เป็นเหมือนที่เดาไว้ไม่มีผิด!
“ดูแค่หน้าก็รู้แล้วว่า คนนี้นิสัยไม่ดี”
“หึ! บอกแล้ว ผู้หญิงด้วยกันดูออก”
“คนประเทศนี้เป็นแบบนี้กันทุกคนจริงๆ ด้วย”
เคยแอบคิดในใจแบบนี้กันบ้างมั้ย เหมือนเราคาดเดาอะไรบางอย่างไว้ แล้วในที่สุดก็มีหลักฐานมายืนยันว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้อง ทีแรกก็คิดว่า ฉันนี่มันเก่งจัง เซนส์แรง แต่พอเวลาผ่านไป ได้ตกตะกอนกับตัวเอง ได้ลองทบทวนดูใหม่อีกครั้งกลับพบว่า ไม่สิ ที่เราเคยเข้าใจมันผิดมาตลอด แล้วก็ไม่รู้เพราะอะไรเราถึงเข้าใจผิดแบบนั้นมาตั้งนาน เหมือนมีบางอย่างบังตาจนเราเชื่ออย่างแรงกล้าว่าตัวเองถูก
ถ้ายังไม่เห็นภาพ เดี๋ยวเราลองยกตัวอย่างสถานการณ์ให้ฟัง เอาล่ะ เราเคยเจอนาย A ตัวเป็นๆ ครั้งหนึ่ง จากการแต่งตัวและท่าทางการพูด เราทึกทักเอาว่า เขาน่าจะเป็นคนเจ้าชู้ เราแอบคิดแบบนั้นอยู่คนเดียวโดยไม่เคยมีหลักฐานหรือข้อมูลยืนยัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนอีกคนมาเล่าให้ฟังว่าถูกนาย A ตามจีบ และเมื่อได้ยินแบบนั้น เสียงในใจของเราก็ตะโกนออกมาทันที
“ว่าแล้วเชียว เป็นแบบที่คิดไว้จริงๆ ด้วย”
จากนั้นเราก็ตักเตือนเพื่อนด้วยความหวังดีว่าผู้ชายคนนี้อาจจะอันตราย ทั้งที่ถ้าลองมาคิดกันจริงๆ เรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ของเราเท่านั้น นาย A แค่มาจีบเพื่อนเรา ไม่มีอะไรบ่งชี้แม้แต่นิดเดียวว่าเขาเป็นคนเจ้าชู้แบบที่เราคิด เพียงแต่เมื่อมีข้อมูลบางอย่างมาสนับสนุนสิ่งที่เราเคยรู้สึกก่อนหน้า มันก็เกิดเป็นความแน่ใจว่าฉันคิดถูก จนหลายครั้งเราก็เผลอลืมไปว่าทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดมาจากการคาดเดาเท่านั้น
“นี่เรากลายเป็นคนไม่มีเหตุผลตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ย” อาจะเป็นประโยคที่ใครหลายคนถามขึ้นหลังจากตกตะกอนได้ แต่เราก็อยากปลอบให้สบายใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การไม่มีเหตุผล แต่คือการมีปังธงที่เราเองก็ไม่รู้ตัว โดยธงที่ว่านี้ชื่อ ‘Confirmation Bias’
หลงอยู่ในความเชื่อของตัวเอง
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งที่เรียกว่า Confirmation Bias กันก่อน Confirmation Bias เป็นศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึง การแสวงหา เปิดรับ และตีความข้อมูลที่ได้มาเพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเอง ซึ่งการกระทำนี้จะส่งผลให้เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนก่อเกิดเป็นอคติ การยึดติด หรือหลายครั้งถึงกับมองข้ามข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เราคิด
อันที่จริง ต้องบอกว่า Confirmation Bias ก็เป็นไปตามกลไกธรรมชาติของมนุษย์ เพราะเมื่อเรามีความเชื่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะมองหาสิ่งที่สอดรับกับความเชื่อของตัวเอง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราคงรู้สึกดีมากกว่าถ้าเพื่อนพูดคุยเชิงสนับสนุน แทนที่จะแสดงความคิดเห็นสวนทางกับสิ่งที่เราคิด
และเมื่อเป็นเช่นนั้น มันย่อมเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกันที่เราจะเลือกขวนขวายหาข้อมูลมาสนับสนุนความเชื่อ มากกว่าเลือกมองหาข้อมูลอีกชุดที่ขัดแย้ง ซึ่งหลายครั้งมันก็เป็นไปโดยที่เราตั้งใจ แต่หลายที มันก็อาจเกิดขึ้นโดยที่เราเองไม่รู้ตัว แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หากเราถูกห้อมล้อมและเลือกรับเฉพาะชุดความคิดแบบเดียวกันกับตัวเองคิด ท้ายที่สุด เราก็จะกลายเป็นคนที่ยึดติดกับความเชื่อบางอย่างจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง
การค้นพบอคติที่เกิดจากการยืนยันความเชื่อ
ถ้าจะถามว่า Confirmation Bias ถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อไหร่ เราคงต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคกรีกโบราณ โดยนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกนาม ธูสิดีดิส (Thucydides) เคยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Confirmation Bias ไว้ในงานเขียน ประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียน (The History of the Peloponnesian) ใจความว่า
“มนุษย์ส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองคาดหวังและเชื่อโดยขาดความระมัดระวัง อีกทั้งยังพยายามหาเหตุผลมาลบล้างสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการออกไป”
และหลังจากนั้น Confirmation Bias ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งช่วงปี 1960 เมื่อนักจิตวิทยาชาวอังกฤษอย่าง ปีเตอร์ วาสัน (Peter Wason) ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว และพิสูจน์ข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกเมื่อศตวรรษก่อน ซึ่งผลปรากฏว่า การทดลองของปีเตอร์ชี้ให้เห็นถึงอคติที่เกิดจากความพยายามในการยืนยันความเชื่อของมนุษย์แต่ละคน ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนมากตั้งใจยืนยันสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นความจริง โดยแทบจะไม่คำนึงถึงข้อมูลที่สวนทางกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อเลยแม้แต่น้อย
ผลกระทบจาก Confirmation Bias
อคติที่เกิดจากการหาเพียงหลักฐานมาสนับสนุนความคิดของตัวเองส่งผลกระทบตั้งแต่เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาระดับชาติ โดยแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่
- ยึดติดกับ First Impression – ไม่ว่ายังไง ความประทับใจแรกย่อมส่งผลให้เราเกิดมุมมองบางอย่างต่อคนคนนั้น ของสิ่งนั้น หรือสถานที่นั้นๆ และเมื่อเวลาผ่านไป หากเราได้รับข้อมูลที่สวนทางกับ First Impression นั่นย่อมนับเป็นความโชคดี เพราะเราจะได้มีโอกาสทบทวนความเชื่อเดิมที่มีต่อสิ่งนั้นใหม่อีกอย่างน้อยหนึ่งรอบ แต่ถ้าหากข้อมูลที่ได้มา ดันตรงกับภาพแรกที่เราจำได้ ก็คงนับเป็นความโชคร้าย เพราะมันอาจกระตุ้นให้เราบันทึกภาพจำนั้นจนเกิดเป็นความเชื่อที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง
- ตกเป็นเหยื่อการตลาด– Confirmation Bias อาจทำให้เราติดกับของบรรดานักขายหรือโฆษณาชวนเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะจากเดิมที่เรามีมุมมองต่อข้าวของและสินค้าต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อได้ฟังคำซึ่งย้ำว่า สินค้านี้จะช่วยแก้ Pain Point ของเราได้จริง มันก็จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อ จนหลายครั้งตังค์ในกระเป๋าก็หายไปโดยที่เราห้ามตัวเองไว้ไม่ทัน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการถามความคิดเห็นของเพื่อนว่าจะซื้อสินค้าชิ้นนี้ดีหรือไม่ ว่ากันตรงๆ ไม่ว่าเพื่อนจะเชียร์แค่ไหน ถ้าใจไม่อยาก เราก็คงไม่ซื้อ แต่ส่วนมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือเราปักธงไปแล้วครึ่งหนึ่งว่าอยากได้ การฉีดยาจากเพื่อน เป็นเพียงเสียงที่เราอยากได้ยิน เป็นเพียง ‘ข้ออ้าง’ ที่เราอยากได้มายืนยันกับตัวเองว่า เสื้อตัวนี้มันสวยจริง ร้องเท้าคู่นี้มันดีจัง ซื้อเถอะ คุ้มตังค์แน่นอน
