1
เบื่อโลก และอยากหนีโลกไปดาวอังคารกันบ้างไหมครับ?
หลายคนคิดคล้ายๆ กัน ว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากออกเดินทางไปให้ไกลแสนไกล หนีห่างจากปัญหา ความขัดแย้ง ความเป็นเผด็จการ และดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไปให้พ้นๆ
“อีกไม่นานเราจะไปดาวอังคาร” ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว เขาลงนามในนโยบายว่าด้วยอวกาศ ถือเป็นนโยบายเกี่ยวกับอวกาศนโยบายแรกในสมัยของเขาเลยทีเดียว และนโยบายนี้ก็คือการกลับขึ้นดวงจันทร์ ตามด้วยการไปเยือนดาวอังคาร
สหรัฐอเมริกาเพิ่งรื้อฟื้นหน่วยงานที่เรียกว่า ‘สภาอวกาศแห่งชาติ’ (National Space Council) หรือ NSC ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจริงครั้งนี้ โดยทรัมป์บอกว่า การไปดวงจันทร์จะไม่ใช่แค่การไปดวงจันทร์ เพราะนี่จะเป็นการสร้างรากฐานให้กับปฏิบัติการใหญ่ครั้งใหม่ นั่นคือการใช้การไปดวงจันทร์เป็นฐานให้กับการเดินทางไปสู่ดาวอังคาร
นาซ่าเพิ่งประกาศว่า มนุษย์อวกาศจะเดินทางสู่ดาวอังคารโดยไปหยุดพักที่ดวงจันทร์ก่อน แล้วอาจมีการสร้าง Deep Space Gateway หรือ ‘ประตูสู่อวกาศระดับลึก’ ขึ้น โดยเจ้าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างบนดวงจันทร์นะครับ แต่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ ทำหน้าที่สนับสนุนปฏิบัติการสู่พื้นผิวดวงจันทร์อีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งมนุษย์หรือส่งหุ่นยนต์ลงไปก็ตาม รวมทั้งเป็น ‘ที่พัก’ ก่อนมุ่งหน้าสู่ ‘เป้าหมายอื่น’ (Other Destinations) ในอวกาศ ซึ่งรวมถึงดาวอังคารด้วย โดยมีโครงการจะส่งมนุษย์อวกาศไปสู่ดาวอังคารในช่วงทศวรรษ 2030s
ทรัมป์ยังไปปราศรัยกับเหล่านาวิกโยธินที่ซานดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยว่า “พวกคุณจะไม่ได้ไปดาวอังคารหรอก ถ้าหากว่าคู่แข่งชนะไปเสียก่อน จะบอกให้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องคิดกันเลย”
เรารู้ว่า ทรัมป์ไม่ได้อยากไปดวงจันทร์ (หรือดาวอังคาร) แค่เพราะอยากไปปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์หรือการสำรวจอะไรทำนองนั้น เพราะเขาบอกในคราวเดียวกันนั้น – ว่า “เรามีกองทัพอากาศ (Air Force) แล้ว เราก็ควรจะมีกองทัพอวกาศ (Space Force) ด้วย”
อ่านมาถึงตอนนี้ คำถามที่คุณอาจนึกถามขึ้นมาในทันทีน่าจะมีอยู่สองคำถาม นั่นคือ
1. ใครหนอเป็น ‘คู่แข่ง’ ของทรัมป์ในการเดินทางไปดาวอังคาร – จนทำให้เขาอยากสร้างกองทัพอวกาศขึ้นมา
2. เขาจะไปสร้างกองทัพอวกาศได้จริงหรือ
เรามาลองตอบสองคำถามนี้กันครับ
2
ถ้าถามว่า ใครเป็นคู่แข่งของทรัมป์ในการไปสู่ดาวอังคาร ก็ต้องไปดูว่ามีใครพัฒนาโปรเจกต์อะไรอยู่บ้าง
หลายคนอาจนึกถึงรัสเซีย เพราะปูตินเพิ่งประกาศว่าเขามีแผนปฏิบัติการสู่ดาวอังคาร โดยปฏิบัติการสู่ดาวอังคารนั้นมีทั้งแบบมีมนุษย์และไร้มนุษย์ ข่าวนี้ (ดูที่นี่ www.rt.com) รายงานว่า ปูตินจะส่งยานอวกาศไปลงยังดาวอังคารในปี 2019 คือปีหน้านี้เอง (แต่อาจจะยังไม่ใช่การส่ง ‘คน’ ไปที่นั่นนะครับ) เป็นการส่งยานไปลงที่บริเวณขั้ว (Pole) ของดาวอังคาร โดยจะมีการส่งยานอื่นๆ ตามไปอีกหลายครั้ง เป็นระลอกๆ
อีกประเทศหนึ่งที่มีแผนส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารรวมถึงลงไปที่พื้นผิวดาวอังคารด้วยก็คือจีน กับโครงการ 2020 Chinese Mars Mission ซึ่งจริงๆ ก็เป็นโครงการร่วมกับรัสเซียนั่นแหละครับ นอกจากรัสเซียและจีนแล้ว ยังมีโครงการส่งยานไปลงที่พื้นผิวดาวอังคารของสหภาพยุโรป (ชื่อ ExoMars 2020), และของญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สามประเทศนี้แค่ส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคาร ไม่ถึงขั้นส่งยานลงไปที่พื้นผิว)
