“แก… ฉันอยากไปเป็นเกษตรกรจังอ่ะ เบื่อกรุงเทพฯ ยี้ๆ”
เราว่าคุณต้องมีเพื่อนที่บ่นคร่ำครวญอะไรทำนองนี้แน่นอน หลังจากพวกเขาดูภาพผืนนาสวยๆน้ำใสๆ จากอินสตาแกรมของใครสักคน แล้วเพ้อฝันหวานอยากไปเป็นนายตัวเองบ้าง มีชีวิตห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ ราวกับธรรมชาติเองก็พร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆให้พวกเราเสมอ
แต่นั้นล่ะ ท้องนา ผืนฟ้า และสายน้ำก็พังชีวิตของคนหนุ่มสาวไม่น้อยที่พกพาไปแค่ความฝันเพียงอย่างเดียว มนุษย์ออฟฟิศจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จจากการเป็นเกษตรกร ไม่รู้เท่าทันธรรมชาติที่เปลี่ยนผ่านแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ปรับตัวไม่ได้จากกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลง เพราะยังคิดว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ การปลูกพืชพรรณธัญญาหารง่ายดาย มีดิน มีน้ำอะไรก็งอก แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้นหรอกเธอ
คนเมืองส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาเผชิญหน้ากับ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองหลวงที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพระยะยาว แม้เราจะมีพวกมันรายล้อมรอบตัว แต่การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมเป็นไปได้ยาก ไม่แปลกที่หลายๆคนก็อยากระเห็ดออกไปจากเมืองหลวง โชคดีที่พวกเขาบางรายมีพื้นเพเติบโตมาจากภูมิลำเนาเดิม พอมีพื้นที่ทำกินสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นของตัวเอง แต่การจะกลับไปทำนาทำสวนเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ มันหนาหนักไม่ใช่เหรอ
“อย่าทำเลยลูกมันเหนื่อย”
พ่อแม่ก็เตือนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมิใช่หรือ?
เกษตรไทยมีแต่ ‘เจ็บกับจน’ จริงเหรอ?
หลายคนยอมรับว่าอยากหวนคืนและทำมาหากินกับธรรมชาติ แต่ภาพความทรงจำของเกษตรกรไทยกลายเป็น ‘หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน’ ลงทุนมาก ค่าตอบแทนต่ำ ยิ่งเรากำลังเผชิญปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว Climate change ทำให้เราไม่สามารถพึ่งพาท้องฟ้าอากาศได้อย่างแต่ก่อน
ยังจำความโหดร้ายของปรากฏการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไหม คนไทยมักคุ้นเคยกับ ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ หรือรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆห้าปี แต่เร็วๆนี้ สิ่งที่นักวิชาการเริ่มทำความเข้าใจคือ ปรากฏการณ์สลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย หรือรู้จักกันในชื่อ ไอโอดี ‘Indian Ocean Dipole’ เมื่ออุณหภูมิของผิวน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียอุ่นขึ้น แต่แถบบริเวณประเทศอินโดนีเซียกลับเย็นลง สวนทางอย่างผิดปรกติ ความผันผวนเป็นเสมือนเชื้อปะทุที่ทำให้ประเทศไทยต้องเจอแล้งหนักอย่างรุนแรง ภาพความหวาดกลัวและความสูญเสียทำให้ คนหนุ่มสาว ไม่กล้าตัดสินใจกระโจนสู่ธุรกิจเกษตรกรรมอย่างจริงๆจังๆ
ถ้าทำเหมือนเดิม มันไม่รุ่งอยู่แล้ว
แต่เหมือนเรากำลังมองข้ามอะไรไปหลายๆอย่าง ‘ความรู้’ ในยุคนี้อยู่ใกล้เรามากกว่าแต่ก่อน เกษตรกรที่ไม่ปรับตัวต่างหากกำลังจะเป็นปัญหา และเกษตรกรหน้าใหม่ๆที่เข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าเกษตรกรรมไทยให้ฉลาด Smart มากขึ้น เพื่อต้านทานกระแสของความเปลี่ยนแปลง
ในหลายประเทศมีแนวคิด ‘เกษตรกรรมความแม่นยำสูง’ (Precision Farming) มาใช้ดูแลผลผลิตแบบครบวงจรประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางพืชพันธุ์ ได้เปรียบเขาหลายๆทาง ความก้าวหน้า Precision Agriculture เกิดจากแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูก และสภาพล้อมรอบ ดิน น้ำ แสง อากาศ ในไร่นา มีความแตกต่างกันในแต่ละบริเวณ แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม สภาพล้อมรอบที่แตกต่างนี้ล้วนมีปัจจัยต่อผลผลิต ดังนั้นการปรับการดูแลให้เหมาะสมกับสภาพที่แตกต่างนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
