หมอดูนี่ใครๆ ก็ดูกันทั้งนั้น แต่นัยหนี่งของการที่เราต้องแสวงหาการชี้นำพิเศษที่เป็นเรื่องความเชื่อหรือการชี้นำทางจิตวิญญาณ มันสะท้อนถึงความอ่อนแอบางอย่างในจิตใจเรา
ตรงนี้เองมั้งที่กลายเป็นเหตุผลสำคัญให้ชาวเกาหลีใต้ออกมาขับไล่ประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ การดำรงตำแหน่งของนางปาร์ค กึน เฮเองก็มีคำครหาในหลายเรื่อง ตั้งแต่การขึ้นสืบทอดอำนาจจากบิดาผู้ถูกมองว่าเป็นเผด็จการมือเปื้อนเลือด ความใกล้ชิดของเธอกับนาง ‘ชเว ซุนชิล’ เจ้าลัทธิ ‘โบสถ์แห่งชีวิตนิรันดร์’ (Church of eternal life) ฉายารัสปูตินแห่งเกาหลีใต้ มันก็ทำให้ประชาชนออกมาบอกว่า โอ้ย คนที่เชื่อแม่มด หมอดูลายมือแบบนี้มันจะนำประเทศเราได้ยังไง
ความเก๋ (และโหด) ของการประท้วงคือการเอา ‘กิโยติน’ มาประกอบ คือ พี่แกเล่นไปขุดเอาเครื่องแบบยุคโบราณกลับมาใช้เพื่อล้อพฤติกรรมที่มันล้าสมัยอย่างการ ‘เชื่อแม่มดหมอดู’ จะว่าไปไอ้เรื่องโหราพยากรณ์ก็เป็นเรื่องที่แยกออกจากมนุษย์ไม่ได้ ทั้งในระดับของรัฐ คือในหลายส่วนก็ยังเกี่ยวข้องกับกำลังใจปวงชน หรือในระดับเราๆ ท่านๆ ที่การดูดวง ดูหมอเป็นอะไรที่ต้องขอลองเช็คดูซะหน่อยเพื่อความมั่นใจอะเนอะ
รัฐสมัยใหม่กับจิตวิญญาณแบบเก่า
พอได้ยินข่าวเรื่องการมีตำแหน่งแม่มดหมอดูมาเป็นที่ปรึกษามันก็รู้สึกคุ้นๆ ด้วยความคิดแบบปัจจุบันเราก็รู้สึกว่าเฮ้ย ไม่ถูกดิ เพราะสมัยนี้เรามีกระบวนการที่อิงกับวิธีที่ทันสมัย ใช้เหตุผล ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งหลายมาช่วยกันบริหารประเทศ
ในสมัยก่อน แทบทุกอาณาจักรโบราณต้องมีตำแหน่งของโหรหรือเทพพยากรณ์ เป็นตัวละครลึกลับ ดูฉลาดเข้าใจยาก หยั่งรู้ฟ้าดิน หรืออีกทีก็มักเป็นหญิงสาวที่ทำหน้าที่สื่อสาร เป็นร่างทรงที่ติดต่อกับทวยเทพหรือพระเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ พวกนี้มักทำหน้าที่ทำนายไปจนถึงชี้แนะผู้ปกครองในอาณาจักรนั้นๆ
การพยากรณ์หรือการทรงเจ้ามักเชื่อมโยงกับพลังศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การปกครองในสมัยโบราณต้องยึดโยงกับอะไรบางอย่างที่มีความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งกว่าสามัญชนคนทั่วๆ ไป เช่น การเชื่อว่าผู้ปกครองเป็นเชื้อสายที่สืบลงมาจากสวรรค์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย อย่างพิธีกรรม ปาฏิหารย์ การทำนายทายทัก เหล่านี้ ต่างเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยเน้นย้ำกับอำนาจและความชอบธรรมที่ผู้ปกครองนั้นๆ ประมาณว่า คนนี้ไงคือลูกหลานของเทพ เอ้า ดูซะความอลังการ ฟังซะนี่คือคำทำนาย เป็นเสียงยืนยันจากพระเจ้า ดูปิระมิดนี่สิ ดูรูปปั้นนี่ ดูแนวเสาอันอลังการนั่น
เพราะชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ…แต่มันเสี่ยงอะ
คำว่า ‘สมัยใหม่’ มันดูขัดกับการดูดวง กิจกรรมที่…พูดกันตามตรงคือไม่ค่อยสัมพันธ์กับเหตุผลหรือวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ รัฐหรือประเทศสมัยใหม่ในระดับทางการเลยมีการเอาเรื่องการเชื่อหมอดูหรือความงมงายมาโจมตีเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลนั้นๆ แต่การยังคงอยู่ของการดูดวง มันก็เป็นการตอบสนองที่ย้อนแย้งกับลักษณะของสังคมสมัยใหม่เหมือนกัน
สังคมสมัยใหม่เป็นสังคมแห่งเหตุผลก็จริง แต่ในขณะเดียวกันนักวิชาการที่สนใจความเป็นสมัยใหม่ (modernity) เช่น Anthony Giddens บอกว่าสังคมสมัยใหม่เป็น ‘สังคมแห่งความเสี่ยง (risk society)’ Giddens บอกว่า ‘เป็นสังคมที่หมกมุ่นอยู่กับอนาคต (ที่จะต้องมีความมั่นคง) มากขึ้น
