หัวล้านจริงๆ ก็มีเสน่ห์ แต่สำหรับบางคน การมีผมดกดำก็ช่วยทำให้มีความมั่นใจขึ้น หลายคนอาจเคยเจอเหตุการณ์ที่วันก่อนไปเที่ยวสุดเฟี้ยวกับเพื่อนๆ พอเห็นภาพที่ Tag มาก็ใจหายเกือบตกเก้าอี้ ไอ้พื้นที่โล่งกลางศีรษะมันคืออะไรกัน! ก่อนหน้านี้ไม่เคยสังเกตมาก่อน ผมที่เคยดกดำถูกแผ้วถางราวกับมีการทำไร่เลื่อนลอย ยิ่งรู้ตัวว่าหัวล้านของเราเป็นพันธุกรรมที่พ่อแม่มอบให้ ความหวังที่จะมีผมหนาเฉกเช่นตอนวัยรุ่นก็ดูริบหรี่มืดมนทีเดียว
ใครๆ ก็ว่าหัวล้านเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราก็ไม่อยากยอมให้ธรรมชาติพรากเส้นผมไปแบบนี้! และแน่นอนธรรมชาติก็ควรต้องสู้ด้วยธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นโชคดีที่พืชพรรณในบ้านเรามีสรรพคุณปลุกผมให้กลับมางอกเงยอีกครั้งแม้คุณจะหัวล้านแบบกรรมพันธุ์ ด้วยวิสัยทัศน์ของนักวิจัยไทยที่เห็นความมหัศจรรย์ของ ‘แสมทะเล’ จึงได้ทดลองและเปลี่ยนพืชที่มีอยู่ชุกชุมนี้ให้กลายเป็นความหวังใหม่ของคนที่มีปัญหาผมบาง และอาจเป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่คุณจะต้องมีติดตัว
‘แสมทะเล’ ที่ขึ้นทั่วไปจนใครๆ ก็เมิน
ใครไปเที่ยวริมชายทะเลบริเวณป่าชายเลน (mangrove) คงคุ้นเคยกับ ‘ต้นแสมทะเล’ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Avicennia marina) ที่ขึ้นอย่างชุกชุมจนไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์อะไรนอกเหนือไปจากช่วยอนุบาลสัตว์น้ำ แผ่รากหายใจยุบยับต่อต้านกระแสน้ำ แต่คนโบราณเขาก็ใช้แสมทะเลเป็นยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน รสจะออกเฝื่อนๆ หน่อย เอาแก่นมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้กษัย ยาขับเลือดสตรี แก้เลือดลม ฟอกเลือด ขับระดู และแก้กระเพาะปัสสาวะพิการ
ระยะหลังๆ วิทยาการด้านเภสัชศาสตร์ปัจจุบันค้นพบว่า แสมทะเลมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพ ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยสารสกัดจากแสมทะเลสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทั้งในกลุ่ม Penicillin, Staphylococcus, Candida และ Escherichia
นี่แสดงว่า แสมทะเลของเราต้องมีอะไรดี และซ่อนความลับที่ไม่ธรรมดาแน่ๆ
งานวิจัยค้นพบความมหัศจรรย์ของ ‘แก่นแสมทะเล’
ความรู้คงจะไม่บังเกิดหากไม่ลงมือค้นคว้า และสรรพคุณแสมดำก็คงหยุดอยู่แค่นั้น แต่ในปี ค.ศ. 2016 หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ นำโดย ศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดแสมทะเลต่อการยับยั้งเอนไซม์ steroid 5 alpha-reductase ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคผมร่วงอย่าง ‘ศีรษะล้านแบบพันธุกรรม’ (Androgenetic alopecia)
ในส่วนของ ‘แก่นแสมทะเล’ จะใช้ต้นแสมทะเลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป เอามาทำให้แห้ง บดละเอียด ซึ่งนำไปสู่การค้นพบสารออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า ‘Avicequinone C’ สามารถยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้พวกเราผมบางได้ แต่การค้นพบคุณสมบัตินี้ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต้องมีกระบวนการต่อยอดให้คนทั่วไปใช้ได้จริงด้วย
อนาคตใหม่ของคนผมบาง
จากโจทย์ที่ได้รับทำให้ต้องต่อยอดเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ นักวิจัยพบว่ารูปแบบซีรั่ม (Serum) น่าจะใช้ง่ายและผู้คนคุ้นเคยมากที่สุด นำมาสู่งานวิจัย ‘ผลิตภัณฑ์ซีรั่มเสริมการงอกของเส้นผมจากสารสกัดแสมทะเล’ โดย ศ.ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล และ วรอนงค์ พฤกษากิจ นักศึกษาผู้รับทุนโครงการนักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.)
