เธอเป็นหัวกะทิในสาขา เธอกำลังจะคว้า PhD เธอหน้าตาสะสวย และอาจารย์ที่ปรึกษาดันชอบเธอ!
การรังแกทั้งร่างกายและจิตใจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรั้วโรงเรียน แต่ในระดับการศึกษาสูงๆ ไปจนถึงสถาบันวิจัยระดับชาติ ก็ยังมีการกลั่นแกล้ง (bullying) ที่รุนแรงจนดับไฟคนหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจให้หันหลังจากแวดวงวิชาการคนแล้วคนเล่า เหยื่อหลายรายเป็นนักศึกษาหรือนักวิจัยระดับผู้น้อยที่แทบไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย สถาบันต่างๆ มองปัญหาเหล่านี้เป็นจุดด่างพร้อยบนชั้นวางถ้วยเกียรติยศ ดังนั้นหากไม่เตะปัญหาเข้าพรม ก็พยายามกลบเสียงให้เงียบซะ หรือไม่ก็ผลักไสพวกเขาออกจากสถาบันให้พ้นๆ ทำให้ต้องระเห็จระเหินหมดกำลังใจจากอำนาจที่ไร้การตรวจสอบของบรรดานักวิชาการอาวุโสที่จะบีบหรือคลายชีวิตของคนผู้น้อยในรั้ววิชาการได้ตามต้องการ
แวดวงวิชาการมีความลับดำมืด การกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม และคุกคามทั้งร่างกายและจิตใจล้วนถูกแอบซ่อนไว้ ตามหาไม่ได้ในภาคผนวก
นักศึกษาหญิง แอน (นามสมมติ) เป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของไทย เธอเป็นคนที่เรียนดีอย่างต่อเนื่อง ฉายแววความชอบวิทยาศาสตร์ในช่วงม.ปลาย ทำให้มุ่งมั่นตรงดิ่งมาทางนี้ตลอด การเรียนแทบไม่เป็นปัญหาสำหรับเธอเลย ได้คะแนนดีทุกๆ เทอมโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไร
ด้วยความเรียนเก่ง บวกกับลุคสาวแว่นผิวขาวพิมพ์นิยม ทำให้เธอดูดีทั้งสติปัญญาและหน้าตา แถมอธิบายเรื่องยากๆ ให้เพื่อนเข้าใจได้ แม้จะต่างสาขาวิชากัน ทุกอย่างในชีวิตดูลื่นไหลไปหมด จนกระทั้งเธอเตรียมทำ PhD ได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการ ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารนานาชาติอย่างต่อเนื่อง จนคิดว่าโชคดีเหลือเกินที่งานของเธอจะมี Impact Factor ระดับสูงๆให้คุ้มค่าเหนื่อย
แต่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเธอและอาจารย์ จากช่วงแรกที่ปรึกษาโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการชวนทานข้าว ภาษาเรียกขานก็ลดความห่างของวัยวุฒิลง อาจารย์ที่ปรึกษาเริ่มติดต่อในช่วงเวลาส่วนตัว มาปรากฏตัวมีปฏิกิริยาโต้ตอบในเฟซบุ๊ค เริ่มออกความคิดเห็นเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม แอนต้องแบกรับพฤติกรรมนี้อยู่หลายเดือนโดยที่โครงการไม่ได้คืบหน้าเลย
ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่เธอจะหาความรู้อะไรมาทำโครงการ แต่อยู่ที่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการดันชอบเธอ นั่นทำให้เธอกลุ้มใจมากกับพฤติกรรมพยายามสนิทสนมที่ส่อเค้าเกินเลย จนถึงเวลาที่เธอต้องบอกตามตรงกับอาจารย์ว่า “นี่เป็นความสัมพันธ์ที่ เป็นไปไม่ได้”
แล้วเมื่อถึงเวลานำเสนอโครงการ อาจารย์ที่ปรึกษากลับเปลี่ยนบทบาทตัวเองอีกครั้งราวพลิกฝ่ามือ จากที่เคยยิ้มแย้มกลายเป็นมีสีหน้าบึ้งตึง พยายามสรรหาจุดบกพร่องทุกเม็ดมาทำให้เธอต้องกลับไปทบทวนโครงการใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำอย่างไรก็ไม่ผ่าน ทำอย่างไรก็ไม่เป็นที่พอใจ และไม่เคยนำเสนอทางออกให้ แอนเริ่มมีอาการเครียดเรื้อรัง เป็นโรคกระเพาะ ร้องไห้คนเดียว จนพัฒนาเป็นอาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจทุกครั้งที่มีใครถามถึงความคืบหน้าของโครงการ
แต่ไม่ว่าเธอจะไปคิดทบทวนอย่างไร หรือต่อสู้กับจิตใจด้วยรูปแบบใดที่พวกเราไม่อาจรับรู้ได้ ท้ายที่สุด เธอจึงตัดสินใจยุติความตั้งใจทำ PhD แล้วเดินออกจากรั้วสถาบันที่เคยใฝ่ฝันจะเติบโต ไปประกอบอาชีพอิสระแต่ไม่ทิ้งความหลงใหลในวิทยาศาสตร์
เธอยืนยันว่า “นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่พลาด การทนอยู่ต่ออาจพลาดกว่า”
รั้ววิชาการ อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ
สงครามประสาทที่ขัดขวางคนรุ่นใหม่ไม่ให้ไปถึงฝันในรั้ววิชาการเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงน้อยครั้งในสังคมไทย ไม่แน่ใจว่าในไทยมีใครเป็นโต้โผพูดถึงประเด็นนี้ในระดับสาธารณะแล้วบ้างหรือยัง แต่ตัวอย่างในต่างประเทศตั้งแต่มีกระแส #Metoo เกิดขึ้น หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในแวดวงวิชาการก็ออกมายอมรับเช่นกันว่า พวกเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งในแวดวงความรู้ ที่ทำให้ความก้าวหน้าทางอาชีพต้องหยุดชะงัก
ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็มีกรณีที่คนราว 1 ใน 4 ในรั้ววิชาการเคยเจอประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้ง ถูกคุกคามทางเพศ ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี ถูกเหยียดเชื้อชาติ ภาษา ผิวพรรณหน้าตา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนที่อยู่ในรั้ววิชาการชั้นผู้น้อยที่มีฐานรายได้เฉลี่ยที่ 10,000 ยูโรต่อปี (เงินก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก) เป็นกลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุด โดยเฉพาะผู้หญิง 23% และผู้ชาย 15%
หลังจากกระแส #MeToo ในฮอลลีวู้ด สู่กระแสเรียกร้องในวงการ STEM ในชื่อ #MeTooSTEMbanner ที่ส่งเสียงลับๆ ออกมาว่า การกลั่นแกล้งในรั้ววิชาการส่วนใหญ่มักถูกละเลย ไม่ได้รับการตรวจสอบ เนื่องจากโครงสร้างของสถาบันที่เป็นแบบ top-down อำนาจจากบนลงล่าง ที่ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้ง
ระบบความเป็นซีเนียร์ในสาขาวิชาที่หลายครั้งสถาบันจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณวิจัยลงมาว่าใครจะควรได้รับ โดยการเห็นชอบของผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโส ก่อให้เกิดการแบ่งชั้นทางอำนาจเป็นขั้นบันได กว่าจะได้งบสนับสนุนก็ต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคน ซึ่งไม้บรรทัดที่มาวัดก็หาได้เที่ยงตรงเหมือนกันทุกคนไม่
หากคุณโดดเด่นเกินไปก็อาจถูกกด ทำวิจัยแข่งกับอาจารย์ในสายเดียวกันก็ถูกปัดตก หรือถูกยืมมือทำวิจัยให้บรรดาหัวหน้าสาขาผู้อาวุโสที่อาจไม่ปรากฏชื่อในโครงการ การจะเอ่ยปากปฏิเสธก็ยากยิ่งสำหรับนักศึกษาตัวเล็กๆ ภายใต้โครงสร้างมหึมาอันทรงเกียรติที่จะไม่รับฟังข้อเรียกร้องเหล่านี้ให้แปดเปื้อนสาขา จนกลายเป็นความลักลั่นที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
งานวิจัยชี้ช่องทางสว่างให้สังคม แต่ความโสมมเกิดจากคนทำวิจัยด้วยกันเอง
ประเด็นความตื่นตัวในต่างประเทศเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยสถาบันที่จะต้องขอทุนวิจัยจากรัฐ จำเป็นต้องทำรายงานเปิดเผยการคุกคามที่เกิดขึ้นในรั้วสถาบันควบคู่ไปในการประเมินขอทุน เช่น มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation) และ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ที่ต้องทำรายงานประเมินความเสี่ยงในสถาบันต่อเหตุกลั่นแกล้งและคุกคามทางเพศอย่างเปิดเผย
ส่วนทุนวิจัยในอังกฤษ Wellcome trust ที่เน้นให้งานวิจัยด้านเทคโนโลยีการแพทย์ก็มีกฎว่า หากสถาบันผู้รับทุนใดๆ ล้มเหลวที่จะจัดการปัญหาการกลั่นแกล้งในสถาบัน ทางเจ้าของทุนก็พร้อมจะยกเลิกเงินทุนวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว เช่น นักวิจัยด้านมะเร็ง Nazneen Rahman ถูกริบทุนวิจัยราว 3.5 ล้านยูโร จากเหตุที่มีการสืบสวนได้ว่า เธอมักคุกคามนักศึกษาผู้ร่วมงานด้วยถ้อยคำรุนแรงถากถางข่มขู่ระหว่างการทำวิจัย ซึ่ง Wellcome trust ก็สืบสวนจนลงดาบเป็นตัวอย่างมาแล้ว
นอกจากนั้นยังมีการเตรียมพัฒนาศูนย์รับมือปัญหาการคุกคามในรั้ววิชาการที่จะทำงานใต้เรดาห์เพื่อรับเรื่องร้องเรียน สืบหาหลักฐาน และทำการช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกกลั้นแกล้งแต่ไม่อยากประกาศตัวเองต่อสังคมได้รับรู้
สำหรับในประเทศไทย ที่แวดวงวิชาการขึ้นชื่อเรื่องระดับขั้นทางอำนาจอันสูงลิบ ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานใดเริ่มขยับเพื่อรับมือเหตุที่เกิดขึ้นต่อนักศึกษาหลายพันคน ซึ่งในแต่ละปีพวกเขาต้องล้มเลิกความตั้งใจกลางคันแทนที่จะได้เติบโตในโลกวิชาการ
เพียงเพราะคนไทยยังเชื่อว่า สถาบันการศึกษาเป็นที่ศักดิ์สิทธิดั่งวิหารทางปัญญาของผู้คน โดยที่ไม่เคยมีใครลองเดินไปสำรวจหลังวิหารเลยว่า ความมืดดำที่สถาบันซ่อนไว้มันกัภดกินโครงสร้างที่ค้ำยันความรู้ไว้ไปไหนถึงไหนแล้ว
ขอขอบคุณ
อดีตนักศึกษาปริญญาเอก PhD Candidate ผู้ไม่เอ่ยนาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Policy on bullying and harassment
Leading cancer scientist has £3.5m Wellcome Trust grant revoked after bullying allegations
US science agency will require universities to report sexual harassment