การครุ่นคิดถึงอนาคตนี้มันก็ไปทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง ‘ความเสี่ยง’ คำว่าสังคมความเสี่ยงที่นักวิชาการนิยามนั้นน่าสนใจ เพราะถ้าเรานึกถึงชีวิตประจำวันของเรา ในการทำงาน ใช้หนี้ หาเงิน ไอ้แนวคิดเรื่องการจัดการเงิน การจัดการชีวิต ลึกๆ แล้วมันคือการที่เรารู้สึกว่าเราเสี่ยง จะจน จะตกงาน จะป่วย จะไม่มีใครเอา แล้วเราต้องจัดชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงนั้น
ดังนั้น พอ ‘วันพรุ่งนี้’ มันสำคัญมากขึ้น ยิ่งเรารู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย สุดท้ายเราก็ยิ่งอยากรู้เรื่องราวของวันพรุ่งนี้ และใครล่ะที่จะน่ารักน่าฟังมากเท่ากับคนที่พอจะบอกได้ว่า วันนี้ชะตาเราจะไปทางไหน นิดหน่อย ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ก็โอเคละว้า
เชี่ย! โคตรแม่น การเล่นตลกของจิตใจเรา
เคยเป็นมั้ย อ่านคอลัมน์ดูดวงแล้วก็แบบ หืมมมม นี่มันตรงมากๆ ฟังการทำนายแล้วพออะไรๆ เกิดขึ้น เราก็จะยิ่งเชื่อมั่นว่า เรื่องดวงนี่มันอัศจรรย์จริง
ไม่แน่ใจว่าจะมีคนที่เห็นอนาคตได้จริงไหม แต่ในทางวิทยาศาสตร์มีการศึกษาทางจิตวิทยาในปี 1949 ของนาย Bertram Forer เรียกว่า Forer effect คือคุณพี่เขาพบว่าคนที่เชื่อเรื่องดวงนั้นสัมพันธ์กับปัจจัยทางจิตวิทยาของเรา คือมันมีความลำเอียงทางการรับรู้ (cognitive bias)
พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่เชื่อเรื่องดวง มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนที่มีการรับรู้ในแง่ของการ ‘ยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อ’ (confirmation bias) พูดง่ายๆ คือพออ่านคำทำนายใดๆ แล้วอะไรที่มันตรง ก็จะเชื่อในส่วนนั้น ส่วนในส่วนที่ไม่ตรงหรือเป็นเท็จ ก็จะลืมตรงนั้นไป แถมเวลาอ่านคำทำนายก็จะรู้สึกว่านี่มันเขียนมาเพื่อเราเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่แสนจะคลุมเครือและพูดเรื่องทั่วๆ ไปสุดๆ
อ่านเย็น อ่านร้อน เรานั่นแหละที่บอกเขา
เวลาเราไปดูดวง ความรู้สึกที่แม่นๆ หรือข้อมูลทั้งหลายที่หมอดูบอกเรา เอาเข้าจริงแล้วเราเองนั่นแหละที่เป็นคนเปิดเผยให้กับเค้า
กลยุทธ์การล้วงข้อมูลของเราแบบนี้ เรียกว่าการอ่านแบบเยือกเย็น (cold reading) วิธีของการอ่านแบบนี้คือการแสดงท่าทีว่าผู้พูดเป็นคนรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายมากกว่า แต่จริงๆ แล้วหมอดูนี่แหละกำลังอ่านเราอยู่ เคล็ดลับสำคัญคือหมอดูจะทำให้คนฟังอยากเชื่อมต่อกับตัวหมอดู คือจะพูดถึงอะไรกว้างๆ คลุมเครือๆ แล้วค่อยๆ ตะล่อมให้คนฟังค่อยๆ เปิดเผยข้อมูลออกมาทีละน้อย ประมาณว่าฉันเห็นความขมุกขมัว อีคนฟังก็จะเล่าออกมาเองว่า ควมขมุกขมัวคืออะไร หมอดูก็จะค่อยๆ เก็บสะสมข้อมูล อ่านภาษากาย ท่าทางไปเรื่อยๆ
พอจบการอ่านเป็นเยือกเย็น จะนำไปสู่การอ่านแบบร้อนแรงหรือ hot reading คือหลังจากเก็บข้อมูลซักพักแล้วก็ได้เวลารุกบ้างลุยบ้าง วีธีการของขั้นตอนนี้คือประมวลสิ่งต่างๆ แล้วแสดงความน่าอัศจรรย์ ทายอะไรที่คนฟังจะรู้สึกว่าแม่เจ้า นี่รู้ได้ยังไง ยังกับมีตาทิพย์ อึ้งตาค้างกันไป
ด้วยกระบวนการที่ลึกลับซับซ้อนทางเทคนิค พลังของจิตวิทยานี้เอง ที่เล่นเราซะอยู่หมัด
จนเราต้องไปประกาศบอกเพื่อนด่วนๆ ว่าคนนี้โคตรแม่น
เอาล่ะ สุดท้ายเราก็ไม่ได้บอกว่าโหราพยากรณ์เรื่องเหนือธรรมชาติมันเหลวไหลไร้สาระซะทีเดียว การที่เราเชื่อว่าจะมีคนที่สื่อสารกับอะไรที่เหนือกว่าเรา สามารถเปิดเผยและชี้นำอนาคตของเราได้บ้าง นั่นเป็นเพราะเราๆ มันก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ที่ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางสายธารของความไม่แน่นอน
อ่านเสร็จแล้ว ขอตัวไปอ่านดวงสำหรับวันพรุ่งนี้ก่อนนอนซะหน่อย ถ้าแม่นจะได้เอาไปแชร์ต่อรัวๆ
“อ่านเร็วๆ แกร ตรงมากๆ”