งานวิจัยทดสอบกับคนผมบางแบบกรรมพันธุ์ (Androgenic alopecia) โดยได้อาสาสมัครจำนวน 50 คน เป็นระยะเวลา 4 เดือน น่าสนใจที่สารสกัดแก่นแสมทะเลมีฤทธิ์ชะลอการหลุดร่วง และกระตุ้นการงอกของเส้นผมใหม่ บริเวณผมบางกลางศีรษะ (Vertex) ที่ผู้ชายส่วนใหญ่เป็นกันมาก
ภายใน 4 เดือน ผมค่อยๆ หนาขึ้นอย่างสังเกตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาสาสมัครอายุน้อยที่ผมจะขึ้นง่ายกว่าคนอายุมาก ดังนั้นจากผลการทดลองนี้ คนหนุ่มสาวก็ยังมีอนาคตดีอยู่ สามารถกู้คืนผมกลับมาได้ ไม่มีผลค้างเคียง เพราะซีรั่มไม่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่จะซึมผ่านรูผมเฉพาะที่ มีความปลอดภัยสูงกว่าสารเคมีสำหรับปลูกผมที่นิยมทำกันอยู่ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย
จะต่อยอดอย่างไรจากความรู้ในงานวิจัย
ผลงานวิจัยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการที่จะพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ วรอนงค์ พฤกษากิจ ที่ต้องทำการวิจัยและรายงานเป็นวิทยานิพนธ์สมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องรายงานผลให้เอกชนทราบถึงความคืบหน้า ในขณะนี้ การวิจัยยังอยู่ในกระบวนการจดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องได้ผลการทดสอบทางคลินิกมายืนยันประสิทธิภาพของซีรั่ม
วรอนงค์ พฤกษากิจ นักศึกษาปริญญาเอก กล่าวว่า “สมุนไพรไทยมีการนำมาพัฒนาเยอะมาก แต่ผลงานของเราคือ การพัฒนาแบบครบวงจร ซีรั่มสามารถใช้ต่อเนื่องเพื่อรักษาผมบางได้นานโดยไม่มีผลข้างเคียง ไม่รบกวนระบบฮอร์โมนในร่างกาย เป็นการใช้เฉพาะที่ ทำให้ผลงานวิจัยนี้โดดเด่นจากการใช้สารสกัดธรรมชาติ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค”
ทิศทางสมุนไพรไทยในอนาคต
ประเทศที่เชี่ยวชาญสมุนไพรมาอย่างยาวนานคือ ประเทศจีน ที่ผลักดันให้เกิดงานวิจัยค้นคว้า active compound ในสมุนไพรพื้นถิ่นจนผลักดันให้ยาสมุนไพรได้รับการยอมรับเป็นยาแผนปัจจุบัน โมเดลของจีนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยควรผลักดันบ้าง เพราะบ้านเรามีสมุนไพรพื้นถิ่นที่มีสรรพคุณเฉพาะทางหลากหลายชนิด การกลับไปหารากเหง้าองค์ความรู้ท้องถิ่นคือหัวใจในการใช้ประโยชน์สมุนไพรไทย
ส่วนความรู้ด้านแพทย์สมัยใหม่จะมาช่วยตอบคำถามว่า สารออกฤทธิ์ใดที่มีผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดการยอมรับทางการแพทย์ในวงกว้าง ในอนาคตสมุนไพรจึงอาจได้รับการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากผู้ประกอบการไทย เพราะไม่ต้องไปสรรหาพืชต่างถิ่น และจะทำให้เงินและองค์ความรู้ไม่รั่วไหลออกไป เพราะได้เห็นว่าประเทศไทยมีขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่รอคอยการค้นพบอยู่
ดังนั้นแล้วคนหัวล้านแบบไม่เต็มใจก็มีความหวังขึ้น จากแสมทะเล พืชถิ่นไทยสู่อนาคตยาชนิดใหม่ที่โลกต้องรู้จัก
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เสริมการงอกของเส้นผมจากสารสกัดจากสมุนไพร : ศ.ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ศ. วรอนงค์ พฤกษากิจ โครงการนักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.)
ขอขอบคุณ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)