หันมาดูวงการเกษตรรูปแบบเก่าๆของไทยมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสูญเปล่าเกินไป การทำเกษตรกรรมเดิมๆของเรามีสัดส่วนการใช้น้ำที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก เมื่อเทียบกับ 10 ประเทศในอาเซียน มีสัดส่วนการใช้น้ำในภาคเกษตรถึง 75% ในขณะที่เรามีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 4% และน้ำสำหรับอุตสาหกรรมเพียง 3% เท่านั้น แต่ผลผลิตต่อตารางเมตรต่ำเกือบรั้งท้ายในอาเซียน
ดังนั้นการทำการเกษตรในอนาคตข้างหน้า ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และสภาพล้อมรอบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเรียลไทม์มากขึ้น จะว่าไปแล้วเกษตรกรรมความแม่นยำสูง สามารถทำได้ง่ายกับฟาร์มหรือไร่นาขนาดเล็กด้วยซ้ำไป ปัญหาก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความแตกต่างนั้นมีจริง แล้วจะวัดอย่างไร หรือเมื่อรู้แล้ว เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร รวมไปถึงจะบริหารจัดการอย่างไร เกษตรกรรมความแม่นยำสูงหลายๆ ด้านจึงใช้ความแม่นยำของข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน
พลังความสร้างสรรค์ของเกษตรยุค 4.0
ประเทศไทย 4.0 ของเกษตรกรรมเน้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) เป็นหลัก คนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการพาเกษตรรุ่นพ่อแม่มาสู่วงการเกษตร 4.0 ที่เน้นการบริหารจัดการโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ App ตรวจสอบความชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพอากาศ ฯ จากเกษตรกรธรรมดาเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านเกษตร สร้างแบรนด์ ปลูกเอง ขายเอง ทำตลาดเอง มีเรื่องราวที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า มีการวางแผนจดบันทึกการเพาะปลูกในครั้งต่อไป ทั้งหมดนี้เพื่อให้เป็นเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีรายได้ที่สูงขึ้น
Smart Farmer ไม่ยาก พี่เลี้ยงเพียบ
การเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรจากความเคยชินอย่างเดียวในอดีต ไม่ต่างจากการเล่นงูกินหางที่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แต่ยุคที่ Smartphone อยู่ในกระเป๋ากางเกงแทบทุกคน มันจึงเป็นความหวังใหม่ๆในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กำลังสร้างพลังเชิงบวกดีๆให้เกิดขึ้นในหัวใจเกษตรกรหนุ่มสาว ที่อยากจะก้าวเข้าสู่การทำเกษตรแบบครบวงจร เพื่อสร้าง Smart Farmer ต้นแบบ ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำเกษตรกรยุคใหม่ กำหนดอนาคต พึ่งพาตนเองได้ และหลีกหนีวงจรราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างยั่งยืน
โครงการ dtac Smart Farmer เป็นโครงการที่ดีแทคร่วมมือกับทางภาครัฐ เพื่อส่งเสริมความรู้และศักยภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำการตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้พวกเขาก้าวไปสู่ความเป็นเกษตรกรต้นแบบ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 7.2 ล้านราย และมี Young Smart Farmer อีกกว่า 6,806 ราย ทำงานแบบบูรณาการ ทำแผนเชิงรุก ลงพื้นที่ไปพบเกษตรกร แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อวางแผนก่อนเริ่มดำเนินการ และบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะการใช้ Smart Device โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่ตั้งและผู้ประสานงานของเกษตรกรและกลุ่ม/องค์กรเกษตรกร เพื่อดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร และสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่ความเป็น SMART FARMER
