“We shape our buildings and afterwards our buildings shape us”
– Winston Churchill
วันหยุดที่เราไม่ได้ไปไหน นอนมองเพดาน จ้องมองเหลี่ยมมุมของห้องเงียบๆ อยู่คนเดียว ยิ่งถ้าอยู่คนเดียวในตึกสูง มองออกไปนอกหน้าต่าง ท่ามกลางเมืองที่ดูคึกคัก แต่เราแทบมองไม่เห็นผู้คนในเมืองอันมโหฬารนี้
มีนักคิดจำนวนไม่น้อยพูดถึงผลกระทบของพื้นที่ ของสถาปัตยกรรมที่มีต่อผู้อยู่อาศัย หลังจากที่เราก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เมืองใหญ่จึงเริ่มถือกำเนิดขึ้น ด้วยวิทยาการของการก่อสร้างเราจึงสามารถสร้างตึกสูงเสียดฟ้าขึ้นมาได้ ตึกที่ดูจะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเรา ตึกที่ตั้งตระหง่านอย่างแข็งแรงและมั่นคง
แต่ท่ามกลางป่าคอนกรีตนี้กลับส่งผลอย่างประหลาดต่อผู้คนที่อาศัยอยู่อาศัยในพื้นที่ ท่ามกลางแนวคิดเรื่องอรรถประโยชน์ การใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ไปจนถึงความจำเป็นต่างๆ ของโลกสมัยใหม่ ในช่วงปี 1950s โครงการ Pruitt-Igoe Housing โครงการที่พักอาศัยที่ได้รับความชื่นชมว่าเป็นสถาปัตกรรมสมัยใหม่สามารถสร้างพื้นที่พักอาศัยขนาดมหึมาขึ้นมาได้ แต่ในฟังก์ชั่นที่สามารถจุคนได้มากมาย นักวิจารณ์บอกว่าพื้นที่โล่งๆ ระหว่างตึกทรงสมัยใหม่นั้นทำให้ความเป็นชุมชนของผู้คนลดน้อยลงไป ในที่สุดพื้นที่พักอาศัยดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องอาชญกรรมและถูกพับโครงการไปในปี 1972
หลังจากนั้นในหลายวงการทั้งสถาปัตยกรรม จิตวิทยา ไปจนถึงสังคมวิทยาเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ต่อความคิด และต่อตัวตนของคนที่อาศัยและเดินล่อยลองอยู่ในเขาวงกตของสิ่งปลูกสร้างขนาดยักษ์
เมื่อตึกใหญ่กว่าคน
คงเป็นอย่างที่เชอร์ชิลบอก เราสร้างตึก และในที่สุดเจ้าตึกอาคารก็มาหล่อหลอมตัวเราอีกที
ลองหลับตานึกถึงภาพเมือง ภาพตึกในโลกสมัยใหม่ ในทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบ เราต่างมองเห็น ‘ความงาม’ ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เช่น ภาพตึกที่ดูยิ่งใหญ่ วัสดุวาววับ เหล็ก กระจก ผนังคอนกรีตที่ดูมหึมา แสงเงา และช่องที่ดูเป็นระบบ เป็นแถว เป็นจังหวะจะโคน
แต่…ในความงามของเมืองที่เราสร้างขึ้น ในความแข็งแรงก็แฝงไว้ด้วยความแข็งกระด้าง แฝงไว้ด้วยความเงียบเชียบ ความเย็นเยียบและเย็นชา ความงามของเมืองที่ใหญ่โตจนเรามองไม่เห็นมนุษย์อยู่ในนั้น เป็นภาพพื้นที่ ภาพตึกที่ไร้ชีวิตแต่ก็สวยงามในแบบของมันเอง
พื้นที่หลังกำแพง ห้องว่างๆ ในอาคารที่เราเห็นว่ายิ่งใหญ่และตระการตา เรามักคิดถึงมันในฐานะพื้นที่ว่าง (void) เราเห็นตึก แต่ไม่เห็นคน และในทางกลับกัน ผู้คนที่อยู่ในกำแพงสี่เหลี่ยมก็ปรารถนาความเงียบเพื่อตัดขาดตัวเองออกจากเมืองที่สับสนและวุ่นวาย… เราต้องการความเป็นส่วนตัว แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเหงาซะเอง
ความรู้สึกจากผิวหนัง
นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองต่างเริ่มตระหนักว่า เมืองและการออกแบบสถาปัตยกรรมกำลังก่อรูปจิตสำนึกของผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น แน่นอนว่าเราจะย้อนโลกกลับไปสู่ยุคก่อนสมัยใหม่ ขนครัวเรือนออกไปใช้ชีวิตบ้านนาแล้วพังเมืองพังตึกทิ้งคงไม่ได้ นักคิดและนักออกแบบทั้งหลายจึงพยายามทำความเข้าใจเมืองและแก้ปัญหาที่คนเมืองกำลังเผชิญ