แต่เอาเข้าจริง ประเทศต่างๆ เหล่านี้ดูไม่น่าใช่ ‘คู่แข่ง’ ของทรัมป์สักเท่าไหร่ ถ้าจะว่ากันจริงๆ คนที่เป็นดาวเด่นเรื่องไปดาวอังคาร น่าจะเป็นเอกชนอีกรายหนึ่งที่หลายคนคงรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันเป็นอย่างดีมากกว่า
ใช่ครับ – คนคนนั้นคือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)
ก่อนหน้านี้ มัสก์เคยคิดแผนคล้ายๆ นาซ่านั่นแหละ คือจะไปสร้างสถานีบนดวงจันทร์ (หรือบนวงโคจรรอบดวงจันทร์) ก่อน แล้วค่อยใช้เป็นที่พักระหว่างเดินทางไปดาวอังคาร แต่ในตอนหลังก็เปลี่ยนใจ คือจะสร้างยานอวกาศเพื่อเดินทางไปยังดาวอังคารเลยโดยตรง โดยใช้ระบบที่เรียกว่า Interplanetary Transport System หรือระบบการเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ กับยานอวกาศที่มีชื่อว่า Big Falcon Rocket หรือ BFR ที่จะเป็นยานอวกาศ (หรือจรวด) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะเริ่มปฏิบัติการในทศวรรษ 2020s หรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ (แต่ไม่ได้แปลว่าเขาทิ้งดวงจันทร์ไปนะครับ เพราะก็มี BFR ที่เดินทางไปยังดวงจันทร์ด้วยเหมือนกัน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีทั้งทุนทรัพย์ เทคโนโลยี และความมุ่งมั่นไม่แพ้ทรัมป์
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการเดินทางสู่ดาวอังคารของมัสก์ไม่เหมือนทรัมป์ เพราะทรัมป์อยากลากจูงเอาแนวคิดและอุดมการณ์ของการ ‘ยึดครองโลก’ (หรือยึดครองอวกาศ) ไปด้วย โดยการสร้างกองกำลังที่มีแสนยานุภาพเกรียงไกรไร้เทียมทาน ทว่ามัสก์ต่างออกไป มัสก์กับทรัมป์อาจมาจากประเทศเดียวกัน และมีเป้าหมายสู่ดาวอังคารเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วทั้งคู่คล้ายแข่งขันกันอยู่ลึกๆ เนื่องจากมีอุดมการณ์หลายอย่างแตกต่างกัน
อีลอน มัสก์ ประกาศว่าเขาจะ ‘หนีไปเสียจากโลก’ ด้วยการไปสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคาร เพราะเขาเห็นว่านี่คือทางรอดเดียวของมนุษย์ และอาณานิคมที่ว่านี้ ก็ไม่ควรมีสภาพทางอุดมการณ์บางอย่างเหมือนกับโลกด้วย แต่กระนั้น มัสก์ก็ยังต้องพึ่งพาอำนาจของทรัมป์ในหลายด้าน เพื่อให้เขาบรรลุจุดหมายในการเดินทางครั้งใหญ่นี้
นั่นจึงนำเรากลับไปสู่คำถามที่สองว่า – ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกองกำลังอวกาศตามแนวคิดของทรัมป์ หรือการไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารของมัสก์นั้น – มันเป็นสิ่งที่ทำได้จริงหรือ
3
ก่อนจะตอบคำถามที่ว่า ทรัมป์กับมัสก์จะทำได้ตามที่ตัวเองต้องการได้ง่ายๆ ไหม ต้องพาคุณย้อนกลับไปในยุคหกศูนย์กันก่อนครับ
ในตอนนั้น การแข่งขันด้านอวกาศรุนแรงมากเพราะสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียเป็นตัวผลักดัน รัสเซียส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศได้ก่อน คือยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) โดยขึ้นไปโคจรรอบโลกเป็นครั้งแรก แถมยังส่งผู้หญิงคนแรกขึ้นสู่อวกาศ ส่งพลเรือนคนแรกขึ้นสู่อวกาศ ส่งยานอวกาศที่มีลูกเรือหลายคน (คือสามคน) ขึ้นไปได้ก่อนอเมริกา รวมถึงออกไปเดินในอวกาศ (Space Walk) ได้ก่อนด้วย แต่อเมริกาก็ไม่น้อยหน้านะครับ เพราะทำอะไรหลายอย่างที่เป็นครั้งแรกได้เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยฮือฮาเท่าไหร่ เพราะเป็นรายละเอียดในทางเทคนิคเสียมากกว่า จนกระทั่งส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ได้ในปี 1969 กับอพอลโล 11 นั่นแหละครับ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ของโลก
ในบรรยากาศการแข่งขันแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดสนธิสัญญาอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือ Outer Space Treaty หรือสนธิสัญญาอวกาศ มีการลงนามกันในปี 1967 โดยทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และประเทศอื่นๆ อีกราวสิบกว่าประเทศ
สนธิสัญญานี้มีฐานมาจากคำประกาศหนึ่งที่เรียกว่า Declaration of Legal Principles Governing the Activities of States in the Exploration and Use of Outer Space ในปี 1962 และมีการปรับเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นสนธิสัญญานี้ และสนธิสัญญานี้ก็เป็นกรอบคิดให้กับการร่างกฎหมายอวกาศ (Inernational Space Law) ต่างๆ โดยมีหลักการหลายอย่าง
หลักการหนึ่งในสนธิสัญญานี้บอกไว้ว่า ประเทศต่างๆ ที่ลงนาม จะต้องไม่ไปสร้างอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction) ในอวกาศเด็ดขาด อีกหลักการหนึ่งบอกว่า เหล่าเทหวัตถุทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร ก็จะต้องใช้เพื่อเป้าหมายโดยสันติเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การที่ทรัมป์บอกว่าอยากจะสร้าง ‘กองทัพอวกาศ’ หรือ Space Force ขึ้นมา จึงน่าจะเป็นการละเมิดหลักการในสนธิสัญญานี้
สนธิสัญญานี้ยังมีหลักการอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การสำรวจหรือใช้ประโยชน์ใดๆ ต้องเป็นไปเพื่อ ‘มนุษยชาติ’ โดยรวม คือเป็นประโยชน์ต่อคนทุกประเทศ ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่ให้ใครไปประกาศ ‘เอกราช’ (Sovereignty) เหนือดินแดนใดๆ บนดาวอังคารหรือดาวอื่นๆ ด้วย นั่นแปลว่าถ้ามีการสร้างฐานทัพหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ขึ้นมาบนดาวอังคาร แล้วคนอื่นสามารถไปถึงดาวอังคารได้ ก็ต้องมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้ทุกคน ดังนั้น ถ้ามัสก์ไปสร้างอาณานิคมอะไรไว้ ก็ไม่อาจประกาศเอกราชอ้างสิทธิ หรือห้ามคนอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แนวคิดของมัสก์ก็ขัดแย้งกับหลักการในสนธิสัญญานี้เหมือนกัน
บางคนอาจจะบอกว่า อ้าว! ก็มัสก์เป็นเอกชน ไม่ได้เป็นประเทศหรือรัฐ ทำไมเขาต้องมาทำตามสนธิสัญญานี้ด้วยล่ะ แต่ในสนธิสัญญานี้ก็มีอีกหลักการหนึ่งที่บอกว่า ‘รัฐ’ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อกิจกรรมในอวกาศทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดย Entities ที่เป็นรัฐหรือไม่ใช่รัฐก็ตามแต่ ดังนั้น ถ้าอีลอน มัสก์ ละเมิดหลักการในสนธิสัญญา สหรัฐอเมริกาก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ด้วยเหตุนี้ การที่ อีลอน มัสก์ จะนำจรวด BFR ไปสู่ดาวอังคารได้ ทรัมป์ (หรือประธานาธิบดีคนอื่นๆ) ก็ต้องเป็นผู้ ‘ให้อำนาจ’ (Authorize) แก่เขาอยู่ดี
ไมเคิล ลิสต์เนอร์ ทนายความที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Space Law & Policy Solutions (แหม! ทนายความคนนี้นี่ช่างมองการณ์ไกลจริงๆ นะครับ) บอกว่ามุมนี้ของสนธิสัญญาขัดกับมัสก์เข้าอย่างจัง เพราะถ้ามัสก์ไปอ้างสิทธิว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของเขา ก็เท่ากับรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้อ้างสิทธิด้วย แต่โดยสนธิสัญญานี้จะไปอ้างสิทธิแบบนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้น พื้นที่ที่ว่าก็จะเป็นดินแดนผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ดอดจ์ (Michael Dodge) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธดาโกต้า บอกว่าสนธิสัญญานี้เขียนขึ้นในยุคสงครามเย็นที่สองประเทศ (คือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต) เป็นปรปักษ์กันอย่างรุนแรง จึงเป็นการเขียนขึ้นในเงื่อนไขแบบหนึ่งของยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น นั่นแปลว่าในยุคใหม่นี้ เราอาจเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญานี้ใหม่ก็ได้ ไมเคิล ลิสต์เนอร์ ก็พูดคล้ายๆ กันว่า ถ้ามนุษย์อยากให้เกิดอาณานิคมบนดาวอังคารขึ้นมาจริงๆ ก็อาจต้องย้อนกลับไปแก้ไขสนธิสัญญาที่ว่านี้ เพื่อให้สนธิสัญญานี้รับรองว่ามนุษย์จะทำเช่นนั้นได้ แต่กระนั้น