มีอะไรให้เล่นเยอะกับข้อมูลสารสนเทศ
ด้วยความเชี่ยวชาญของดีเทคกับประสบการณ์ข้อมูลสารสนเทศ ออกแบบ Application ต่างๆ เพื่อช่วยจัดการบริหารในเชิงพาณิชย์ รวมถึงหลักสูตรการออกแบบการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ที่ลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลาง โดยเกษตรกรสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยตรง รับ Feedback และปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรโดยได้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ
‘FARMER INFO’ แอพเพื่อเกษตรกร แต่ไม่ใช่เกษตรกรก็เช็คราคาสินค้าได้ บอกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อมูล ข่าวสารด้านการเกษตรจากทั่วประเทศแบบวันต่อวัน ความพิเศษของ ‘FARMER INFO’ คือ การต่อยอดพัฒนาระบบ “ช้อป” แหล่งช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ที่รวบรวมสินค้าคุณภาพ จากทั่วประเทศ และระบบ “คำนวณต้นทุน” ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรับรู้ต้นทุนขายระหว่างงวด, สินค้าคงเหลือ รวมถึง กำไรสุทธิจากการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจภาคการเกษตร
กาแฟ ‘อาข่า อ่ามา’ จากรากหญ้าสู่หน้าร้าน
“พ่อแม่ คือครูกาแฟคนแรกของผม”
เรื่องราวที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของเกษตรกรหนุ่ม ‘ลี อายุ จือปา’ เด็กหนุ่มชาวดอยแม่สรวย วัย 31 ปี ผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งแบรนด์กาแฟ จากความฝันในวัยเพียง 17 ปี ก็กลายเป็นที่กล่าวถึงในหมู่คอกาแฟเมืองไทยไปจนถึงคอกาแฟสากลระดับต่างประเทศ ที่แม้ว่าจะอยู่ไกลถึงเกือบสุดเขตแดนสยามก็ยังมีคนยินดีแวะเวียนไปชิม ธุรกิจที่เริ่มอย่างเจียมตัว ชนะเลิศรางวัล Smart Farmer Award มาครอง เป็นกระจกสะท้อนเพื่อยืนยันว่าหนทางเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปรับตัวไปพร้อมๆกับธรรมชาติและเทคโนโลยี เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้จริง
อาข่า อ่ามา (AKA AMA) แปลว่ากาแฟของแม่ เปิดที่เชียงใหม่พยายามกระจายสินค้าไปที่ร้านต่างๆ โดยขายหน้าร้านด้วย
“ปีแรกผมขายกาแฟให้พ่อแม่ได้ 1,000-2,000 กิโลกรัม จากที่ขายเป็นกาแฟเชอรี่กิโลละ 4-5 บาท ตอนนี้คั่วแล้วได้กิโลกรัมละ 350 บาท แต่พอหักค่าแรงแล้วเกือบติดลบ ปีที่สองเริ่มขยายสู่ครอบครัวอื่น มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตกาแฟ เริ่มมีสายพันธุ์ย่อย เช่น Typica, Catuai และ Catimor โดยใส่ชื่อของเจ้าของที่ปลูกด้วย เพื่อที่เขาจะได้ภูมิใจพัฒนากาแฟที่มีให้ดีขึ้น จากผลผลิต 2,000 กก. เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 กก. ราคาเขยิบขึ้นเป็น 400 บาท ชาวบ้านเริ่มมั่นใจ ปีที่ 3 ขึ้นมา 8,000 กก. ปีที่ 4 ขึ้นมา 12 ตัน ปีที่ 5 ขึ้นมา 18 ตัน ปีที่แล้ว 36 ตัน ร้อยละ 60 มาจากขายส่งเมล็ดกาแฟ อีกร้อยละ 40 มาจากขายหน้าร้าน เมื่อปีที่แล้วเราสามารถสร้างรายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 9 ล้านบาท เป็นเงินเยอะมากจนไม่เคยคิดฝันว่าในชีวิตนี้จะได้สัมผัส”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าเติบโตได้ขนาดนี้ มาจากผลงานของชาวบ้าน มีความรู้ได้ลงมือปฏิบัติ เกิดความภูมิใจที่กาแฟของเขาไปขายที่ไหนก็ไม่อายใครแล้ว ที่สำคัญคือชาวบ้านเข้าใจเรื่องการแบ่งปัน ช่วยเหลือ ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง รายได้ที่กลับมาสามารถส่งลูกไปเรียนหนังสือ เมื่อลูกหลานมีการศึกษาที่ดีก็กลับมาพัฒนาชุมชน
