เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2017 ที่ผ่านมา วารสาร Nature ได้ทำการตีพิมพ์การค้นพบดาวเคราะห์น้อยลูกใหม่ที่ผ่านเข้ามาในระบบสุริยะ ซึ่งนับว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ประหลาดที่สุดลูกหนึ่งที่เคยมีการค้นพบมา เพราะนอกจากรูปร่างจะแสนแปลกประหลาดแล้ว ดาวเคราะห์น้อยนี้ยังเป็นดาวเคราะห์น้อยแรกที่ได้รับการยืนยันว่ามีต้นกำเนิดมาจากระบบสุริยะอื่นอีกด้วย
ดาวเคราะห์น้อยนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2017 โดย Robert Weryk ผ่านทางกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างออกไปจากโลก 0.2 AU (30,000,000 กม.) และพบว่ามีวงโคจรแบบ hyperbolic เป็นอย่างมาก บ่งชี้ว่าเป็นวัตถุที่เริ่มต้นจากตำแหน่งอันห่างไกล จึงถูกระบุเอาไว้ว่าเป็นดาวหางในเบื้องต้น ต่อมาเมื่อมีการสังเกตการณ์เพิ่มเติมจึงได้พบว่าวัตถุนี้ไม่ได้มีส่วนของ coma หรือก๊าซฟุ้งเช่นเดียวกับดาวหางทั่วๆ ไป จึงได้ทำการเปลี่ยนประเภทจากดาวหางมาเป็นดาวเคราะห์น้อยในอีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา นับว่าเป็นดาวหางดวงแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเปลี่ยนประเภทการจำแนกกลายมาเป็นดาวเคราะห์น้อย
จากการติดตามวงโคจร 29 วัน ทำให้พบว่าวัตถุนี้มีค่าความรีของวงโคจร (orbital eccentricity) ถึง 1.20 ซึ่งนับเป็นค่าความรีที่มากที่สุดสำหรับวัตถุใดๆ ในระบบสุริยะ ทำมุมเอียง 123° กับระนาบสุริยวิถี และมีความเร็วสูงสุดระหว่าง perihelion ถึง 87.71 กม./วินาที ข้อมูลทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าวัตถุนี้อาจจะไม่เคยถูกดึงดูดอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์มาก่อน
นอกจากนี้ การที่ไม่สามารถสังเกต coma หรือก๊าซที่ระเหยได้รอบพื้นผิวของวัตถุนี้ บอกว่าพื้นผิวของวัตถุนี้ปราศจากซึ่งน้ำแข็งโดยสิ้นเชิง ในระบบสุริยะของเรานั้น ดาวเคราะห์น้อยที่ปราศจากน้ำแข็งเป็นองค์ประกอบ จะถือกำเนิดขึ้นใกล้บริเวณดวงอาทิตย์ ณ ระยะห่างที่ไม่เกิน frost line เพียงเท่านั้น จากการที่ดาวเคราะห์น้อยนี้มีต้นกำเนิดที่ห่างจากระบบสุริยะออกไป บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์น้อยนี้น่าจะถือกำเนิดขึ้นภายใน frost line ของระบบดาวฤกษ์ดวงอื่น และถูกดีดออกมาในภายหลังจนเข้ามาสู่ในระบบสุริยะ ทำให้วัตถุนี้เป็นวัตถุแรกที่มีการค้นพบว่ามาจากระบบดาวฤกษ์อื่นนอกไปจากระบบสุริยะ
ผู้มาเยือนจากต่างดาวนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า “1I/’Oumuamua” (โอมูอาโอมูอา) เนื่องจากเป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะแรก จึงได้รับรหัส ‘1I’ (I ย่อมาจาก Interstellar) และได้รับชื่อ ‘Oumuamua ซึ่งมาจากภาษาฮาวายที่แปลว่า ผู้ส่งสารจากแดนไกลที่มาเยือนเป็นคนแรก
นอกไปจากนี้ จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแสง ทำให้พบว่าวัตถุนี้มีรูปทรงที่ค่อนข้างประหลาด โดยมีอัตราส่วนด้านยาวต่อด้านกว่างถึง 5.3:1 นับเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดสำหรับวัตถุใดๆ ในระบบสุริยะ มีรูปร่างยาวออกคล้ายซิการ์ และอาจจะยาวได้ถึง 400 เมตร
การคาดการณ์เบื้องต้นประมาณว่าวัตถุนี้มาจากทิศทางของดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ แต่ด้วยระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้ดาวเวกาไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้นเมื่อตอนที่ดาวเคราะห์น้อยนี้ถูกดีดตัวออกมา และดาวเคราะห์น้อยนี้อาจจะถูกดีดตัวออกมาจาก Carina–Columba association เมื่อประมาณ 45 ล้านปีที่แล้ว
และอาจจะลอยเคว้งคว้างอย่างลำพังในห้วงอากาศเป็นเวลานาน ก่อนที่จะโฉบเข้ามาผ่านระบบสุริยะด้วยความเร็วสูงสุดถึง 87.7 กม./วินาที ก่อนที่จะช้าลงและพ้นระบบสุริยะไปด้วยความเร็ว 26 กม./วินาที
อ้างอิงข้อมูลจาก
- www.nasa.gov/feature/solar-system-s-first-interstellar-visitor-dazzles-scientists
- www.eso.org/public/news/eso1737
- en.wikipedia.org/wiki/%CA%BBOumuamua