แวดวงงานวิจัยไทยยังคงสดใหม่และสดใสเช่นเคย ด้วยงานวิจัยทั้งจากนักวิจัยรุ่นเก๋าประสบการณ์สูงและนักวิจัยรุ่นใหม่ไฟแรง ต่างเข้ามาตอบปรากฏการณ์ทางสังคมแบบทันเทรนด์โลก จนเป็นเครื่องยืนยันที่งดงามว่า การวิจัย (Research) เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการหาความรู้ต่างๆ ที่เราไม่รู้และต้องการแสวงหาคำตอบ
ล่าสุดบนเวทีสำคัญระดับประเทศ ‘ผลงานวิจัยเด่น’ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2561 ก็มีงานวิจัยที่โดดเด่นไม่น้อย The MATTER ขอคัดเลือกงานวิจัยที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษมาเล่าสู่กันฟัง แวดวงวิจัยไทยไม่เคยเงียบเหงา อุ่นใจได้เลย!
1. สารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติยับยั้งหน้าโทรม
ใครถูกเรียกว่า ‘ป้า’ แต่หัววัน ก็อาจทำให้อารมณ์เสียไปจนกระทั่งตะวันตกดิน
เรื่องผิวพรรณ ยังคงเป็นพื้นที่อันน่าสนใจสำหรับแวดวงวิจัย เพราะเรื่องผิวๆ (ที่ไม่ผิวเผิน) กำลังเป็นความท้าทายทางสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ ดังนั้นเรื่องผิวจะละเลยไม่ได้เป็นอันขาด ยิ่งบ้านเราร้อนแดดแผดเผาจนใบหน้าเกรียมไหม้ ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังง่าย มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อชะลอวัย และส่งเสริมคุณภาพชีวิต อย่างน้อยก็ไม่ให้ใครมานิยามคุณว่า “อ๋อ พี่คนที่หน้าแก่ๆ น่ะเหรอ” ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจขั้นสุด
ผิวหนังเป็นปราการด่านแรกที่ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน เช่น การติดเชื้อและมลภาวะต่างๆ โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลตในระยะเวลานาน งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาลึกไปถึงกลไกการเกิดภาวะผิวหนังเสื่อมสภาพจากแสงแดด ทำให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่นของเซลล์ผิวหนังจากปริมาณของอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้น
องค์ความรู้ใหม่ที่ได้คือ รังสียูวีเอสามารถลดประสิทธิภาพของระบบต้านออกซิเดชั่นผ่านการลดการทำงานของโปรตีนชนิด Nuclear factor erythroid 2-related factor 2 (Nrf2) ที่ควบคุมการถอดรหัสของยีนที่ใช้สร้างเอนไซม์ต้านออกซิเดชั่น ผลที่ได้คือ ผิวของคุณจะเกิดริ้วรอยง่าย เหี่ยวเร็ว สีผิวไม่สม่ำเสมอ
แต่แทนที่คุณจะรีบไปซื้อผลิตภัณฑ์ชะลอความเสื่อมจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมหาโหด งานวิจัยยังพบว่า พืชพรรณของไทยกลับมีสรรพคุณยอดเยี่ยมที่ราคาไม่แพงเลยจากสารพฤกษเคมี hispidulin ที่พบในสมุนไพร เช่น ดอกปีบและสมุนไพรตำรับห้าราก หรือสารพฤกษเคมีชนิดกรดคาเฟอิก กรดเฟอรูลิก เควอซิทิน และรูติน ก็ยังพบในสมุนไพร ผักและผลไม้ เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว เปลือกแอปเปิ้ล ชาเขียว ฯลฯ มีฤทธิ์ลดการผลิตเม็ดสีเมลานินซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสีผิวคล้ำและสีผิวไม่สม่ำเสมอผ่านกลไกยับยั้งภาวะเครียดออกซิเดชั่นและกระตุ้นการทำงานของ Nrf2
ของบ้านเรายังซุกซ่อนความลับของธรรมชาติอีกเพียบ ไม่ต้องไปไหนไกลหรอก
ชื่องานวิจัย : บทบาทของสารต้านออกซิเดชั่นจากธรรมชาติสู่การพัฒนาสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนัง
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.อุไรวรรณ พานิช เมธีวิจัย สกว. จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ผู้หญิงที่ปล่อยให้อ้วน เสี่ยงความจำบกพร่อง
ความอ้วนไม่ได้ทำให้เสียลุคเพียงอย่างเดียว แต่สร้างอิทธิพลลึกไปถึงสมอง แม้คุณจะเชื่อว่า “ฉันอ้วน ก็ไม่ได้ไปหนักหัวใครเสียหน่อย” อาจต้องใจเย็นเล็กน้อย แล้วค่อยๆ ไปทำความเข้าใจกับภาวะอ้วนที่มีผลกระทบต่อคุณโดยตรงในระยะยาวถึงระดับโมเลกุล
งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบว่า ภาวะอ้วนเนื่องจากการรับประทานอาหารไขมันสูง นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ที่คุณมักเคยได้ยิน ยังมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองอีกด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเพศหญิง ‘เอสโตรเจน’ จากการตัดรังไข่หรือภาวะหมดประจำเดือน จะส่งผลเร่งการสูญเสียการทำงานของสมอง เช่น ภาวะเครียดออกซิเดชั่น การสูญเสียการปรับเปลี่ยนที่จุดประสานในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นสมองที่มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้จดจำ ภาวะดื้อต่ออินซูลินทั้งในเนื้อเยื่อส่วนปลายและในสมอง รวมทั้งการสูญเสียการทำงานของไมโตคอนเดรียซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ ส่งผลให้ความรุนแรงของการสูญเสียการเรียนรู้และการจดจำเพิ่มมากกว่าคนปกติ
องค์ความรู้อันลึกซึ้งที่ได้ ทำให้เราเข้าใจกลไกในระดับโมเลกุลของการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน กระตุ้นให้เราตื่นตัวที่จะหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น
ความอ้วนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หากความทรงจำดีๆ ที่คุณมีต่อคนรอบตัวกำลังเลือนหายไป
ชื่องานวิจัย : ภาวะอ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในเพศหญิง
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาสนา ปรัชญาสกุล สังกัดภาควิชาสรีรวิทยา และศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. จมูกอิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับก๊าซพิษ
มลพิษที่มากับอากาศเป็นอาชญากรล่องหน รายงานจากองค์การอนามัยโลก WHO พบว่ามลพิษทางอากาศทั้งจากในอาคารและนอกอาคารทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนกำหนดถึง 7 ล้านคนต่อปี ดูเหมือนเราจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมลพิษได้ยาก ดังนั้นก่อนถึงจมูกคุณ เราต้องรู้ก่อนว่า มันมาเยือนหรือยัง?
ปัจจุบันเทคโนโลยีก๊าซเซนเซอร์ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจจับก๊าซพิษ และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้หลักๆ และเป็นที่นิยมมีอยู่ 2 ชนิด คือ แบบโลหะสารกึ่งตัวนำ และแบบไฟฟ้าเคมี แต่ทั้งสองแบบนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะต้องใช้ความร้อนสูงและขาดเสถียรภาพการใช้งาน ทำให้นักวิจัยทั่วโลกยังต้องค้นหาวัสดุใหม่และวิธีการผลิตเซนเซอร์แบบต่างๆ เพื่อทำให้ก๊าซเซนเซอร์มีความน่าเชื่อถือสูง
งานวิจัยชุดนี้ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น อาร์เอฟแมกเนตรอนสปัตเตอริงแบบมุมเอียงไอระเหยจากความร้อน การเคลือบผิวระดับอะตอม รวมถึงวิธีราคาถูกที่ทุกคนสามารถผลิตได้จากที่บ้านหรือที่ทำงาน โดยใช้เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท (inkjet printer) วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุตอบสนองต่อกลิ่นจะเป็นวัสดุนาโน
เมื่อรวมเซนเซอร์ชนิดต่างๆ เป็นอุปกรณ์จะเรียกว่า ‘จมูกอิเล็กทรอนิกส์’ ที่สามารถตรวจจับและแยกแยะกลิ่นก๊าซพิษไอระเหยชนิดต่างๆ เช่น แอมโมเนีย คาร์บอนมอนออกไซค์ โอโซน ออกซิเจน และไนโตรเจนไดออกไซด์
นอกจากนี้นักวิจัยยังได้นำเสนอองค์ความรู้ใหม่ในการผลิตก๊าซเซนเซอร์แบบโค้งงอชนิดใหม่ คือ การนำเอาเทคโนโลยีจอเปล่งแสง รวมกับวัสดุโพลิเมอร์นำไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองต่อก๊าซได้ดี มาทำเป็นอุปกรณ์ก๊าซเซนเซอร์โดยหากมีก๊าซหรือกลิ่นที่ต้องการตรวจจับมาเกาะยังอุปกรณ์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้มของแสง
ซึ่งในอนาคตจะพัฒนานำไปสู่การเปลี่ยนสีของแสงภายหลังตรวจจับกลิ่นหรือก๊าซที่ต้องการ ผู้ใช้จะสามารถพกติดตัวหรือสวมใส่ยังร่างกาย และหากมีก๊าซพิษอันตรายจะทำให้ผู้ใช้สามารถสังเกตสีของแสงที่เปลี่ยนแปลงได้ทันที
เหมือนในภาพยนตร์ Sci-fi ที่หากเข้าไปในพื้นที่อันตรายจะมีแสงเตือน ช่างไฮเทคดีจริงๆ
ชื่องานวิจัย : นาโนก๊าซเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อม
