เรากำลังเดินหน้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่มีคำถามอยู่ไม่น้อยที่เราโหยหาคำตอบ
The MATTER จึงคัดเลือก 5 คำถามคาใจ พร้อม 5 คำตอบจากนักวิทยาศาสตร์
ว่าพวกเขามองอนาคตของมนุษยชาติไว้อย่างไร
Q : เราจะรอดพ้นการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 หรือเปล่า?
“มันสามารถทำให้ช้าลง หรือแม้กระทั่งหยุดได้ แต่เราต้องลงมืออย่างเร่งด่วน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ คือการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมัน ผมจึงค่อนข้างซีเรียส หากเราสามารถสงวนทรัพยากรธรรมชาติบนบกครึ่งหนึ่ง และในมหาสมุทรอีกครึ่งหนึ่ง
ในหนังสือของผม (Half Earth) ผมพิสูจน์ว่า เราสามารถทำได้ผ่านการร่วมมือเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ระบบนิเวศของแต่ละสปีชีส์ หรือเราอาจค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆ อีก 10 ล้านสปีชีส์ที่เรายังไม่รู้จัก โดยในขณะนี้เราค้นพบเพียง 2 ล้านสปีชีส์เท่านั้นเอง
ทั้งหมดทั้งมวลการขยายขอบเขตของวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเครื่องเตือนใจให้พวกเราไปอีกศตวรรษหน้า ผมเชื่ออย่างนั้น”
Edward O. Wilson นักชีววิทยาชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Harvard
Q : เราจะค้นพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ที่ไหน เมื่อไหร่?
“เราพบร่องรอยจุลชีพกระจัดกระจายทั่วพื้นผิวดาวอังคาร และคาดว่าเราจะพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกในอีก 20 ปีนี้ พวกมันอาจจะมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงพวกเรา หรืออาจจะต่างไปจากสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเหมือนกันที่เราจะตรวจพบ
จุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตบนดาวอังคารอาจจะหายากอยู่เสียหน่อย พวกมันอาจซ่อนอยู่ในช่องแคบๆ ที่แม้แต่แขนหุ่นยนต์ก็เอื้อมไปไม่ถึง
แต่ดวงจันทร์ ‘ยูโรป้า’ และ ‘ไททัน’ ต่างหากที่น่าสนใจกว่า! ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีอย่างยูโรป้ามีแหล่งน้ำ มันอาจจะเป็นที่เหมาะสมที่สุดในการวิวัฒนาการของสิ่งที่ชีวิตอันซับซ้อน หรือดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่ชื่อ ไททัน อาจจะเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดต่อการมีชีวิตในระบบสุริยะ เพราะมันอาจมีโมเลกุลสิ่งมีชีวิตอาศัยบนดาวที่หนาวเย็น แต่กลับไม่มีน้ำ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่สิ่งมีชีวิตบนดาวไททันแตกต่างจากบนโลกมากเลยทีเดียว”
Carol E. Cleland ศาสตราจารย์ปรัชญา และนักวิจัยด้านชีวดาราศาสตร์
Q : เราสามารถแทนที่ร่างกายของมนุษย์ทั้งหมดด้วยวัสดุสังเคราะห์ได้หรือไม่?
“ในปี 1995 ผมและโจเซฟ วากันติ เขียนบทความเกี่ยวกับความก้าวหน้าของนวัตกรรมตับอ่อนสังเคราะห์ที่ทำจากพลาสติก หรือวัสดุคุณภาพสูงที่ทำให้คนตาบอดกลับมามองเห็นได้ใหม่ ของเหล่านี้ถูกทดสอบทางการแพทย์หรือไม่ก็พัฒนาจนใช้ได้จริงในปัจจุบัน
ในอีกไม่กี่ศตวรรษ เป็นไปได้แน่นอนที่เนื้อเยื่อในร่างกายทุกส่วนจะสามารถเปลี่ยนถ่ายเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำหน้าที่เสมือนเนื้อเยื่อดั้งเดิมทุกประการ แต่สำหรับสมองอาจจะซับซ้อนอยู่มากสำหรับการหาวัสดุมาแทนที่ เรายังรู้อะไรเกี่ยวกับสมองน้อยมากเมื่อเทียบกับอวัยวะส่วนอื่นๆ
แต่ผมหวังว่างานวิจัยใหม่ๆ จะเปิดพื้นที่เพื่อให้เราสามารถแก้ปัญหาโรคทางสมองอย่าง อัลไซเมอร์หรือพาร์กินสัน”
Robert Langer ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัย MIT
Q : เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะตั้งอาณานิคมในต่างดาว?
“มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจำกัดความคำว่า ‘ตั้งอาณานิคม’ อย่างไร หากหมายถึงการที่ส่งหุ่นยนต์ลงไปบนดวงดาวอันห่างไกล เราก็ทำมาแล้ว แต่หากหมายถึงการส่งจุลชีพจากโลกไปให้มันสร้างชีวิตอย่างถาวรบนพื้นผิวดาวอังคาร อาจจะโชคร้ายหน่อยที่มันไม่เป็นแบบนั้น
แต่หากหมายถึงการส่งมนุษย์จำนวนหนึ่งไปตั้งรกรากเป็นเวลานาน แต่ไม่มีการขยายเผ่าพันธุ์ อย่างเร็วที่สุดมันจะเกิดขึ้นภายในเวลา 50 ปีนี้แน่นอน
หรือถ้าคุณหมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสำหรับมนุษย์โดยการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากโลก เพื่อให้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘อาณานิคม’ มากที่สุดเหมือนชาวยุโรปออกไปตั้งรกรากทั่วทุกทวีป ฉันอาจจะบอกว่าเป็นไปได้ แต่อาจจะสำหรับอนาคตในภายภาคหน้า
เพราะตอนนี้องค์ความรู้ในการสร้างระบบปิดที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในต่างดาวยังน้อยนัก ฉันเชื่อว่าการสร้างระบบนิเวศใหม่ที่สมบูรณ์เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดในการตั้งอาณานิคม มันยังมีปัญหาทางเทคนิคที่เพียบที่รอการแก้ไข หนึ่งในนั้นคือการควบคุมอากาศหายใจ นี่เรายังไม่ได้พูดถึงการสร้างอาณานิคมใต้มหาสมุทรกันเลย เพราะมันเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด และไม่มีสภาพแวดล้อมที่ไหนเหมือนใต้ทะเลบนพื้นโลกอีกแล้ว”
Catharine Conley เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NASA นโยบายปกป้องดาวเคราะห์ (Planetary protection)
Q : เรามีโอกาสป้องกันการล้างเผ่าพันธุ์ด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่?
“ตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกามีนโยบายลดภัยก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์ โดยการเพิ่มระดับความปลอดภัยของพื้นที่ที่อุดมด้วยยูเรเนียมและพลูโตเนียม หรือมีความพยายามจะกำจัดออกไปด้วยวิธีที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามการก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์เพียงครั้งเดียว อาจสังหารคนได้กว่า 100,000 คน เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้
พวกเราเรียนรู้จากเหตุการณ์เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ว่าในขณะนั้นสหรัฐเองก็เตรียมนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้รัสเซียเช่นกันหากฐานทัพทหารของสหรัฐถูกจู่โจม แม้การตอบโต้ระหว่างมหาอำนาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่อย่าลืมว่าทั้ง 2 ชาติเตรียมขีปนาวุธข้ามทวีป และหัวรบมิสไซล์เรือดำน้ำกว่า 1,000 หัวที่พร้อมใช้งานได้ทันที โดยอาศัยการโคจรสู่จุดหมายที่ไหนก็ได้บนโลกเพียง 15 ถึง 30 นาที คนกว่าร้อยล้านคนก็พร้อมสังเวยได้ทันที
นี่ยังไม่รวมความเป็นไปได้ที่จะมีการยิงนิวเคลียร์ผิดพลาด หรือแฮกเกอร์เจาะระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงของเราอีก
ผมจึงรู้สึกว่าภัยนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจไม่พัฒนาไปมากกว่านี้ บางครั้งความมีน้ำอดน้ำทนอาจช่วยชีวิตได้จริงๆ”
Frank Von Hippel อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ White House Office of Science and Technology