ลิสต์เนอร์ก็บอกด้วยว่า ถ้าเปลี่ยนหลักการในสนธิสัญญาแล้ว สหรัฐอเมริกาต้องรับผิดชอบเต็มที่ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด เช่น เรายังไม่รู้แน่ชัดแท้จริงว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาหรือเป็นไวรัสโบราณอะไรสักอย่างที่อาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้จากการไปตั้งอาณานิคมหรือสำรวจ ดังนั้น การเปลี่ยนหลักการในสนธิสัญญาก็แปลว่าสหรัฐอเมริกาต้องรับผิดชอบในความเสี่ยงทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สมมติว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้อีลอน มัสก์ ส่งคนไปดาวอังคาร แล้วมนุษย์อวกาศรอดชีวิตตั้งรกรากบนนั้นได้ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เพราะอีลอน มัสก์ บอกไว้ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่า เมื่อไปอยู่บนดาวอังคารแล้ว เขาจะตั้งรัฐอิสระ (Independent City-State) ขึ้นมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้อเมริกาจะให้อำนาจเขาในการออกเดินทาง แต่เมื่อไปถึงแล้ว ก็อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และอาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือสนธิสัญญาของโลกอยู่ดี แถมเขายังประกาศด้วยว่าจะใช้ระบอบการปกครองแบบ ‘ประชาธิปไตยทางตรง’ (Direct Democracy) บนดาวอังคารด้วย
นักรัฐศาสตร์บางคน (เช่น Daniel Smith จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา) ออกมาบอกว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงไม่น่าจะเป็นไปได้เท่าไหร่ เพราะมันไม่มีประสิทธิภาพ เขาบอกว่าการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ บนดาวอังคารอาจง่ายกว่าสถาปนาระบอบประชาธิปไตยทางตรงเสียอีก เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่าประชาธิปไตยทางตรงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่ใช่ ‘ทุกๆ คน’ ในอาณานิคมจะมีเวลาค้นคว้าวิจัยและได้รับข้อมูลใน ‘ทุกๆ เรื่อง’ ในระยะแรกอาจเป็นไปได้ แต่ในที่สุดแล้วก็จะเกิดความวุ่นวาย เพราะคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยทางตรงจะถูกชักจูง (manipulated) ได้ง่ายมาก เนื่องจากคนแต่ละคนมีข้อมูลไม่พอ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด
แล้วที่สุด อาณานิคมบนดาวอังคารก็จะมีสภาพทางการเมืองที่วุ่นวายขัดแย้งไม่ต่างอะไรจากโลกที่เราอยู่ในตอนนี้มากนัก เพียงแต่มีฉากหลังเป็นภูมิประเทศสีแดงเท่านั้นเอง
4
“Mars will kill you easily.”
“ดาวอังคารฆ่าคุณได้ง่ายๆ”
-ไมเคิล ลิสต์เนอร์ (Michael Listner)
ผู้ก่อตั้งองค์กร Space Law & Policy Solutions
เบื่อโลก และอยากหนีโลกไปดาวอังคารกันบ้างไหมครับ?
หลายคนคิดคล้ายๆ กัน ว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากออกเดินทางไปให้ไกลแสนไกล หนีห่างจากปัญหา ความขัดแย้ง ความเป็นเผด็จการ และดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไปให้ไกลๆ
อีลอน มัสก์ หรือโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะพาคุณไปดาวอังคารไม่ได้ในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เชื่อเถอะว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของมนุษย์ อีกไม่นานเราจะสามารถเดินทางไปไหนก็ได้ในอวกาศ
แต่ต่อให้ไปไกลถึงดาวอังคาร – คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ – แล้วเราสามารถหลีกหนีปัญหาและความขัดแย้งแบบที่เกิดขึ้นบนโลกไปได้จริงหรือเปล่า
เคยมีคนทวีตถามอีลอน มัสก์ ว่า เขาจะไปทำไมให้ไกล อยู่แก้ปัญหาบนโลกนี้ก่อนไม่ดีหรือ or we could just solve earth problems first.
อีลอน มัสก์ ตอบว่า
Our existence cannot just be about solving one miserable problem after another. There need to be reasons to live.
ช่างเป็นคำตอบที่จริงเสียนี่กระไร…