Colin Ellard เป็นอีกหนึ่งนักวิจัยผู้ให้ความสนใจอิทธิพลทางจิตวิทยากับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ตัวคอลินบอกว่า เรื่องความเหงานี่เป็นสิ่งที่จะวัดยากก็ยาก บางคนมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทางคณะวิจัยจึงให้กลุ่มตัวอย่างใส่อุปกรณ์รัดข้อมือที่สามารถวัดค่าต่างๆ อันเป็นตัวบ่งชี้ทางอารมณ์และความเครียดได้
หนึ่งในข้อค้นพบของคอลินคือ การออกแบบพื้นที่เมืองแบบที่เราคุ้นเคย พวกเมืองที่เป็นมุมฉาก ช่องทางเดินที่เป็นแถวๆ พื้นผิวที่เป็นช่องตรงๆ ทั้งหลายส่งผลต่อความรู้สึกตึงเครียดของเราทั้งสิ้น คอลินทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเดินผ่านกระจกสีทึมๆ ในช่องช้อปปิ้งยาวๆ ในซูเปอร์ ค่าที่สายรัดข้อมืออ่านได้คือ กลุ่มทดลองรู้สึกถูกคุกคามและมีการเร่งฝีเท้าให้ผ่านช่องทางเดินดังกล่าวไปเร็วๆ ตรงนี้สอดคล้องกับงานศึกษาด้านการออกแบบที่บอกว่าเราชอบผนังอาคารหรือพื้นที่ที่เป็นทรงโค้งมากกว่า
นักออกแบบเองจึงเริ่มให้ความสนใจกับผลทางความรู้สึกจากการออกแบบพื้นที่มากขึ้น บางงานออกแบบตั้งใจออกแบบให้ผู้คนเดินเพื่อเจอกันมากขึ้น ใช้พื้นที่สีเขียว เส้นทางเดินที่ประดับด้วยต้นไม้เพื่อกระตุ้นให้คนมีชีวิตชีวา ซึ่งในที่สุดการออกแบบอาจเอื้อให้เราสบตาและพูดคุยกันมากขึ้น เราอาจจะเหงากันน้อยลงบ้างก็ได้
คอนโดเดียวดาย
คอนโดก็เหมือนภาพของเมืองใหญ่เนอะ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่คนจำนวนมากมาใช้ชีวิตอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน เดินสวนกันไปสวนกันมา เรารู้ว่าห้องถัดไปและในอาคารที่เราอยู่มีคนอยู่มากมาย แต่งานสำรวจพบว่า ท่ามกลางคนมากมายนี้ เรากลับโดดเดี่ยวกันมากขึ้น
งานสำรวจด้วยคำถามง่ายๆ ที่เมือง Vancouver ไปสำรวจเปรียบเทียบระหว่างคนที่อาศัยอยู่คอนโดหรืออพาร์ตเมนต์สูงๆ กับคนที่อาศัยอยู่ที่บ้าน คำถามที่ถามก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ตั้งแต่รู้จักชื่อเพื่อนบ้านมั้ย ผูกพันกับชุมชนรอบตัวรึเปล่า ไปจนถึงถามตรงๆ ว่าเหงามั้ย
ผลคือ คนที่อยู่คอนโดให้คำตอบที่สื่อถือความเหงาความโดดเดี่ยวมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ที่พักแบบบ้าน 56% ของคนที่อาศัยอยู่คอนโดสูงที่รู้ชื่อเพื่อนบ้านของตัวเอง ในขณะที่คนที่อยู่บ้าน 81% รู้จักชื่อเพื่อนบ้าน ส่วนคำตอบในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านและชุมชน คนที่อยู่อพาร์ตเมนต์แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในระดับที่ต่ำกว่า เช่น พูดคุยกับเพื่อนบ้านบ่อยแค่ไหน ไว้ใจเพื่อนบ้านมั้ย
ในทางความรู้สึก คนที่อาศัยบนตึกสูงก็มีหลักฐานส่งเสริมว่าวิถีชีวิตบนตึกทำให้ผู้คนมีความรู้สึกเหงามากกว่า มีคนอยู่ตึก 39% บอกว่าตัวเองรู้สึกเหงาและเดียวดาย (ในขณะที่คนอยู่บ้านบอกว่าเหงาที่ 22%) และมี 31% ของชาวตึกรู้สึกว่าตัวเองสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ๆ ยาก (ในขณะที่คนอยู่บ้านมี 22%)
อ่านจบแล้ว เงยหน้าออกจากจอสี่เหลี่ยม ไปเจอเพดานสี่เหลี่ยมต่ออีก
แบบนี้ยิ่งโคตรเหงาเข้าไปใหญ่
เข้าใจความเหงาไม่เห็นทำให้หายเหงาเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก