรู้สึก อย่างฝึกการมองเห็นที่ให้ปฏิบัติ เช่น หลับตาระลึกภาวนาว่า ‘ตาหนอ’ หรือมองดูอะไร ให้ภาวนาสิ่งนั้นอย่าง ‘เห็นต้นไม้หนอ’
บทสรุปจากทั้งสามเล่มมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน การปฏิบัติตนดีดูจะเป็นเรื่องของการเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธที่ดีมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาหลายประการ ต้องรู้จักพิธีกรรมทางศาสนา ควรมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ภายในวัด และปฏิบัติตนให้เหมาะสมเมื่ออยู่ในวัด รวมถึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างถูกต้อง เข้าร่วมศาสนพิธี และทำตามการบริหารจิตและเจริญปัญญาที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
มารยาทไทย
เราเป็นคนไทย ก็ต้องมี ‘มารยาทไทย’ แบบเรียนชั้น ป.6 ต้องการสอนให้เด็กๆ เป็นคนมีมารยาทไทย มีเป้าหมายชี้วัดจากการเรียนว่า เพื่อให้นักเรียนแสดงออกและปฎิบัติตามมารยาทไทยได้ถูกต้องตามกาลเทศะ ตามความหมายที่ระบุไว้ว่า ‘กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะของคนในสังคมไทย’
ถ้าอยากเป็นเด็กดี มีมารยาท แบบเรียนก็ได้มีตัวอย่างอธิบายไว้ให้เราเห็นและปฎิบัติตามอย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังนี้
- การนั่ง กรณีนั่งกับพื้น ควรนั่งพับเพียบ ตัวตรงแต่ไม่ต้องเกร็งตัว ผู้ชายแยกเข่าได้พองาม ผู้หญิงเข่าชิด หากมีผู้ใหญ่อยู่ต้องเก็บปลายเท้าให้เรียบร้อย มือวางประสานกัน และนั่งสำรวม
- การสนทนา หากจะพูดอะไรต้องนึกถึงกาลเทศะทุกครั้ง ถ้าสนทนาเป็นกลุ่มควรนำเรื่องน่าสนใจมาสนทนา ไม่ควรพูดเรื่องส่วนตัว ไม่ควรพูดอยู่ฝ่ายเดียว เปิดโอกาสให้คนอื่น ชมเชยผู้อื่นจากใจจริง และขอโทษเมื่อตนพูดผิด
- การใช้คำพูด ควรใช้สรรพนามอย่างถูกต้อง เช่น แทนตนเองว่า ฉัน ผม หรือดิฉัน กับเพื่อน หรือแทนเพื่อนว่าเธอ และใช้คำว่า ท่าน เมื่อพูดกับพ่อ แม่หรือครูบาอาจารย์
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เพราะในแบบเรียน มีการอธิบายถึงมารยาทไทยและมารยาททางสังคมที่สำคัญอย่างครบถ้วนถึง 10 ด้านครบถ้วนทุกมิติของการใช้ชีวิตด้วยกัน ได้แก่ 1) การแสดงความเคารพ 2) การยืน 3) การเดิน 4) การนั่ง 5) การนอน 6) การรับส่งของ 7) การรับประทานอาหาร 8) การทักทาย 9) การสนทนา และ 10) การใช้คำพูด ซึ่งถ้าปฏิบัติครบรอบด้านตามนี้แล้ว ก็จะเป็นเด็กดีมีมารยาทไทย (ตามแบบเรียน) ได้แน่นอน
พลเมืองดี
สังคมต้องการพลเมืองดี หนังสือเรียนชั้นป.4 และ ป.5 ก็บอกว่าการเป็นพลเมืองดีเป็นเรื่องสำคัญ เด็กๆ ของเราถูกสอนให้เป็น ‘พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย’ ซึ่งการเป็นพลเมืองดีก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก หนังสือบอกว่า‘พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย’ คือ บุคคลที่อยู่ร่วมกันและปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพทั้งกาย วาจา และใจ ไม่ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น เคารพกฎเกณฑ์ของสังคมและชุมชน โดยสามารถปฏิบัติเพื่อเป็นพลเมืองดีได้ คือเข้าร่วมกิจกรรมประชาธิปไตยในชุมชน และปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน อย่างอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, รักษาสาธารณสมบัติ, อนุรักษณ์โบราณวัตถุและโบราณสถาน และพัฒนาชุมชน
เพื่อให้ภาพชัดและมีเช็กลิสต์ให้เด็กๆ ตรวจสอบว่าตัวเองเป็นพลเมืองโดยครบถ้วนแล้วรึยัง ในหนังสือเรียนชั้น ป.5 ได้กรุณาแยกแยะและจัดประเภทไว้เป็นข้อๆ เพื่อความสะดวกไว้ 7 วิธี ประกอบด้วย 1) เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 2) มีความรับผิดชอบ 3) มีความเสียสละ 4) มีความซื่อสัตย์ 5) มีความสามัคคี 6) มีคุณธรรม และ 7) มีค่านิยมประชาธิปไตย
หนังสือเรียนบอกว่าพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตยคือการเคารพซึ่งกันและกัน แบบนี้ถ้าเด็กออกมาแสดงความเห็น ที่บางทีเราอาจไม่อยากฟัง เราก็น่าจะต้องเคารพและรับฟังรึเปล่านะ- ถ้าเด็กมีเหตุผล
แบบฝึกหัด
ตามธรรมเนียม เรียนแล้วก็ต้องสอบ ต้องมีแบบฝึกหัดเพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจบทเรียนแล้วรึยัง ในโอกาสนี้จึงเชิญชวนทุกท่านกลับมาตรวจสอบความเข้าใจเรื่องคนดี ความดี ด้วยแบบทดสอบตัวอย่างจากในหนังสือเรียน ทบทวนว่าเราทุกวันนี้เข้าใจและเป็นคนดีตามหลักเกณฑ์กันมากน้อยแค่ไหน ลองทำดู คุณทำได้!
- ในสังคมปัจจุบันมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงก่อให้เกิดปัญหาทางจิต เช่น เครียด วิตกกังวล ในสถานการณ์เช่นนี้เราจะปฏิบัติตนอย่างไรให้มีความสุขได้ หรือมีปัญหาทางจิตน้อยที่สุด (แบบเรียนป.6)
- “ในแต่ละวัน เราได้คิดเรื่องต่างๆ มากมาย จนบางครั้งรู้สึกเมื่อยล้ามึนงงกับเรื่องที่คิดนั้น” ในสถานการณ์นี้ควรทำอย่างไรให้จิตใจได้พักผ่อนและมีสุขภาพจิตดี (แบบเรียนป.5)
- อีก 7 วันจะเป็นวันเกิดคุณย่า นิพนธ์จะจัดงานวันเกิด โดยมีการทำบุญเลี้ยงพระ 9 รูป ถ้านักเรียนเป็นนิพนธ์ควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี มีมารยาท รู้ระเบียบปฏิบัติในเรื่องพระสงฆ์และศาสนพิธี (แบบเรียน ป.4)
- ถ้าชาวพุทธประกอบศาสนพิธีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบปฏิบัติจะมีผลเป็นอย่างไร (แบบเรียนป.5)
- พลเมืองดีมีลักษณะอย่างไร และจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร (แบบเรียนของป.4 และป.5)
Illustration by. Namsai Supavong