- นำไปสู่การเหมารวม– ยกตัวอย่างเช่น เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าคนจีนเสียงดัง พอเจอเองกับตัวหนึ่งครั้ง มันก็ยิ่งสนับสนุนความเชื่อเดิม จนบางที เราก็เผลอเหมารวมไปแล้วว่า คนจีนเป็นคนเสียงดังทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มีคนจีนที่เงียบและเก็บตัวเช่นกัน ยิ่งผนวกเข้ากับโลกในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังเฟื่องฟู บางความคิดเห็นอาจก่อให้เกิดการเหมารวม ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังในวงกว้างได้
- ปิดกั้นความเห็นต่าง– อย่างที่บอกว่า เมื่อเชื่อสิ่งใดไปแล้ว เราก็มักมองหาหลักฐานเพื่อมายืนยันสมมติฐานของเราเอง ซึ่งความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งคือเราอาจจะค่อยๆ ปฏิเสธหลักฐานอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเชื่อ เป็นการปิดกั้นข้อมูลจนมองข้ามความเป็นจริง สิ่งนี้เองที่กลายเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่างคนต่างยึดติดกับข้อมูลของฝั่งตนเอง จนมองว่าความคิดความเชื่อของคนอีกกลุ่มเป็นเรื่องผิด และต่างก็ไม่พร้อมที่จะทำความเข้าใจวิธีคิดของอีกฝ่ายเลย
มาแก้อคติของตัวเองกันเถอะ
2 วิธีที่เราอยากชวนทุกคนใช้เพื่อป้องกัน Confirmation Bias อย่างแรกคือต้องเตือนตัวเองให้ฟังความหลายๆ ด้าน แน่นอนว่าการมีความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อเรามีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เราก็ควรที่จะเปิดใจให้กว้างเพื่อประเมินข้อมูลและหลักฐานจากหลายๆ แหล่ง เช่น ถ้าอยากรู้ว่าเพื่อนคนนี้นิสัยอย่างไร เราก็ไม่ควรถามจากคนใดคนหนึ่ง แต่ควรถามจากหลายๆ คนเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล อย่าเลือกเชื่อแต่ความคิดเห็นที่ตรงกับสิ่งที่เราคิดอยู่ก่อนแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือควรพยายาม ‘ฟังหูไว้หู’ นั่นเอง
หรืออีกวิธีที่แอดวานซ์กว่านั้น สำหรับใครก็ตามที่รู้สึกว่า Confirmation Bias เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยด่วน สิ่งที่เราอยากแนะนำคือข้ามขั้นจากการฟังความรอบด้าน เป็นลองไปหาหลักฐานที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อไปเลย เช่น เราอยากได้รองเท้าคู่นี้ แต่เพื่อความมั่นใจว่าเพื่อนจะไม่ได้แค่ฉีดยาสนับสนุนให้เราซื้อ เราอาจจะถามเปลี่ยนคำถามที่จะถามเพื่อน จาก “เห้ย! รองเท้าคู่นี้สวยจัง แกว่าเหมาะกับเราปะ” เป็น “คู่นี้เฉยๆ มาก ไม่น่าซื้อเนอะ แกว่ามั้ย” ก็คือเป็นการถามเพื่อทดสอบสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อของเรานั่นเอง หรือถ้าหากเป็นประเด็นที่จริงจังมากขึ้น เช่น เรามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าผู้ชายควรเป็นผู้นำของครอบครัว สิ่งที่ควรทำก็อาจเป็นการลองรับฟังแนวคิดอีกฟากว่า ทำไมมนุษย์ทุกคนจึงควรเท่าเทียมกัน และไม่มีเพศไหนควรเป็นผู้นำอีกเพศหนึ่ง เป็นต้น
เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายคนเล็งเห็นถึงผลกระทบของอคติทั้งในระดับที่ใกล้ตัวและในระดับที่เป็นปัญหาส่วนรวม สิ่งที่สำคัญอาจไม่ใช่การเลิกมีความเชื่อต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่เป็นการเชื่ออย่างไม่ยึดติด และพยายามหาข้อมูลแวดล้อมมาประกอบการคิดและตัดสินใจอยู่เสมอ ตามสัจธรรมที่ว่า ความจริงไม่ได้มีเพียงด้านเดียว
และถ้าถึงที่สุดแล้ว เราดันพบว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดนั้นเป็นเรื่องผิด เราก็อยากบอกทุกคนว่า มันไม่เป็นไร ไม่เป็นไรเลยจริงๆ ทุกคนเข้าใจผิดกันได้ทั้งนั้น และอันที่จริง วันนี้มันก็น่าดีใจมากแล้วที่เรากล้ายอมรับกับตัวเองว่า ที่ผ่านมา เราเข้าใจผิด
แต่คำถามที่อยู่ถัดจากนั้นคือ เมื่อรู้ว่าเข้าใจผิดแล้ว เราจะเลือกแสดงออกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร
อ้างอิงจาก