“ทุกปีผมได้รับข่าวประกวด Smart Farmer จากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด รู้สึกชื่นชมการประกวดลักษณะนี้ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เพราะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ทำยั่งยืนจริงไหม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมได้จริงหรือเปล่า แต่ด้วยธรรมชาติของอาข่า อ่ามา ไม่ชอบการแข่งขัน จึงไม่ได้เข้าร่วม ในปีนี้มีเสียงสะท้อนของผู้ใหญ่ สื่อ และเพื่อนๆ ในเครือข่ายที่บอกว่า รายการนี้จะสร้างให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชน ผมจึงคุยกับน้องๆ ที่ร้านว่า น่าลอง”
เกษตรกรวัยรุ่นที่เข้า Concept Smart Farmer ได้อย่างกลมกลืนอีกคนคือ น้องปลิว “พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์” ที่ไม่จำเป็นต้องไปจำกัดตัวเองอยู่แค่กรุงเทพ
“มันไม่ยากครับ เดี๋ยวผมสร้างออฟฟิศของผมเองเลย สร้างเอากลางสวนเนี้ยล่ะ”
เกษตรกรหนุ่มผู้หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการทำฟาร์มผักออร์แกนิก ‘แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์’ ปฏิวัติแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้อาชีพเกษตรกร นำประสบการณ์ของนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศอิสราเอล น้องปลิวได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการปรับสภาพดิน บริหารจัดการน้ำ และปรับระบบนิเวศ จนสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่และชาวบ้านที่เคยมองว่าอาชีพนี้ลำบาก
และพลังของผู้หญิงก็สร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้เช่นกัน ‘ศิริวิมล กิตะพาณิชย์’ หรือ ‘แอปเปิ้ล‘ รองชนะเลิศอันดับ 2 อดีตนักเรียนนิเทศศาสตร์จากเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่ฝันอยากจะพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่เป็นสมบัติของตระกูล อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กว่า 80 ไร่ ให้มีคุณค่า สามารถที่จะเป็นอาหารเลี้ยงคนไทยให้มีสุขภาพที่ดี สู่การเป็นวิทยาศาสตร์แห่งการเพาะปลูก ทำเกษตรครบวงจร ปลูกข้าวและผักอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ ‘ไร่รื่นรมย์’ ใช้นวัตกรรมพลังงานทางเลือก จัดสรรพื้นที่และแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
“อย่าพึ่งพาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งในเชิงเดียว ถ้าเกิดปัญหาจุดหนึ่ง เรายังมีทางเลือกทำอีกอย่างหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ เพราะเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ”
ค้นหาเกษตรกรคลื่นลูกใหม่ Smart Farmer Awards 2016
“ทางรอดของเกษตรกรไทยกับการเกษตรครบวงจร” เป็นเรื่องที่ต้องพูดอย่างจริงๆจังๆ จากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และการแข่งขันสูงในรอบๆประเทศเพื่อนบ้าน แต่การที่เราไม่ต้านกระแสธารความเปลี่ยนแปลง และยอมให้สื่อดิจิทัลเข้ามาเป็น
ผู้ช่วยในการทำเกษตรก็ควรทำให้ครบทั้งวงจร ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่อัพเลเวลความรู้ความสามารถไปไกล พวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบพลวัตร ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน ธรรมชาติ เศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรานึกถึงความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันสังคมต้องการนวัตกรรม ไม่ใช่ความตั้งใจล้มๆแล้งๆ
เราไม่สามารถอยู่อย่างสันโดษและฝันหวานว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเมื่ออยู่กับธรรมชาติ มันไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว การสร้างเครือข่ายและการติดต่อสื่อสารอย่าง Update ต่างหาก คือทางรอดของเกษตรกรยุคใหม่ หากหนุ่มสาวออฟฟิศเพียงนั่งเพ้อว่าตัวเองจะไปทำนาสักไร่ เพียงเพื่อ ‘หนีชีวิตกรุงเทพ’ ไม่นานพวกเราจะล้มเหลว และต้องระเห็จกลับกรุงตามเดิมพร้อมความเจ็บปวด และตีโพยตีพายว่า เกษตรกรรมไทย มีแต่เจ็บและจน
หากคุณไม่พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
ทำหน้าที่เดิมๆไปใน Comfort Zone เก่าๆอาจสบายใจกว่า
แนวคิดผู้เข้าร่วมโครงการ dtac Smart Farmer