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. โมเลกุล ‘ลูกผสม’ เพื่อวัสดุอนาคตเป็นมิตรต่อโลก
ใครๆ ก็อยากได้วัสดุที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ก็มักต้องแลกกับของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตทิ้งไว้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม นี้จึงเป็นเหตุให้นักเคมียุคใหม่ต้องคิดค้นขบวนการสังเคราะห์ หรือออกแบบโมเลกุลทางเคมีที่มีประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
งานวิจัยชุดนี้จึงลงมือสังเคราะห์เคมีโมเลกุลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในฐานะ ‘นาโนไฮบริด’ หรือ ‘ลูกผสม’ ระหว่างโครงสร้างอินทรีย์และอนินทรีย์เคมี เอาไปดัดแปลงได้หลากหลาย แต่มีความปลอดภัยและเป็นพิษต่ำ
องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกลไกการเกิดโมเลกุลของสารประกอบออร์แกโนซิลิกาที่เรียกว่า ‘ซิลเซสคิวออกเซน’ ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานภายในเป็นอนินทรีย์ของโครงร่าง Si-O และภายนอกเป็นอินทรีย์ หรือเรียกว่า นาโนวัสดุของสารผสมระหว่างอินทรีย์-อนินทรีย์ ทำให้สามารถนำไปสู่การดัดแปลงและพัฒนาวิธีการเตรียมสารประกอบเคมีอื่น ๆ ในกลุ่มใกล้เคียงต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการนำสารประกอบเคมีที่สังเคราะห์ได้จากกลุ่มเหล่านี้มาใช้เตรียมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดต่างๆ เพื่อผลิตสารเคมี ใช้เป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมไฮบริดพลาสติก หรือใช้เตรียมเป็นพอลิเมอร์ยางสังเคราะห์ชนิดใหม่ และงานวิจัยในปัจจุบัน เน้นหนักไปทางด้านพัฒนาวัสดุตรวจวัดทางเคมีเซ็นเซอร์และวัสดุดูดซับเพื่อลดความเป็นพิษของสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดการพัฒนาวิจัยต่อวงการวิทยาศาสตร์เคมีและวัสดุศาสตร์ของโลกต่อไป
ชื่องานวิจัย : โมเลกุลนาโนไฮบริดสู่นวัตกรรมวัสดุ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
5. โฟมล้างพิษให้ดิน พลิกฟื้นพื้นที่ปนเปื้อน
ปัญหาสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง มักรอดเร้นจากกิจกรรมอุตสาหกรรมทุกประเภท โลหะพิษเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันรุนแรงและเรื้อรัง ทั้งในดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน เป็นปัญหาระดับโลกมายาวนานกว่า 40 ปี ทำให้การฟื้นฟูต้องใช้ทุนทรัพย์หลายล้านล้านบาท
ประเทศไทยประสบปัญหาการปนเปื้อนสารอันตรายมายาวนานกว่า 30 ปี จากกรณีดังๆ อย่างการปนเปื้อนสารหนูจากเหมืองดีบุกจังหวัดนครศรีธรรมราช การปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้จากโรงแต่งแร่จังหวัดกาญจนบุรี การปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นที่ปลูกข้าวจังหวัดตาก ดังนั้น ‘วิศวกรรมการฟื้นฟูพื้นที่’ จึงเป็นศาสตร์ที่จำเป็น ตัวผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเองต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน
งานวิจัยนี้จึงคิดล้ำนอกกรอบ ด้วยการประยุกต์แนวคิดการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีไฮเปอร์เทอร์เมีย (Hyperthermia) โดยอนุภาคแม่เหล็กในมนุษย์ มาใช้ล้างพิษจากดินและน้ำใต้ดิน ด้วยการส่งอนุภาคนาโนของเหล็กประจุศูนย์ที่ถูกปรับปรุงด้วยโพลีเมอร์ไปเกาะกับแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนในชั้นน้ำใต้ดิน แล้วจ่ายสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำลงไปเพื่อการเหนี่ยวนำอนุภาคนาโนของเหล็ก โดยทีมวิจัยพบว่าประสิทธิภาพการฟื้นฟูรวดเร็วกว่าวิธีเดิมๆ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน
งานวิจัยนี้ได้รับการต่อยอด โดยนำไปฟื้นฟูการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม เพื่อทำให้มาตรฐานชีวิตและผลผลิตของผู้คนที่อยู่รอบๆ ได้รับผลเสียน้อยลงจากที่เป็นอยู่
ชื่องานวิจัย : การใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
6. ‘ชีววิทยาระบบ’ รับมือโลกร้อน
เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนก็ได้ยินแต่คำว่า Big data ที่เข้ามาเป็นเครื่องมือในการศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาขนาดใหญ่จำนวนมากๆ เช่น การหาลำดับพันธุกรรมหรือ DNA ที่ไม่สามารถแปลผลได้ด้วยการวิเคราะห์เชิงคุณภาพเพียงอย่างเดียว จึงเป็นที่มาของ ‘ชีวสารสนเทศ’ (bioinformatics) ที่กำลังเป็นเทรนด์อันคึกคักในการศึกษาธรรมชาติในยุค ‘โลกร้อน’ ที่มีผลกระทบต่อพืชในระดับพันธุกรรม
ยุคนี้การศึกษาเพียงหน้าที่ของชีวโมเลกุลอย่าง ยีน โปรตีน ตัวใดตัวหนึ่งที่เรารู้จักนั้นไม่พอเสียแล้ว แต่ต้องถึงขั้นศึกษาการทำงานร่วมกันของทุกยีนในระบบ หรือที่เรียกว่า ‘ชีววิทยาระบบ’ (systems biology) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา ปรับแต่ง ออกแบบระบบและกลไกต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนขึ้นในโลกที่เปลี่ยนผ่าน
งานวิจัยนี้จึงสร้างแบบจำลองของการควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรมในพืชที่ตอบสนองต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาพืชเพื่อรับมือสภาวะโลกร้อนต่อไป กลุ่มวิจัยได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการแสดงออกทางพันธุกรรมของพืชที่ปลูกในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จากการใช้พืชต้นแบบ ‘อะราบิดอฟซิส’ (Arabidopsis) เป็นตัวอย่างในการศึกษา เป็นต้นว่าพืชที่ปลูกในอุณหภูมิที่สูงขึ้นเจริญเติบโตได้เร็วในช่วงแรก แต่ในระยะยาวให้ผลผลิตน้อยกว่าอุณหภูมิปกติที่เหมาะสมของพืชนั้นๆ
โครงการนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์พืชและวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้พืชทนต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็ว ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ลดการทดลองซ้ำซ้อน เนื่องจากการแสดงออกของทุกยีนสามารถศึกษาได้ในการทดลองเดียวกัน
ชื่องานวิจัย : ชีววิทยาระบบเพื่อความเข้าใจและพัฒนาพืชเพื่อรับมือสภาวะโลกร้อน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
7. ไม่ทอดทิ้งผู้สูงอายุ ด้วยอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
ถึงแก่แต่ยังมีไฟ ถึงแก่ก็ยังมีความสามารถ แต่ระบบงานส่วนใหญ่ใช้อายุเป็นเกณฑ์ตัดสิน ว่าคุณควรทำงานต่อหรือหยุดเกษียณอยู่บ้านเฉยๆ
แนวโน้มการจ้างงานผู้สูงอายุในต่างประเทศอย่างในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่กฎหมายและสังคมกำหนดให้ต้องเกษียณอายุ ผู้สูงอายุเหล่านี้จึงต้องออกจากระบบการทำงานหลัก
ทำอย่างไรที่จะพัฒนาหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป เพราะเราไม่ควรทอดทิ้งพวกเขาไว้เบื้องหลัง
งานวิจัยชิ้นนี้จึงลงไปศึกษาการจ้างงานผู้สูงอายุในประเทศไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดให้ผู้สูงอายุทำงานในภาคการผลิต ผลวิจัยพบว่าทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นที่ต้องจ้างงานผู้สูงอายุ ด้วยเหตุผลหลักในการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์สูง มีความชำนิชำนาญในงานรายละเอียดสูง
นักวิจัยจึงเสนอวิธีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม และพบว่ามีความเป็นไปได้ในการจ้างงานพนักงานหลังวัยเกษียณในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีรูปแบบที่ต่างไปจากการจ้างวัยแรงงานอยู่บ้าง เช่น ต้องกำหนดลักษณะงานและประเภทงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การกำหนดระยะเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น รวมถึงการทำสัญญาการจ้างงานระยะสั้นๆ แต่การจ้างงานผู้สูงอายุจะช่วยให้สถานประกอบการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จจากพลังของผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ชื่องานวิจัย : การจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา
ขอขอบคุณ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)